มหาวิทยาลัยชีวิต (1) : การเรียนที่ไม่แยกออกจากชีวิตและท้องถิ่น (บรรยายพิเศษโดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ)


“... มหาวิทยาลัยชีวิตเกิดขึ้นก็เพื่ออยากจะสร้างต้นแบบว่า ทำอย่างไรคนถึงจะอยู่ในท้องถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นของตนเอง ทำอย่างไรถึงจะเรียนรู้ สามารถช่วยตัวเองได้ ช่วยผู้อื่นได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดนะครับ ...”

 

 

การบรรยายพิเศษ

ในการอบรมอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ประจำวิชา และอาจารย์พิเศษ

โรงแรมแม็กซ์ เมื่อ 13 มิถุนายน 2554

โดย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ

อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

 

 

     ยินดีต้อนรับท่านเข้าสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนนะครับ โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่พวกเราร่วมกันทำมาหลายปีแล้ว นั่งอยู่นี่ก็มีคนที่ร่วมชะตากรรมกันมาหลายปี คนที่ได้ช่วยกันก่อตั้งสิ่งที่คุณหมอประเวศ วะสี เรียกว่า “การปฏิรูปการศึกษาในรอบร้อยปี” แล้วก็ศาสตราจารย์ ดร.สุนทร บุญญาธิการ เรียกว่า “นวัตกรรมระดับโลก” อันนี้คนอื่นเค้าเรียกกันถ้าเรียกตัวเองเราก็อาจะเขินหน่อย เรามีหน้าที่ทำครับเราไม่มีหน้าที่เรียก ฉะนั้นเราต้องทำให้มันเป็นจริงอย่างที่เค้าเรียก ว่าหนึ่งมันเป็นการปฏิรูปการศึกษาจริงหรือเปล่า สองว่ามันเป็นนวัตกรรมระดับโลกจริงหรือไม่ เป็นโจทย์ที่ใหญ่นะครับสำหรับเรา ผมอยากจะเรียนว่าพวกเรามาเจอกันที่นี่คงไม่ใช่โดยบังเอิญหรอกครับ ทุกคนเข้ามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้บทเรียนใดหรือ แก้ไขสถานการณ์ใด ขณะใดขณะหนึ่งทั้งนั้น ไม่มีบังเอิญหรอกครับ บางคนอาจจะบอกว่าเคยทำบุญมาด้วยกันชาติก่อนวันนี้เราถึงได้พบกัน ก็แล้วแต่จะอธิบายนะครับ ฝรั่งเค้าบอกว่า “Whoever you encounter is the right one”


     ผมก็ดีใจที่ได้พบพวกเรานะครับ หลายท่านก็ได้พบกันครั้งแรก หลายท่านก็ได้พบกันหลายครั้งแล้ว หลายปีแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดี ด้วยความรู้สึกที่ดีๆ ที่มีต่อกัน ในวันนี้ผมก็เลยอยากจะเรียนว่าวันนี้เรามาร่วมกันทำงานที่ใหญ่มาก เพราะว่างานที่เราจะทำนี้มันบังคับเราให้ทำแตกต่างจากคนอื่น คือถ้าเราทำไม่ต่างจากคนอื่น เราไม่มีเหตุผลที่จะทำเลยนะครับสถาบันแห่งนี้ ผมออกจากธรรมศาสตร์มานานละ ตั้งแต่ พ.ศ.2531 กระมัง อยู่ธรรมศาสตร์มาสิบปี ตอนออกมาก็ไม่ค่อยแน่ใจ ตอนนั้นตั้งมูลนิธิหมู่บ้านพอดี ก่อนหน้านั้นผมก็ทำงานอยู่กับชุมชน สอนมหาวิทยาลัยก็ทำงานกับชาวบ้านด้วย ไอ้ที่ไปทำงานกับชาวบ้านนี่มีความสุขครับ เพราะว่าได้ความรู้แต่ไม่ได้ปริญญา แต่พอมาทำงานกับนักศึกษาเนี่ย นักศึกษาได้ปริญญาแต่ไม่ได้ความรู้ ก็เลยหารือกับคุณหมอประเวศว่า ผมไม่อยากจะเทียวไปเทียวมาระหว่างหมู่บ้านกับมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่ว่ากำลังจะขอเป็นศาสตราจารย์เพราะผมเป็นรองศาสตราจารย์มา 5 ปีแล้ว ซึ่งเขากำหนดไว้ว่า 5 ปีจะสามารถขอเป็นศาสตราจารย์ได้ แล้วผมก็มีผลงานหลายอย่างเพียงพอ ก็เลยถามคุณหมอประเวศว่าผมควรรออีกซักปีหนึ่งแล้วถึงจะลาออกดีมั้ย คุณหมอประเวศเลยบอกว่า “เวลาตายไปแล้วไม่มีใครถามคุณหรอกว่าคุณเป็นศาตราจารย์หรือรองศาสตรจารย์” ผมก็เลยลาออกครับ ก็เลยเป็นรองศาสตราจารย์ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่มีปัญหา ก็ลาออก ก็มีคนมาแซวตอนหลังนี้ว่า ไหนคุณหมอประเวศเค้าชอบไปไหนเค้าชอบพูดว่า คุณออกมาเพราะมหาวิทยาลัยคุณตายแล้วทำไมยังจะมาทำอะไรอีก ผมก็เลยตอบไปว่า ก็เพราะมหวิทยาลัยมันตายแล้วไง ถึงต้องออกมาทำมหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต เรากำลังทำเรื่องใหญ่เรื่องมหาวิทยาลัยชีวิต เพราะจริงๆ แล้วลึกๆ เราก็รู้สึกว่ามันมีปัญหาในการศึกษาเราใช่มั้ยครับ ทุกท่านก็รู้ เราถึงมีปฏิรูปการศึกษาครั้งที่หนึ่งจนมาครั้งที่สอง เพราะว่าครั้งที่หนึ่งพอทำไปแล้วก็เหมือนว่ายังไม่ได้ทำอะไร พอมาครั้งที่สองแสดงว่าครั้งที่หนึ่งมันคงล้มเหลวกระมัง


     เรามีปัญหาในเรื่องของวิธีคิด เรามีปัญหาในเรื่องของการปฏิบัติ เรามีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ เพราะลึกๆ แล้วมันเป็นปัญหาในเรื่องของหลักคิดวิธีคิดของเรา เพราะฉะนั้นเราจะจัดการเรียนการสอนของเราแบบไหน ที่ผ่านมาเนี่ยเราเรียนกันอย่างไร เราเรียนโดยมีสถาบันนี้เป็นกรอบใช่ไหม มีระเบียบมีกฎต้องใส่เสื้อขนาดนั้นใส่กางเกงขนาดนี้เข้ามหาวิทยาลัยไหนก็เป็นกันอย่างนี้ แต่พอไปถึงตรงเนื้อหาของการศึกษาเรากลับไม่มีปัญญา คุณอภิสิทธิ์นายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมพวกชาวอุตสาหกรรมเค้าก็บ่นว่าเค้าขาดแรงงานอยู่สามแสนคน แล้วต่อมาคุณอภิสิทธิ์ก็ไปเยี่ยมพวกสภามหาวิทยาลัย แล้วพวกอาจารย์ก็บ่นว่ามีนักศึกษาที่จบแล้วตกงานอยู่สามแสนคน ก็งงดีพวกหนึ่งก็ตกงานอีกพวกหนึ่งก็ขาดแรงงาน แล้วเรียนไปแล้วเอาไปทำอะไร มันไม่ตอบสนองสิ่งที่สังคมต้องการหรืออย่างไร จึงมีคนลุกขึ้นมาทำสถาบันปัญญาวิวัฒน์เพื่อที่เค้าจะได้หาคนมาเรียน แล้วก็มาทำงาน แล้วก็ไม่ต้อเสียเงินแถมได้เงินอีกต่างหาก ซีพีไงครับ ตั้งแต่ ปวช. ถึงปริญญาโท ก็มีคนหนึ่งมาทำงานกับเรา ซึ่งผมก็ถามว่านักศึกษาเยอะไหม แกบอกว่ามีพันกว่าคน มาเรียนไม่เสียเงินแถมยังได้เงินทำไมมีแค่พันกว่าคน แกก็บอกว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่เค้าไม่อยากมาเรียนด้วยทำงานด้วย รัฐบาลให้ไปไปกู้ กยส. แล้วก็ไปอยู่หอ อยู่กับเพื่อนแล้วก็ไปเที่ยว อีกห้าวันจะสอบก็อ่านหนังสือกันอย่างเอาเป็นเอาตาย สอบเสร็จก็นอนไปอีกห้าวัน ชีวิตก็สนุกกว่าเยอะที่จะมาเรียนแล้วก็ทำงานไปด้วย เรียนรู้จากการทำงานไม่สนุก ด้วยเหตุนี้เค้าถึงต้องให้เซ็นแล้วก็กู้เงินปีละแสน พ่อแม่ก็ดีใจว่าลูกจะได้ทุนไปเรียนกรุงเทพ ได้ค่าหอ ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แถมยังมีเงินเหลือส่งให้พ่อแม่ใช้อีกต่างหาก ปีละแสน สี่ปีก็สี่แสน ตอนเรียนอยู่ก็มีแฟนอยู่คนหนึ่งที่ก็กู้มาเหมือนกันแล้วก็ไปอยู่ด้วยกันเป็นหนี้รวมกันแปดแสน นี่คือชีวิตของการศึกษา


     เราแยกชีวิตออกจากการศึกษามานานจนกระทั่งเราจะไปว่าเด็กมันได้อย่างไรครับ ผมไม่โทษเด็กนะ แล้วผมก็ไม่โทษเด็กว่าทำไมเค้าถึงออกจากหมู่บ้านแล้วก็ไม่หันหลังกลับบ้านอีก ไม่ภูมิใจในรากเหง้า ไม่ภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิด เค้าไม่ภูมิใจก็เพราะว่าเค้าไม่อยากอยู่เพราะว่าถ้าเค้าอยู่เค้าก็อดตาย แล้ววันนี้ผู้ใหญ่เราก็ไม่ได้ช่วยให้หมู่บ้านมันน่าอยู่ ไม่ได้ช่วยให้หมู่บ้านเอาตัวรอดได้ ไม่ให้อดตาย มหาวิทยาลัยชีวิตเกิดขึ้นก็เพื่ออยากจะสร้างต้นแบบว่าทำอย่างไรคนถึงจะอยู่ในท้องถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรี และมีกินในท้องถิ่นของตนเอง ทำอย่างไรถึงจะเรียนรู้ สามารถช่วยตัวเองได้ ช่วยผู้อื่นได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดนะครับ เราอยากจะให้คนเรียนแล้วได้นาเหมือนคุณจรัญ ที่เรียนมหาวิทยาลัยชีวิตอยู่ที่สะตึ คุณจรัญเรียนอย่างไรถึงได้นา อยู่กรุงเทพยี่สิบปีไม่ได้อะไรเลยกลับไปบ้านก็ไปขายอาหาร ขายอาหารก็ขายดี เงินก็ได้เยอะแต่ไม่มีเงินเก็บเพราะอยู่อย่างไม่มีเป้าหมายไม่มีแบบไม่มีแผน อยากกินอะไรก็กิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ มาเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตต้องจัดชีวิตของตนเองใหม่ จัดระเบียบใหม่ ทำอย่างไรตัวเองถึงจะรู้ว่ามี่เป้าหมายชีวิตอะไรบ้าง มีแผนชีวิตอย่างไร มีแผนอาชีพอย่างไร แผนการเงิน แผนสุขภาพอะไร จึงมีเงินออมไง แล้วก็วันหนึ่งก็ซื้อนาได้แปลงหนึ่งสามไร่ ผมไปไหนผมก็เอารูปของคุณจรัญให้คนดู ผมว่ามันแปลกดีที่คนเรียนแล้วได้นาเพราะเราเห็นแต่คนเรียนแล้วเสียนาเสียควาย พ่อแม่ขายวัวขายควายให้ลูกเรียน ทำอย่างไรเราถึจะทำให้การเรียนของเรามันเปลี่ยนจากการเอาวิชาเป็นตัวตั้งมาเป็นเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรคนเรียนแล้วชีวิตจึงจะดีขึ้น ไม่ใช่ยิ่งเรียนยิ่งเครียด ยิ่งเรียนแล้วยิ่งเป็นหนี้


     การศึกษาอะไรกันถึงทำให้คนเรียนแล้วมีทุกข์มากขึ้น แทนที่จะเป็นการศึกษาเพื่อความเป็นไทใช่มั้ยครับ ที่เราชอบพูดกันเป็นความฝันเป็นอุดมคติ แต่เอาจริงๆ มันไม่ใช่ เรียนอย่างไรถึงทำให้คนเป็นทุกข์รู้สึกว่าเราชำนาญมาก เราไม่เคยช่วยให้คนเรียนแล้วมีความสุขมากขึ้น ทำให้คนสุขภาพดีมากขึ้น ตรงกันข้ามเรียนแล้วต้องกินยาลดความดันลดความเครียดเป็นโรคกระเพาะเป็นโรคเครียด ทำอย่างไรเราถึงจะเรียนมากแต่สอนน้อย ทำอย่างไรจะให้มีโรงเรียนมากกว่าโรงสอน ทำอย่างไรเราจึงจะดึงคนให้จัดกระบวนการเรียนรู้แทนที่จะเป็นคนไปสอนๆ แล้วก็สอบ ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้เกิดสิ่งนี้ อุดมคติของเราก็คือว่าเราอยากเปลี่ยนการเรียนหนังสือ มาเป็นการเรียนที่ทำห้รู้ว่าชีวิตของเขาจะไปไหน ให้รู้เป้าหมายชีวิตของเขา รู้วิธีจัดการชีวิตของเขา เป็นอุมคติที่ผมไม่คิดว่าเป็นคำใหม่ หรือเรื่องใหม่ แต่ที่มันจะใหม่ก็คือเราเอาลงไปปฏิบัติให้มันได้จริง ในห้าหกปีที่ผ่านมาเค้าก็พยายามทำสิ่งนี้แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะว่าเราที่จะทำหลักสูตรแล้วก็นำไปเสนอมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ทำ โดยที่เราไม่มีสิทธิเหมือนไปปลูกบ้านในที่ดินของเพื่อน แล้ววันหนึ่งเพื่อนก็บอกว่าขอบคุณมาก แต่ว่าที่ดินนี้ที่ดินผมอย่าเข้ามานะ เราก็ซวย อุตสาห์ทำหลักสูตรเสียดีเลยนะผ่านสภามหาวิทยาลัยเค้าเรียบร้อย วันดีคืนดีเค้าก็ให้เราเป็นอาจารย์พิเศษถ้าเชิญมาเมื่อไหร่ก็ไป ไม่เชิญมาเราก็ไม่ไป คือเราไม่สามารถที่จะจัดการอย่างนี้ อย่างนี้ก็คือว่าเราไม่สามารถที่จะจัดการเรียนรู้ให้กับอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่เราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ทำแบบเดิม ทำแบบใหม่ มีโอกาสน้อยมาก หรือผู้บริหารก็ไม่ได้ให้ความสนใจให้การสนับสนุนอะไรเต็มที่ อาจารย์ก็เลยมาเซ็นแล้วก็ไป ไปแล้วก็จบ มีอยู่ไม่กี่คนที่มาผ่านกระบวนการเรียนรู้วันเดียว ครึ่งวัน จะคุยกันอย่างไรครึ่งวัน สวัสดีครับลาก่อนก็จบแล้ว ฉะนั้นเราถึงต้องใช้เวลาสี่วันครับอาจารย์ และเราอยากจะทำทุกเทอม ได้เห็นหน้ากันจนเบื่อแน่ครับ

(มีต่อ)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 445238เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท