เบรคเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ใช้ชุดเดิมก่อน


เบรคเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ใช้ชุดเดิมก่อน

 

รองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม มีความเห็นให้บอร์ดประกันสังคมชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก่อนเพราะการจัดการเลือกตั้งในช่วงนี้อาจจะขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่มีจำนวน 5 คนขึ้นไป

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2548 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด)     ไว้ชั่วคราว และให้ระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการประกันสังคมไว้ก่อน โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน นับจากวันนั้นบอร์ดชุดที่ได้รับการแต่งตั้ง  ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องมาจนครบวาระเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา และตามกฎหมายประกันสังคมระบุว่าจะต้องมีการเลือกตั้ง แต่เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2560  ดร.วิษณุ เครืองาม   รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม ที่ประชุมเห็นว่าจะให้บอร์ดประกันสังคมชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แม้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมและคำสั่งมาตรา 44  จะกำหนดให้ต้องเลือกบอร์ดประกันสังคมภายใน 2 ปี โดยกรรมการทั้ง 14 คนจะต้องมาจากการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด แต่หากจะจัดให้มีการเลือกตั้งก็จะต้องมีการหาเสียงประกาศตัวผู้สมัครให้คนรู้จัก ซึ่งจะเกิดปัญหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงเห็นว่า       ควรจะใช้คำสั่ง ม.44 ให้บอร์ดชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปสักระยะหนึ่ง เพื่อรอ พ.ร.บ.ประกันสังคม   ฉบับใหม่ซึ่งจะมีการแก้ไขมาตราที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง

 

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2561 เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในช่วงนี้อาจจะขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่กำหนดว่าผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวน 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากผู้ประกันตนมีอยู่ทุกพื้นที่ และอาจทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง รวมทั้งมีข้อจำกัดในการตรวจสอบสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนของผู้ประกันตนนั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การดำเนินการเลือกตั้งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่มีความคุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ เมื่อเปรียบเทียบกับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการเพียง 2 ปี จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ต้องปรับปรุงร่างระเบียบฯ ให้เหมาะสมก่อน

 

  คณะกรรมการประกันสังคมนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายประกันสังคม และระเบียบการรับจ่ายเงินและการบริหารกองทุนฯ มูลค่ามหาศาล  วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นที่มาของการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างผู้ประกันตน และความมั่นคงของระบบประกันสังคมไทย เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยืนยันว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เชื่อมั่นในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่ยึดมั่นในการดำเนินการ     ที่คำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดกลับคืนไปสู่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น


คำตอบ (0)

ไม่มีคำตอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท