ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น


            เกี่ยวเนื่องมาจาก blog ของคุณภีม ที่ได้เกริ่นนำในเรื่องนี้ไปแล้ว จึงขอนำเสนอในส่วนของเนื้อหาของ พรบ. นี้กันเลยนะคะ  เนื้อหาของ พรบ.ฉบับนี้ได้แบ่งหมวดไว้ 4 หมวด คือ หมวด 1 สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบล  หมวด 2 สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นจังหวัด  หมวด 3 สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ  หมวด 4 สำนักงานสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ ขอนำเสนอเนื้อหาสาระของ ร่าง พรบ. เป็นหมวด ทั้ง 4 หมวด แบ่งเป็นตอนทั้งหมด 4 ตอน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในเนื้อหาสาระ(ที่ค่อนข้างเป็นวิชาการ) ท่านที่สนใจสามารถติดตามอ่านได้ทั้ง 4 ตอนคะ            

                 วันนี้มาเริ่มตอนแรกกันเลย  คือ หมวด 1 ว่าด้วยเรื่อง สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบล ประกอบไปด้วยมาตรา ๕ ถึง มาตรา ๒๐ เนื้อหาใจความหลัก กำหนดให้ในตำบลหนึ่ง มีสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น 1 สภา ต้องมีผู้เข้าร่วมจากหมู่บ้านในตำบล อย่างน้อยร้อยละ 60 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดในตำบล สมาชิกของสภาฯ ประกอบด้วย

         1.      สมาชิก ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรหมู่บ้าน ชุมชน ในตำบล ไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกสมาชิก และได้มาโดยการเลือกกันเองของที่ประชุมสมาชิก / ตามจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี / ตามวิถีของชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีอยู่เดิม ให้มีจำนวนตามที่ชุมชนท้องถิ่นเห็นว่าเหมาะสม แต่ไม่เกิน 100 คน

           2.      สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สมาชิกตาม (1) ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้ง ให้มีจำนวนตามที่สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นเห็นเหมาะสม แต่ไม่เกิน 1 ใน 5 ของสมาชิกในข้อ (1) ทั้งนี้การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ  ต้องพิจารณามาจากบุคคลซึ่งเป็นข้าราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน พระภิกษุ  ผู้นำทางศาสนา หรือบุคคลที่เป็นที่เคารพของชุมชน

             วาระ: กำหนดให้สมาชิกอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกสมาชิก เมื่อตำแหน่งสมาชิกว่างลง จากการครบวาระ ให้สรรหาสมาชิกใหม่ภายใน 45 วัน หากว่างจากเหตุอื่น ให้สรรหาภายใน 60 วัน

            อำนาจหน้าที่: ให้สภาฯ มีประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 2 คน โดยเลือกจากสมาชิกในคราวที่ประชุมสภาฯ ครั้งแรก โดยอำนาจหน้าที่ของประธานสภา มี 6 ประการ คือ เรียกประชุมสภาฯ และดำเนินการประชุม, ควบคุมและดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของสภาฯ , ออกคำสั่งเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุม , เป็นผู้แทนสภาในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก , แต่งตั้งเลขานุการสภาโดยความเห็นชอบของสมาชิก และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้  สำหรับอำนาจหน้าที่ของรองประธานสภา คือ ช่วยประธานสภาในกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานสภา หรือปฏิบัติการตามที่ประธานสภามอบหมาย  ส่วนอำนาจหน้าที่ของเลขานุการ คือ รับผิดชอบงานธุรการ  จัดการประชุมและงานอื่นใดตามที่สภามอบหมาย

               ทางด้านอำนาจหน้าที่ของ สภาฯ ประกอบด้วย 10 ประการ คือ 1) จัดทำแผนแม่บทชุมชนในเขตพื้นที่ตำบล 2) ให้คำปรึกษา แนะนำ แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผนปฏิบัติการ และข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ 3) จัดประชุมสมัชชาชุมชนท้องถิ่นตำบล เพื่อพิจารณายับยั้ง ยกเลิก แผนงาน โครงการ กิจกรรม หรือการกระทำใด ๆ ที่ส่งผลกระทบเสียหาย หรือพิจารณาเรื่องอื่นที่สภาเห็นสมควร 4) พัฒนาองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง รวมถึงรับรองหรือยกเลิกสถานภาพองค์กรชุมชนท้องถิ่นในตำบล 5) ประสานและร่วมมือกับสภาฯตำบลอื่น สภาฯจังหวัด และสภาฯแห่งชาติ 6) วางระเบียบ ข้อบังคับ ในการดำเนินกิจการของสภาฯตำบล 7) ติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการที่ดำเนินการอยู่ในท้องถิ่นตำบลนั้น 8) จัดทำรายงานประจำปีของสภาฯ ตำบล รวมถึงสถานการณ์ชุมชนท้องถิ่นตำบลด้านต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปทราบ 9) เสนอรายชื่อสมาชิกสภาฯ ตำบล ให้เป็นสมาชิกสภาฯ จังหวัด จำนวนไม่เกิน 2 คน 10) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตาที่สภาฯแห่งชาติ และสภาฯ จังหวัดมอบหมาย ทั้งนี้สภาฯตำบล อาจมีหนังสือเชิญส่วนราชการ / หน่วยงานของรัฐ / รัฐวิสาหกิจ / ราชการส่วนท้องถิ่น / องค์กรอื่นของรัฐ มาร่วมแสดงความคิดเห็น หรือให้เอกสารได้ตามที่เห็นควร

                การประชุม: สภาฯ ต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และประชุมในกรณีที่สมาชิกเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ร้องขอให้เปิดการประชุม การประชุมต้องมีสมาชิกเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด  การลงมติให้ถือเสียงข้างมาก  สมาชิกสภาตำบลคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน หากมีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียง เป็นเสียงชี้ขาด

              สุดท้ายในเนื้อหาสาระของหมวด 1 กล่าวถึง  คณะกรรมการสภา ให้สภาฯตำบลเลือกกันเอง ตามจำนวนที่เหมาะสม ไม่เกิน 25 คน และให้คณะกรรมการสภา เลือกกันเอง เป็นประธานคณะกรรมการสภา รองประธานคณะกรรมการสภา และกรรมการเลขานุการ คณะกรรมการสภา ต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอต่อที่ประชุมสภาฯในคราวที่มีการประชุมทุกครั้ง และให้มีการประชุมคณะกรรมการสภาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

             อ่านแล้วอย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะ เพราะยังมีเนื้อหาสาระอีก 3 หมวด อย่าลืมติดตาม เนื้อหาสาระหมวดที่ 2 ในตอนต่อไปด้วยนะคะ.......

หมายเลขบันทึก: 101814เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2007 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สภาฯ นี้เข้าใจว่า ไม่นิยมอำนาจ  ในทางกลับกับเป็นที่แสวงแนวทางแก้ปัญหาโดยการระดมสมอง ใช้สติปัญญาและข้อมูล
  • หากคิดในทางที่ดี  จะเป็นผลดีต่อ อบต.เสียด้วยซ้ำ เพราะถือว่า เป็นสภาฯ ที่มาหนุนเสริมและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
  • สภาฯ แห่งนี้  ไม่ใช่สภาที่มาแย่งอำนาจ อบต.ขอให้พิจารณาถี่ถ้วน อย่าไประแวงจนจะเสียสติในที่สุด

สวัสดีครับPviolet
ผมได้รวบรวมทั้ง 4 หมวดไปรวมกันในรวมตะกอนครับ  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/102160

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท