สมอง กับ พระพุทธศาสนา : ทานบารมี


สืบเนื่องจากบันทึกเรื่อง 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๘๑. สมองกับศาสนา

  โดย Prof. Vicharn Panich

 

 


 

 

สำหรับประเด็นในเรื่องนี้ หากมีท่านผู้ใดสนใจที่จะศึกษา ค้นคว้า วิจัยเพิ่มเติมเพื่อ “ต่อยอด” ข้าพเจ้าก็ขอให้คำนึงถึงปัจจัยหลักที่ทางพระพุทธศาสนาบัญญัติไว้ดังนี้

ก่อนอื่นข้าพเจ้าจะขอแบ่งกลุ่มของบุคคลออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. บุคคลทั่วไป คือ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ถือศีล ปฏิบัติธรรม
2. นักบวชในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วก็จะมีการแบ่งออกเป็น นักบวชฝ่ายมหานิกาย และฝ่ายธรรมยุตินิกาย

ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีหลักซึ่งเป็นปัจจัยในการกำหนดวิถีชีวิต กล่าวคือ
กลุ่มที่ 1 บุคคลทั่วไป จะใช้หลัก “ทาน ศีล ภาวนา”  (ทาน ศีล ภาวนา
โดยท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ http://www.baanjomyut.com/10000sword/tan_sin_pawana/index.html)

กลุ่มที่ 2 นักบวชในบวรพระพุทธศาสนา ใช้หลัก “ศีล สมาธิ และ ปัญญา”

ดังนั้นจากความบทเรื่อง ที่ศึกษากับบุคคลทั่วไปนั้น ถ้าหากเราจะศึกษาเพื่อชี้ชัดลงไปว่า บุคคลที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่าพุทธศาสนิกชนนั้น มีความแตกต่างกันหรือว่าสำหรับคนที่ “ภาวนา” กับ “ไม่ได้ภาวนา” ซึ่งจะให้ชัดเจนลงไปได้ถ้าหากเรากำหนดปัจจัยเรื่อง “ทาน” และ “ศีล” ให้ชัดเจน

เพราะลำดับขั้นของบันไดที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้คือ 1คือ ทาน 2 คือ ศีล และ 3 คือการภาวนา
ในบทความการวิจัยนั้นพูดถึงเรื่องของการ “ภาวนา” ซึ่งเป็นบันไดขั้นที่ 3 โดยไม่ชี้ชัดลงไปว่า กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาวิจัยนั้น ทำทานกันไหม ทำทานอย่างไร รักษาศีล 5 ศีลอุโบสถ หรือมีศีลขาดด่างพร้อยแค่ไหน แต่กระโดดข้ามไปวิเคราะห์วิจัยถึงเรื่อง สมองที่มีผลเกี่ยวข้องกับการ “ภาวนา”

ดังนั้น ถ้าหากจะวิจัยต่อ เราก็จะต้องกำหนดปัจจัยในเรื่องที่  1 คือ “ทาน” ให้ชัดเจน กล่าวคือ
เราต้องไปกำหนดตัวอย่างประชากรให้ชัดเจนว่า
1. กลุ่มใด ทำ “ทาน” กับใคร
เพราะลำดับขั้นของการทำทานนั้น จะเริ่มต้นตั้งแต่การทำทานกับ “สัตว์เดรัจฉาน”  โดยมีลำดับขั้น ดังนี้
บุญที่มนุษย์สามารถทําให้ได้ผลสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสว่า...
1) ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าทำทานกับคนไม่มีศีลแม้เพียงครั้งเดียว
2) ทำทานกับคนไม่มีศีล 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าทำทานกับผู้มีศีล 5 แม้เพียงครั้งเดียว
3) ให้ทานผู้มีศีล 5 มากถึง 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าให้ทานผู้มีศีล 8 แม้เพียงครั้งเดียว
4) ให้ทานผู้มีศีล 8 มากถึง 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานผู้มีศีล 10 แม้เพียงครั้งเดียว
5) ถวายทานผู้มีศีล 10 มากถึง 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานแด่สมมุติสงฆ์แม้เพียงครั้งเดียว
6) ถวายทานแด่สมมติสงฆ์ 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานแก่พระโสดาบันแม้เพียงครั้งเดียว
7) ถวายทานแด่พระโสดาบัน 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้เพียงครั้งเดียว
8) ถวายทานพระสกิทาคามี 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานพระอานาคามีแม้เพียงครั้งเดียว
9) ถวายทานพระอนาคามี 100 ครั้ง ผลบุญยังน้อยกว่าถวายทานให้พระอรหันต์ แม้เพียงครั้งเดียว
10) ถวายทานแก่พระอรหันต์ 100 ครั้ง ผลบุญยังได้น้อยกว่าถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้เพียงครั้งเดียว
11) ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า 100 ครั้ง ผลบุญยังได้น้อยกว่าถวายทานแด่พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพียงครั้งเดียว
12) ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 100 ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายเพียงครั้งเดียว
13) ถวายสังฆทานที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน 100 ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าถวายวิหารทานครั้งเดียว
14) ถวายวิหารทาน 100 หลัง ยังได้บุญน้อยกว่าให้ธรรมทานครั้งเดียว
15) ให้ธรรมทาน 100 ครั้ง ยังได้บุญน้อยกว่าการให้อภัยทานครั้งเดียว
16) อภัยทาน 100 ครั้ง บุญยังน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้เพียงครั้งเดียว
17) ถือศีล 5 มากถึง 100 ครั้ง บุญยังน้อยกว่าถือศีล 8 แม้เพียงครั้งเดียว
18) ถือศีล 8 มากถึง 100 ครั้ง บุญยังน้อยกว่าการถือศีล 10 ครั้งเดียว ( ถือศีล 10 คือบวชเป็นสามเณร)
19) บวชเป็นสามเณร รักษาศีลไม่ด่างพร้อย 100 ปี บุญยังน้อยกว่าผู้อุปสมบทเป็นพระ แม้บวชเพียงวันเดียว

พระพุทธเจ้าตรัสในเบื้องปลายว่า

“แม้จะได้อุปสมบทเป็นภิกษุ รักษาศีลครบ 227 ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อย 100 ปี บุญกุศลยังน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิให้จิตสงบ(ฌาน) แม้นานเพียงไก่กระพือปีก”

…….“ผู้ใดเข้าฌาน นาน 100 ปีและไม่เสื่อม บุญยังน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มาจากการปรุงแต่ง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตก็ตาม” (http://board.palungjit.com/archive/t-90771.html)

 


ดังนั้น ถ้าหากจะชี้ให้ชัดแจ้งในเรื่องของสมองกับการเจริญจิตภาวนาทางพระพุทธศาสนาแล้ว ผู้วิจัยจะต้องชี้ชัดในเรื่องของ “ทาน” ให้ชัดเจน แจ่มแจ้ง เพราะเรื่องทานเป็นเสมือนบันไดก้าวแรกที่จะก้าวไปสู่ขั้นของการ “รักษาศีล” และ สุดท้ายจึงจะได้รับอานิสงส์ของการ “ภาวนา”

จากประสบการณ์ ในการให้ทานแต่ละครั้ง มิใช่จะได้บุญแต่เฉพาะขณะให้ ถ้าหากทานที่เราให้ไปแล้วนั้น อยู่ในมือหรืออยู่ในการบริหารของผู้มีศีลดี ธรรมงาม เราก็สามารถชื่นชมกับธรรมนั้นได้ทุก ๆ ครั้งที่เราสัมผัส

และการชื่นชมกับทานที่เราให้ได้ ทำให้จิตใจเราเป็น “สุข” ซึ่งสุขนั้นเองเรารู้จักกันในชื่อของ “บุญ”
ดังนั้น ถ้าหากเราทำทานถวายต่อพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบครั้งเดียว เราก็เกิดความปีติได้เป็นร้อย ๆ ครั้ง
ความสุขที่เกิดขึ้นนั้นถ้าสังเกตุคร่าว ๆ เราจะรู้สึก “สบายใจ” ถ้าสังเกตลึกลงไป ทุก ๆ ครั้งที่มีความสุข ลมหายใจเราจะ “ยาว” ขึ้น หรือบางครั้งถึงกับถอนลมหายใจออกมาอย่างลึก ๆ
และหายใจยาว ๆ นี้เองมีผลส่งตรงถึง “สมอง” เพราะสมองได้รับอ๊อกซิเจนอย่างเพียงพอ
ดังนั้น ถ้าหากเราปีติบ่อย สุขบ่อยก็ย่อมมีผลต่อ “สมอง” นั่นเอง


ซึ่งจะมีผลเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาของสมอง อันจะสามารถนำมาพิสูจน์ความเกี่ยวข้องตามสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งไว้ว่า การตั้งสมาธิภาวนาเป็นปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการสมองนั้นหรือไม่...

แต่ถ้าหากวิจัยแบบ “กำปั้นทุบดิน” คือวิจัยแต่เฉพาะคนที่มานั่งสมาธิอย่างเดียวนั้นถือว่าไม่ถูกต้องตามลำดับขั้นการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา

เพราะคนในปัจจุบันมองข้ามเรื่องทาน เรื่องศีล มาถึงก็ “นั่งภาวนา เดินภาวนา ยืนภาวนา นอนภาวนา” แล้วก็เรียกตนเองว่าเป็น “นักภาวนา”

 

 

2. ระยะเวลาในการให้ “ทาน”
ความถี่ ความห่างเป็นปัจจัยที่จะต้องคำนึงถึง ละเว้นไม่ได้ เราต้องดูให้ชัดเจนว่ากลุ่มตัวอย่างที่เราศึกษาให้ทานเป็นประจำ เป็นบางครั้ง สัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง ปีละครั้ง หรือชาติละครั้ง

การให้ทานก็เหมือนกับเราหยอดเหรียญใส่ลงในกระปุกออมสิน แต่เหรียญนี้เป็นเหรียญแห่งความสุข ความสุขที่ได้จากการให้และการเสียสละนั้นยิ่งใหญ่กว่าความสุขที่นำเงินไปซื้อหามา

ฉะนั้นคนที่ให้บ่อย ย่อมสุขบ่อย คนที่ให้เป็นประจำย่อมสุขอย่างต่อเนื่อง
คนที่ใช้ไส้สองอันสีกันจนเกิดความร้อน ถ้าสีไปเรื่อย ๆ สีช้า ๆ แต่ไม่หยุด ความร้อนก็มีสะสมอยู่ในเนื้อไม้เสมอ จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่งความร้อน ๆ ก็จะติดและลุกเป็นไฟ
แต่บุคคลใดเร่งสี สีแรงมาก สีไปสีมา เหนื่อยแล้วก็หยุด บุคคลคนนั้นย่อมไม่มีทางได้ผลสัมฤทธิ์คือไม่มีทางทำให้ไม้นั้นติดไฟได้ เพราะความร้อนสะสมนั้นหมดไป มาสีทีไรก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง

ดังนั้น การพัฒนาของสมองที่เกิดขึ้นจากหลักเบื้องต้น คือ การทำทานนั้นจะต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องความถี่ห่างให้ละเอียด ถี่ถ้วน เพื่อให้ผลการวิจัยที่พูดถึงเรื่องการ “ภาวนา” นั้น ถูก เที่ยง ตรงและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

 


ปัจจัยที่สอง เรื่องของ “ศีล” จะนำเสนอในบันทึกถัดไป...

 



 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.... “ศีลเป็นพื้นฐาน” เป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพไม่ได้ เป็นต้นว่า พฤกษาลดาวัลย์ มหาสิงขร และสัตว์จตุบท ทวิบาทนานาชนิด

บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้น ใจย่อมอยู่สบาย มีจิตปลอดโปร่ง เหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาด เช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเลือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ คือความสงบใจ
สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
“บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ” เหมือนเรือนที่ฝาผนัง มีประตูหน้าต่าง ปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับกันลม แดด และฝน
ผู้ที่อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น “ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวาย”

เมื่อลมแดดและฝน กล่าวคือ โลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดซาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า
สมาธิอย่างนี้ย่อมทำก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟัน ย่ำยี และเชือดเฉือนกิเลส อาสวะต่าง ๆ ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาสตราอันคมกริบแล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้นย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่ กำจัดความมืดให้ปราสนากานต์ มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย “ปัญญาจึงเป็นประดุจประทีปแห่งดวงใจ…”

อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด “ศีล สมาธิ และปัญญาเป็นเครื่องฟอกจิตให้ขาวดังเดิม” จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีลสมาธิและปัญญาย่อมหลุดจากอาสวะทั้งปวง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย... บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ย่อมพบกับปิติ ปราโมทย์อันใหญ่หลวง รู้สึกว่าตนได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบเทียบไม่ได้ อิ่มอาบซาบซ่านด้วยธรรม ตนของตนเองนั้นแลเป็นผู้รู้ว่า... บัดนี้กิเลสานุศัยต่าง ๆ ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลซึ่งตัดแขนขาดย่อมรู้ว่า... บัดนี้แขนของตนเองได้ขาดแล้ว (พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน)

พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน : ศีล สมาธิ ปัญญา

หมายเลขบันทึก: 447822เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ งานวิจัยพึงให้รอบคอบและทบทวนวรรณกรรมอย่างรอบด้านก่อนออกแบบการวิจัย เพราะจากตัวอย่างงานวิจัยที่ได้เข้าไปอ่านมีจุดแข็งเพียงแค่ประมาณ10 %. เท่านั้น จริงๆ แล้วงานวิจัยในลักษณะสมอง การเรียนรู้ ศาสนา และการปฏิบัติธรรมมีออกมาอย่างลึกซึ้งอยู่หลายเรื่องมากเหมือนกัน งานวิจัยดังที่ว่าน่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ของการค้นพบ แต่ก็อาจเป็นงานที่สะท้อนถึงความยังไม่รอบด้านในศาสตร์ที่ศึกษาหรือเปล่าไม่แน่ใจค่ะ...

การวิจัยที่ไม่รอบคอบ จากสถาบัน จากคณะ จากบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะจากต่างประเทศนั้น บางครั้งก็ส่วนชี้นำสังคมและชี้นำ "ความเชื่อ" ของบุคคลได้

อย่างเช่นงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ถ้าหากสรุปแบบง่าย ๆ เบื้องต้น ตามความเข้าใจ ของคนที่อ่านคร่าว ๆ ก็สรุปได้ง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า"

คนปฏิบัติธรรมมีโอกาส "โง่" กว่าคนทั่วไป..

หรือถ้าพูดให้ไปวิชาการหน่อย ก็บอกว่า การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา (นิยามศัพท์เฉพาะ : การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาคือ การให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา) มีผลต่อสมองในส่วนของความจำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

คือ ถ้าไปปฏิบัติกิจกรรมทั้งศาสนาทั้งสิ้นทั้งปวง (ความหมายกว้างจริง ๆ) ทำให้สมองส่วน hippocampus ฝ่อ  ซึ่งจะมีผลอารมณ์และความทรงจำ

ถ้าคนที่เห็นพ่อเห็นแม่เป็นอัลไซเมอร์ แล้วพ่อแม่เขาไปทำบุญ ทำทาน ไหว้พระสวดมนต์บ้าง หรือบ่อย ๆ ก็จะถูกเหมารวมว่า "การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา เป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ของเขาเป็นอัลไซเมอร์"

การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ น่าเชื่อถือมาก ๆ ในสายตาคนทั่วไป

แต่การสำรวจวิจัยโดยปัจจัยวิเคราะห์อย่างไม่ถี่ถ้วนนั้นส่งผลดีมากกว่าผลร้าย

ที่ข้าพเจ้านำเสนอเรื่องนี้ ก็มุ่งเล็งเห็นประโยชน์ในการที่จะมีบุคคล หรือคณะฯ บุคคลจะทำการศึกษาวิจัยต่อให้ครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านศาสนา ที่จะต้องพิจารณาเรื่อง "ทาน ศีล ภาวนา" สำหรับบุคคลทั่วไป และ ปัจจัยในเรื่องของ "ศีล สมาธิ ปัญญา" สำหรับนักบวชและผู้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น ข้าพเจ้าขอสรุปสมมติฐานเพิ่มเติมขึ้นมาเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ

ในส่วนเบื้องต้น ถ้าหากจะวิเคราะห์ออกมาทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็จะต้องแบ่งปัจจัยออกเป็น 2 ตัวคือ "ทาน" และ "ศีล"

ซึ่งจะต้องกำหนดสมมติฐานให้ชัดเจน

คือ 1. การให้ทานทำให้สมองส่วน  hippocampus ฝ่อ   

2. การรักษาศีลทำให้สมองส่วน  hippocampus ฝ่อ   

จากนั้นจึงทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อว่า สมองส่วน  hippocampus ฝ่อ   ของผู้ที่ให้ทานและรักษาศีลนั้นมีผลต่ออารมณ์และความทรงจำ

เพราะจะเชื่อมโยงถึงสมมติฐานในเบื้องปลายที่สำคัญก็คือ การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอยู่ในระดับของ "จิตวิญญาณ" ดังนั้น ซึ่งจะแยกกันอย่างชี้ชัดว่า ความรู้ ความจำทาง "กายภาพ" คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากสมอง (ซึ่งทางพุทธศาสนาแยกออกเป็น 2 ตัวคือ สุตตมยปัญญากับจินตนามยปัญญา) กับความรู้ ความจำทาง "จิตวิญญาณ" คือ ในขณะที่จิตว่าง (ภาวนามยปัญญา) ซึ่งจะสามารถลงลึกไปถึงขั้นของ "ญาณ" อารมณ์หรือความจำที่เกิดขึ้น เกิดมีนั้น เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง...

ซึ่งจะต้องกำหนดปัจจัยของกลุ่มตัวอย่างแต่ละตัวให้ชัดเจน โดยจะหลักใช้ 5 W 1 H มาแยกออกเลยก็ได้คือ What Where When Whom How ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ต้องนำมาวิเคราะห์ทุกตัว

โดยเฉพาะในเรื่องของศีล ต้องเริ่มตั้งแต่ผู้รักษาศีล 5 ต่อมาคือผู้รักษาศีล 8 หรือศีลอุโบสถ ศึกษาเรื่อยไปถึงสามเณรศีล 10 พระภิกษุศีล 227 จนถึงระดับของพระอริยเจ้า (ถ้าท่านเมตตาให้ศึกษาวิจัย) เพราะระดับอารมณ์ของบุคคลที่รักษาศีลในแต่ละดับต่างหากราวฟ้ากับเหว

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น บุคคลรักษาศีล 5 กับศีล 8 ในศีลข้อหนึ่งที่ผู้รักษาศีล 8 จะยกเว้นการดูหนัง ดูละคร การละเล่น ฟ้อนรำ

บุคคลผู้รักษาศีล 8 นั้น จะไม่ต้องเครียดกับข่าวสารบ้านเมือง ไม่มีอารมณ์คล้อยตามละครรัก ๆ เศร้า ๆ หรือไม่ต้องผจญกับฉากสงครามแอ๊คชั่นที่ยิงกันเลือดท่วมจอ

อาทิ จากการที่ข้าพเจ้าเคยสังเกตตนเอง หากวันใดดูหนังสงคราม หรือหนังที่มีการฆ่าแกงกันในช่วงกลางคืน ก่อนนอน วันนั้นสมองจะตึงเครียดมาก ซึ่งส่งผลต่อการพักผ่อนหลับนอน ซึ่งจะมีผลต่อคนที่ดูหนังทุกวัน ดูละครทุกวัน ฟังข่าวบ้านเมืองเครียด ๆ ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยแน่นอนว่าสิ่งทั้งหมดนี้ไป "ยำ" รวมกันอยู่ใน "สมอง" 

หรือแม้กระทั่ง คนที่รักษาศีล 8 อยู่บ้าน กับคนที่มารักษาศีลอุโบสถที่วัด หรือสถานปฏิบัติ แม้เพียงชั่วข้ามคืนนึง อานิสงส์ที่ได้ก็แตกต่างกัน

จากนั้น ยังต้องดูประวัติต่อไปอีกว่า การดำรงชีพ การทำมาหากินในช่วงระยะเวลาก่อนที่จะมาเริ่มปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนานั้น เขาทำอะไรมาบ้าง

เคยติดยาเสพติดไหม กินเหล้า สูบบุหรี่จัดขนาดไหน เพราะยาเสพติดมีผลโดยตรงต่อสมอง

หรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพ ต้องดูอาชีพที่เขาทำมาตลอดชั่วชีวิต หรืออาจจะทำอาชีพนั้นอยู่ว่าเป็น "สัมมาอาชีพ" ไหม เป็นอาชีพที่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขายเนื้อสัตว์ เป็นอาชีพที่ต้องทรัพย์ รวมถึงฉ้อโกง คอรัปชั่น เป็นอาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องการกามรมณ์ หรือต้องโกหกพกลมเป็นประจำ เป็นอาชีพที่ขายเครื่องดื่มมึนเมาไหม เปิดร้านอาหาร เปิดผับ คาเฟ่ คาราโอเกะ หรือเปล่า ฯลฯ

เรื่องเหล่านี้ละเอียดอ่อนมากเพราะเป็นเรื่องของ "กรรม"

ต้องจำไว้เสมอว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว"

เราจะคิดดี คิดชั่ว พูดดี พูดชั่ว ทำดี ทำชั่ว ทุกอย่างส่งผลกับ "จิตและกาย"

การคิด อย่าประมาทว่าจะไม่ให้ผล เพราะทั้งการคิดดี คิดชั่วสมองต้องทำงาน แต่คนที่ปฏิบัติธรรมจะละเว้นการคิด การจินตนาการ จะเจริญสติอยู่กับปัจจุบัน แค่นี้ก็ตัดปัญหาเรื่องการทำงานของสมองไปได้มากโข

อาทิ จากการที่ข้าพเจ้าสังเกตตนเอง ครั้งเมื่อเริ่มหลับตา เจริญสมาธิภาวนาในสองสามลมหายใจแรก ก็จะรู้สึกทันทีว่า ลักษณะของผิวหนังตั้งแต่เหนือคิ้วขึ้นไปผ่อนคลายลง

คิ้วที่ตึงหรือขมวดโดยไม่รู้ตัว ผ่อนคลาย เมื่อคิ้วคลาย เส้นที่ต่อไปถึงขมับก็คลายตาม ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังบริเวณศรีษะลดความตึงลงมาอย่างมาก

และถ้าหากทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน ทำเป็นประจำ ความเจ็บป่วยที่ข้าพเจ้าเป็นบ่อย ๆ คือ อาการปวดขมับด้านซ้าย จะไม่มารบกวน

แต่ถ้าหากช่วงใดละเว้นจากการนั่งสมาธิภาวนา ไม่นานประมาณ 3 วัน อาการไมเกรน คือ การปวดขมับข้างซ้ายอย่างรุนแรง จะเข้ามาเยี่ยมเยือน จนบางครั้งถึงกับต้องอาเจียนออกมา

แต่ก็มีวิธีการรักษาเบื้องต้นทางกายภาพ ที่คุณหมอหวล สังพรามหณ์ เคยให้ความรู้กับข้าพเจ้าไว้ คือ ให้คลายเส้นตรงต้นคอ โดยการก้มคอลงแล้วนวดเขี่ยเส้นออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นก็นวดศรีษะให้ทั่ว โดยให้หัวนิ้วโป้งนวดออกไปทั้ง 4 ทิศ 4 ทาง จากนั้นมากดที่หว่างคิ้วและบริเวณขมับ ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวจากไมเกรนเบื้องต้นได้

แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปเจริญสติภาวนาจึงจะสลัดอาการปวดหัวนั้นได้อย่างแท้จริง

ทุกอย่าง ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามหลักของพุทธศาสนานั้น มีผลต่อทั้งกายและจิต

ผู้ที่ศึกษาวิจัยจะต้องกำหนดปัจจัยให้รอบคอบ

ถ้าหากจะทำหวังแต่ปริญญาหรือหน้าตาแล้ว ก็พึงละเว้นเสีย เพราะกรรม คือ การกระทำที่ชี้นำให้ผู้อื่นนั้นละเว้น ยกเลิก การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่กรรมที่ธรรมดาเลย...

ฝรั่งมักเข้าใจว่า จิตกับสมอง เป็นอันเดียวกัน การนั่งสมาธิเข้าถึงฌาณคือการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่สมอง แล้วก็มีงานวิจัยที่บอกว่าไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ เพราะเรามียามาขาย เสพเข้าไปแล้วมีอาการเหมือนเข้าฌาณเลย

กระบวนการที่เรียกว่างานวิจัย ที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นได้แค่สมมุติสัจจะ(การทดสอบสมมุติฐาน)เท่านั้น ไม่ได้เข้าใกล้ ปรมัตถสัจจะในคำสอนของพระพุทธศาสนาเลย

ถ้าเราไม่สามารถแยกจิตกับสมองออกได้ เราก็บ้าความคิดไปเรื่อยๆ เหมือนที่ฝรั่งพาเราบ้า งานวิจัยศาสนาที่ใช้สมอง ผิดตั้งแต่ต้นแล้วครับ

คำสอนทางพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่กลัวต่อการ "พิสูจน์"

แต่การที่จะพิสูจน์นั้นจะต้องละเอียด ถี่ถ้วน รอบคอบ และเป็นไปตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้

คำสอน หลักการที่พระพุทธองค์ทรงบอกไว้เมื่อกว่า 2500 ปี ไม่เคยล้าสมัย เป็นทองแท้ที่ไม่กลัวไฟ และกล้าท้าทายให้นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ามา "พิสูจน์..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท