คำถามจากคนช่างสงสัยเจ้าค่ะ


อ้างอิงจากบันทึกของพี่นกเกี่ยวกับบัณฑิตที่ท่านธรรมฐิตนำมังคลัตถทีปนีไปฝาก... ดาวอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจเพราะไม่ค่อยมีพืนฐานด้านภาษาบาลีและพระไตรปิฎก จึงนำมาขอคำอธิบายเพิ่มเติมเจ้าค่ะ คำถามดังนี้เจ้าค่ะ 1. ปัญญาคติและญาณคติคืออะไร? 2. "ปฑิ ธาตุ เป็นไปในความไป. ปัญญาใด ย่อมดำเนิน คือไปในประโยชน์ทั้งหลายแม้ อันสุขุม คือทราบอาการแม้เป็นต้นว่าความบีบคั้นแห่งอรินสัจมีทุกข์ เป็นต้น เหตุนั้น ปัญญานั้น จึงชื่อว่า ปัณฑา, ผู้ไป คือดำเนินไป ได้แก่เป็นไป ด้วยปัญญาที่ชื่อว่าปัณฑา, เหตุนั้น จึงชื่อว่า บัณฑิต, อีกอย่างหนึ่ง ปัญญา ชื่อว่า ปัณฑา ของผู้นี้ เกิดพร้อมแล้ว เหตุ นั้น ผู้นี้ จึงชื่อว่า บัณฑิต ผู้ชื่อว่า บัณฑิต เพราะดำเนิน คือไป ด้วยญาณคติ." อ่านแล้วงง... ขอคำอธิบายเพิ่มเติมเจ้าค่ะ 3. บัณฑิตลักษณะ บัณฑิตนิมิต บัณฑิตาปทาน...คืออะไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้างเจ้าคะ? ปล.ถึงท่านธรรมฐิตจะไม่ยอมรับว่าเป็นบัณฑิตแต่ความจริงก็เป็นความจริงและดาวก็กำลังสูบความรู้ความเป็นบัณฑิตจากท่านอาจารย์อยู่เจ้าค่ะ

ความเห็น

ไม่มีความเห็น


คำตอบ

ธรรมฐิต
เขียนเมื่อ
not yet answered

ความเห็น

เตรียมตอบคำถามไว้แล้วเพราะตะหงิดๆว่าต้องมีบัณฑิตบางท่านสงสัยแน่

 

1. ปัญญาคติและญาณคติคืออะไร?

ทั้งสองนี้ท่านหมายถึงวิถีทางของผู้ที่เป็นบัณฑิตคือต้องดำเนินหรือมีชีวิตที่เป็นไป(คติ)

ด้วยความรู้ความเข้าใจ(ปัญญา,ญาณ)ในสิ่งที่สัมผัส

เพื่อให้ชีวิตมีประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น

ข้างล่างอธิบายไว้ชัดเจนขอรับ..

2. "ปฑิ ธาตุ เป็นไปในความไป. ปัญญาใด ย่อมดำเนิน คือไปในประโยชน์ทั้งหลายแม้ อันสุขุม คือทราบอาการแม้เป็นต้นว่าความบีบคั้นแห่งอรินสัจมีทุกข์ เป็นต้น เหตุนั้น ปัญญานั้น จึงชื่อว่า ปัณฑา, ผู้ไป คือดำเนินไป ได้แก่เป็นไป ด้วยปัญญาที่ชื่อว่าปัณฑา, เหตุนั้น จึงชื่อว่า บัณฑิต, อีกอย่างหนึ่ง ปัญญา ชื่อว่า ปัณฑา ของผู้นี้ เกิดพร้อมแล้ว เหตุ นั้น ผู้นี้ จึงชื่อว่า บัณฑิต ผู้ชื่อว่า บัณฑิต เพราะดำเนิน คือไป ด้วยญาณคติ." อ่านแล้วงง... ขอคำอธิบายเพิ่มเติมเจ้าค่ะ

ตรงนี้เขาเรียกว่าการวิเคราะห์แยกแยะว่าต้นตอของคำว่า..บัณฑิต..เป็นมายังไง..

นี้แหละซึ่งเป็นความงดงามลุ่มลึกคัมภีรภาพของ  บาฬีภาษาละดาวฟ้า..

หมายความว่า..บัณฑิตคือผู้ที่มีวิถีชีวิตที่ดำเนินหรืประกอบไปด้วยความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ที่พึงเกิดขึ้นด้วยปัญญาเช่นการเข้าใจในอริยสัจสี่เป็นต้น

ลองอ่านที่ละประโยคนะดาวฟ้าจะเข้าใจเอง..(หากยังกังขาเชิญปุจฉา)

3. บัณฑิตลักษณะ บัณฑิตนิมิต บัณฑิตาปทาน...คืออะไร และประกอบไปด้วยอะไรบ้างเจ้าคะ?

การคิดดี พูดดี ทำดี สามอย่างนี้เป็นการกำหนดคือรู้ได้ว่าเป็นลักษณะที่บัณฑิตพึงมี(บัณฑิตลักษณะ)

ลักษณะในที่นี้แปลว่า  กำหนด  หรือ รู้ 

การคิดดี พูดดี ทำดี สามอย่างนี้เป็นเครืองหมายของคนที่เป็นบัณฑิต(บัณฑิตนิมิต)

นิมิตในที่นี้แปลว่า  เครื่องที่หมายรู้

การคิดดี พูดดี ทำดี สามอย่างนี้ เป็นจริยวัตรที่บัณฑิตพึงประพฤติอย่างต่อเนื่อง

(บัณฑิตาปทาน)

อปทาน(บัณฑิต+อปทาน)แปลว่า  ไม่ขาดสายคือประพฤติติดต่อกัน

สาธุๆๆที่พยายามตั้งข้อสงสัย..

กราบขอบพระคุณท่านธรรมฐิตสำหรับข้อวิสัชนาเจ้าค่ะ...

ท่านอาจารย์ช่างสมเป็นอาจารย์ของดาวจริงๆ รู้ล่วงหน้าด้วยว่าจะมีลูกศิษย์ลูกหาสงสัย 555

มีปัญหาสงสัยประการใด จะมาปุจฉาใหม่เจ้าค่ะ

Pคอยวิสัชนาอยู่ทุกเพลาเนาะ

สาธุๆๆ

ท่านธรรมฐิตเจ้าคะ ดาวสงสัยเรื่องวิจิกิจฉาเจ้าค่ะ

วิจิกิจฉา...คือความลังเล สงสัย...เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรละ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดาวมีมากเพราะเป็นคนช่างสงสัย)

แต่ถ้าเราไม่สงสัย ก็จะไม่ได้ใช้ปัญญาในการพิจารณา...

เชื่อตามๆ กันไป เค้าบอกอย่างไรก็เชื่อ มันจะดีเหรอเจ้าคะ?

วิจิกิจฉา แปลว่า ความลังเล ความสงสัย ความไม่แน่ใจ

วิจิกิจฉา หมายถึงความที่ใจเกิดความสงสัยกังวล ตัดสินใจไม่ได้ เกิดความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเกิดความลังเลสงสัยในเรื่องพระรัตนตรัยเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องนรกสวรรค์ เป็นต้น จัดเป็น นิวรณ์ คือเครื่องปิดกั้นขัดขวางมิให้บรรลุถึงความดีและปิดกั้นความดีมิให้เข้าถึงจิต

คำว่า    วิจิกิจฉา   ความสงสัย      ในพระอภิธรรมท่านหมายถึง ความสงสัยในธรรม ๘

ประการ    มีสงสัยในพระพทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขาเป็นต้น  แต่ความสงสัย

ทั่วๆ ไป ไม่เป็น วิจิกิจฉา   แต่มีอาการคล้ายวิจิกิจฉา(ปฏิรูปกะวิจิกิจฉา)

 วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในพระสัทธรรมในสภาพธรรม  ในปัญญาตรัสรู้  ซึ่งเป็น

สภาพธรรรมที่ปิดกั้น  หรือเป็นเครื่องกั้นปัญญา

         ปฏิรูปวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในสิ่งต่างๆ  ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม  เช่น  สงสัย

เรื่องราวต่าง ๆ  เช่น  เป็นใคร  ชื่ออะไร    เป็นต้น

สิ่งที่สงสัยก็ลองชั่งดูว่ามันน่าจะเกิดประโยชน์ขึ้นกับเรามากน้อยเพียงใดหากเรารู้คำตอบมัน..

(ช่วงวันที่24พย-19ธ.ค. ธรรมฐิตจะไปร่วมงานสาธยายพระไตรปิฎกที่พุทธคยา  อินเดีย  เดี๋ยวกลับมจะมาไขข้อข้องใจให้คุณหมอต่อนะ)


กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ....

ถ้ามีอะไรสงสัยอีก จะมาถามค้างๆ ไว้ รอท่านอาจารย์กลับมาตอบนะเจ้าคะ?

กราบนมัสการท่านธรรมฐิตเจ้าค่ะ

ดาวไม่ได้มาซักถามปัญหากับท่านธรรมฐิตนานแล้ว...วันนี้วันหยุด มีเวลาได้อ่านหนังสือธรรมะประดับปัญญาเล็กๆ น้อยๆ

เห็นเค้าว่ากันว่า แม้ว่าจะทำชั่วมาหลายสิบปี แต่ถ้าเพียงแต่ระลึกถึงความดี ตั้งจิตให้เป็นกุศลขณะที่จะตาย คนผู้นั้นก็ได้ไปสู่สุคติ เปรียบกุศลเหมือนเรือมาทานน้ำหนักของก้อนหินไม่ให้จม ในขณะที่แม้ทำความดีมาโดยตลอด แต่ขณะจะตายดันไปคิดถึงเรื่องอกุศลแม้เพียงนิดเดียว ก็เปรียบเสมือนก้อนหินก้อนเล็กที่โยนลงน้ำ ยังไงก็จม ทำให้ไปสู่ทุคติ

ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วผลบุญบาปที่สร้างมาหลายสิบปีล่ะเจ้าคะ จะส่งผลตอนไหน? ถ้าคนชั่วนึกถึงเรื่องดีๆ ก่อนตายก็ได้ขึ้นสวรรค์ แล้วเค้าจะได้รับผลของการกระทำตอนไหนล่ะเจ้าคะ?

P

ไม่ขอตอบก่อนเนาะ

แต่ดาวฟ้าลองอ่านเรื่องกรรมนี้ก่อนนะ(อาจจะยาวหน่อยแต่มีสาระค่อยๆอ่านเนาะ)..

ทวาทสกะ  หมวด  ๑๒  

                                           กรรม  ๑๒

                                           หมวดที่  ๑

                                       ให้ผลตามคราว

        ๑.  ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม                กรรมให้ผลในภพนี้.

        ๒.  อุปปัชชเวทนียกรรม                        กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า.

        ๓.  อปราปเวทนียกรรม                           กรรมให้ผลในภพสืบ ๆ.

         ๔.  อโหสิกรรม                                 กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว.

                                          หมวดที่  ๒

                                         ให้ผลตามกิจ

        ๕.  ชนกกรรม                                        กรรมแต่งให้เกิด.

        ๖.  อุปัตถัมภกกรรม                                กรรมสนับสนุน.

        ๗.  อุปปีฬกกรรม                                กรรมบีบคั้น.

        ๘.  อุปฆาตกกรรม                                กรรมตัดรอน.

                                          หมวดที่  ๓

                                      ให้ผลตามลำดับ

        ๙.  ครุกรรม                                         กรรมหนัก.

        ๑๐.  พหุลกรรม                                กรรมชิน.

        ๑๑.  อาสันนกรรม                                กรรมเมื่อจวนเจียน.

        ๑๒.  กตัตตากรรม                                กรรมสักว่าทำ.

                                                                        วิ.  กงฺขา. ตติย.  ๒๒๓.

 

 

        อธิบาย:   กรรมเหล่านี้  ได้ทั้งในฝ่ายกุศล  ทั้งในฝ่ายอกุศล.  

        กรรมที่  ๑  ท่านว่าเป็นกรรมแรง   จึงให้ผลทันตาเห็น  ผู้ทำได้

เสวยผลในอัตภาพนั่นเอง   แต่เมื่อผู้ทำถึงมรณะไปเสียก่อนถึงคราว

ให้ผล  ย่อมเป็นอโหสิกรรม.

        กรรมที่  ๒  เพลาลงมกว่ากรรมที่  ๑     จักให้ผลได้ต่อเมื่อผู้ทำ

เกิดแล้วในภพเป็นลำดับ  พ้นจากนั้นแล้ว  เป็นอโหสิกรรม.

        กรรมที่  ๓  เพลาที่สุด    จักอาจให้ผลต่อเมื่อพ้นภพหน้าแล้ว  ได้

ช่องเมื่อใด   ย่อมให้ผลเมื่อนั้น  กว่าจะเป็นอโหสิกรรม  ท่านเปรียบ

ไว้เหมือนสุนัขไล่เนื้อ  ไส่ตามเนื้อทันเข้าในที่ใด   ย่อมเข้ากัดในที่นั้น.

        กรรมที่  ๔  เป็นกรรมล่วงคราวแล้วเลิกให้ผล   เปรียบเหมือนพืช

สิ้นยางแล้ว  เพราะไม่ขึ้น.  นี้จัดตามคราวที่ให้ผล.

        กรรมที่  ๕  สามารถยังผู้ทำผู้เคลื่อนจากภพหนึ่ง  แล้วให้ถือปฏิ-

สนธิในภพอื่น  ท่านจึงเรียกว่าชนกกรรม  เปรียบด้วยบิดาผู้ยังบุตรให้

เกิด   ได้แก่  "กมฺมโยนิ"  กรรมเป็นกำเนิด  ในที่อื่น  ต่อนั้นไปสิ้นหน้าที่.

        กรรมที่ ๖  ไม่อาจแต่งปฏิสนธิเอง  ต่อเมื่อชนกกรรมแต่งปฏิสนธิ

แล้วจึงเข้าสนับสนุนส่งเสริม   เปรียบเหมือนแม่นมผู้เลี้ยงทารกอันคนอื่น

ให้เกิดแล้ว  ท่านจึงเรียกว่าอุปัตถัมภกกรรม  ได้แก่  "กมฺมพนฺธุ"   กรรม

เป็นพวกพ้อง  ในที่อื่น.  กรรมนี้เป็นสภากับชนกกรรม  ถ้าชนกกรรม

เป็นกุศลแต่งปฏิสนธิข้างดี  อุปัตถัมภกกรรมย่อมเข้าสนับสนุนทารก

ผู้เกิดแล้ว  ให้ได้สุขได้ความเจริญรุ่งเรืองจนอวสาน  ได้ในลักษณะว่า

"โชติ  โชติปรายโน"  รุ่งเรืองมาแล้วมีรุ่งเรืองไปภายหน้า  ถ้าชนกกรรม

 

 

เป็นอกุศลแต่งปฏิสนธิข้างเลว   อุปัตถัมภกกรรมย่อมซ้ำเติมเมื่อเกิด  

แล้วให้หายนะหนักลง  เข้าในลักษณะว่า  "ตโม  ตมปรายโน"  มืดมา

แล้ว   มีมือไปภายหน้า.  จะเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า   ชนกกรรมได้แก่กรรม

ที่เป็นเดิม  อุปัตถัมภพกรรม  ได้แก่กรรมทำเพิ่มพูนหรือซ้ำเติม  ก็ไม่ผิด.

        กรรมที่  ๗  เป็นวิสภาคแห่งชนกกรรม  เมื่อชนกกรรมแต่งปฏิ-

สนธิแล้ว  เข้าบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมไม่ให้เผล็ดเต็มที่  ถ้าชนกกรรม

เป็นกุศลแต่งปฏิสนธิข้างดี  กรรมนี้ก็เข้าบีบคั้นให้ทุรพลลง  เข้าใน

ลักษณะว่า "โชติ   ตมปรายโน"  รุ่งเรือมาแล้ว  มีมืดไปภายหน้า  ถ้า

ชนกกรรมเป็นอกุศลแต่งปฏิสนธิข้างเลว  กรรมนี้เข้าเกียดกันให้ทุเลาขึ้น

เข้าในลักษณะว่า  "ตโม  โชติปรายโน"   มืดมาแล้ว  มีรุ่งเรืองไป

ภายหน้า  ท่านจึงเรียกว่า  อุปปีฬกกรรม  กรรมนี้บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม

ฉันใด  พึงเห็นว่าบีบคั้นผลแห่งอุปัตถัมภกกรรมฉันนั้น.

        กรรมที่  ๘      เป็นวิสภาคแห่งชนกกรรมและอุปถัมภกกรรม

เหมือนกัน  เป็นสภาคแห่งอุปปีฬกกรรม  แต่รุนแรงกว่า  ย่อมตัดรอน

ผลแห่งชนกกรรม  และอุปัตถัมภกกรรมให้ขาดเสียทีเดียว  เข้าให้ผล

แทนที่   ท่านจึงเรียกว่า  อุปฆาตกกรรม.  นี้จัดตามกิจที่เป็นหนักงาน.       

        กรรมที่  ๙  เป็นหนักที่สุดกว่ากรรมอย่างอื่น   จึงเรียกว่าครุกรรม

ในฝ่ายอกุศล  ท่านจัดเอาอนันตริยกรรมเป็นครุกรรม   ในฝ่ายกุศลท่าน

จัดเอาสมาบัติ  ๘.  กรรมนี้มีอยู่ย่อมให้ช่องให้ผลก่อน  เปรียบเหมือนคน

อยู่บนที่สูง   เอาชิ้นต่าง ๆ  เหล็กบ้าง  ศิลาบ้าง  กระเบื้องบ้าง  ไม้บ้าง

กระดาษบ้าง  ขนนกบ้าง  สิ่งอื่นบ้าง  ทิ้งลงมา  สิ่งไหนหนักที่สุด

 

 

สิ่งนั้นย่อมตกถึงพื้นก่อน   สิ่งอื่น ๆ  ย่อมตกถึงพื้นตามลำดับน้ำหนัก 

ของมัน.

        กรรมที่  ๑๐  ได้แก่กรรมอันเคยทำมามากทำมาจนชิน   ท่านเรียกว่า

พหุลกรรม.  อีกอย่างหนึ่ง  ท่านเรียกว่าอาจิณณกรรม  ด้วยอรรถว่า

เคยประพฤติมา.   กรรมนี่แลเป็นอาเสวนปัจจัย   คือการส้องเสพ

เป็นเหตุได้อย่างหนึ่ง  เมื่อครุกรรมไม่มี   ย่อมให้ผลก่อนกรรมอย่าง

อื่น   ท่านเปรียบไว้เหมือนคนมวยปล้ำกัน  คนใดมีแรงกว่าว่องไวกว่า

คนนั้นย่อมชนะ.  กล่าวเพื่อเข้าใจง่าย   เมื่อกรรมอันผาดโผนไม่มี

ผู้ทำย่อมปรากฏด้วยกรรมอันตนทำมามาก   เช่นผู้ร้ายปล้นทำมาตุฆาต

หรือปิตุฆาต  ย่อมต้องโทษเพราะกรรมอย่างหลังอันรุนแรงก่อน  ต่อ

ไม่ได้ทำกรรมอย่างหลังนั้น  จึงต้องโทษเพราะทำกรรมอย่างก่อน.

        กรรมที่  ๑๑  ได้แก่กรรมอันทำเมื่อจวนตาย  ท่านเรียกว่าอาสันน-

กรรม.  เมื่อพหุลกรรมไม่มี  คือผู้ทำไม่ได้ทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ไว้จนชิน   จนถึงออกชื่อเลื่องลือว่ามักเป็นอย่างนั้น ๆ  กรรมนี้แม้

ทุรพลอย่างไรก็ตามย่อมให้ผล   ท่านเปรียบไว้เหมือนโคอันแออัดอยู่

ในคอก  พอนายโคบาลเปิดประตูคอก  โคใดอยู่ริมประตูคอก  แม้เป็น

โคแก่ทุรพล  ย่อมออกได้ก่อนโคอยู่ในเข้าไปแม้แข็งแรงกว่า,  เปรียบ

ให้เข้าใจง่าย  อีกอย่างหนึ่ง  จรรยาของผู้ตายจากไปก่อน  ย่อมจับใจ

ของผู้อยู่ข้างหลังมากกว่าจรรยาในคราวก่อน ๆ  ที่ไม่ผาดโผน  ที่ไม่ชิน

ในเวลานี้  ทำดี  ก็ไว้อาลัยมาก  ทำเสีย  ก็ทำวิปฏิสารมาก.

        กรรมที่  ๑๒  ได้แก่กรรมอันทำด้วยไม่จงใจ  ท่านเรียกกตัตตา-

 

 

กรรมบ้าง  เรียกกตัตตาวาปนกรรมบ้าง   ตามบาลีว่า  กตตฺตา  วา 

ปน  ฯ เป ฯ  ที่ปรารภกล่าวอีกประการหนึ่ง,  ต่อกรรมอื่นไม่มี  จึง

ถึงวาระแห่งกรรมนี้จะให้ผล.   และผลแห่งกรรมนี้ให้  เป็นแต่พอดีพอ

ร้าย  ท่านเปรียบไว้เหมือนลูกศรอันคนบ้ายิง.  ตัวอย่าง  โทษอันมีแก่

คนผู้ทำเขาตายด้วยเลินเล่อ.   กรรมนี้ผิดหลักบาลีพระสูตร*   ว่า  เจตนาห

ภิกฺขเว   กมฺม  วทามิ  ซึ่งแปลว่า  ภิกษุทั้งหลาย  เรากล่าวเจตนาว่า

เป็นกรรม  แต่ผลย่อมอาจมีได้จริงตามนี้   ในพระอภิธรรมท่านจึง

บัญญัติขึ้นไว้.  ในทางพระวินัย  ภิกษุไม่จงใจ  แต่ทำฝืนสิกขาบท

ถูกปรับอาบัติก็มี.  อาบัติประเภทนี้  เรียกอจิตตกะ.  ถ้าถือตามหลัก

บาลีพระสูตรนั้น  ความเข้าใจจะพึงมีว่า  กรรมนี้ได้แก่กรรมอันผู้ทำ

มีเจตนาไม่ถึงนั้น  แต่ทำเกินเจตนาไป  ตัวอย่างเช่น  มีเจตนาเพียงจะ

เฆี่ยนเขา  แต่เขถูกเฆี่ยนแล้วตาย  ในกฎหมายจัดเป็นฆ่าคนตายโดย

ไม่มีเจตนา  วางโทษเบากว่าฆ่าโดยจงใจ  แต่ในพระวินัยไม่ปรับ

เป็นมนุสสวิคคหะ  ปรับเพียงให้ประหารเท่านั้น.

        การบัญญัติกรรมนั้น  เนื่องมาจากถือว่า  ผลย่อมเผล็ดจาเหตุ

และในพระสูตร  เพ่งเฉพาะเหตุภายใน  วางบาลีไว้เป็นหลักอย่างนั้น

เข้าใจว่าเพื่อจะจำกัดลงให้พอวิสัยที่จะระวังได้  เพราะผลอันจะพึงเผล็ด

จากเหตุภายนอก  เป็นอันพ้นวิสัยที่จะพึงป้องกันด้วยประการทั้งปวง.

และการจำแนกกรรมออกไปเป็นต่างอย่างนั้นเล่า  เข้าใจว่าเพื่อจะห้าม

ความเห็นสับปลับแห่งกรรม  เป็นอันสนับสนุนมตินั้น  เป็นฐานะอยู่

 

*  องฺ.  จตุกฺก.  ๒๒/๔๖๔.

 

 

ที่คนผู้หนึ่งทำกรรมไว้ทั้งเป็นบุญ  ทั้งที่เป็นบาป  กรรมต่างอย่างต่าง     

ให้ผลตามคราวที่ได้ช่อง  หรือหลายคนทำกรรมอย่างเดียวกัน  ได้ผล

ยิ่งหย่อนกว่ากัน  หรือบางคนทำกรรมอย่างหนึ่งไว้แล้ว  ยังไม่ปรากฏ

ว่าได้เสวยผลแห่งกรรมนั้นจะตายไปแล้ว  หรือบางคนได้เสวยผลที่ไม่

ปรากฏว่าเพราะได้ทำกรรมอะไรไว้  ไม่คำนึงให้รอบคอบด้วยสติ  อาจ

เห็นเป็นสับปลับ   ไม่ได้จริง  แล่นไปสู่อกิริยทิฏฐิก็ได้  เมื่อเข้าใจ

กรรมวิภาคอย่างนี้แล้ว  จะได้มั่นอยู่ในกัมมัสสกตาสัทธา  ประพฤติ

อยู่ในคลองธรรมที่ชอบ.

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์มากๆ เจ้าค่ะ...

สิ่งที่ท่านธรรมฐิตให้อ่านทั้งหมดนั้น เป็นคำตอบของคำถามดาวอย่างแจ่มแจ้งแล้ว....

สาธุเจ้าค่ะ

Pอ้าวงั้นธรรมฐิตไม่ต้องตอบแล้วสิเนาะ..

ปัญญาระดับหมอดาวซะอย่าง..

สาธุๆๆ

อ้าว ดาวนึกว่าท่านอาจารย์จะไม่ตอบซะอีก เห็นส่งเรื่องกรรมให้ดาวอ่านทำความเข้าใจซะยืดยาว

ถ้าท่านธรรมฐิตจะกรุณาขยายความเพิ่มเพื่อความกระจ่างก็ได้เจ้าค่ะ อิอิ

พอดีว่าเรื่องนี้พี่พยาบาลเค้าก็สงสัยเหมือนกัน...ดาวปริ้นท์ข้อความที่ท่านธรรมฐิตให้อ่านไปให้พี่เค้าอ่านทำความเข้าใจด้วย

เดี๋ยวมีปัญหาคับข้องใจ ลูกศิษย์คนนี้จะกลับมาปุจฉาใหม่เจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

Pสาธุๆๆเนาะดาวฟ้าที่เผื่อแผ่ให้เพื่อนร่วมอุทรธรรม..

มีข้อสงสัยปุจฉาได้ตลอดเนาะ

ธรรมฐิตพร้อมวิสัชนาตามความรู้ที่มีอยู่บ้าง

หากมาดแม้นแก้ข้อกังขามิได้ไซร้จะสอบถามผู้รู้ให้อย่างเต็มใจเนาะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท