ปกรณ์
ว่าที่ร.ต. ปกรณ์ ปกรรณกรณ์ คำกอง

คำสมาสและคำสนธิ


คำสมาส สนธิ

 

เรื่องคำสมาสและคำสนธิ

คำสมาส

คำสมาส การสร้างคำสมาสในภาษาไทยได้แบบอย่างมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต โดยนำคำบาลี-สันสกฤต ตั้งแต่สองคำมาต่อกันหรือรวมกัน ลักษณะของคำสมาสเป็นดังนี้

 ๑. เป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตเท่านั้น คำที่มาจากภาษาอื่นๆ นำมาประสมกันไม่นับเป็นคำสมาส ตัวอย่างคำสมาส บาลี+บาลี อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย อริยสัจ ขัตติยมานะ อัจฉริยบุคคล สันสกฤต+สันสกฤต แพทยศาสตร์ วีรบุรุษ วีรสตรี สังคมวิทยา ศิลปกรรม บาลี+สันสกฤต, สันสกฤต+บาลี หัตถศึกษา นาฎศิลป์ สัจธรรม สามัญศึกษา

 ๒. คำที่รวมกันแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำแต่อย่างใด เช่น วัฒน+ธรรม = วัฒนธรรม สาร+คดี = สารคดี พิพิธ+ภัณฑ์ = พิพิธภัณฑ์ กาฬ+ปักษ์ = กาฬปักษ์ ทิพย+เนตร = ทิพยเนตร โลก+บาล = โลกบาล เสรี+ภาพ = เสรีภาพ สังฆ+นายก = สังฆนายก

๓. คำสมาสเมื่อออกเสียงต้องต่อเนื่องกัน เช่น ภูมิศาสตร์ อ่านว่า พู-มิ-สาด เกียรติประวัติ อ่านว่า เกียด-ติ-ประ-หวัด เศรษฐการ อ่านว่า เสด-ถะ-กาน รัฐมนตรี อ่านว่า รัด-ถะ-มน-ตรี เกตุมาลา อ่านว่า เก-ตุ-มา-ลา

 ๔. คำที่นำมาสมาสกันแล้ว ความหมายหลักอยู่ที่คำหลัง ส่วนความรองจะอยู่ข้างหน้า เช่น ยุทธ (รบ) + ภูมิ (แผ่นดิน สนาม) = ยุทธภูมิ (สนามรบ) หัตถ (มือ) + กรรม (การงาน) = หัตถกรรม (งานฝีมือ) คุรุ (ครู) + ศาสตร์ (วิชา) = คุรุศาสตร์ (วิชาครู) สุนทร (งาม ไพเราะ) + พจน์ (คำกล่าว)= สุนทรพจน์ (คำกล่าวที่ไพเราะ)

ความหมาย สมาสเป็นวิธีการสร้างคำโดยการนำคำบาลีหรือสันสกฤต

 

ตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมารวมกัน (เรียงต่อกันหรือนำมาชนกันนั่นเอง)

 

 

 

หลักการสังเกต

 

 

 

๑. คำสมาสต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น

 

 

๒. คำสมาสมีลักษณะคล้ายการนำคำสองคำมาวางเรียงต่อกัน เวลาอ่านจะมีเสียงสระต่อเนื่องกัน

 

๓. ไม่มีการประวิสรรชนีย์ (ะ) หรือเครื่องหมายทัณฑฆาต ( ์ )

 

 

๔. การเรียงคำ คำหลักจะอยู่ข้างหลัง ดังนั้นการแปลจึงแปลความหมายจากหลังมาหน้า

 

๕. คำ "พระ" ประกอบหน้าคำบาลี สันสกฤต จัดเป็นคำสมาส

 

 

๖. คำที่ลงท้ายด้วยคำว่า ศาสตร์ กรรม ภาพ ภัย ศึกษา มักเป็นคำสมาส

 

 

จำง่าย ๆ ... "สมาส - ชน"

 

       

ตัวอย่างคำสมาส

กายกรรม กายสิทธิ์ กาลกิริยา  กาลเทศะ กาฬโรค กิตติคุณ กิตติศัพท์ กิจวัตร กิจจะลักษณะ กุลบุตร กุลสัมพันธ์ เกียรติศักดิ์ ขันติธรรม คชกรรม คชศาสตร์ คณิตศาสตร์ คนธรรพวิวาห์ คัมภีรภาพ  คุณธรรม คุณวิเศษ คุณภาพ คุณลักษณะ คุณวุฒิ จตุปัจจัย จตุบท จตุโลกบาล จตุสดมภ์ ธรรมจริยา  พุทธจริต จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส จักรพรรดิ จักรราศี จันทรคติ นครบาล จิตรกร จินตกวี  จุฑารัตน์ จุลทรรศน์  จุลภาค  จุฬาลักษณ์  เจดียสถาน  ฉกกษัตริย์  ฉัตรมงคล  ฉันทลักษณ์  ฉัพพรรณรังสี  ชนมพรรษา  ชมพูทวีป  ชลธาร  ชลประทาน  ชลมารค  ชัยภูมิ  ดุษฎีบัณฑิต  ตรีคูณ  ไตรปิฎก  เถรวาท  ทรกรรม  ทรชน  ทวารบาล  ทัณฑฆาต  ทิพยจักษุ  ทุกขลาภ  ธนบัตร  ธรรมขันธ์  ธรรมจริยา  รัตติกาล  รัตนบัลลังก์  ราชหัตถเลขา  รูปพรรณ  ลหุโทษ  วิจารณญาณ  วิญญูชน  ศุภนิมิต  เศรษฐกิจ  สถานการณ์  สาธารณสุข  สามนตราช  อดีตกาล

อดีตชาติ  อรรถกถา อริยบุคคล  อรรธจันทร์

 

คำสนธิ

                คำสนธิในภาษาไทยหมายถึงคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต มาเชื่อมต่อกัน ทำให้เสียงพยางค์หลังของคำแรกกลมกลืนกันกับเสียงพยางค์แรกของคำหลัง

๑. สระสนธิ คือการกลมกลืนคำด้วยเสียงสระ เช่น วิทย+อาลัย = วิทยาลัย พุทธ+อานุภาพ = พุทธานุภาพ มหา+อรรณพ = มหรรณพ นาค+อินทร์ = นาคินทร์ มัคค+อุเทศก์ = มัคคุเทศก์ พุทธ+โอวาท = พุทโธวาท รังสี+โอภาส = รังสิโยภาส ธนู+อาคม = ธันวาคม

 ๒. พยัญชนะสนธิ เป็นการกลมกลืนเสียงระหว่างพยัญชนะกับพยัญชนะ ซึ่งไม่ค่อยมีใช้ในภาษาไทย เช่น รหสฺ + ฐาน = รโหฐาน มนสฺ + ภาว = มโนภาว (มโนภาพ) ทุสฺ + ชน = ทุรชน นิสฺ + ภย = นิรภัย

๓. นฤคหิตสนธิ ได้แก่การเชื่อมคำที่ขึ้นต้นด้วยนฤคหิตหรือพยางค์ท้ายของคำหน้าเป็นนฤคหิต กับคำอื่นๆ เช่น สํ + อุทัย = สมุทัย สํ + อาคม = สมาคม สํ + ขาร = สังขาร สํ + คม = สังคม สํ + หาร = สังหาร สํ + วร = สังวร

ความหมาย คำสนธิ เป็นการนำคำมูลที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต

 

ตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาเชื่อมเข้าด้วยกัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงพยัญชนะ

 

 

สระ หรือนิคหิตที่เชื่อม ให้ท้ายเสียงของคำหน้ากับต้นเสียงของคำหลัง

 

 

มีเสียงกลมกลืนกันเป็นคำใหม่

 

 

 

หลักการสังเกต

 

 

 

๑. คำสนธิต้องเป็นคำบาลี สันสกฤตเท่านั้น

 

 

 

๒. เมื่อนำคำมาสนธิกันแล้ว จะกลายเป็นคำเดียว และจะต้องแปลจากคำหลังมาคำหน้า

 

๓. คำที่จะนำมาสนธิกัน จะต้องมีทั้งสระหน้าและสระหลัง

 

 

๔. เมื่อสนธิแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงพยัญชนะ สระ หรือนิคหิตที่เชื่อมเสมอ

 

จำง่าย ๆ ... "สนธิ - เชื่อม"

 

 

 

ตัวอย่างคำสนธิ

พุทธานุภาพ มหรรณพ  มหัศจรรย์   เทศภิบาล  วิทยาคม  ภัณฑาคาร  พันธนาการ  ปริยานุช  รัฏฐาภิบาล  ราโชวาท  โลกาธิบดี  โลกาธิปไตย  วชิราวุธ  วัตถาภรณ์  วันทนาการ นาคินทร์  มหินทร์  ราเมศวร  มหิทธิ  ปรมินทร์  ปรเมนทร์ รัชชูปการ มัคคุเทศก์ ราชูปโภค ราชูปถัมภ์ชโลทร  มโหสถ  พุทโธวาท  อเนก  มโหฬาร  กรินทร์  ไพรินทร์  รังสิโยภาส  อัคโยภาส  สามัคยาจารย์  ราชินยานุสรณ์  จตุปาทาน  คุรูปกรณ์  ธันวาคม  จักขวาพาธ  รโหฐาน  มโนภาพ  ทุรชน  สมุทัย  สมาคม  สมาจาร  สโมสร  สังขาร  สังคม    สัญจร     สัณฐานกินนร  สันธาน

  สัมผัส   สังวร  สังโยคสังสรรค์

 

ข้อมูลจาก: http://school.obec.go.th/banpaknam/Text/samatsonthi/index.htm

     http://www.jd.in.th/e_learning/th33101/samart/text%5B1%5D.html

 

 

หมายเลขบันทึก: 287153เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เก่งมากครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท