The Winner Takes It All


สังคมกำลังจะสร้างคนให้เก่ง หรือกำลังจะสร้างทีมให้เก่ง ?

แนวโน้มหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแบบชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จนดูเหมือนจะเป็นการเคลื่อนตัวไปทิศเดียว ไม่วกกลับ ก็คือแนวโน้มที่เรียกว่า "The Winner Takes It All"

วลีดังกล่าว เคยเป็นชื่อเพลงเมื่อราว 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นเพลงที่น่าฟังมากเพลงหนึ่ง

แนวโน้มนี้ก็คือ มีแต่ผู้แข็งแกร่งที่สุด ที่จะอยู่รอด และอยู่รอดเพียงลำพัง

ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ได้แก่การเลือกคู่ การแข่งกีฬาประเภทเดี่ยว

มีตัวอย่างทางสังคมได้แก่ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต-เบอร์เดียว

ในแต่ละเขต สมมติมีผู้ลงสมัคร 5 คน มีที่โดดเด่นอยู่ 3 คน ในการเลือกตั้งระบบนี้ จะมีเพียงผู้โดดเด่นที่สุดเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ผ่านการทดสอบ และจะทดสอบกี่ครั้ง ก็จะยังเป็นคนนี้ (ที่พูดมานี้ หมายถึงกรณีที่ทดสอบอย่างเป็นธรรม) โอกาสที่คนรองที่ด้อยกว่าขึ้นมาแทนนั้น แทบไม่มีอยู่ ทั้งที่คนรอง ก็อาจมีคุณภาพคับแก้ว แต่โชคร้ายอยู่ผิดเขต ผลคือ การเลือกตั้งระบบนี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองแบบขั้วเดี่ยวชัดเจน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือระบบการประเมินคุณภาพที่เอากรอบเวลามาเป็นตัวจับ

ในกรอบเวลาหนึ่ง ๆ ก็จะมีอยู่คนหนึ่ง หรือรายการหนึ่ง ที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะประเมินเมื่อไหร่ ประเมินกี่ครั้ง (ที่พูดมานี้ ต้องเป็นการประเมินอย่างเป็นธรรม) ก็จะมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ และจะได้ทุกอย่างไป โดยคนรองจะไม่เคยมีโอกาส

ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้บอกว่าระบบนี้ดีหรือเลว เพราะระบบก็คือระบบ เป็นทางเลือก เป็นเครื่องมือให้เราหยิบใช้ ใช้ถูกกาละเทศะก็จะยอดเยี่ยม ใช้ผิดกาละเทศะก็หายนะ

แต่การเลือก การหยิบใช้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานว่า เราเลือก หรือใช้ โดยเจตนา โดยรู้ตัว รู้ว่าเราใช้ระบบนี้ เพื่ออะไร หากใช้โดยไม่เคยรู้ตัวหรือฉุกคิดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่เคยรู้ตัวว่านี่เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับกาละเทศะ

สิ่งที่จะตามมาก็คือความโกลาหลของการแข่งขันอย่างไม่คิดชีวิตเพื่อให้ยืนอยู่ในหัวแถวที่เดียว และจะไม่สามารถเกิดทีมงานแห่งความร่วมมือได้

มีตำนานจีนเล่าว่าอ๋องแห่งแว่นแคว้นหลังจากสถาปนาตนขึ้นครองบัลลังก์ ก็วางแผนกำจัดขุนศึกของตนออกไม่ให้กลายเป็นเสี้ยน โดยประกาศมอบรางวัลใหญ่ให้เหล่าขุนศึก...รางวัลเดียว..สำหรับผู้ที่เก่งที่สุด

ซึ่งตอนจบ..ฆ่ากันตายหมด

สาใจซะไม่มี

เมื่อลองวิเคราะห์ดูว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้น พอจะสรุปเป็นข้อสังเกตุกว้าง ๆ ได้ว่า เมื่อใดที่ตีกรอบช่วงเวลาให้สั้น (เช่น ประเมินรายไตรมาส vs ประเมินรายปี) หรือตีกรอบสนามให้เล็ก (เช่นการแบ่งเขต-เบอร์เดียว เทียบกับการรวมเขต-รวมเบอร์) หรือตีกรอบรางวัลให้เจาะจงได้เพียงคนเดียว ก็จะทำให้เกิดปรากฎการณ์อย่างนี้ขึ้น

คำถามก็คือ สังคมกำลังตระหนักถึงแนวโน้มนี้เพียงไร ? หรือกำลังเกาะกระแสโดยไม่ได้ตั้งคำถาม ?

สังคมกำลังจะสร้างคนให้เก่ง หรือกำลังจะสร้างทีมให้เก่ง ?

ถ้าจะสร้างคนให้เก่ง ต้องใช้กฎรางวัลเดียวสำหรับคนเก่ง โดยไม่ควรเพ้อฝันว่ากำลังสร้างทีมเก่ง

ถ้าจะสร้างทีมให้เก่ง ต้องใช้กฎรางวัลสำหรับทีมเก่ง โดยไม่ต้องหวังมากว่าจะเกิดฮีโร่ขึ้นมา

เพราะถ้าจะได้พร้อมกัน ก็จะเป็นเหมือนขับรถ ที่เท้าหนึ่งเหยียบ เบรค อีกเท้าหนึ่งเหยียบคันเร่ง

เมื่อใดที่หวังจะเอาทั้งหมดพร้อม ๆ กัน พูดอย่างสุภาพ คือการ 'ฝันเฟื่อง'

เพราะเกม The Winner Takes It All นี้ กติกาหลักคือสร้างฮีโร่ครับ ไม่ใช่สร้างทีม

 

หมายเลขบันทึก: 29396เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2006 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บาง..หลาย ๆ วัน ทำงานจนไม่มีเวลาคิดอะไรทั้งสิ้น

นี่คือสภาพความเป็นจริงของโรงพยาบาลยุค สามสิบบาท เพราะฉะนั้น จะ เก่งคนเดียว หรือ เก่งทั้งทีม..ก็.. (อ้าว บ่นอีกแล้ว)

สาใจซะไม่มี...เจ็บซะไม่มี

...

จริงหรือคะ อาจารย์ ค่ะ ผู้ชนะ จะได้ทุกสิ่งอย่าง ? คะ

...

ในเมื่อ โลกนี้ ได้อย่างเสียอย่าง ใครเลยจะรู้ ใครเล่าจะเข้าใจ

เท่ากับ ผู้ชนะ และ ผู้แพ้ นั้นๆ  ... ในเมื่อใช้ หลักเกณฑ์ ต่างกัน ?

...

เอ ไม่แน่ใจว่า ประเด็นเดียวกันรึเปล่านะคะ ...

แต่ ชัยชนะ จะสำคัญ เท่ากับการได้มีส่วนร่วม ? คะ

...

ฝันดีล่วงหน้านะคะ ท่านอ. ยิ่งพูดเอง ก็สับสนเอง บายค่ะ

 

 

คุณหมอ P  จริยา

  • เข้าใจว่า ที่ไหน ๆ ก็จะเห็นปรากฎการณ์เดียวกัน
  • คนอยู่โรงพยาบาลน่าเห็นใจ โดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่
  • อย่าเพิ่งหมดแรงนะครับ

 

คุณ P poo

 

  • ผมไม่รู้ว่า ท้ายสุด คนชนะ เขา "ได้" จริงหรือเปล่า
  • แต่รู้ว่า คนแพ้ มักจะแพ้จริง...

5 5 อ. ตอบให้ปูได้ อมยิ้มแบบฮา ขากรรไกรค้างเลยค่ะ

...

แต่ปูก็ยังสงสัยอีกแหละคะ ... เพราะ บางครั้ง

ผู้เป็นคุณพ่อทั้งหลาย ที่ยอมแพ้ คุณแม่ หรือแม่คุณทั้งหลาย

สุดท้าย ก็มัก จะ ยิ้ม ๆ และ เหมือนๆ ชนะ นิดนึง นะคะ :)

...

 

P poo

 

  • คำว่า ชนะ หรือ แพ้/ ได้ หรือ เสีย ขึ้นกับมุมมอง ขึ้นกับการตีความ
  • ที่ผมเขียนถึง เป็นเรื่องการดำเนินงานขององค์กรครับ ไม่ได้ลงไปเรื่องระหว่างคนต่อคน
  • เรื่องพ่อคุณ หรือเรื่องแม่คุณนี่ แหะ ๆ ไม่ค่อยเข้าใจความหมายน่ะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท