โรงเรียนแพทย์กับการทำงานพัฒนาระบบสุขภาพ


 

วันที่ ๑๘ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ผมไปร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การทำแผนปฏิบัติการของหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (Siriraj Health Policy - SiHP) ที่โรงแรมแกรนด์แปซิฟิกซอฟเฟอริน รีสอร์ทแอนด์สปา ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี   ได้เรียนรู้วิธีดำเนินการเพื่อ transform โรงรียนแพทย์ไทยจากรังเกียจงานเชิงพัฒนาระบบ    มาเป็นเห็นคุณค่าของงานเชิงพัฒนาระบบ   

Lancet Commission on Health Professional Education เรื่อง Medical Education for the 21st Century ที่เผยแพร่ปลายปี 2010  เสนอให้การศึกษาแพทย์ (และทุกวิชาชีพด้านสุขภาพ) เคลื่อนจาก “การศึกษาที่อยู่บนฐานวิทยาศาสตร์” (Science-Based Health Professional Education)  สู่ “การศึกษาที่อยู่บนฐานของระบบสุขภาพ” (Health Systems-Based Health Professional Education)

   ที่จริงเมื่อปี 1910 คือหนึ่งร้อยปีก่อนหน้านั้น (Abraham) Flexner’s Report เสนอให้พัฒนาระบบการศึกษาแพทย์จากเดิมอยู่บนฐานของการฝึกหัด (Apprentice-Based Medical Education)   ให้เคลื่อนไปสู่ระบบการศึกษาแพทย์บนฐานของวิทยาศาสตร์ (Science- Based Medical Education)   

ดังนั้น เวลานี้ ระบบการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพทุกวิชาชีพ จึงเป็นระบบการศึกษาที่มี ๓ ฐานที่ส่งเสริมกันคือ ฐานปฏิบัติหรือฝึกฝน  ฐานวิทยาศาสตร์  และฐานระบบสุขภาพ   

เป็นเวลาราวๆ หนึ่งศตวรรษ  ที่ระบบการศึกษาแพทย์ไทยมีโรงเรียนแพทย์ที่มีความเป็นเลิศด้านบริการระดับตติยภูมิ (Tertiary Medical Care)     อาจารย์แพทย์ที่เป็นที่ยกย่องนับถือเป็นแพทย์ปฏิบัติรักษา (clinician) ที่เน้นดูแลผู้ป่วยเป็นรายคน ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ   ได้รับการยกย่องเป็น “หมอเทวดา”    เพราะเหมือนกับบันดาลให้ความเจ็บป่วยหายไปภายในเวลาอันสั้น “หายเป็นปลิดทิ้ง”   วัฒนธรรมความเป็นเลิศของแพทย์อยู่บนฐานของการบำบัดเยียวยาโรค   

แต่ความก้าวหน้าด้านความรู้เกี่ยวกับสุขภาพบอกเราว่า มนุษย์เราควรเอาใจใส่ไม่เฉพาะด้านการปราศจากโรคหรือความเจ็บป่วย    แต่ควรเอาใจใส่ที่การมีสุขภาวะ (well-being) ที่ดี    คือเรื่องสุขภาพนั้นเป็นเสมือนภูเขาน้ำแข็ง    การมีอาการโรคนั้นเป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำให้เราเห็น    ที่จริงๆ แล้วเป็นเพียงประมาณร้อยละ ๑๐ ของเรื่องสุขภาวะ   

จริงๆ แล้วเรื่องสุขภาวะยังมีส่วนใต้ของภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ที่น่าจะมีสัดส่วนร้อยละ ๙๐ ของทั้งหมดหรือองค์รวม   สุขภาวะองค์รวมเป็นสิ่งที่ซับซ้อน มองเห็นชัดเฉพาะส่วนที่โผล่เหนือน้ำ ที่เป็นส่วนนิดเดียว    คือส่วนที่เป็นระบบโรคหรือระบบความเจ็บป่วย    ส่วนที่เหลือร้อยละ ๙๐ เราไม่รู้สึก จับต้องไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของสุขภาวะ ไม่ก่อปัญหา 

หากเราไม่ระวัง เราจะวุ่นวายอยู่เฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา   ไม่ได้เอาใจใส่ส่วนที่เราอยากได้ หรืออยากให้ดำรงอยู่นานๆ ในช่วงชีวิตของแต่ละคน ซึ่งคือช่วงที่สุขภาพดีทั้งทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ เป็นช่วงที่ได้ทำประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อสังคม    และให้ส่วนที่เป็นชีวิตที่เจ็บป่วยสั้นที่สุด 

ผมจึงมองว่า หน่วย SiHP ทำหน้าที่เป็นกลไกของการเปลี่ยนขาด (transformation) สองชั้น    คือเปลี่ยนขาดระบบสุขภาพไทยเชิงระบบ ให้เป็นระบบที่เน้นสุขภาวะ เน้นประสิทธิผลและประสิทธิภาพ     กับเปลี่ยนขาดโรงเรียนแพทย์ ให้ระบบบริการตติยภูมิของศิริราชเชื่อมโยงเสริมแรงกับการพัฒนาเชิงระบบของระบบบริการ  ใช้ความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับนับถือของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้หนุนเสริมการพัฒนาระบบบริการ ทั้งภายในโรงพยาบาลศิริราช    และระบบบริการภาพใหญ่ของประเทศ   

ในการประชุมสองวันนี้ ท่านคณบดี ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล ทำหน้าที่ประธานการประชุม และดำเนินการประชุมโดยตลอด   อดีตคณบดีผู้สนับสนุนให้หน่วยนี้มีการทำงานจริงจัง คือ ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา ก็ไปร่วมโดยตลอด  รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ ผศ. ดร. ประพัฒน์ สุริยผล,    ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ. ดร. นพ. ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ก็ไปร่วมโดยตลอด, รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ. นพ. สาธรสุเมธี ไปร่วมวันที่ ๑๙   สะท้อนการให้ความสำคัญต่อหน่วยงานนี้               

ผมให้ความเห็นว่า คุณค่าของ SiHP มีทั้งด้านผลงานระดับโครงการ ที่สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งผลพัฒนาระบบสุขภาพเฉพราะประเด็น หรือเฉพาะด้าน   และผลงานสร้างการเปลี่ยนขาดระบบดูแลสุขภาพทั้งในโรงพยาบาลศิริราช  และระดับประเทศ 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ พ.ย. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 716885เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2023 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2023 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท