เก็บรักซ้อนไว้ในใจ ไม่ผิด?


ผู้เผยแผ่ธรรมในพุทธศาสนาท่านหนึ่ง อธิบายการถึงการมีรักซ้อน การคิดถึงใครที่ไม่ใช่คู่ของตนว่าหากไม่ละเมิดออกมาทางกาย วาจา ก็ไม่ถือว่าผิด เพราะความคิดไม่ใช่สิ่งที่ใครจะควบคุมได้ง่ายๆ เมื่อมีความพอใจในใคร แม้จะไม่ใช่คู่ของตน ก็ต้องโหยหา ต้องคิดถึง เป็นธรรมดา

เพียงแต่คนที่เป็นคู่ของเขาผู้นั้น หากรู้ว่าคู่มีใครอยู่ในใจอีกคน ก็ให้คิดเสียว่าไม่มีใครคิดถึงคนเพียงคนเดียวได้ หากเขายังรักษาสัญญา ยังอยู่ในศีล ยังมีกันและกัน(น่าจะหมายถึงทางกาย) เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเก็บกด กระทบกระทั่ง จนทั้งสองต้องตบะแตกเข้าในวันหนึ่งเพราะราคะของคนถูกระแวง และโทสะของคนขี้ระแวง

ขอแสดงความเห็นในมุมที่ต่างออกไปค่ะ กับความเห็นอย่างนี้ค่ะ เพราะมองว่าความเห็นอย่างนี้เป็นการสนับสนุนให้บุคคลคล้อยตามกิเลส ไม่สำรวมกายวาจาใจ รวมถึงการโยนความผิดของตนไปให้คนอื่นก็เป็นการทำให้ไม่ใคร่ได้ใช้โยนิโสมนสิการ อันเป็นที่มาของการได้สัมมาทิฏฐิ

ศีล แปลว่าปกติ มีทั้งความเป็นปกติที่เป็นกุศล (กุศลศีล) และที่เป็นอกุศล(อกุศลศีล)

การคิดปรุงปัจจุบัน วาดฝันอนาคตให้เป็นไปตามใจปรารถนาในทางที่ผิดธรรม ก็คือความประพฤติที่จัดเข้าในอกุศลกรรมบถ เมื่อประพฤติล่วงอกุศลกรรมบถเป็นปกติ(อกุศลศีล) ชีวิตจะพบความสงบเป็นปกติ(กุศลศีล)ได้อย่างไร

สิกขาบท ๕ หรือ ที่เราเรียกกันว่า ศีล ๕ หรือ เบญจศีล ต้องอบรมคู่กับเบญจธรรม ในสิกขาบทข้อการไม่ประพฤติผิดในกาม ต้องอบรมคู่กับ การยินดีแต่เพียงในคู่ของตนหรือที่บาลีว่า “สทารสันโดษ” เมื่ออบรมความพอใจแต่ในคู่ตน ก็จะไม่ผูกใจกับใครอื่น แต่หากเผลอไผลไปใฝ่ใจกับคนอื่น พอรู้ตัวแล้ว ผู้มี “หิริโอตัปปะ” ก็จะเป็นไปตามที่ปรากฏในคัมภีร์ คือ "ทำใจให้กลับ"

ไม่ว่าการคิดถึงใครอีกคนที่ไม่ใช่คู่ หรือการคอยจ้องจับผิดด้วยระแวงในคู่ ก็คือ"การเพ่งเฉพาะ" ไปที่ใครหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อเพ่งไป ใจย่อมหมองเพราะอุปกิเลส

และเพราะเพ่งจึงมี "ภพ" ตั้งอยู่ นานๆเข้าก็ต้องปรากฏเป็น “ชาติ” ออกมาทั้งสองฝ่าย 

วิถีชีวิตจึงไม่พบความเป็นปกติ 

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทั้ง คู่ผู้ที่คิดถึงใครในลักษณะชายหญิง คู่ผู้ที่รู้ว่าคู่ปันใจให้ใครอื่น ควรละการเพ่งเฉพาะนั้นๆอันเป็นการเพ่งภายนอกเสีย แต่มาเพ่งที่ภายในใจตน ที่ต้นตอของปัญหา ความเป็นจริงในปัจจุบัน และหาทางแก้ไขแทน

ทั้งนี้ก็เพื่อความก้าวหน้าในการอบรมตนในด้านต่างๆ เกิดปัญญารู้เห็นตามที่เป็นจริง สมดังที่สมเด็จพระสังฆราช(เจริญ สุวฑฺฒโน)ทรงบรรยายไว้

" ปัญญา และ เมตตา กรุณา เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของทุกคน เป็นสิ่งช่วยให้คนเป็นคนสมบูรณ์ขึ้น งามพร้อมขึ้น จึงพึงเพิ่มพูนทั้งสติ ปัญญา และ เมตตา กรุณา ซึ่งสามารถอบรมได้พร้อมกัน ให้เกิดผลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้"(ทุกชีวิตมีเวลาจำกัด หน้า 42)

ดังนั้น คู่ ผู้ที่พึงใจในใครอื่น เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มคิดถึงใครที่ไม่ใช่คู่ คิดปรุงฟุ้งไปด้วยความพอใจในทางหนุ่มสาว พึงละ ไม่เอาความคิดนั้น ทำให้สิ้นไป พยายามทำให้เกิดขึ้นใหม่อีกไม่ได้

การคิดปรุงฟุ้งท่านเรียกว่า "อภิสังขาร" ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในมาร ๕ ดังนั้น การคิดปรุงไปตามปรารถนา ก็คือกำลังทำความคุ้นเคยกับมารนั่นเอง เมื่อค้นเคยกับมาร ก็ทำให้หลงอยู่ในกาลทั้งสาม

จึงพึงตั้งเมตตา อบรมตนว่ากำลังสร้างทุคติให้แก่ตน ทำตนให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง

คือ เห็นทุกข์เป็นสุข เพราะแม้การคิดให้เป็นไปตามใจอยากจะทำให้เกิดความสุข คิดครั้งหนึ่งก็จำไว้อย่างนั้น คิดครั้งต่อไป ก็เอาที่จำไว้มาคิดต่อ เมื่อโลกของความคิดกับความเป็นจริงห่างกันออกไปมากๆเข้า ในที่สุด จะทนแบกรับไม่ได้ ก็จะกลายเป็นทุกข์ขึ้นอย่างแท้จริงเพราะความร้อนรุ่มภายใน หรือไม่ ก็ประพฤติล่วงออกมาทางกายวาจา หรือไม่ ก็ต้องสร้างเหตุสร้างความร้าวฉานกับคู่ของตน เพื่อให้ได้ไปเสพสุขกับใครอีกคนตามความคิด 

เห็นควรในสิ่งไม่ควร ไม่เห็นควรในสิ่งที่ควร จนนำไปสู่ความกระวนกระวาย ความทุกข์ใหญ่ในภายหลัง

อีกทั้งพึงเมตตาคู่ด้วยปลูกฝังความคิดว่า ตนอยากให้คู่ซื่อสัตย์ต่อตนอย่างไร คู่ก็ต้องการอย่างนั้น

พึงอบรมความพอใจแต่ในคู่ของตนขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้ไม่ละเมิดสิกขาบทด้วยความเต็มใจแล้ว ยังช่วยให้ไม่ขยายการติดข้องในกามสุข หรือก็คือสุขจากความรื่นรมย์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มากเกินไป

ส่วนในแง่ของคู่ ที่รู้ว่าคู่มีใครอยู่ในใจอีกคน ตรงนี้เห็นด้วยเพียงในแง่ที่ต้องไม่คอยระแวงจนเก็บกด จนเกิดระเบิดในภายหลังค่ะ

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่นึกจะห้ามก็ห้ามได้ แต่ต้องมาจากการเห็น จึงควรใช้โยนิโสมนสิการเพื่อนำตนออกจากความระแวง ความหึงหวง การยึดถือมั่น การคิดฟุ้งปรุงแต่ง โดยการอบรมเมตตา

พึงเมตตาตนโดยหมั่นระลึกว่า หากตนรับธรรมเหล่านั้นไว้ ตนก็กำลังสร้างอัธยาศัยไปในทางนั้นอันเป็นการทำทุคติแก่ตน จึงพึงละธรรมเหล่านั้นเสีย

พึงเมตตาคู่ที่ต้องทนทุกข์กับการปกปิดความในใจ คอยการปิดกั้นไม่แสดงออกทางกายวาจา 

เมื่อเมตตา ก็จะเข้าใจ ไม่โกรธเคือง

พึงระลึกว่าทุกคนไม่มีใครมีสติดีพอที่จะไม่ทำอะไรผิดเลย จึงเป็นไปได้ที่คู่จะเผลอไผลไปกับใครอื่น อีกทั้งในบางครั้ง กุศลก็เป็นปัจจัยให้แก่อกุศลได้ เช่น ความเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ในแรกเริ่มอาจปรารถนาให้เขาสุขอย่างแท้จริง ช่วยเหลือเจือจุนด้วยใจบริสุทธิ์ แต่ต่อมาเพราะว่าเผลอสติ เสน่หาจึงแทรกเข้ามา ก็กลายเป็นความพอใจในผู้ที่ไม่ใช่คู่ตนไปได้

หรือ พบใครบางคนที่มีบางอย่างที่คู่ตนไม่มี และเผอิญสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนชื่นชม ก็พลอยชื่นชมและอนุโมทนา ไปกับเขาด้วย แต่ลืมกำหนดด้วยสติ เสน่หาก็แทรกได้เหมือนกัน

ดังนั้น คนที่เผลอใจ ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีไปเสียทั้งหมด เพียงแต่เขาหลงลืมสติในบางช่วงของชีวิตเท่านั้น ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องธรรมดานะคะ เพราะผู้ที่มีสติตลอดเวลา น่าจะหมายถึงพระอรหันต์เท่านั้น

เพียงแต่เมื่อใดได้สติ รู้ว่าเผลอไปแล้ว มีการจัดการกับอกุศลธรรมนั้นอย่างไร เป็นไปในทางไหน

และควรหันมาพิจารณาตน ว่ามีสิ่งใดบกพร่องอันอาจเป็นเหตุให้คู่เบื่อหน่ายหรือไม่ ควรปรับปรุงแก้ไข ฝึกตนให้ดีขึ้นอย่างไร 

เพราะมนุษย์เราประเสริฐได้วยการฝึก

อีกทั้งพึงน้อมไป ว่าความคิด ความรัก บุคคล ล้วนแล้วแต่การปรุงขึ้นของธาตุต่างๆ มีสภาพเกิดดับ เป็นสิ่งที่ยึดถือไว้ไม่ได้ การมองความคิด ความรัก ของใคร ว่าเป็นก้อนที่เราจะยึดไว้ ไม่แบ่งปันให้ใคร ก็ไม่ใช่การมองที่สอดคล้องกับภาวะที่เกิดขึ้นจริง

การน้อมใจไปต่างๆ นอกจากจะทำให้อยู่ได้ในปัจจุบัน ยังจะทำให้ธรรมต่างๆเช่น เมตตา สุตะ จาคะ ปัญญา เพิ่มพูน

ใช้ภาวะที่ปรากฎในโลก เป็นปัจจัยในการอบรมตน ทั้งเพื่อการอยู่ในโลก และการเดินทางออกจากโลก
 

หมายเลขบันทึก: 675609เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2020 05:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2024 06:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท