ปัญหาหมอกควันPM2.5 ตอน 5 : คนดอยกับคนพื้นราบใครทำลายสมดุลธรรมชาติมากกว่ากัน


ปัญหาหมอกควันPM2.5 ตอน 5 : คนดอยกับคนพื้นราบใครทำลายสมดุลธรรมชาติมากกว่ากัน

17 พฤษภาคม 2567

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

 

ความตอนที่แล้วกล่าวถึงเรื่องโลกเดือด เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ความร้อนถึงกว่า 40 องศาฯ ที่สูงสุดในรอบหลายปี มีปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนซึ่งเป็นสภาวะ "เอลนีโญ" (El Niño) และ “ลานีญา" (La Niña) [2] เพราะวิกฤติความร้อนดังกล่าวมีผู้ประเมินว่าได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน ทำให้รายได้ตกต่ำลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จึงเสนอให้สังคมตื่นตัวกดดันรัฐ กลุ่มทุนให้รับผิดชอบให้เกื้อกูลระบบนิเวศและมีภูมิคุ้มกันในภาวะโลกร้อน และลดก๊าซเรือนกระจก ได้มีการเสนอแนวคิดในการปลูกต้นไม้ ด้วยหวังว่าเป็นโอกาสในการช่วยลดโลกร้อนลงได้ อีกทั้ง อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) แห่งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติผู้รณรงค์ต้นแบบโครงการโคก หนอง นา โมเดล ก็ได้ออกมาชวนคนไทยตระหนักถึงเรื่องโลกร้อน โลกแล้ง โลกเดือด[3] ชวนคนไทยในทางหนึ่งมันมีผลต่อการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียนตามข้อตกลงปี 2002 (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) [4]ที่กลุ่มชาติอาเซียน 8 ชาติได้รับรองแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2007 ด้วย

 

ปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่

ด้วยที่ผ่านมา ป่าไม้ไทยได้หายไปถึงปีละแสนไร่ ทำให้เหลือพื้นที่ป่าไม้น้อยลง[5] นอกจากนี้ยังมีนัยยะว่า การจำแนกพื้นที่ป่าไม้ของไทยนั้น แม้ว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา รัฐได้มีนโยบายให้นำแผนที่ (One Map) หรือ “การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map)”[6]มาใช้เพื่อแก้ปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกัน หรือลดข้อพิพาทในการชี้แนวเขตที่ดินลงก็ตาม ตัวอย่างง่ายๆ แผนที่ที่ดินทำกินที่ได้รังวัดและออกเอกสารให้แล้วกับพื้นที่จริง ส่วนใหญ่จะมีสภาพที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามภาพถ่ายทางอากาศเมื่อครั้งตอนรังวัด บางแปลงมีการรุกล้ำขยายพื้นที่เพิ่มมาก นอกจากนี้ปัญหาความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ปล่อยปละละเลย หรือมีเทคโนโลยีแต่ไม่ใช้ ไม่ยอมตรวจสอบสภาพพื้นที่เดิม จนหมดเขาเป็นลูกๆ เช่นที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ป่าที่อุทยานฯ (เดิม) ทำให้โอกาสที่ทำกินของราษฎร ณ ปัจจุบันไปทับที่ดินของรัฐได้ ซึ่งนักวิชาการเห็นว่า ยังมีปัญหาเรื่องการทับซ้อนในที่ดินของรัฐถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ที่ดินของรัฐทั้งหมด[7] ที่จะส่งปัญหาถึงในการนำพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ต่างๆ มาดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนและประชาชนได้ จากข้อมูลปี 2560 หน่วยงานรัฐมีที่ดินในครอบครองราว 60% ของทั้งประเทศ ข้อมูลปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 101 ล้านไร่ (37.47% ของพื้นที่ประเทศ) [8] แต่ระบบการดูแลที่ดินที่สืบทอดกันมาขาดความเป็นเอกภาพ ในการกำกับดูแลที่ดินของรัฐ เกิดโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแก่ประชาชน เช่น โครงการ “แม่แจ่มโมเดล” (จ.เชียงใหม่)และ “น่านแซนด์บอกซ์” (จ.น่าน)[9] รวมทั้งโครงการก่อนหน้า เช่น โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จ.ตาก[10] โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (โครงการ จคพ. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 มิถุนายน 2537) เป็นต้น ที่กำลังร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมาศึกษาตรวจสอบรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อแนะนำการแก้ไขปัญหาในสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขา (ชาวม้ง) เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

 

จะมีหนทางใดให้ชาวบ้านอยู่กับป่า มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้โดยต้นไม้ยังอยู่

แต่ก่อนเมื่อ 80 ปีที่แล้ว (ราวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา) ชนบทไทยทุ่งนาเขียวขจี มีวิวสวยตั้งแต่ภาคเหนือลงไปถึงอ่าวไทยเลยไปยังภาคใต้ ทุ่งนาเคยเป็นป่าอันอุดมสมบูรณ์เหมือนกับป่าบนดอย แต่ตอนนี้ป่าไม้ได้หดหายไป เพราะปัจจุบันมีการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก ป่าต้นน้ำก็ถูกทำลายโดยคนรุ่นหลาน นอกจากนี้ในพื้นที่ภาคกลางมีการทำนาที่เน้นเชิงพาณิชย์มาก มีปัญหาระบบนิเวศน์และการทำลายดิน ยังพบว่าทุกวันนี้อะไรก็บนดอย ผักอาหารก็ใด้จากบนดอย คนบนดอยยังสำคัญอยู่โดยมีข้อพิจารณาว่า (1) ป่าไม้ในพื้นที่ราบถูกบุกรุกตัดไม้จนหมดเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและการเพาะปลูกจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่มีการปลูกป่ามาทดแทน คนพื้นราบจึงโหยหาธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์จากบนดอย (2) ป่าพื้นที่สูงเป็นแปลงสำคัญกว่าที่ราบลุ่ม เพราะเป็นต้นน้ำ และเป็นตาน้ำแหล่งน้ำสำคัญอยู่หรือไม่ เพียงใด ที่กล่าวว่าบนดอยเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญก็ใช่อยู่ (3) ทุกวันนี้แหล่งน้ำพื้นราบส่วนหนึ่งมาจากการขุดเจาะบ่อบาดาลกันทั่วประเทศไทย สาเหตุความแห้งแล้งส่วนหนึ่งมาจากการดูดน้ำบาดาลมาใช้กันจนขาดความชุ่มชื้นในดินเวลาแล้งก็แล้งจัดเวลาร้อนก็ร้อนจัด เมื่อฝนตกดินก็ทรุดตัวเหล่านี้คงมิใช่คนบนดอยมิใช่ตัวการที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ (4) เปรียบเทียบสัดส่วนพื้นที่กินคนบนดอยกับคนพื้นราบแต่ละครอบครัวก็มีพื้นที่ทำกินต่างกัน คือคนบนดอยจะมีพื้นที่ทำกินที่น้อยกว่าคนพื้นราบที่อาจมีเป็น 100 เป็น 1,000 ไร่ การขายที่ทำให้ที่ดินตกเป็นของเจ้าสัวนายทุนมากขึ้น กลุ่มทุนมากว้านซื้อที่ รวมทั้งพวกนอมินี เกิดชุมชนเมือง มีเขตพาณิชย์อุตสาหกรรมที่ขาดความสมดุลในธรรมชาติมากขึ้น (5) คนบนดอยโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินได้น้อยกว่าคนพื้นราบ นโยบายเปลี่ยนการเกษตรเชิงเดี่ยวของรัฐอาจทำให้คนบนดอยปรับตัวไม่ทัน 

มุมกลับมองย้อนคิดในเรื่องสมดุลธรรมชาติว่า ใครปล่อยมลพิษมากกว่ากัน คนชนบททำไร่ทำนาเพียงปีละครั้งถึง 2 ครั้ง นโยบายป่าไม้ที่คุมเข้มคนบนดอยก็เพียงแค่ทำสวนทำไร่ แต่ก่อนไม่มีสารพิษ ทำให้ปัจจุบันการทำมาหากินยากลำบากขึ้น เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนรัฐไม่มองเฉพาะมุมแคบ ต้องมองเชิงบูรณาการ ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาคนบนดอยรวมทั้งคนพื้นราบโดยเฉพาะเขตเมืองแบบจริงจังและจริงใจ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งบนดอยและคนพื้นราบ เพราะมนุษย์นี่แหละคือผู้ทำลาย นี่คือสาเหตุภาวะโลกร้อน เกิดภาวะเรือนกระจก ข้อมูลผลการวิเคราะห์โลกร้อนส่วนใหญ่ คือจากคนเมือง เช่น เผาขยะเป็นพันๆ ตันต่อวัน อุตสาหกรรม ควันรถ มีตึกไม่มีต้นไม้ เลิกโทษคนอยู่ป่าอยู่ดอย เขาอยู่คู่กับป่าที่อยู่เขาคือดอยที่ทำกินก็ทำเท่าที่ป่าไม้จัดสรรให้เพียงพอแก่การเกษตรในการดำรงชีพเลี้ยงครอบครัว การตัดต้นไม้และถางป่าเป็นแค่สาเหตุหนึ่งเท่านั้น ความเจริญของบ้านเมืองเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อากาศโลกร้อนขึ้น ในเมืองกับชนบทที่ใดต้นไม้เยอะกว่ากัน อย่าโทษคนดอย ชาวเขา ทุกครั้งที่โลกร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม จะมีวลีวาทกรรมด้อยค่าโทษคนบนเขาบนดอยก่อนเสมอ อย่าลืมว่าที่ทุ่งนาผืนใหญ่ที่โล่ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่แล้วจะเอาโอโซนมาจากที่ใด เราไม่โทษธรรมชาติ โทษฝนฟ้าอากาศร้อน โลกร้อนก็มีหลายสาเหตุ แต่เราไม่เคยโทษตัวเองเลย ว่าสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนโลกเปลี่ยน ก็คือตัวมนุษย์นั่นเอง เป็นตัวทำลายต้นไม้และธรรมชาติ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ทำให้ต่างแก่งแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่า "เงิน" ต่างคนต่างหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ไม่มีการแบ่งปันช่วยเหลือเจอจุนกัน จนเกิดความมั่งมีที่เกินขอบเขตเป็น “ลัทธิบริโภคนิยม” (Consumerism)[11] บ้าเงินทองของหรู เกิด “การบริโภคที่มากเกินความจำเป็น” (Hyper consumerism)[12]มีผลต่อการใช้ทรัพยกรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง และส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน มีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน และต้องไม่มองโลกสวยเกิน และอย่ามัวแต่บ่นว่าโลกร้อน มิเช่นนั้นต่อไป “โอกาสที่สิ่งแวดล้อมที่สวยงามจะหายไปได้ในพริบตา”

 

ข้าวโพดตัวปัญหาทำลายป่าจริงไหม

คนดอยปลูกข้าวโพดมาก[13] มีการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย มีนายทุนต่างถิ่นมาเช่า มาลงทุนเสียมากกว่าที่ยืมแต่มือเกษตรกรพื้นที่ทำ เกิดป่าภูเขาหัวโล้น ส่วนใหญ่เกษตรบนดอยจึงเพื่อการอุตสาหกรรมแก่คนพื้นราบโดยมีกลุ่มนายทุนเป็นพ่อค้าคนกลาง โอกาสที่จะได้กำไรจากการเกษตรยาก มีต้นทุนทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเก็บเกี่ยว ค่าโม่ พอขายก็ถูกหักค่าความชื้น ถูกกดราคา หรือไปซื้อข้าวโพดจากจีนหรือจากประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาต่ำกว่าบ้านเรา ดังนั้น เกษตรกรไทยส่วนใหญ่แค่ได้มีโอกาสเพียงเงินวิ่งผ่านมือเท่านั้น คนชุบมือเปิบเสือนอนกินจะเป็น พ่อค้าคนกลาง นายทุนใหญ่ที่ผลิตยาปุ๋ยอาหารสัตว์ครบวงจร คนบนดอยจึงมีโอกาสทำมาหากินที่ยากยิ่ง จะทำรีสอร์ตท่องเที่ยวก็ไม่ได้รัฐไม่ส่งเสริม จะทำไร่ก็ว่าทำลายป่า เผาป่าเผาหญ้าเพื่อการเกษตรก็ไม่ได้ ลำบากไปหมด ภาครัฐควรให้โอกาสคนดอย มีผู้วิเคราะห์ว่า ข้าวโพดและยาฆ่าหญ้าตัวดีเลย ตั้งแต่ข้าวโพดเข้ามา ก็มีการใช้ยาฆ่าหญ้ามาก ป่าก็เริ่มหาย ไม่เหมือนทำไร่หมุนเวียน ยังไงป่าก็ยังอยู่เป็นว่า “เมื่อนายทุนเข้ามาป่าก็หาย”[14] หรือ “ชาวบ้านกำลังฆ่าตัวเองโดยผ่านนายทุน” และเมื่อเกิดปัญหาพวกนายทุนก็ไม่เคยเหลียวแล รัฐต้องจำกัดพื้นที่ปลูกไร่ข้าวโพดลง อย่าให้บุคลากรของรัฐบางส่วนไม่ได้ผลประโยชน์จากการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดบนดอย เพราะไร่หมุนเวียนชาวบ้านเขาทำเพื่อการยังชีพ มิได้เป็นแบบเชิงพาณิชย์แบบปลูกข้าวโพด พอหมดฤดูเก็บเกี่ยวปลายปีตุลาคม ก็จะเริ่มทำอีกที่ต้นเดือนเมษายน การทำไร่แบบหมุนเวียนจะมีเวลาให้ป่าฟื้นตัวได้ในอีก 6-7 ปีโดยทำเวียนกันไป เพราะไม่มีการทำซ้ำที่เดิมการทำลายหน้าดินหมุนเวียนกันไปทุกปี แต่ไร่ข้าวโพดจะทำปลูกซ้ำและมีการใช้ปุ้ยเคมีใช้ยาฆ่าหญ้ายาฆ่าแมลงพืชสัตว์ตายหมด ที่ดินก็จะกลายเป็นเขาหัวโล้น อย่าแก้ที่ปลายเหตุควรมาแก้กันที่ต้นเหตุ ลองส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนจากไร่ข้าวโพดเป็นไร่หมุนเวียนดู ปลูกพืชผักสวนครัว แตงกวา มะเขือ มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฯ หรืออะไรก็ได้ ทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่รัฐต้องมีการส่งเสริมการตลาดด้วยอาจดีกว่า เป้าหมายคือจะทำอย่างไร เพื่อสุดท้ายให้เกษตรกรได้มีความมั่งคั่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีสภาพการดำรงชีพที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ที่เป็นอาชีพที่ยั่งยืนและสามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้ เพราะคนดอยเขาไม่อยากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันสักเท่าใด ที่ชาวบ้านต้องปลูก แม้กำไรน้อยก็ยอม เพราะมีนายทุนไปส่งเสริมและรับซื้อถึงที่ต่างหาก เขามีที่มีนาให้ทำกินอยู่แล้ว ต้องส่งเสริมชาวบ้านทำกิน เพื่อการดำรงชีพที่ดีขึ้นที่จะส่งผลถึงลูกหลานของเขาได้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้นด้วย

พื้นที่ราบถูกบุกรุกแผ้วถางตัดต้นไม้และทำลายพื้นป่าจนราบไม่เหลือแม้แต่ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ให้พักหลบร้อน ทุกวันนี้คนพื้นราบเลยโหยหาป่าโหยหาต้นไม้หาอากาศที่บริสุทธิ์ แถมยังมาชี้หน้าคนบนดอยว่าเป็นตัวการของภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำท่วม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แต่คนพื้นราบกลับลืมมองตัวเองว่าได้ทำอะไรไว้กับป่าบ้าง คนพื้นราบต้องไม่มีอคติ ไม่เอาเปรียบคนดอย มีภาวะน้ำท่วมเกิดทุกปี งบแก้น้ำท่วมก็เป็นภาษีประชาชนที่แทนจะเอาไปพัฒนาอย่างอื่น เพื่อแก้วิกฤตน้ำท่วม แรกสุดควรมีการตรากฎหมายให้คนพื้นราบปลูกป่าเช่น ในที่นา ที่ว่างด้วยอย่างน้อยสัก 40% ของพื้นที่ เป็นต้น ใครที่เกิดมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าก็พูดได้ แต่กับชาวบ้านคนที่แย่ๆ ทั้งสภาพเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่เขาคงพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะลำพังปากท้องตัวเองก็ไม่รอด แล้วจะมีเวลามาเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดีของตนเองคงยาก อย่างนี้ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการดูแล ไม่ว่าการจัดสรรที่ทำกิน การให้ทุน การส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น แต่กับนายทุนรัฐให้ทำได้หมด

 

รัฐบาลควรเพิกถอนเขตป่าสงวนฯ และออกโฉนดให้ผู้ครอบครองที่ดิน 

          การแก้ปัญหาสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ชาวบ้าน กรณีที่เป็นพื้นที่ป่า หรือป่าสงวน หรือเขตพื้นที่ของรัฐอื่นยังมีปัญหามาก เนื่องจากมีกลุ่มทุนเข้ามากว้านซื้อแสวงประโยชน์จากรัฐในนโยบายนี้ในรูปแบบของนอมินี หรือการถือครองที่ดินแทน ไม่เว้นแม้ที่ดินบนป่าเขา ทางออกที่ผ่านมาคือการประกาศเป็นเขต ส.ป.ก. และเมื่อต้นปี 2567 นี้ก็คือการออกเอกสาร “โฉนดเพื่อการเกษตร” [15] โดยการเปลี่ยนจากเดิม ส.ป.ก.4-01 เป็นเอกสารใหม่ที่สามารถนำมาเป็นทุนกับธนาคารได้ กล่าวคือ เพิ่มมูลค่าสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เป็นแหล่งทุน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืน สามารถเปลี่ยนมือไปเกษตรกรอื่นได้ กู้ธนาคารได้ แปลงทรัพย์สินเป็นทุนสร้างรายได้ เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลได้ 

 

แต่ทางออกที่สำคัญกว่าก็คือ รัฐบาลควรออก พ.ร.ฎ. เพิกถอนเขตป่าสงวนฯ กันเขตออกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้วให้ มท. ดำเนินการออกโฉนดตามกฎหมายที่ดิน ด้วยเหตุสภาพพื้นที่ปัจจุบันไม่ใช่ป่าแล้ว และหรือเป็นป่าเสื่อมโทรม เขตที่อยู่อาศัยจากสภาพหมู่บ้านดิมได้พัฒนาจนเป็นชุมชนที่ขยายขึ้น จนเป็นเมืองแล้ว และในเขตที่ดินทำกินจากที่ดินทำเกษตรยังชีพก็เป็นการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามสิทธิ์โดยชอบ เป็นประเด็นแห่งการท้าทายรัฐบาลเพื่อให้สังคมอยู่รอดได้ในวิถียุคแห่งการเปลี่ยนแปลง (Digital Disruption) เช่นนี้

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Bhumi Watchara Charoenplitpon, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 24 พฤษภาคม 2567, 23:00 น., https://siamrath.co.th/n/538668 

[2]เอลนีโญ (El Niño) เป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี ลักษณะของเอลนีโญ คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า เอลนีโญและลานีญา (La Niña) ตามลำดับ ส่วนลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก, วิกีพีเดีย

สรุป "ลานีญา" (La Niña) ถือเป็นปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งเป็นสภาวะตรงข้าม "เอลนีโญ" (El Niño) สามารถเกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี โดยปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี 

[3]โลกเดือด (Global Boiling) เป็นสภาวะที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากเกิน เป็นคำกล่าวของเลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations) ที่ประกาศสื่อสารให้ทั่วโลกเข้าใจตรงกันว่าปัจจุบันโลกของเราได้สิ้นสุด ‘ยุคโลกร้อน’ (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ ‘ยุคโลกเดือด’ (Global Boiling) แล้วนั่นเอง 

ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็หมายถึงน้ำที่เดือดปุดๆ เหมือนถูกตั้งอยู่บนไฟตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราไม่หยุดภาวะการเดือดนี้ก็อาจส่งผลให้อุณหภูมิโลกทะลุสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ และมีปรากฏการณ์ที่เป็นผลกระทบชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเห็นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น อุณหภูมิของมหาสมุทรและน้ำทะเลสูงที่สุดและร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกได้, ฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงสุดเป็นปรากฏการณ์ เช่น สหรัฐฯ อุณหภูมิสูง 46.6 องศา หรือภูมิภาคแอฟริกาเหนือมีอุณหภูมิสูงสุดแตะ 50 องศา, สถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงหลายภูมิภาคทั่วโลก

ดู เตรียมรับมือ ‘ภาวะโลกเดือด (global boiling)’ เพิ่มดีกรีสูงทั่วโลก, blog ANANDA, 10 กันยายน 2566, https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/เตรียมรับมือ-ภาวะโลกเดือด/ & ร้อนแล้ง โลกเดือด ชวนคนไทย ทำเรื่องใหญ่...ก่อนจะเอาไม่ทัน!, อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์), มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สภากาแฟเวทีชาวบ้าน, ช่อง news1, 2 พฤษภาคม 2567, https://www.youtube.com/watch?v=o8P-pgYT77g & ภาวะโลกร้อนหลบไป : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, STeP, 15 พฤษภาคม 2567, https://www.facebook.com/share/p/RAkR4a9RH41yn9P3/?mibextid=WC7FNe

[4]ข้อตกลงว่าด้วยมลพิษหมอกควันข้ามแดนอาเซียนในปี ค.ศ.2002 (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) คือความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ลงนามในปี ค.ศ.2002 ระหว่างชาติสมาชิกในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดมลหมอกพิษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความตกลงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการถางป่าโดยการเผาในเกาะสุมาตราในอินโดนีเชีย ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นจุดต่างๆ ทั่วบอร์เนียว, สุมาตรา, คาบสมุทรมาลายู และอื่นๆ ที่มีผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงต่อมาเลเซีย, สิงคโปร์ และบ้างในประเทศไทย และ บรูไน สำหรับสุมาตรา ลมมรสุมพัดควันไปทางตะวันออกที่ทำให้สร้างความกระทบกระเทือนภายนอกประเทศต่อชาติอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มลหมอกหนาปกคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายอาทิตย์ และมีผลต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศดังกล่าว ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2007 แปดชาติให้สัตยาบันในความตกลง, อ้างจาก วิกิพีเดีย

[5]ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ 102,135,974.96 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งลดลดลงจากปี 2564 ประมาณ 0.02% คิดเป็น 76,459.41 ไร่ ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้แบ่งตามภูมิภาค

ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 38,147,662.41 ไร่ คิดเป็น 63.53% ของพื้นที่ภูมิภาค (ลดลง 0.07%)

ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าไม้ 20,083,474.07 ไร่ คิดเป็น 59.00% ของพื้นที่ภูมิภาค (ลดลง 0.09%)

ภาคกลาง มีพื้นที่ป่าไม้ 12,273,419.39 ไร่ คิดเป็น 21.57% ของพื้นที่ภูมิภาค (เพิ่มขึ้น 0.27%)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 15,695,705.86 ไร่ คิดเป็น 14.97% ของพื้นที่ภูมิภาค (ลดลง 0.04%)

ภาคตะวันออก มีพื้นที่ป่าไม้ 4,711,228.29 ไร่ คิดเป็น 21.86% ของพื้นที่ภูมิภาค (ลดลง 0.21%)

ภาคใต้ มีพื้นที่ป่าไม้ 11,224,484.95 ไร่ คิดเป็น 24.32% ของพื้นที่ภูมิภาค (เพิ่มขึ้น 0.05%)

อ้างอิงจาก สภาพพื้นที่ป่าไม้แบ่งตามภูมิภาค ปี 2565 ในเฟซบุ๊กโดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า, 11 กรกฎาคม 2566, https://www.facebook.com/thairakpaofficial/posts/pfbid02nGL3BvhZzRxg9VKfGyks8j39k7tRR63sTFKpBKi5kHq3Aw2gKGpvy6jmGZNRhydCl

[6]ปลายทศวรรษ 2550 รัฐบาลมีโครงการใช้เทคโนโลยีใหม่ของ GPS และข้อมูลการถือครองที่ดินประเภทต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งจัดทำแผนที่ให้เป็นหนึ่งเดียว (One Map) 

ดู การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) โดยคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พ.ศ.2559, https://www.pacc.go.th/pacc_2015/onemap/assets/เอกสารการปรับปรุงแนวเชตที่ดินของรัฐ_สมบู.pdf & คำต่อคำ ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตร์-ศิลป์ กำกับดูแลที่ดินและสันติประชาธรรม, มติชน, 12 มีนาคม 2567, 18:05 น., https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4468249

[7]ไทยมีพื้นที่ทับซ้อน 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ จากข้อมูลปี 2560 หน่วยงานรัฐมีที่ดินในครอบครองราว 60% ของทั้งประเทศ แต่ระบบการดูแลที่ดินที่สืบทอดกันมาขาดความเป็นเอกภาพ ซึ่งการกำกับดูแลที่ดินรัฐ ที่ดินเอกชน และที่ดิน ส.ป.ก. ในแต่ละส่วนจะมีกฎหมาย กฎเกณฑ์ และโครงสร้างบริหารที่แยกออกจากกัน จึงกลายเป็นระบบที่ซับซ้อนและขาดประสิทธิภาพ ไม่เอื้ออำนวยต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาทับซ้อนระหว่างพื้นที่รัฐกับรัฐ และพื้นที่รัฐกับพื้นที่ของประชาชนที่ครอบครองมานาน

ดู รัฐถือครองที่ดินเกินจำเป็น ไม่เอื้อประชาชนอยู่ดีกินดี, Policy Watch, 11 มีนาคม 2567, 17:12 น., https://policywatch.thaipbs.or.th/article/agriculture-17

[8]บรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวในงานแถลงข่าว วันป่าไม้สากล (2565) ว่า ป่าในเมืองไทยเหลือเพียง 101 ล้านไร่เศษ คิดเป็น 37.47% ของพื้นที่ประเทศไทย ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีพื้นที่ป่าไม้ที่เหมาะสมต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทยราว 40% ของพื้นที่ประเทศ (มีข้อสังเกตว่าการอ้างอิงข้อมูลปี 2565 มีความคลาดเคลื่อนที่ไม่ตรงกัน เพราะ ข้อมูลของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า, 11 กรกฎาคม 2566 ระบุว่า ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้ 102,135,974.96 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ดู อ้างแล้ว) 

เดิมรัฐบาลได้กำหนดจุดหมายไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติว่าจะสงวนป่าไม้ไว้เป็นเนื้อที่ประมาณร้อยละ 50 แห่งของเนื้อที่ประเทศไทย คือเป็นเนื้อที่ป่าสงวนแห่งชาติรวมประมาณ 20,000 ตารางกิโลเมตรหรือ 156 ล้านไร่ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีแนวคิดในการอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติ คือ สงวนและรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรป่าไม้ เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นป่าสงวนแห่งชาติไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากป่าในเชิงเศรษฐกิจ และนำผลประโยชน์จากป่าไม้มาเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีการใช้ประโยชน์นานที่สุดจนถึงลูกหลาน ดู ไทย มีพื้นที่ป่าไม้เพียง 101 ล้านไร่ หรือ 37.47% ของพื้นที่ประเทศ, กรุงเทพธุรกิจ, 13 มีนาคม 2567, https://www.bangkokbiznews.com/environment/1117515 & สภาพพื้นที่ป่าไม้แบ่งตามภูมิภาค ปี 2565 ในเฟซบุ๊กโดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า, 11 กรกฎาคม 2566, อ้างแล้ว

[9]ในกรณีแม่แจ่มโมเดล จ.เชียงใหม่ และน่านแซนด์บ็อกซ์ จ.น่าน ที่ต่างมีการใช้ทุนของชุมชน และมีแนวทางในการขับเคลื่อนต่างกัน แต่มุ่งไปสู่การแก้ปัญหา โดยที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เป็นพลังแห่งการต่อสู้ ผลักดันวิถี 'คนอยู่กับป่า'

ดู รัฐถือครองที่ดินเกินจำเป็น ไม่เอื้อประชาชนอยู่ดีกินดี, Policy Watch, 11 มีนาคม 2567, 17:12 น., อ้างแล้ว & คำต่อคำ ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตร์-ศิลป์ กำกับดูแลที่ดินและสันติประชาธรรม, มติชน, 12 มีนาคม 2567, 18:05 น., อ้างแล้ว

[10]โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ (โครงการ จคพ.)ได้รับอนุมัติจัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 มิถุนายน 2537 (อนุมัติหลังจากดำเนินการแล้ว) มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2535-2538 

ดู โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ (โครงการ จคพ.), สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, http://tak.dnp.go.th/Home_files/Division/dumri/JKP/JKP.html 

[11]ลัทธิบริโภคนิยม (consumerism) หมายถึงการนิยมบริโภคฟุ่มเฟือยเกินความต้องการที่จำเป็นในชีวิตและเกินกว่าฐ านะรายได้หรือความสามารถในการผลิตของคนหรือของประเทศ เป็นลัทธิที่แพร่หลายในประเทศไทยมาก ไม่ใช่เฉพาะนิสิต นักศึกษา เยาวชนวัยรุ่นหนุ่มสาวเท่านั้นที่นิยมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนทั่วไปต่างก็นิยมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกันเป็นส่วนใหญ่ ในทางธรรมะ ถือว่า "ลัทธิบริโภคนิยมมาจากตัณหาของมนุษย์" ดู ลัทธิบริโภคนิยม เกิดจากอะไรและจะแก้ไขกันอย่างไร, โดยชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล, ใน wordpress, 5 กันยายน 2551, https://witayakornclub.wordpress.com/2008/09/05/ลัทธิบริโภคนิยม-เกิดจาก/ & บริโภคนิยม โดยวรชัย ทองไทย, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 8 ธันวาคม 2564, https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=566

[12]บริโภคนิยมสุดโต่ง หรือ การบริโภคที่มากเกินความจำเป็น (Hyperconsumerism) มีผลต่อการใช้ทรัพยกรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง และส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น การเสียสมดุลของระบบนิเวศ ปัญหาขยะ ความเสื่อมโทรมของดิน น้ำ ป่า และอากาศ (Dimitrova et al., 2022) นักวิชาการชี้ว่าบรรทัดฐานของสังคมบริโภคได้เปลี่ยนมนุษย์ให้เป็น “ผู้แสวงหาความพอใจส่วนตัว” (pleasure seekers) สะท้อนให้เห็นการนิยามชีวิตแบบใหม่ที่ว่า “ฉันบริโภค ฉันจึงมีอยู่” (I consume therefore I am) (Msafiri, 2008)

ดู บริโภคนิยมสุดโต่ง (Hyperconsumerism), โดยนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, วัฒนธรรมร่วมสมัย, ในศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 8 ธันวาคม 2566, https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/549 

[13]มีข้อมูลว่าเกษตรกรไทยปลูกข้าวโพดมาก เพราะไทยมีความต้องการข้าวโพดอาหารสัตว์เพื่อการเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วย

[14]“เมื่อนายทุนเข้ามาป่าก็หาย” เป็นข้อสันนิษฐานที่เป็นจริงมานานแล้ว เพราะ การทำไร่ข้าวโพด ทำเพื่อนายทุน เป็นเชิงพาณิชย์ ที่แข่งขันกันทำเป็นจำนวนมาก มีการใช้สารเคมีด้วย ทำให้เกิดภาวะ “ภูเขาหัวโล้น” เพราะปลูกข้าวโพดเลี้ยงไก่ เช่นกล่าวหาว่า นโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนานั้น มีการกล่าวหาว่า เป็น "ทาสนายทุน" ดู 'กฤษฎา' โต้เดือด! ปัดข้อหาเอื้อ "นายทุนข้าวโพด", ฐานเศรษฐกิจ, 4 มกราคม 2562, https://www.thansettakij.com/business/369951 & “ภูเขาหัวโล้น เพราะปลูกข้าวโพดเลี้ยงไก่ เรากินไก่ แล้วใครทำลายป่า? เฮ้ย เรานี่หว่า” วิชาธรรมชาติของแตง อาบอำไพ รัตนภาณุ โดยณิชากร ศรีเพชรดี, thepotential, 1 มีนาคม 2562, https://thepotential.org/voice-of-new-gen/tang-farmer/

[15]“โฉนดเพื่อการเกษตร” หมายถึง หนังสือแสดงสิทธิที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน” เกษตรกรที่ประสงค์จะขอเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” จะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยนับระยะเวลาต่อเนื่องจากคนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินครั้งแรก ดู การขอเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยวันวิภา สุขสวัสดิ์ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ออกอากาศสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาเมื่อ กุมภาพันธ์ 2567, https://library.parliament.go.th/th/radioscipt/rr2567-feb4



ความเห็น (1)

Not only ‘corn’ but also ‘cassava’ lead to clearing of native forests and habitats. Both benefit non-farmers more and cost general population –everyone.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท