เศรษฐศาสตร์กับการศึกษา


เศรษฐศาสตร์กับการศึกษา

เศรษฐศาสตร์กับการศึกษา มีความสัมพันธ์กันในเชิงเกื้อกูลซึ่งกันและกันวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการลงทุน การผลิต การแจกจ่าย เป็นต้น และถือว่าการศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง เพื่อสร้างคนให้มีคุณภาพ ประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งก็ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 นักวิชาการทั้งหมดเริ่มมองเห็นว่าการศึกษาเป็นตัวกำหนดที่สำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงได้มีการสนใจการวิเคราะห์ผลได้และบทบาทของการศึกษา ฉะนั้น

จึงเกิดศาสตร์แขนงใหม่ขึ้น คือ เศรษฐศาสตร์การศึกษา ( Economics of Education ) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ถึงคุณค่าของการศึกษาในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือวิเคราะห์ว่าการศึกษามีส่วนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างไร ซึ่งปัจจุบันถือว่า การปรับปรุงคุณภาพของพลังแรงงานที่มีผลใหญ่หลวงต่อการเจริญเติบโตของภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวของตลาดแรงงาน ก็มีความเกี่ยวพันอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงมาตรการว่าจ้าง

ซึ่งการที่นักวิชาการทั้งหลาย หันมาวิเคราะห์การศึกษาตามแนวเศรษฐศาสตร์นี้แสดงให้เห็นว่าการศึกษาเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการป้อนทรัพยากรมนุษย์(Human resources) และทรัพยากรที่ไม่ใช่มนุษย์ (Non-Resources) เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ฉะนั้นนักศึกษาควรทราบอะไรเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แล้วควรทราบในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ดังนี้

1. ที่มาและการเพิ่มพูนของการมีกินมีใช้ ขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน) แรงงาน การลงทุน

2. สิ่งที่สังคมจะต้องตัดสินใจในแง่เศรษฐกิจคือ จะผลิตสินค้าอะไร มากน้อยแค่ไหน จะใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างใด เท่าใด และของผลิตขึ้นมานั้นสมาชิกของสังคมจะมีส่วนแบ่งในการบริโภคนั้น มากน้อยแค่ไหน

3.กลไกของระบบการตลาด

4.บทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจ

  เมื่อนักศึกษาทราบเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ เช่นนี้แล้วนำความรู้มาใช้วิเคราะห์การศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

1. จะต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคน หรือ ทรัพยากรมนุษย์ ให้เหมาะสมกับสภาพที่เศรษฐกิจต้องการ

2.จะจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ากับการลงทุนซึ่งถือว่าการศึกษาจะมีประสิทธิภาพนั้น ผลผลิตจะมีจำนวนสูงกว่าตัวป้อน

3.จะจัดการศึกษาแต่ละระดับอย่างไร แต่ละระดับควรเน้นการศึกษาประเภทไหน และมีการวิเคราะห์ว่าแต่ละระดับประสิทธิภาพผู้สำเร็จการศึกษาตรงตามเป้าหมายหรือไม่

เศรษฐกิจมีบทบาทสัมพันธ์กับการศึกษา

เศรษฐกิจกับการศึกษามีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การศึกษาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งฉะนั้นในการวางแผนแผนการศึกษานั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงโครงสร้างและแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม

  มโนทัศน์เรื่องเศรษฐกิจกับการศึกษานี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็นแนวใหญ่ๆได้ 2 แนวคือ

1.แนวคิดตามประเพณี คือมองเห็นว่าการเข้าโรงเรียนมีประโยชน์และจำแนกหลักสูตรให้แตกแขนงวิชามากขึ้นโอกาสเศรษฐกิจย่อมมีมากขึ้น เมื่อบุคคลได้รับการศึกษาในระดับต่างๆ ก็สามารถเข้าไปประกอบอาชีพในภาคต่างๆ ทางเศรษฐกิจทำให้มองเห็นว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้ก็เนื่องมาจากการขยายโอกาสโรงเรียน ยิ่งบุคคลได้รับการศึกษามากขึ้นเท่าใด ก็ย่อมมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น

  ฉะนั้นตามแนวคิดนี้ จึงมองเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับการขยายโอกาสการศึกษาเป็นไปในทางเกื้อกูล บุคคลที่ได้รับการศึกษาและผ่านการฝึกฝนทางอาชีพย่อมเป็นแรงงานที่มีคุณค่าในทางกลับกันการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ต้องการการศึกษาและการฝึกฝนชั้นสูงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อสังคมจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม

2. แนวคิดในทำนองแย้งกลับกับแนวคิดแรกคือ จะตีความเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับเศรษฐกิจ ในทำนองที่ว่า ภาคเศรษฐกิจและโรงเรียนต่างเป็นองค์กรที่สนองตอบต่อกัน กล่าวคือเป้าหมายของทั้งสองสถาบันนี้คือ การโน้มนำให้ผู้เรียนยอมรับค่านิยมที่เทียบได้กับจริยธรรมในการประกอบอาชีพ โดยให้นักเรียนทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการผลิตและเพิ่มพูนกำลังคนให้แก่สังคม

การศึกษาจะทำหน้าที่ฝึกฝนอาชีพ และสอบคัดเลือกคนที่มีความสามารถและทักษะเหมาะสมให้เข้าสู่ช่องทางการประกอบอาชีพที่จัดไว้ พร้อมกันนั้นก็ทำหน้าที่ดึงกำลังคนบางส่วนไว้ไม่ให้เข้าไปในภาคเศรษฐกิจหรือตลาดแรงงาน เช่น มหาวิทยาลัยเป็นต้น คือจะทำหน้าที่ชะลอกำลังคนที่ต้องการทำงานในตำแหน่งผู้ใช้สมองมากกว่าผู้ใช้แรงงาน

  ฉะนั้นตามแนวคิดที่ 2 นี้ การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือของการควบคุมทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจ นักวิชาชีพ ผู้บริหารโรงเรียนครูผู้สอน และผู้นำทางการเมืองนอกจากนี้การศึกษายังมีหน้าที่ให้การขัดเกลาทางเศรษฐกิจโดยการฝึกฝนทักษะและลักษณะนิสัยที่จำเป็น

การศึกษากับเศรษฐกิจ

การศึกษามีส่วนช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร เนื่องจากการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แต่ในระบบเศรษฐกิจทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบทุนนิยมระบบสังคมนิยมหรือระบอบคอมมิวนิสต์ มักจะมีปัญหาเกิดทุกระบบ ฉะนั้นการศึกษาจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจได้โดยวิธีดังนี้

1.การศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นมีมากและยิ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาก็มีอาจจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้โดยทันทีเพียงแต่การศึกษาช่วยให้บุคคลเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อความเข้าใจปัญหาและเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจด้วยสติปัญญาการศึกษาช่วยให้ คนรู้จักคิด รู้จักใช้เหตุผล รู้จักใช้ทักษะ ประสบการณ์ และระเบียบวิธี มาผสมผสานเพื่อหาแนวทางไปสู่  การแก้ปัญหาต่างๆ

2. การศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การเพิ่มผลผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมกันนั้นก็ได้ให้มีการลดต้นทุนการผลิตลง กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่กระทรวงเศรษฐกิจ ไม่มีการผลิตเศรษฐปัจจัยรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่พัฒนาคนก่อนเข้าสู่ระบบผลิต คน คือ ปัจจัยสำคัญยิ่ง

  นอกจากนี้ การศึกษายังมีบทบาทในการช่วยให้มีการจัดสรรทรัพยากรอันจำกัดดียิ่งขึ้นคือ ผู้ผลิตก็รู้ว่าจะได้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตอย่างไรจึงจะประหยัดที่สุด และจะผลิตสินค้าอะไรที่คนต้องการมากที่สุด ตลอดจนผลิตสินค้าแล้วจะขายให้ใครที่เป็นผู้มีกำลังทรัพย์แท้จริงในการซื้อสินค้านั้น และสำหรับผู้บริโภคก็เช่นเดียวกับเมื่อมีความรู้แล้วก็สามารถจำแนกได้ว่าสินค้าอะไรที่เป็นประโยชน์คุ้มค่าเงินที่ตนจ่ายออกไป สินค้าอะไรที่ไม่ควรซื้อ หรือสามารถผัดผ่อนการซื้อไว้

การศึกษาจะมีส่วนเกื้อกูลต่อระบบเศรษฐกิจ ถ้าเน้นสร้างสิ่งต่อไปนี้

1. ให้รายได้ประชาชาติต่อประชาชนหนึ่งคนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

2.ให้มีระดับการจ้างงานสูง

3.ให้มีระดับสินค้ามีเสถียรภาพ

4.ให้การชำระเงินระหว่างประเทศสมดุล

5.ลดความแตกต่างด้านรายได้ของประชาชน

6.ให้ความเจริญของท้องถิ่นไม่แตกต่าง

7.ให้มีการประกอบการทางเศรษฐกิจหลายชนิด

พัฒนาการศึกษากับการเศรษฐกิจ

ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสนใจในเรื่องการศึกษามากขึ้น ในฐานะที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความคิดในเรื่อง การพัฒนาคน (Human factors) ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นยิ่งกว่าในสมัยใดๆ ที่ผ่านมา

การพัฒนาทางเศรษฐกิจ คืออะไร

  การพัฒนาทางเศรษฐกิจ หมายถึง การที่สังคมหรือประเทศโดยส่วนรวมมีกำลังความสามารถในการผลิตสิ่งของและบริการออกมาสนองความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ และจำนวนประเภทของสิ่งของ และรายได้รวมของชาติที่ถูกก่อให้เกิดขึ้น จากกระบวนการผลิตเหล่านี้ถูกแบ่งสรรไปในระหว่างประชากรอย่างเสมอภาคกัน ตามความสามารถและบทบาทที่แต่ละคนมีส่วนอยู่ในกระบวนการผลิตนั้นๆ

  เปอร์คินส์ และ สน็อดกราส (perkins and Snodgrass) ให้ความหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจว่า หมายถึง ความจำเริญทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (economic growth and structural change)

  โดยความเจริญทางเศรษฐกิจ หมายถึง การเพิ่มรายได้และผลผลิต กล่าวคือ รายได้หรือการผลิตสินค้าและบริการของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จะเรียกว่า เป็นความจำเริญทางเศรษฐกิจ ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนั้น โดยทั่วไป หมายถึง สัดส่วนการผลิตและรายได้ของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สัดส่วนการผลิตและรายได้ของภาคเกษตรกรรมลดลง นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนในแบบแผนการบริโภคของประชาชน จากการบริโภคสินค้าที่มีความจำเป็นพื้นฐานไปสู่การบริโภคสินค้าที่คงทนถาวร ที่อำนวยความสะดวกต่อความเป็นอยู่และบริการประเภทพักผ่อนหย่อนใจเพิ่มมากขึ้น

 

ความทันสมัยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

  ความทันสมัย (Modernization) คืออะไร

  ความทันสมัย โดยทั่วไปจะไม่ใช่กระบวนการของความเจริญก้าวหน้าในตัวของมันเอง แต่เป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการลอกเลียนแบบ (Emulation) และการโยกย้ายถ่ายเท (Transplantation) แต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะมีแนวความคิดเน้นไปที่การแปลงรูป (Transformation) ของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถใช้วิธีการที่เหมาะสมกับประเทศของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปลอกเลียนแบบวิธีการของประเทศที่เจริญแล้ว จุดมุ่งหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ

  ตามแนวความคิดปัจจุบัน ความหมายในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีความหมายที่กว้างกว่าเดิม คือ ครอบคุลมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจจึงมีความหมายถึง กระบวนการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น

  กูเล (Goulet) ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ว่า จะต้องประกอบไปด้วย  1. การดำรงคงอยู่ของชีวิต (life – sustenance)

    ได้แก่ ความสามารถในการได้มาซึ่งสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้

  2. มีเกียรติและมีศักดิ์ (self – esteem)

    ได้แก่ การได้รับการศึกษา การมีงานทำ มีสถานภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม

  3. ความมีอิสระ เสรีภาพ (freedom)

    ได้แก่ ความสามารถที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง ความสามารถในการเลือก ความสามารถในการปลดเปลื้องชีวิตจากความเป็นทาส เป็นเครื่องมือของบุคคลอื่นจากความทุกข์ยาก จากความไม่รู้และจากความหลงเชื่อในสิ่งงมงายทั้งหลายทั้งปวง ด้วยเหตุนี้การที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การพัฒนาประเทศจะต้องเน้นไปที่

  1) การขจัดความยากจนด้วยการจัดให้มีสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน โดยมีหลักการว่าให้มีเพียงพอเพื่อจะได้มีมากขึ้น

  2) การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคลในสังคม เพื่อขจัดการเอารัดเอาเปรียบ และการขูดรีดในสังคม

  3) การกระจายรายได้และอำนาจให้มีความยุติธรรม

  4) การพัฒนาประเทศ โดยพึ่งตนเองให้มากขึ้น

  5) การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและตัดสินใจอย่างกว้างขวาง และมากขึ้น

  ดังนั้น จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องเน้นไปที่ความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งได้แก่

  1) การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้น โดยการยกระดับรายได้และระดับการบริโภคสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น โดยเน้นการช่วยเหลือกลุ่มชนผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก

  2) การลดความเหลื่อมล้ำทางการกระจายรายได้ โดยเน้นการกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาให้ตกถึงมือประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

  3) การส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม โดยปรับปรุงสถาบันและระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อลดทอนการใช้อำนาจอภิสิทธิ์ และการผูกขาดตัดทอน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่ดีขึ้นและมีงานทำอย่างทั่วถึง

  5) การเพิ่มเสรีภาพในการเลือกให้กับประชาชนให้มากขึ้น ด้วยการให้เสรีภาพในการเมืองและการขยายขอบข่ายการเลือกให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

  กล่าวโดยสรุป จุดมุ่งหมายในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในสังคมให้ดีขึ้นทั่วหน้ากัน

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

  1. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ได้แก่

  1) ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural resources)

อันได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด ทั้งอยู่ในดิน ใต้ดินและบนอากาศ เช่น แร่ธาตุ น้ำ เป็นต้น

  2) ทรัพยากรมนุษย์ (Human capital)

ได้แก่ ประสิทธิภาพและคุณภาพของประชากรในสังคมนั้นๆ ดังนั้น การปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของคนในสังคม จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจ

  3) การสะสมทุน (capital accumulation)

ทุน ได้แก่ เงินทุนและสินค้าประเภททุน (Capital goods) ซึ่งได้แก่ เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์การผลิตประเภทต่างๆ การสะสมทุนจะนำไปสู่การลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตประชาชาติต่อไป

4) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)

คือ บุคคลผู้ทำหน้าที่รวบรวมปัจจัยการผลิต (Factors of Production) เพื่อนำมาใช้ในการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับช่องทางในการลงทุน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ รวมทั้งค้นหาสินค้าใหม่ๆ ดังนั้น ตัวผู้ประกอบการจึงเป็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ

2. ปัจจัยที่มิใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

  1) ค่านิยมและสถาบันทางสังคม

  ค่านิยมและสถาบันสังคม มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ระบบครอบครัว ความเกียจคร้านในการทำงาน ความเฉื่อยชา ความเชื่อในสังคม ความรักสันโดษ การมีทัศนคติที่ทันสมัยและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การนิยมทำงานหนัก ความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นลู่ทางที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

  2) ศาสนา

  ความเชื่อทางศาสนามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น คำสอนเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน การทำงานเลี้ยงชีพโดยสุจริต ความเสียสละต่อสังคมส่วนรวม เป็นต้น

 

3) ขนบธรรมเนียมประเพณี

  ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การบริจาคทรัพย์ โดยถือว่า เป็นการทำบุญเพื่อสะสมเอาไว้สำหรับชาติหน้า การใช้เงินทองจำนวนมากในประเพณีแต่งงาน บวช และเผาศพ เป็นต้น

  4) ระบบการเมืองการปกครอง

  สังคมที่มีระบบการเมือง การปกครองและการบริหารงานที่เข้มแข็ง และปราศจากการคอร์รัปชั่น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการลงทุนของประชาชนในประเทศและจากต่างประเทศ รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถ้ามีมากย่อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนมากขึ้นตามตัวไปด้วย

  3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

  การติดต่อร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ ก่อให้เกิดความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ตลาดของแต่ละประเทศกว้างขึ้น สินค้าขายได้ราคามากขึ้น มีการขยายตัวของการจ้างงาน ประเทศมีเงินตราต่างประเทศเข้ามามากขึ้น เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การค้าระหว่างประเทศ ยังก่อให้เกิดผลกระทบทางการศึกษา (Educational effect) เช่น ประเทศกำลังพัฒนาได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การทำสัญญาซื้อขายเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดทักษะและเกิดแนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจจากระบบที่ล้าหลังมาเป็นระบบที่ทันสมัยยิ่งขึ้น

การศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจ

  ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ ทรัพย์ (Human resources) โดยเฉพาะคุณภาพของมนุษย์มีส่วนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตแตกต่างกัน ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ให้สูงขึ้น และในการพัฒนาคุณภาพมนุษย์นั้น จำเป็นต้องใช้ปัจจัยทางการศึกษาเป็นสำคัญ

  แมคคูลอช (Mc culloch) กล่าวว่า การศึกษาเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพราะการศึกษาช่วยให้คนมีงานทำ มีทักษะ ความเฉลียวฉลาด และความชำนาญงานมากขึ้น

  ริคาร์โด (Daved Ricardo) กล่าวว่า การเพิ่มปริมาณความกินดี อยู่ดีทางเศรษฐกิจของประชาชนส่วนใหญ่นั้น ทำได้โดยการลดจำนวนประชากร หรือการเพิ่มทุนให้มากขึ้น การศึกษาเป็นแนวทางในการปลูกฝังนิสัยต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การจำกัดขนาดของครอบครัวด้วย

  ที. ดับบลิว. ชูลท์ (T. W. Schultz) กล่าวว่า ทักษะและความรู้ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ จัดว่าเป็นทุนรูปหนึ่ง และมีความสำคัญต่อกระบวนการในการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับทุนในรูปอื่นๆ การลงทุนทางด้านการศึกษา จึงเป็นการลงทุนเพื่อสร้างสมทุนมนุษย์ ซึ่งช่วยให้มนุษย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การสะสมทุนมนุษย์ จำเป็นต้องเลือกสะสมให้ถูกทางหรือต้องเน้นการจัดสรรการศึกษาเฉพาะบางประเภทที่มีส่วนเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุด โดยคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นๆ

  อัลเฟรด มาร์แชล (Alfred Marshall) การศึกษาเสมือนการลงทุนอย่างหนึ่งของชาติ การศึกษามีความสัมพันธ์กับความต้องการด้านกำลังแรงงาน

  มาร์แชล สนับสนุนการศึกษาประเภทอาชีวศึกษากับกรรมกรที่ไม่ได้รับการศึกษาสามัญและแก่ชนชั้นกลางที่มีความรู้ไม่มากนัก นอกจากนี้ยังเน้นว่า การศึกษาทำให้คนฉลาดขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น และในการทำงานก็สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้มากกว่า การศึกษาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนให้ดีขึ้นทั้งในและนอกเวลาทำงาน ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นแนวทางสำคัญต่อการผลิตทรัพย์สินประเภทวัตถุดิบ

  แซมมวลสัน (Paul A. Samuelson) แสดงความเห็นว่า สำหรับประเทศด้อยพัฒนา คนที่มีการศึกษาย่อมสามารถทำงานให้เกิดผลผลิตได้มากกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา ดังนั้น ควรจัดงบประมาณให้แก่การศึกษาและโครงการต่างๆ ที่มุ่งหมายลดความไม่รู้หนังสือทุกอย่างให้มาก การจัดการศึกษาไม่ควรมุ่งเพียงให้บุคคลอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่จะต้องฝึกอบรมในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมให้กับพลเมืองด้วย การศึกษาเป็นเครื่องมือปรับปรุงทรัพยากรมนุษย์ให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

  สืบแสง พรหมบุญ กล่าวว่า “การศึกษามีส่วนสำคัญในการกำหนดค่านิยมในการถ่ายทอดวิทยาการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เห็นว่า การศึกษาประสบความสำเร็จหรือไม่ในการพัฒนาประเทศ เพราะเหตุว่าถ้าค่านิยมในการถ่ายทอดวิทยาการผิดพลาด จะมีผลทำให้การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมมากขึ้น และวิทยาการที่ถ่ายทอดมานั้นก็อาจเป็นภัยต่อสังคม เกิดความสูญเปล่ามากขึ้น แต่ถ้าการถ่ายทอดวิทยาการเป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศและกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

  กล่าวโดยสรุป การศึกษามีส่วนสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก โดยสถาบันการศึกษามีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้คนภายในสังคมมีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น อันจะยังประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตให้สูงขึ้น และมีการเพิ่มพูนรายได้ที่สูงขึ้นในที่สุด

  ความสำคัญของการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจ

  การพัฒนาเศรษฐกิจนั้น เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความจำเริญทางเศรษฐกิจอันจะส่งผลให้รายได้ประชากรสูงขึ้น ดังนั้น ความสำคัญของการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจจึงพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

  1. การศึกษาช่วยทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มมากขึ้น

  การที่คนได้รับการศึกษาสูงขึ้น ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มความสามารถในการผลิต จนทำให้มีสินค้าและบริการได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

  2. การศึกษาช่วยให้มีการกระจายรายได้เสมอภาคยิ่งขึ้น

  การส่งเสริมให้คนทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมากขึ้น จะทำให้เกิดความรู้และความชำนาญ ในการทำงานแขนงต่างๆ ทำให้เลือกประกอบอาชีพ ซึ่งทำให้ได้รับรายได้ที่สูงกว่าเดิม ซึ่งตรงกันข้ามกับการที่ประชาชนขาดโอกาสทางการศึกษา ประชาชนมีโอกาสทางการศึกษาน้อย จะส่งผลทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้

  3. การศึกษาเป็นตัวเร่งในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

  ตัวอย่างเช่น ประชากรวัยแรงงานได้รับความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ทันสมัย จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากแรงงานเหล่านั้นเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ

  4. การศึกษาช่วยส่งเสริมการเลื่อนฐานะและบทบาททางสังคม

  การจัดการศึกษาเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ศึกษาเล่าเรียน จะส่งผลให้คนมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น สำหรับคนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำจะทำให้มีโอกาสเลื่อนฐานะและมีบทบาททางสังคมสูงขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

  การลงทุนด้านการศึกษา

  การลงทุนด้านการศึกษาในประเทศที่กำลังพัฒนามีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาการสร้างสมทุนมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในบางประเทศยังอนุญาตให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ ไทย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

  ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะลงทุนทางการศึกษา เพื่อใช้เป็นเงินเดือนครูประมาณ 70 – 80 % ของงบประมาณ ส่วนที่เหลือประมาณ 3 – 5 % เป็นจำนวนที่ใช้จ่ายกับสื่อในการเรียนการสอน ซึ่งนับได้ว่าน้อยมากอันจะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการศึกษาไม่สูงนัก นอกจากนี้ หนังสือซึ่งถือว่าเป็นสื่อการสอนที่สำคัญ ยังมีจำนวนไม่มากนักและยังไม่กระจายออกไปสู่ชนบท

  การลงทุนทางการศึกษา อาจพิจารณาได้ใน 2 ลักษณะ คือ

  1. ความคุ้มค่าของการศึกษาระดับบุคคล

  2. ความคุ้มค่าของการศึกษาระดับประเทศ

  ชนิดา  รักษ์พลเมือง  กล่าวว่า ในเรื่องการลงทุนทางการศึกษากับเศรษฐกิจนี้ สามารถมองได้ในระดับบุคคลและระดับส่วนรวม หรือระดับประเทศ

  ในระดับบุคคลเราจะเห็นการพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการลงทุนด้านการศึกษาในแง่ของต้นทุนผลกำไร (Cost – benefit) เป็นต้นว่า ในสังคมที่นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเริ่มคิดที่จะทำงานก่อนเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาโดยเฉพาะนักเรียนที่มีฐานะไม่สู้ดี อาจจะเริ่มเห็นว่า จำนวนเงินที่เขาจะต้องเสียค่าเล่าเรียนในระดับสูง 4 ปีนี้ เมื่อเขาจบการศึกษาออกมาทำงานแล้ว จะได้รับคืนคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ลงทุนไปหรือไม่

  ในแง่ของต้นทุนประสิทธิผล (Cost – effectiveness) ก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้จบการศึกษาไม่สามารถประกอบอาชีพได้ การจัดการศึกษาจึงมีแนวโน้มที่จะจัดให้มีหลักสูตรและเนื้อหามีความสอดคล้องกับระบบการทำงานในสังคม เพื่อที่ผู้จบการศึกษาจะได้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อันจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งผู้เรียนและแก่ประเทศโดยส่วนรวม อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจจึงมีผลส่งไปถึงประเภทของการศึกษาด้วย หลายประเทศมีนโยบายการศึกษาที่มุ่งหมายที่จะให้การศึกษาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยถือว่าการศึกษาที่เหมาะสมกับเป้าหมายนี้ก็คือ การอาชีวศึกษาและการศึกษาเทคนิค โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษามุ่งด้านการเพิ่มปริมาณกำลังคนด้านนี้ และลดการผลิตคนในสาขาสังคมศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ โดยมีความเชื่อว่าการจัดการศึกษาแบบนี้ จะช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน และเป็นการสร้างประสิทธิภาพของผลผลิตทางการศึกษาด้วย ในหลายประเทศการจัดการศึกษาตามแนวนี้ (เน้นอาชีพ) ยังไม่ได้ผล และสมาชิกในสังคม ยังมีความต้องการศึกษาสายสามัญอยู่อย่างเดิม อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่าการศึกษาในระดับประถมศึกษา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกสังคมในการพัฒนาประเทศ

ปัญหาการลงทุนด้านการศึกษา

  นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่าการศึกษาเป็นการลงทุน (Investment) อย่างหนึ่ง เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ความชำนาญในระดับสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดการผลิตเกิดขึ้นยิ่งไปกว่านั้นการศึกษายังเป็นสิ่งช่วยให้เกิดการเลื่อนฐานะและตำแหน่งทางสังคมให้สูงขึ้น

  ในประเทศที่กำลังพัฒนาได้จัดงบประมาณไว้ 20 – 35 % ของงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านการศึกษา นอกจากนี้แล้ว ประเทศต่างๆ ยังประสบกับปัญหาการลงทุนทางการศึกษา ดังต่อไปนี้ คือ

  1. งบประมาณในการลงทุนด้านการศึกษามีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ

  ประเทศกำลังพัฒนามีค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาเฉลี่ยประมาณ 35 – 40 ดอลลาร์อเมริกันต่อคน นับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้ถึง 110 ดอลลาร์ต่อคน และค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ ได้แก่ เงินเดือนและค่าจ้างมากที่สุด ส่วนค่าใช้จ่ายในด้านสื่อการเรียนการสอนมีน้อยไม่ถึง 10 % ของงบประมาณ

  2. การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษามิได้มุ่งเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ

  กล่าวคือ การจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาของบางประเทศ มีความมุ่งหมายที่จะสอนวิชาสามัญ เพื่อให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แทนที่ในระดับนี้ควรจะฝึกให้เรียนอาชีพ เพื่อออกไปทำงานหรือประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นหลักสูตรที่พัฒนาไปจากระดับประถมศึกษาอีกต่อหนึ่ง การที่เด็กจบระดับมัธยมศึกษาแล้ว เมื่อไม่ได้เข้าศึกษาต่อก็ไม่มีวิชาชีพติดตัวออกไป ซึ่งไม่ต่างอะไรกับจบระดับประถมศึกษา ดังนั้น การให้บริการทางการศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของชาวชนบท โดยเฉพาะผลตอบแทนระยะสั้น เมื่อเทียบกับผลประโยชน์และค่าเสียโอกาส (Opportunity costs) ที่เกิดจากการให้ลูกหลานเข้าไปในโรงเรียนแล้ว ประชาชนที่อยู่ในชนบทส่วนมากยังเห็นว่า เด็กที่จบชั้นประถมศึกษา


คำสำคัญ (Tags): #khonmuang
หมายเลขบันทึก: 516168เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2014 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท