มรดกโลกคืออะไร


การประกันคุณภาพการศึกษา กศน.
มรดกโลกคืออะไร รายละเอียด : ความเป็นมา องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาชาติ หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ยูเนสโก (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization - UNESCO) มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้มีการกำหนด ปกป้อง และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติจากทั่วโลกที่คิดว่ามีคุณค่าอย่างเด่นชัดต่อมนุษยชาติ ความคิดที่จะก่อให้เกิดมีการเคลื่อนไหวจากนานาชาติในอันที่จะปกป้องสถานที่ในประเทศอื่นๆ มีมาแล้วตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เหตุการณ์อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ปลุกเร้าให้เกิดความสนใจจากนานาชาตินั้น ก็มาจากการตัดสินใจที่จะสร้างเขื่อนอัสวานซึ่งอยู่ใกล้ต้นน้ำที่เมืองอัสวานในประเทศอียิปต์ ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมหุบเขาที่มีวิหารอะบูซิมเบล (Abu Simbel) อันเป็นสมบัติล้ำค่าของวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ ในปี ค.ศ. 1959 หลังจากได้รับคำขอร้องจากรัฐบาลอียิปต์และรัฐบาลซูดาน ยูเนสโกจึงตกลงใจเริ่มลงมือในโครงการนานาชาติซึ่งส่งผลให้วิหารอะบูซิมเบล (The Great Temple of Abu Simbel) และสุสานไอซิสแห่งฟิเล (Sanctuary of Isis in Philae) ได้รับการรื้อถอนโยกย้ายไปยังที่สูง และประกอบขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิมด้วยวิธีอะนาสตีโลซีส คือ รื้อประกอบใหม่โดยตัดหินออกเป็นก้อนๆ และประกอบขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม (Anastylosis) โครงการนั้นใช้เงินประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนี้ได้รับการบริจาคจาก 50 ประเทศด้วยกัน อันแสดงถึงความสำคัญของความรับผิดชอบร่วมกันต่อการอนุรักษ์ไว้ซึ่งสถานที่ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งยวดทางวัฒนธรรม ความสำเร็จในครั้งนี้ได้ชักโยงไปถึงโครงการอนุรักษ์อื่นๆ เป็นต้นว่า เมืองเวนิสในอิตาลี เมืองโมเอนโจดาโร ในปากีสถาน และบุโรพุทโธใน อินโดนีเซีย จากผลพวงนี้ยูเนสโกจึงริเริ่มเตรียมร่าง อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์มรดกทาง วัฒนธรรมขึ้นมา ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือจาก สภานานาชาติว่าด้วยอนุสรณ์สถานและบริเวณโดยรอบ (The International Council on Monuments and Sites -ICOMOS) ความคิดที่จะรวมการอนุรักษ์สถานที่ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติเข้าด้วยกันนั้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในการประชุมที่ทำเนียบขาว ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. เมื่อปี ค.ศ. 1965 ได้มีการ เสนอให้มี "การดูแลรับผิดชอบมรดกโลก" ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือจากนานาชาติในอันที่จะปกป้อง "สถานที่อันล้ำค่าทางธรรมชาติทางทัศนียภาพ และทางประวัติศาสตร์จากทั่ว โลก" ไว้เพื่อปัจจุบันและอนาคตแห่งพลโลก ในปี ค.ศ. 1968 สหภาพนานาชาติว่าด้วยการสงวนรักษาธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for the Conservation of Nature and Natural Sources -IUCN ปัจจุบันชื่อ The World Conservation Union) ก็ได้มีการเสนอในทำนองเดียวกัน ข้อเสนอเหล่านี้ได้รับการเสนอเข้าที่ประชุมของสหประชาชาติเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนซึ่งได้จัดให้มีขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม (สวีเดน) เมื่อปี ค.ศ. 1972 ในที่สุด ข้อเสนอเหล่านี้ก็เหลือเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ จึงได้รับการยอมรับจากที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ข้อกำหนดและเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอแหล่งมรดกโลก เกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม 1. มีลักษณะโครงสร้างต่างๆ สะท้อนถึงอดีต เช่น งานทางสถาปัตยกรรม ผลงานที่เป็นอนุสรณ์ในเชิงจิตรกรรม หรือประติมากรรม โครงสร้างทางธรรมชาติที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ถ้ำที่ใช้เป็นที่อยู่ของมนุษย์ หรือลักษณะอื่นๆ ใกล้เคียงซึ่งมีคุณค่าและความสำคัญในระดับสากลในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ 2. เป็นกลุ่มอาคารที่มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือลักษณะทางภูมิสถาปัตย์ ที่มีคุณค่าหรือความสำคัญในระดับสากลไม่ว่าจะในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ 3. เป็นที่ตั้งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของมนุษย์โดยเฉพาะ หรือเป็นการร่วมกันของทั้งมนุษย์และธรรมชาติ รวมทั้งที่ตั้งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งล้วนมีคุณค่าและความสำคัญระดับสากลไม่ว่าจะในด้านประวัติศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ชาติพันธุ์วิทยา หรือมานุษยวิทยา การที่ลักษณะทั้ง 3 ข้อดังกล่าวจะจะถูกจัดว่ามีคุณค่า ความสำคัญ และชื่อเสียงระดับโลก หรือไม่นั้น จะต้องเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งใน 6 ข้อดังนี้ 1. เป็นสิ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของความสำเร็จทางด้านศิลปะซึ่งเป็นต้นแบบหรือแบบฉบับต่อๆ มา 2. เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม ศิลป ผังเมือง หรือภูมิสถาปัตย์ ในแหล่งอารยธรรมแหล่งใดแหล่งหนึ่งของโลก 3. เป็นหลักฐานเฉพาะที่แสดงถึงความเป็นอารยธรรมหนึ่งๆ ซึ่งสูญหายหรือล่มสลายไป 4. เป็นรูปแบบของอาคาร หรือผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงซึ่งปรากฏชัดเจนช่วงสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ 5. เป็นรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานที่มีชื่อเสียง อันสะท้อนลักษณะวัฒนธรรมในช่วงสำคัญๆทางประวัติศาสตร์ 6. มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ ความคิด หรือความเชื่อที่มีความสำคัญ และมีชื่อเสียงในระดับสากล (ข้อนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเฉพาะที่เป็นเหตุการณ์ที่พิเศษจริงๆ เท่านั้น แต่อาจนำไปประกอบกับเกณฑ์ข้างต้นทั้ง 5 ข้อ ด้วยก็ได้ ) รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบว่า มีลักษณะดั้งเดิมที่แท้จริงหรือไม่ กล่าวคือ 1. ต้องผ่านการตรวจสอบลักษณะดั้งเดิมในด้านการออกแบบ วัสดุ ฝีมือ ตลอดจนการติดตั้งต่างๆ ซึ่งทั้งนี้คณะกรรมการ ฯ จะยอมรับการปรับปรุงบูรณะต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐาน และรายละเอียดทางวิชาการที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามลักษณะดั้งเดิมเท่านั้น 2. ต้องมีระบบการจัดการและกฎหมายคุ้มครอง เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีการอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างจริงจัง และต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบด้วยว่า กฎหมายที่คุ้มครองนั้นอยู่ในระดับประเทศ จังหวัด หรือเทศบาล ทั้งนี้ สิ่งที่อาจสามารถถูกเคลื่อนย้ายไปมาได้จะไม่ได้รับการพิจารณาให้เข้าอยู่ในรายชื่อแหล่งมรดกโลกโดยเด็ดขาด ส่วนกลุ่มอาคารที่มีการพิจารณาในระดับ "เมือง" นั้นคณะกรรมการ ฯ จะพิจารณาเมืองที่เข้าเกณฑ์ 3 ประการดังนี้คือ 1. เมือง ที่มีการอาศัยอยู่มาไม่นาน แต่มีรูปแบบซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งสภาพการอนุรักษ์ที่ดี 2. เมืองเก่า ซึ่งยังมีการอาศัยอยู่ โดยมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นการยากที่จะตรวจสอบลักษณะดั้งเดิมที่แท้จริงทางโบราณคดี ตลอดจนมีปัญหาในการอนุรักษ์อย่างมาก 3.เมืองใหม่ ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีลักษณะที่ขัดแย้งกันระหว่างความชัดเจนสมบูรณ์ในรูปแบบ และลักษณะความดั้งเดิมที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีกับทิศทางการพัฒนาของเมืองซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ในการเสนอชื่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นกลุ่มอาคารระดับเมือง ควรมีการสรุปให้เห็นว่า จากลักษณะอาคารนั้นทำให้เมืองนั้นๆ มีภาพลักษณ์ไปในประเภทใดดังต่อไปนี้ด้วย คือ 1. เมืองที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งสะท้อนยุคสมัยของวัฒนธรรมซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้เกือบทั้งหมด และไม่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของเมืองในยุคต่อมา ซึ่งควรรวมพื้นที่รอบข้างที่จำเป็นในการเสนอชื่อด้วย 2. เมืองซึ่งมีพัฒนาการมานาน มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ได้มีการอนุรักษ์พื้นที่และโครงการดั้งเดิมต่างๆ ของยุคสมัยต่างๆ ไว้ โดยมีสิ่งแวดล้อมโดยรอบเป็นปัจจุบัน 3. เมืองศูนย์กลางซึ่งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเมืองโบราณ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเมืองรูปแบบสมัยใหม่ ทั้งนี้ควรมีการบ่งชี้ว่า มีความเป็นมาตั้งแต่ยุคใด และมีขอบเขตโดยรอบที่ถูกต้องลงไปด้วย 4. พื้นที่ หรืออาณาเขตซึ่งอาจอยู่ในลักษณะของซากเมืองหรือร่องรอยที่เหลืออยู่ ซึ่งปรากฏหลักฐานมากพอที่จะบ่งบอกความเป็นเมืองโบราณ ในการเสนอชื่อเมืองศูนย์กลางและพื้นที่เมืองโบราณ (ตามข้อ 3 และ 4 ข้างต้น) ควรจะเป็นสถานที่ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีมากพอ ไม่ควรเป็นลักษณะของอาคารเก่าเพียง 2-3 หลังเท่านั้น เป็นต้น ในกรณีที่รูปแบบของอาคารในเมืองนั้นไม่ได้สะท้อนเอกลักษณ์โดยรวมของเมืองนั้นๆ หากมีความสำคัญพิเศษต่างหากก็ไม่ควรอ้างอิงถึงเมืองที่อาคารนั้นตั้งอยู่ เมืองที่เสนอควรเป็นเมืองขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ซึ่งพอจะสามารถจัดการกับการเจริญเติบโตได้ ส่วนชนบท หมู่บ้าน หรืองานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยนั้น ควรมีผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาต่างๆ ส่งไปเพื่อการพิจารณาด้วย เกณฑ์การเสนอแหล่งมรดกทางธรรมชาติ คณะกรรมการฯ กำหนดให้แหล่งมรดกทางธรรมชาติหมายถึง 1.ลักษณะทางธรรมชาติทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพที่มีคุณค่า ความสำคัญ และชื่อเสียงในระดับสากล ทั้งในแง่สุนทรียภาพและวิทยาศาสตร์ 2.ลักษณะทางธรณี ภูมิประเทศ หรือพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์หรือพืชที่หายาก ซึ่งมีคุณค่าและความสำคัญในระดับสากลในแง่วิทยาศาสตร์ หรือการอนุรักษ์ 3.พื้นที่ทางธรรมชาติโดยเฉพาะที่มีคุณค่าและความสำคัญระดับสากลในแง่ของวิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ และความงามตามธรรมชาติ ซึ่งทั้งสามประเภทต้องมีลักษณะเข้าเกณฑ์หนึ่งใน 4 ประการดังนี้ด้วย คือ (1) เป็นสิ่งแสดงหรือบอกถึงยุคหรือช่วงที่สำคัญของวิวัฒนาการของโลกอย่างชัดเจน (2) เป็นสิ่งแสดงหรือบอกถึงกระบวนการทางธรณีวิทยา วิวัฒนาการทางชีววิทยา ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในแบบต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันตามช่วงพัฒนาการของโลก (3) เป็นแหล่งปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พิเศษ เช่น พื้นที่ซึ่งยังมีระบบนิเวศและธรรมชาติที่สวยงามอันมีชื่อเสียง หรือแม้แต่พื้นที่ซึ่งมีระบบนิเวศน์และองค์ประกอบด้านอารยธรรมที่มีชื่อเสียง (4) เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของพืชและสัตว์ที่หายากซึ่งมีชื่อเสียง (5) ในกรณีของสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่น ควรมีการคุ้มครองพื้นที่ที่สัตว์จะย้ายไปอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ควรมีข้อตกลงของประเทศที่เกี่ยวข้องเสียก่อน (6) พื้นที่ในข้อ (1) ถึง (4) จะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย เช่น ในรูปของอุทยานแห่งชาติ หากไม่มีก็ควรมีแผนการจัดการที่จะนำไปปฏิบัติต่อไปได้ ข้อกำหนดในการคัดชื่อแหล่งมรดกโลกออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก คณะกรรมการฯ จะพิจารณาคัดชื่อแหล่งมรดกโลกออกจากบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกได้ตามระเบียบที่วางไว้ในกรณีที่ 1. แหล่งมรดกนั้นได้รับความเสียหายจนสูญเสียลักษณะที่ชัดเจนของตัวเอง 2. แหล่งมรดกนั้นได้รับการบุกรุกทำลายโดยมนุษย์ระหว่างการพิจารณา หรือไม่ได้รับการจัดการตามมาตรการหรือโครงร่างแผนงานต่างๆ ตามเวลาที่ภาคีประเทศนั้นๆ เสนอต่อคณะกรรมการ ดังนั้นหากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นแก่แหล่งมรดกต่างๆ ทั้งที่ได้รับการพิจารณาหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาให้เข้าในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก ประเทศภาคีที่เป็นเจ้าของจะต้องแจ้งให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ทราบโดยทันที เมื่อเลขานุการฯ ได้รับแจ้งถึงความเสียหายที่มีต่อแหล่งมรดกนั้นๆ (ไม่ว่าจะโดยทราบจากประเทศภาคี หรือจากแหล่งข้อมูลใดก็ตาม) ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ กับประเทศภาคี และจะแจ้งให้คณะทำงานตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม (ยกเว้นแต่มีความเห็นจากประธาน ฯ ว่า ไม่ควรดำเนินการพิจารณาต่อไป รวมทั้งขอความเห็นจากองค์การที่ปรึกษาต่างๆ คือ ICOMOS และ IUCN และ ICCROM (The International Center for the Study of the Preservation and Restoration of Cultural Property in Rome) เพื่อมอบให้คณะทำงานนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป ในที่สุดคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบข้อมูลและความเห็นของคณะทำงาน และจะพิจารณาออกเสียงโดยถือตามเสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุม ทั้งนี้ การพิจารณาคัดชื่ออกดังกล่าว จะต้องเปิดโอกาสให้ประเทศภาคีนั้นๆ ได้ให้เหตุผลและตอบคำถามต่างๆ ร่วมด้วย และต้องผ่านการตรวจสอบการมีลักษณะทางธรรมชาตินั้นๆ อย่างแท้จริง ซึ่งได้แก่ 1. พื้นที่ในข้อ (1) ข้างต้น จะต้องมีลักษณะที่แท้จริงของความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบภายในยุคนั้นๆ 2. พื้นที่ในข้อ (2) ข้างต้น จะต้องมีขนาดและองค์ประกอบสำคัญๆ ที่แสดงถึงกระบวนการตลอดจนลักษณะเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ อย่างชัดเจน เช่น ความสูงจากระดับน้ำทะเล หรือลักษณะดิน เป็นต้น 3. พื้นที่ในข้อ (3) ข้างต้น จะต้องมีองค์ประกอบด้านระบบนิเวศน์ของตนเอง เพื่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในพื้นที่นั้นๆ เช่น การมีทิศทางการไหลผ่านที่แน่นอนของแนวปะการังที่สวยงาม เป็นต้น 4. พื้นที่ในข้อ (4) ข้างต้น ควรมีขนาดและองค์ประกอบในการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ที่หายากนั้นๆ อย่างเพียงพอ 5.ในกรณีของสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่น ควรมีการคุ้มครองพื้นที่ที่สัตว์จะย้ายไปอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ควรมีข้อตกลงของประเทศที่เกี่ยวข้องเสียก่อน 6. พื้นที่ในข้อ (1) ถึง (4) จะต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย เช่น ในรูปของอุทยานแห่งชาติ หากไม่มีก็ควรมีแผนการจัดการที่จะนำไปปฏิบัติต่อไปได้ สัญลักษณ์มรดกโลก (The World Heritage Logo) เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีวงกลมล้อมรอบโดยลากเส้นต่อเนื่องกัน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแทนความหมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา ส่วนวงกลมที่ล้อมรอบหมายถึงธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ทั้งสองสิ่งนี้จะอยู่ใกล้ชิดกันแยกจากกันไม่ได้ รอบวงกลมอีกชั้นหนึ่งเป็นตัวอักษร 3 ภาษาแปลว่า มรดกโลก คือ ภาษาอังกฤษ (WORLD HERITAGE) ภาษาฝรั่งเศส ( PATRIMOINE MONDIAL) ภาษาสเปน ( PATRIMONIO MUNDIAL) สัญลักษณ์นี้มองโดยรวมแล้วจะเป็นรูปทรงกลมมีความหมายเฉกเช่นโลก และขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องมรดกโลกทั้งมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติอีกด้วย ลิงค์ : ผู้ตั้งหัวข้อ : somsakksn [email protected] [ 125.26.172.148 ] แสดงความคิดเห็น ความคิดเห็น : ชื่อ : * สถานะ : บุคคลทั่วไป เจ้าของเว็บไซต์ สมาชิก รหัสผ่าน : (ในกรณีที่เป็นสมาชิก) รูปภาพ : (นามสกุลไฟล์ควรเป็น [ jpg , jpeg , gif ] และไฟล์ไม่เกิน 100 Kb) ลิงค์ : อีเมลล์ : รหัสยืนยัน : * หมายเหตุ : กรุณากรอกข้อมูลที่มี * ทุกช่อง หน้าแรก googleapps บทความ เว็บบอร์ด รวมรูปภาพ By กศน.อำเภอผาขาว. Copyright 2005-2009 All rights reserved.


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (0)

ไม่มีคำตอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท