ปล่อยพันธ์ปลาทูลงสู่อ่าวไทยที่ระยอง ตอนที่ 1


ข่าวไม่ค่อยด่วนรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 และ 12 ตุลาคม 2550 นี้ ได้มีชายไทย 4 นาย เดินทางจากลำปางมาปล่อยพันธ์ปลาทูลงสู่อ่าวไทยที่ จ.ระยอง ซึ่งคาดว่าพันธ์ปลาทูที่ปล่อยน่าจะขยายพันธุ์เป็นปลาทูไทยที่แข็งแรงและผลักดันเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป
ภาระกิจขยายพันธุ์ KM รูปแบบปลาทูไทยสายพันธุ์แม่เมาะสู่อุตสาหกรรม 

สืบเนื่องจากงาน KM เพื่อพัฒนาองค์การอัจฉริยะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้มาจัดบอร์ดร่วมแสดงนิทรรศการด้วย เจ้าหน้าที่ของบริษัท UBE (อ่านว่า อูเบะ) Group ชื่อ "พี่สาวน้อย" ได้มาดูงานดังกล่าว และได้เข้ามาคุยกับผมและทีมงานคนอื่น ๆ บังเอิญว่าเจ้าหน้าที่ที่มาดูงานนั้นรู้จักกับผมอยู่ก่อนบ้างแล้วก็เลยคุยกันได้อรรถรส ตัวพี่สาวน้อยเองก็เคยทำงานอยู่ที่ กฟผ. แม่เมาะ(แต่คนละหน่วยงานกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ) มาก่อน

 

หลังจากนั้นราว 1 เดือน ทีมแกนนำ KM ของ UBE ซึ่งประกอบด้วยพี่สาวน้อยพร้อม ดร. อนุชิต (รองประธานบริษัท) และพี่ปรีชา (HR Manager แต่จบด้านวิศวฯ เคยทำงานในสายการผลิต) ได้มาดูงานการจัดตลาดนัดความรู้ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเราจัดกันเป็นปกติอยู่นั้น ผมมาทราบทีหลังว่าทีม UBE ได้กลับไปหารือกันในคณะกรรมการของบริษัทแล้วเห็นว่า เป็นรูปแบบที่เป็น ลูกทุ่ง ดี และค่อนข้างเห็นผล ซึ่งหลังจากนั้นอีกราว ๆ 1 เดือนก็เลยติดต่อให้พวกเราไปช่วยจัด Workshop ให้กับกลุ่มบริษัท UBE ด้วย กำหนดวันดีเดย์คือวันที่ 11-12 ตุลาคม 50 แล้วก็ยังพาเจ้าหน้าที่ IT ของบริษัทมาขอดูเวบภูมิปัญญา รวมทั้งงานด้าน IT อื่น ๆ ที่เรานำไปแสดงที่งาน KM เพื่อพัฒนาองค์กรอัจฉริยะ เพื่อนำแนวคิดไปพัฒนาคลังความรู้ของบริษัทเอง

 

ครั้งแรกที่เราได้รับการติดต่อมานี้ ทีมงานเราปรึกษากันว่าจะไปจัดให้ดีหรือไม่ เพราะเกรงข้อครหาหลายอย่าง เช่น มีหลาย ๆ ครั้งที่หน่วยงานใน กฟผ. เอง ติดต่อมาขอให้ไปจัดให้ แต่ทีมเราปฏิเสธ เพราะเหตุผลบางประการ แต่ด้วยความอยากลองว่าการออกแบบวิธีใช้ KM แบบเรา น่าจะใช้ได้กับบริบทของบริษัทหรือไม่ เป็นสิ่งที่ท้าทายเราให้เกิดกิเลส อยาก ไปลองเปิดหูเปิดตานอกกะลาดูบ้าง เพราะเท่าที่จัดอยู่ในแม่เมาะนั้นแทบจะไม่เกิดมุขอะไรใหม่ ๆ มาให้ปรับปรุงกระบวนการมากนัก รวมทั้งทาง UBE ก็แสดงให้เห็นว่า เอาจริง ในการจะนำ KM ไปใช้ในบริษัท ตลอดจนภาวะส่วนตัวคือครอบครัวของผมก็เอื้ออำนวยในช่วงเวลาดังกล่าว คือเป็นช่วงที่ลูก ๆ ปิดเทอมกันพอดี ก็จะได้ถือโอกาสพาครอบครัวไปพักผ่อนชายทะเลไปด้วยในคราวเดียวกัน เรียกว่าปัจจัยหลาย ๆ อย่างเอื้อให้ได้ไป

 โจทย์ที่ได้รับในภาระกิจครั้งนี้คือ จัด Workshop ให้กับพนักงานระดับ Department manager และวิศวกรในด้านการผลิตและบำรุงรักษาของ UBE อายุงานในบริษัทโดยเฉลี่ย 10 ปี ส่วนใหญ่จะไม่มีพื้นความรู้ KM เลย และมีเจตนาจะให้ผู้จัดการเหล่านี้นำ KM ไปใช้กับระดับผู้ปฏิบัติงานหน้างาน กลุ่มบริษัท UBE เป็นบริษัทด้านปิโตรเคมี ผลิตคาโปแล็คตัม ไนลอน และยางสังเคราะห์ มีบริษัทแม่อยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งในบริษัทมีกิจกรรมบริหารคุณภาพใช้อยู่แล้วบางส่วน เช่น ไคเซ็น ระบบ TPM ซึ่งบริษัทกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อมุ่งสู่การเป็น Operation Excellent และมุ่งหวังจะก้าวไปสู่ความเป็นบริษัทแห่งนวัฏกรรม พนักงานส่วนใหญ่จะรู้จักกัน และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนพนักงานไปแผนกต่างๆ (แม้แต่คนดูแล Warehouse ก็ใช้วิศวกรที่เคยอยู่สายการผลิต)  จากโจทย์ที่ได้มา ทางทีมงานจึงได้เตรียมรายการ Workshop สำหรับพัฒนา คุณอำนวย โดยในวันแรกจะเป็นการให้ทฤษฎีเรื่อง KM Concept, KM Tool บางตัว (ได้แก่ peer assist, ตลาดนัดความรู้, AAR) การใช้ IT เป็นคลังความรู้และเวทีเสมือน, การนำ KM ไปริเริ่มใช้ในองค์กร วันที่สองเป็น Workshop ตลาดนัดความรู้ จบแล้วให้ AAR และปิดท้ายด้วยเวทีถามตอบปัญหา ผมเองก็จะนำเอาวารสารถักทอฯ ที่มีเรื่องเส้นทางการจัดการความรู้โรงไฟฟ้าแม่เมาะไปแจกด้วย โดยคาดหวังว่าจะเป็นแนวทางให้ UBE Group นำไปพัฒนารูปแบบ KM ใช้ในหน่วยงานของตนเองได้ต่อไป สำหรับเรื่องราวในการไปจัด Workshop ขอตัดตอนไปในบันทึกถัดไป เพื่อไม่ให้ยาวเกินไปนัก (โปรดติดตามตอนต่อไป.....)
หมายเลขบันทึก: 138969เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท