โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

มุมมองโควิด-19 แนวพุทธ


โสภณ เปียสนิท

.....................

        ในภาวะวิกฤติของมนุษยชาติด้วยมหันตภัยร้ายโควิด19 ลุกลาม แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างเช่นทุกวันนี้ ผมจะไม่เขียนบันทึกไว้เลยก็เกรงว่าจะไม่ทันสมัย ครั้งนี้เห็นว่าผมต้องเขียนไว้บ้าง แต่จะเขียนในมุมไหนดี เพราะแพทย์ก็เขียนในเชิงการแพทย์แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ของเขียนเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว นักเขียนก็ได้ประพันธ์ไว้บ้างแล้ว พระก็เขียนเรื่องแนวพระไว้แล้ว ส่วนผมก็ขอตามหลังพระ เขียนแนวโลกกับธรรมไปด้วยกันน่าจะดีกว่าอย่างอื่น

            โชคดีว่า ปัจจุบันข่าวสารเดินทางได้รวดเร็วปานสายฟ้า จึงทำให้มนุษย์เราทราบข่าวเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายไวรัสโคโรนาที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนได้อย่างรวดเร็ว แค่เพียงพริบตาข่าวกระจายไปสู่ประเทศต่างๆ แรกๆ อาจมีหลายคนหลายประเทศที่ยังประมาทว่า เชื้อร้ายจะไม่ลามมาถึงประเทศของตนซึ่งไกลกันคนละขอบโลก แต่ เพียงไม่กี่วัน เชื้อร้ายแพร่กระจายไปทั่วโลกถึงประเทศที่ยังประมาทนั้นอย่างไม่ทันตั้งตัว

            กว่าจะตั้งตัวได้ทัน ประเทศอื่นๆ เหล่านั้นก็มีการแพร่กระจายไปแล้วไม่น้อย ต่างฝ่ายต่างหาวิธีการรับมือ ป้องกันมิใช่เชื้อร้ายนี้แพร่กระจาย วิธีการที่คิดกันได้คือ เมื่อเชื้อร้ายนี้ติดจากคนสู่คน ดั่งนั้นวิธีการแก้คือ “กักบริเวณ” ต่างคนต่างอยู่สักพัก แต่ทำอย่างไรได้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีการพบปะกันในสังคมเสมอ และเป็นความเคยชินของคนทั้งโลก การกักตัวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์จึงเป็นไปได้ยาก

            วิธีการ การเว้นระยะทางสังคมฝรั่งเรียกว่า Social Distancing จึงตามมา หน้ากากอนามัยจึงตามมา หลายชนิดหลายรูปแบบ หลายราคา เกิดการกักตุนสินค้าที่จำเป็นเหล่านี้จึงตามมา ความเห็นแก่ตัวของแต่ละคนตามมา มนุษยธรรมก็ตามมาด้วยเหมือนกัน ใครใจบุญก็ถือโอกาสนี้ทำบุญเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในยามคับขันถือว่าได้บุญมากกว่ายามปกติ ใครใจไม่เป็นบุญก็หาทางสร้างความร่ำรวยบนความทุกข์ของเพื่อนร่วมชาติ สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้สังคมเห็นได้ พิจารณาได้จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นเป็นรายวัน

            ข่าวการรวมตัวของชาวบ้านหน่วยงานราชการ หรือเอกชน ทำหน้ากากอนามัยไว้แจกจ่ายใช้กันในสังคมและผู้อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ผ่านทาง ข่าวการพังพินาศของระบบเศรษฐกิจ การปิดตัวของร้านค้าขาย โรงงาน การเดินทางระหว่างจังหวัด ระหว่างประเทศ บริษัทขนส่งทุกทาง เครื่องบิน รถเมล์ รถไฟ เครื่องบิน โรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ แน่นอนว่า การตกงานของคนในประเทศ และเพื่อนพี่น้องแรงงานประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง บางรายเดินทางกลับภูมิลำเนา บางรายเดินทางกลับประเทศ บางรายหลบเลียแผลพิษทางเศรษฐกิจอยู่กับบ้าน

            โชคดีว่า ต่างคนต่างเข้าใจสภาพการว่า ถึงยามนี้ ชีวิตย่อมสำคัญกว่าอย่างอื่น ทำอย่างไรให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้แบบวันต่อวัน บางคนทำใจได้ ปลงใจได้ คิดน้อยกว่าคนอื่นก็เดือดร้อนน้อยกว่า บางคนคิดไม่ได้ วิตกกังวลอย่างหนัก ซึ่งอาจแสดงออกมาในรูปแบบที่ปกติไม่เคยแสดง หลายคนเกินการควบคุมเข้าขั้นวิกลจริตไปเลยก็มี

            ในยามคับขันอย่างนี้ คิดถึงคำพูดสองสามคำขึ้นมาได้ว่า “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” ส่วนใครจะมีวิธีการพลิกวิกฤติอย่างไรก็ทำกันไป ตามประสบการณ์ความรู้ที่มี ใครคุ้นชินอยู่อย่างไรก็หาวิธีการแก้ไขไปตามความคุ้นชินเหล่านั้น แต่วิธีการไหนดีเลิศที่สุดนั้นยังเป็นคำถามกันอยู่

            หลายคนเลือกเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เพราะเมืองใหญ่ที่เป็นทำเลขุดทองมาแต่เดิมนั้นเปลี่ยนไป นายจ้างเลิกจ้างงาน บริษัทปิดตัวลง รัฐบาลห้ามออกจากบ้าน แถมยังประกาศเคอฟิว กำหนดเวลาออกจากบ้าน เพื่อทำสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตเท่านั้น ที่ต่างจังหวัด หลายคนกลับไปพักผ่อนอยู่กับพ่อแม่ญาติพี่น้องในช่วงวิกฤติ ถือว่าเป็นแหล่งพักพิงอันอบอุ่น เก็บกินบุญเก่าเหมือนกบจำศีล อยู่แต่ในเฉพาะที่ตั้ง หายใจรวยรินน้อยๆ และอยู่ให้ได้นานที่สุด

            หลายคนมีไร่มีนามีที่ดินอยู่แต่ยังไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พยายามคิดหาวิธีการใช้ประโยชน์ไห้ได้บ้าง จึงลงมือปลูกพืชผักผลไม้เอาไว้กินเอง โดยศึกษาเอาจากอินเตอร์เน็ท ของตนเองบ้าง เน็ทฟรีของรัฐบาลอนุเคราะห์มาบ้าง เสร็จแล้วลงมือทำ บางรายมีความรู้เก่าอยู่บ้าง ศึกษาต่อและลงมือทำได้ไม่ยากนัก บางรายไม่มีความรู้เก่ามาก่อน จึงต้องเริ่มศึกษาจากเริ่มต้น บางจัดการความคิดหาวิธีการหล่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างเป็นระบบ

            เช่นการเริ่มต้นจากความคิดว่า “กินอะไรปลูกอันนั้น” การปลูกพืชผักนั้นต้องใช้เวลา แต่ความหิวของคนไม่ค่อยจำกัดเวลาดั่งนั้นการปลูกอะไรจึงจะทันกับความต้องการกินของเรา ครอบครัวเรา พี่น้องเรา ลูกค้าเรา จึงคิดหาวิธีการว่า ปลูกอะไรใช้เวลาน้อยที่สุด ปลูกอะไรใช้เวลามากขึ้นไปตามลำดับ เช่นการปลูกถั่วงอกใช้เวลาสองสามวันถึงเจ็ดวัน พืชเถาเช่นแตงกวาใช้เวลาเดือนกว่าๆ เก็บกินยอดเถาใบได้บ้างแล้ว มะเขือ พริก กระเพรา โหระพา อย่างน้อยสามเดือน ข้าว สามสี่เดือน บางรายคิดวิธีนำพืชที่มีอายุการเจริญเติบโตไม่เท่ากันมาปลูกไว้ในหลุมเดียว เพื่อว่าจะได้รดน้ำบำรุงดินเพียงแห่งเดียวครั้งเดียวได้ประโยชน์คุ้มค่า

            บางรายมีพื้นฐานทางการอ่าน จึงค้นคว้าหาหนังสือตำรับตำราที่ตนเองซื้อเก็บไว้หลายปีหลายเล่มแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่าน คราวนี้ได้อ่านสมใจ ทำให้จิตใจสงบลงแบบสบายๆ เพราะคนชอบอ่านหนังสือเมื่อได้อ่านหนังสือที่ถูกใจย่อมมีความสุข เมื่อมีความสุขร่างกายหลั่งสารแอดรีนาลินให้เป็นภูมิคุ้มกันชีวิต

            บางรายมีพื้นฐานทางธรรม พากันศึกษาหลักธรรมและปฏิบัติตามหลักธรรมที่เรียนรู้มาจากพระอาจารย์บ้าง เรียนมาจากหนังสือบ้าง จากอินเทอร์เน็ทบ้าง มีเวลาพอก็นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง แรกๆ อาจสับสนว่า จะเลือกปฏิบัติทางไหนแบบไหนดี เลือกเอาที่ตนเองชอบ

            บางคนชอบแนวทางแห่งวิปัสสนาล้วน พิจารณาร่างกายโดยละเอียดว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม มีลักษณะคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสัตว์และคนเหมือนกัน อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่ตัวตนยึดถือไม่ได้ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป วนอยู่อย่างนี้ บางคนชอบสมถะคือวิธีการทำใจให้สงบก่อน อันมีอยู่ตามคำสอน 40 วิธี โดยเริ่มจากสมถะแบบนี้ก่อน แล้วค่อยก้าวไปสู่วิปัสสนาในภายหลัง หรือทำทั้งสมถะและวิปัสสนาไปพร้อมกันในคราวเดียวก็ถือว่าเป็นกิริยาแห่งบุญ

            บางคนมองออกว่า แนวทางแห่งสติ คือการกำหนดสติไว้กับปัจจุบันขณะ เช่นหลวงพ่อ ติชนัทฮันช์ ชาวเวียตนามแต่ไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่ประเทศฝรั่งเศส ชื่อว่าหมู่บ้านพลัมนานมาแล้ว มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ท่านสอนว่า “Right here and now” ที่นี่ตอนนี้ เน้นมีสติอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมแท้ อดีตก็ผ่านไปแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง จะคิดปริวิตกกังวลไปทำไม ดังนั้นปัจจุบันเท่านั้นจึงเป็นเวลาทองแห่งการปฏิบัติ

            การกำหนดสติในปัจจุบันขณะจึงเป็นงานทางใจอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทาย เรื่องของพระศาสนา เป็นเรื่องที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองเท่านั้น บางคนเชื่อแต่ไม่ทำเองก็ไม่ได้ บางคนไม่เชื่อแต่ไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้อีก ดังนั้นแนวทางแห่งพุทธคือไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ขอให้ปฏิบัติถือว่าใช้ได้

            ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เรื่องของสมาธิ หรือสมถะอุบายแห่งการสงบใจที่มีอยู่มากถึง 40 วิธีตามแนวทางแห่งพระศาสนา กสิณ 10 การเพ่งจิตอยู่ในอารมณ์เดียวนานๆ  ตามแต่จะเลือก เพ่งธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เพ่งสี อีก 4 เพ่งสีเขียว สีแดง สีขาว สีเหลือง เพ่งแสงสว่าง เพ่งอากาศ คำว่าเพ่งหมายถึงอาการทางจิต ไม่มุ่งเน้นการเพ่งด้วยตา อนุสสติ 10 อสุภะ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปกัมมัฏฐาน 4 จตุธาตุววัฏฐาน 1 พิจารณาอาหาร1 รวม 40 วิธีพอดี ใครชอบอย่างไหนทำอย่างนั้นจนเป็นอารมณ์เดียว มุ่งเน้นไปที่การสงบจิตใจให้นิ่งในอารมณ์อันเดียว

            ประเทศไทยเราเมืองพุทธ แต่มีผู้ลงมือปฏิบัติตามหลักแห่งการปฏิบัติธรรมนี้น้อยเกินไปหน่อย แต่ก็ยังมีอยู่ แนวทางแห่งการปฏิบัตินั้นมี 4 สายใหญ่ๆ สายภาวนาพุทโธๆๆๆๆ อยู่ในใจไปเรื่อยๆ บางคนควบกำหนดลมหายใจเข้าออกไปด้วย หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ กำหนดรู้อย่างนี้ไปเรื่อยจนใจสงบนิ่ง เกิดสมาธิ เป็นการสั่งสมบุญชั่วช้างกระดิกหู ชั่วงูแลบลิ้น ที่ได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์สร้างศาลา (พระอาจารย์ท่านอบรมสั่งสอนกันมา)

            สายภาวนา “สัมมา อรหัง” ไปเรื่อยๆ ควบกับการนึกภาพดวงแก้วสว่าง หรือภาพองค์พระพุทธเจ้าที่กลางท้อง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะนิ่ง

            สายกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” ควบกับกำหนดอาการ พองและยุบของท้องอันเนื่องมาจากลมหายใจเข้าออก ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตใจสงบนิ่ง ตามอาการได้ทัน

            อีกสายหนึ่ง สายกำหนดสติการเคลื่อนไหวร่างกาย กิริยาอาการใหญ่ไปจนถึงกิริยาอาการย่อย มีสติกำกับกิริยาอาการเหล่านั้นไปจนกว่าจิตจะสงบนิ่งตามกิริยาอาการเหล่านั้นจนทัน แล้วติดตามติดต่ออยู่อย่างนั้นยาวนานเท่าที่เราต้องการถือว่าฝึกจิตดีแล้ว แล้วจึงก้าวเข้าสู่วิปัสสนาญาณชั้นสูงๆ ขึ้นไป

            ทุกสายดีเหมือนกันหมด หากคนใดฝึกสายใดแล้วยังคิดว่า สายนี้ดีกว่าสายอื่น ถือว่ายังเป็นผู้ใหม่คือยังไม่เข้าใจแนวทางแห่งการปฏิบัติ ไม่เข้าใจทั้งหลักการปฏิบัติ ผู้ที่เห็นว่าทุกสายปฏิบัติดีได้เท่าเทียมกัน ขอให้เดินตรงทางสู่เป้าหมายสุดท้ายได้ ถือว่าก้าวข้ามพ้นเรื่องสายไปได้แล้ว

            คนอยู่บ้านคนเครียดคนตกงาน อ่านข้อคิดคำเขียนเหล่านี้แล้วลองพลิกวิกฤติเป็นโอกาสลองทำตามดู ทีละเล็กทีละน้อยนะครับ บางทีทางออกของชีวิต อาจอยู่ใกล้ที่ปลายจมูกเหมือนเส้นผมบังภูเขาอยู่นิดเดียว ก็เป็นไปได้ พระคุ้มครองคุณผู้อ่านทุกคนอยู่รอดปลอดภัยตลอดไปนะครับ

หมายเลขบันทึก: 676973เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2020 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2020 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท