เขตอภัยทาน


แล้วเขาจะรู้ไหมนะ ว่าผมกำลังรอคำตอบอยู่

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ได้มีโอกาสไปจัดตลาดนัดความรู้ตามแนวที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีประสบการณ์ ให้กับกลุ่มบริษัท UBE (อูเบะ) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทด้านปิโตรเคมีที่จังหวัดระยอง กลุ่มที่ผมกำกับมีอยู่ประมาณ 11 คน เริ่มแรกบรรยากาศในการเล่าประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปด้วยดี จนกระทั่งมีการเล่าถึงประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่ระบบไม่สามารถทำ Vacuum ได้ การวิเคราะห์ปัญหาเค้าใช้หลัก “ตาดู หูฟัง มือสัมผัส”

ในการตรวจสอบนี้ได้ใช้ หลัก ”ตาดู” ไปแล้วเห็นเป็นปกติ ส่วนหลัก “หูฟัง” นั้นไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากบริเวณนั้นมีเสียงดัง และที่เหลือคือ “มือสัมผัส” ผู้เล่าได้เล่าว่า มีท่ออยู่ช่วงหนึ่งซึ่งเมื่อใช้มือจับดูรู้สึกว่าร้อนน้อยกว่าท่ออื่น ๆ จึงได้เปรียบเทียบกับระบบข้างเคียงที่เป็นแบบเดียวอีกที ระบบที่ไม่มีปัญหาท่อร้อนเท่า ๆ กัน สุดท้ายจึงสามารถฟันธงได้ว่าปัญหาเกิดจากจุดนี้ 

กลุ่มผมมีระดับ manager อยู่ประมาณ 5 คน เมื่อคุณกิจเล่าจบแล้ว มี manager ท่านหนึ่งได้ถามผมว่า “ขออนุญาตครับ ถ้าในเรื่องที่เล่าได้มีการทำผิดกฏความปลอดภัย เช่นในกรณีนื้ใช้มือสัมผัสโดยไม่ใส่ถึงมือ จะทำอย่างไร” ผมคิดอยู่พักหนึ่งจึงนึกได้ว่าที่เหมืองแม่เมาะมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นคือในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีหน่วยงานด้าน Safety เข้าร่วมด้วยและได้ค้านถึงวิธีการทำงานของผู้เล่าจนเสียบรรยากาศโชคดีที่ผมเคยได้คิดเกี่ยวกับปัญหาแบบนี้มาก่อนจึงตอบ manager ท่านนั้นว่า “ในความเห็นผมนั้น ผมเห็นว่าผู้บริหารต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ต้องคิดว่าเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แห่งนี้เป็นจุดที่ผู้บริหารสามารถทราบถึงบริบทในการทำงานของคนในหน่วยงานได้ โอกาสที่เราจะได้ทราบถึงวิธีการทำงานของเขามีไม่มากนัก นอกจากจะตามไปดูเขาทำงานทุกครั้งซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นด้วย ในวง ลปรร. นี้ต้องการบรรยากาศเชิงบวกเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เราน่าจะเก็บปัญหาแบบนี้ไว้แก้ทีหลัง เราอาจจะต้องกลับไปคิดด้วยว่าการบริหารของเราผ่านมาทำไมไม่สามารถทำให้เขาตะหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัย อาจจะต้องแก้ที่เราหรือระบบ ด้งนั้นถ้าจะให้ดีแล้วในวง ลปรร. นี้ควรประกาศเป็นเขตอภัยทานครับ ไม่ได้ละทิ้งปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ให้ใช้เวทีอื่นอย่างละมุนละม่อม ลองคิดดูว่าถ้าเราตำหนิเขาในวง ลปรร. แห่งนี้ ต่อไปเขาจะเล่าเรื่องแบบนี้อีกหรือไม่ ถ้าเขาไม่เล่าเราก็หมดแหล่งที่รับรู้ข้อมูลแบบนี้ เขาจะไม่เล่าอีกและก็บอกไม่ได้เลยว่าเขาจะไม่ทำแบบนั้นอีก ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นผลเสีย มากกว่าผลดีนะครับ”

สิ่งที่ผมตอบไปก็เป็นเพียงความเห็นของผมที่เกิดจากปัญญาอันน้อยนิด อีกทั้งยังไม่ได้ผ่านการทดสอบ ก็ไม่ทราบว่า manager ท่านนั้นจะนำไปทดลองใช้แล้วได้ผลอย่างไร

"แล้วเขาจะรู้ไหมนะ ว่าผมกำลังรอคำตอบอยู่"

คำสำคัญ (Tags): #ลปรร.
หมายเลขบันทึก: 139210เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2007 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท