มหาวิทยาลัยชีวิต (4) : ม.ชีวิต เศรษฐกิจวัฒนธรรม เศรษฐกิจพอเพียง (บรรยายพิเศษโดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ)


"เพราะฉะนั้นอยากให้อาจารย์ได้รู้ว่าที่มาของมหาวิทยาลัยชีวิตคือชุมชน และปรัชญาของมหาวิทยาลัยชีวิตคือเศรษฐกิจพอเพียง อย่าไปแยกจากกันครับ"

 

 

การบรรยายพิเศษ

ในการอบรมอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ประจำวิชา และอาจารย์พิเศษ

โรงแรมแม็กซ์ 13 มิถุนายน 2554

โดย รศ.ดร. เสรี พงศ์พิศ

อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

 

 

     ก็ไม่รู้ว่าใครให้กำลังใจใครนะครับ ... ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ คือถ้าใจมาปัญญาเกิด ถ้าใจมาทุกอย่างมันก็มา ฉะนั้นผมอยากให้อาจารย์ให้กำลังใจกับผู้เรียนให้มาก เพราะผู้เรียนผู้ใหญ่ของเรา ไม่คุ้นกับการเรียนโดยเฉพาะการเรียนแบบนี้ บางครั้งเขาก็ช็อคเพราะเขาคิดว่าจะไปเรียนแบบท่องหนังสือ พอเรียนแบบนี้เขาก็ต้องปรับวิธีคิดของเขา และถ้าเขาปรับได้เขาก็จะมีความสุขขึ้น เขาเรียนแล้วเขาทำโครงงานแล้วเขาทำได้ ลดน้ำหนักก็ลดได้ ลดหนี้สินก็ลดได้ ลดค่าใช้จ่ายก็ลดได้ คือโยงเรื่องการเรียนเข้ากับชีวิตของเขาได้ ความเชื่อมั่นก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นมา กลายเป็นความภูมิใจ และกลายเป็นความรักที่จะเรียนรู้ในท้ายที่สุด ผมมีประเด็นอื่นที่จะเล่าให้อาจารย์ฟังอีก แต่อยากจะบอกเพียงนิดเดียวว่าการเรียนรู้ในหาวิทยาลัยชีวิตเนี่ยมันมาจากประสบการณ์จริงของชุมชน เพราะฉะนั้นอยากจะให้อาจารย์เห็นว่า เราไม่มีหน้าที่ที่จะดึงมันเข้าไปในโรงเรียนอีกแล้ว อาจารย์ต้องดึงมันกลับไปหาชุมชน ดึงกลับเข้าไปหาชีวิต อย่าไปดึงกลับเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมอีก มันมาจากอินแปง มันมาจากไม้เรียง มันมาจากคีรีวงค์ มันจากหลายแห่งที่เป็นชุมชนเรียนรู้ครับอาจารย์ ชุมชนเหล่านี้เขาได้เรียนรู้ ได้ค้นพบว่า ตอนที่เขาไปถางป่าจนเตียนหมดแทบไม่มีกินเพราะไปขายหมด ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอเท่าไหร่ก็ไม่เคยรวย มีแต่หนี้ แต่ ณ วันหนึ่งเมื่อเขากลับมาฟื้น ปลูกวันละร้อย สองร้อย สามร้อยชนิด ทำให้มีกินมีขาย มีทุกอย่าง การที่ไปดูงานที่อินแปงไปดูอะไร ไปดูว่าคนที่เคยทุบหม้อข้าวหม้อแกงตนเอง แล้วกลับมาฟื้นชีวิตของตนเองได้เขาทำอย่างไร เขาปรับตัวได้อย่างไรกับชีวิตที่มันเปลี่ยนไปแล้ว นี่คิอโจทย์ที่อินแปงได้ทำ เขาได้ค้นพบว่าทุนที่เขามีอยู่ ทุนธรรมชาติก็ดี ทุนวัฒนธรรมก็ดี สำคัญขนาดไหน


     เพื่อนผม J.C.Scott จากมหาวิทยาลัยเยลล์ ไปวิจัยที่รัฐเคดาห์ ไทรบุรี เขียนหนังสือเล่มใหญ่ว่า 'Weapon of the weak' 'อาวุธคนยาก' สก๊อตบอกว่าคุณรู้ไหม อาวุธเดียวที่เหลืออยู่ของคนยากคือ วัฒนธรรม อย่างอื่นล้มหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้ล่ะ คุณหมอประเวศ ถึงพูดถึง ‘เศรษฐกิจวัฒนธรรม’ เพราะเป็นเศรษฐกิจที่เป็นของชุมชน ชุมชนเป็นคนเลือก เป็นคนตัดสินใจ เป็นคนกำหนดราคา เพราะฉะนั้นการที่เข้ากลับมาปลูกข้าว กลับมาทำสิ่งเหล่านี้ เป็นกานฟื้นฟูวัฒนธรรมขึ้นมา แล้วทำให้เศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชุมชน วิสาหกิจชุมชนครับอาจารย์ ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชีวิตเรียนเนี่ย คือการเรียนเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมของท้องถิ่น ฟื้นฟูทุนของท้องถิ่น วัฒนธรรม ปัญญา ทำอย่างไรให้ข้าวไม่ใช่แค่อาหารอย่างเดียวแต่เป็นยา ทำไมข้าวสังข์หยด ถึงขาย 35,000 บาทต่อตันให้กับสิงคโปร์ล่ะ ทำไมข้าวก่ำดอยสะเก็ดที่ลำปางที่พิษณุโลกขายตั้ง 30,000 บาทต่อตัน เพราะวันนี้ข้าวก่ำดอยสะเก็ดมีสารป้องกันต้อกระจกได้ไงครับ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาทำวิจัยไปเสนอที่เยอรมันมาตั้งหลายปี แล้วได้รางวัลยอดเยี่ยม เพราะมันเป็นยา เพราะฉะนั้นวันนี้งานวิจัยมันออกมาหมดแล้วว่าสิ่งที่เป็นทุนท้องถิ่นนั้นมันมีคุณค่ามหาศาลเพียงใด สิ่งเหล่านี้คนท้องถิ่นต้องเรียนเอง ไม่ใช่เราไปสอนเขาหรอกครับ เขาต้องลุกขึ้นมาทำ 50 ปีชุมชนของข้าพเจ้า ต้องมาเขียนเองเพราะเขาต้องสร้างสำนึกว่าท้องถิ่นของเขาคืออะไร สิ่งที่คนอินแปงทำก็คือเอาของดีที่มีอยู่เนี่ย ทรัพยากร ความรู้ คน เอามาจัดการ เขาเริ่มต้นจากของดีนะครับไม่ใช่เริ่มต้นจากปัญหา เพราะปัญหาเขาเรียนรู้มาตลอด เห็นมาตลอด แก้ไม่ได้ เขาเลยมารู้ว่า หวายนี่นะจากรุ่นปูย่าตายายไม่เคยเพาะ เพราะนกหนูทำให้ เขาก็ไปขอวิชาความรู้จากผู้ที่เพาะกล้าหวาย เขาบอกว่าต้องใช้เวลา 8 เดือน 10 เดือน คนอินแปงบอกรอไม่ได้หรอก ก็เลยมาหาวิธีใหม่ สร้างความรู้ใหม่ ทำให้หวายมันงอกได้ภายใน 5 วัน 8 วัน เลยกลายเป็น 20 ปีของอินแปง มีกล้าหวายกล้าพันธุ์ไม้ 20 ล้านต้นครับ โดยใช้เงิน 5,000 บาท จากมูลนิธิหมู่บ้าน ให้เงินไปทำ เรียนรู้ดูงาน ทำกองทุนพันธุ์ไม้ต้นกล้า แต่ 5,000 บาทเนี่ยมันทำให้เกิดปัญญา มันทำให้เกิดเงิน 500 ล้านบาทได้นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมจึงมั่นใจครับว่ามหาวิทยาลัยชีวิตต้องสร้างความรู้สร้างปัญญา เพื่อทำให้มีคุณค่าในทรัพยากรที่มีอยู่ คุณค่าเพิ่มมูลค่ามันก็เพิ่มชาวบ้านก็จะอยู่ได้ และมันต้องเป็นการเพิ่มในแบบที่เขามีพลังในการกำหนด ก็คือเศรษฐกิจวัฒนธรรม ... จะทำอย่างไรให้เขาได้เรียนรู้แล้วก็เห็นว่า ของเหล่านี้นี้สามารถที่จะเพิ่มมูลค่าให้คุณ และให้คุณอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นของตนเองได้ ...


     เหล่านี้ที่ผมนำมาให้ดูเพราะอยากให้เห็นว่า นี่คือส่วนหนึ่งของที่มามหาวิทยาลัยชีวิต มันมาจากชุมชน และมันจะต้องกลับไปที่ชุมชน ให้คนได้เรียนรู้ ได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีกินในท้องถิ่นของตนเองได้ ทำอย่างไรที่คนเรียนแล้วเขาจะได้ 2 อย่างนี้ครับอาจารย์ นั่นคือเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงสอนเรา 2 เรื่องเท่านั้นเองครับ ว่าหนึ่งทำอย่างไรคนถึงจะพึ่งตนเองได้ สองทำอย่างไรคนถึงจะมีความสุข มหาวิทยาลัยชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเนื้อเดียวกันครับอาจารย์ เราอยากให้คนพึ่งตนเองได้ เราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้เขาพึ่งตนเองได้ ต้องไปตีความ ต้องไปหาตัวชี้วัดเยอะๆ ที่ผมได้เขียนเป็นหนังสือไว้ว่าตัวชี้วัดเป็นอย่างไร ดังนั้นเราถึงต้องให้เขาไปหาเอง ให้เขากำหนดขึ้นมาเองว่า ถ้าเขาอยากจะมีความสุขและพึ่งตนเองได้เนี่ย 3 ปีนี้ เขาควรจะทำโครงงานอะไร ที่สัมพันธ์กับอาชีพเขา สัมพันธ์กับสถานภาพเขา สัมพันธ์กับการงาน สุขภาพของเขา จะทำอย่างไร ... เราต้องการสร้างคน เราต้องการสร้างความรู้ ต้องการสร้างระบบ ว่า 3 ปีเนี่ย เราจะทำอย่างไร จึงจะสร้างคน สร้างความรู้ สร้างระบบ สร้างคนก็คือทำให้เขารู้ว่าความพอดีพองามคืออะไร ความถูกต้องคืออะไร ไม่ใช่สับสนอย่างทุกวันนี้ สร้างวัฒนธรรม สร้างองค์ความรู้ ไม่ให้เขาเฮไปแล้วก็เฮมาอีกเพราะมันทำให้เขาเป็นหนี้ เขาจะต้องไม่วิ่งไปตามกระแส หรือถูกครอบงำอีก ทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเองได้ ทำให้พวกเขาหลุดจากวงจรอุบาทก์ของหนี้สินได้ และชุมชนต้องสร้างระบบเศรษฐกิจของตนเองขึ้นมา ซึ่ง 3 ปี ที่เขาจะเรียน ก็ล้วนแล้วแต่เพื่อให้พวกเขาจะมีเรื่องเหล่านี้  หนึ่งให้พวกเขามีความสุขจากการทำสิ่งดีๆ ได้ใช้ความรู้ใช้ปัญญาในการทำมาหากิน ให้เขามีความมั่นคง คือให้เขามีระบบเศรษฐกิจที่ทำให้เขาอยู่ในท้องถิ่นได้ เพราะฉะนั้นอยากให้อาจารย์ได้รู้ว่าที่มาของมหาวิทยาลัยชีวิตคือชุมชน และปรัชญาของมหาวิทยาลัยชีวิตคือเศรษฐกิจพอเพียง อย่าไปแยกจากกันครับ


     และภาพสุดท้ายที่ผมอยากให้ดูก็คือว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิตเนี่ย เราไม่อยากให้คนเป็นไม้ในกระถาง  ไม้ในกระถางเขารดน้ำก็สดชื่น เขาไม่รดก็เหี่ยวเฉา พึ่งตนเองไม่ได้ครับ ระบบอุปถัมป์ก็เหมือนไม้ในกระถางนี่แหล่ะ ทำอย่างไรจะให้ลูกหลานเรา ผู้เรียนของเราไม่ใช่ไม้ในกระถางแบบนี้ แต่การศึกษาจะต้องช่วยให้เขาออกจากกระถางอันนี้ ให้เขาสามารถที่จะลงดินได้ ให้เขาโตขึ้นเป็นตัวของเขาเองและพึ่งตนเองได้ ไม้ใหญ่อย่างนี้ไม่ต้องให้ใครมารดน้ำก็อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง นี่คือมหาวิทยาลัยชีวิตครับ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพวกเราเป็นหน้าที่ที่ใหญ่และก็สำคัญมากครับอาจารย์ ซึ่งผมว่าต้องอาศัยความเชื่อ ความเชื่อว่าที่นี้คือทางที่ถูกต้องอันที่หนึ่ง อันที่สองคือเราจะต้องมีความอดทนสูงมาก ทำไมเราต้องทำงานแบบนี้ให้สำเร็จครับอาจารย์ เพราะวันนี้กระแสหลักที่เป็นอยู่มันไม่ใช่เรื่องนี้ครับ มันไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง มันไม่ใช่การพึ่งตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้คนพึ่งตนเองได้ คิดได้ ตัดสินใจได้ เลือกได้ เราต้องทำงานหนักมาก และผมก็เชื่อว่าที่อาจารย์ตัดสินใจมาก็คงคิดได้ดีกระมัง เราก็จะช่วยกันทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดี แล้วก็ให้สังคมบ้านเราเปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้อง ดีกว่าทุกวันนี้ครับ .. ขอบคุณครับ

 

บันทึกเสียง : ชลียา ทองมั่ง

ภาพ/เรียบเรียงคำบรรยาย :  กิตติพัฒน์ แสงเดช 

 

 

หมายเลขบันทึก: 445247เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท