เตรียมตัวสู่อาเซียน ตอนที่ 4 "อาเซียน 3 เสาหลัก"


3 เสาหลักของอาเซียน

 

ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)

           ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือ 3 เสาหลัก คือ

           1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Communit) หรือ APSC

           2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC

           3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community) หรือ ASCC

             1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน(ASEAN Political and Security Community)  หรือ APSC

           มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของ ภูมิภาค เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสามารถแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งโดยสันติวิธี อาเซียนจึงได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Blueprint) โดยเน้นใน 3 ประการ คือ    

                        1) การมีกฎเกณฑ์และค่านิยมร่วมกัน ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะร่วมกันทำเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างของประเทศสมาชิก ส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หลักการประชาธิปไตย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การต่อต้านการทจริต การส่งเสริมหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล เป็นต้น

                        2) ส่งเสริมความสงบสุขและรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาความมั่นคงสำหรับประชาชน ที่ครอบคลุมในทุกด้าน ครอบคลุมความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในรูปแบบเดิม มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการระงับข้อพิพาท โดยสันติเพื่อป้องกันสงครามและให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ด้วยกันโดยสงบสุข และไม่มีความหวาดระแวง และขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและจัดการภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ

                        3) การมีพลวัตและปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพื่อเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น กรอบอาเซียน+3  ซึ่งหมายถึงเพิ่ม จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)  เข้ามา และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับมิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ

           2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Political-Security Community) AEC

                 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตเดียวกันและมีการ เคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน  เงินทุน  และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี อาเซียนได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งเป็นแผนงานบูรณาการการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ 4 ด้าน คือ

                     1) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base) โดยจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น

                     2) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน)

                    3) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่าง ๆ

                    4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน

            3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community) ASCC

                อาเซียนได้ตั้งเป้าเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2558 โดยมุ่งหวังเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อ   ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน(ASEAN Identity)เพื่อรองรับการเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint)ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือใน 6 ด้าน ได้แก่

                 1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

                 2) การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

                 3) สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม

                 4) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

                 5) การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

                 6) การลดช่องว่างทางการพัฒนา

              หากจะนำเอาอาเซียนไปเปรียบเทียบกับจีนและอินเดียซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

              ต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ อินเดียเป็นเจ้าแห่งคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมต่าง ๆ ถึงขนาดมีการสอนวิชาเขียนโปรแกรมให้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยม โลกทุกวันนี้ไม่ได้กลมอย่างที่เราเคยเรียนและเข้าใจมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เป็นเด็ก  แต่โลกได้แบนราบไร้พรมแดนด้วยวิวัฒนาการสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีของ Internet ข่าวสารสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ภายในไม่กี่วินาที เศรษฐกิจของอินเดียมีการพัฒนาแบบก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเมื่อปี พ.ศ.2534 และต่อมา พ.ศ.2543 ยังได้เปิดเสรีทางคมนาคมและการสื่อสาร จากนโยบายการพัฒนาประเทศทั้งสองด้าน ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

             ส่วนประเทศจีน ต้องยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมยาวนานมานับพัน ๆ ปี จะเห็นได้จากกำแพงเมืองจีนที่ยาวถึง 6,350 กิโลเมตร หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์จิ๋นซีฮ่องเต้ หรือกว่า 2,500 ปีมาแล้ว เป็นสิ่งเดียวในพื้นผิวโลกที่นักบินอวกาศสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จีนยังเป็นชาติแรกที่คิดผลิต ดินปืน การพิมพ์ และเข็มทิศซึ่งจีนรู้จักใช้เข็มทิศก่อนฝรั่งเป็นเวลาร่วมร้อยปี ซินแสใช้เข็มทิศในการดูหวงจุ้ย กัปตันเรือใช้เข็มทิศในช่วง ศตวรรษที่ 9-10 เป็นเข็มทิศแม่แหล็กที่ปล่อยให้ลอยในถ้วยที่มีน้ำ (Needham, Joseph. Science and Civilization in China. 24vols. Cambrideg: Cambridge University Press, 1954-2004) อันเป็นคุณประโยชน์แก่โลกตราบเท่าทุกวันนี้ ประกอบกับในอดีตที่ผ่านมาจีนเคยปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ประชาชนอยู่อย่างอดยาก แร้งแค้นและต้องทำงานหนักโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ผลผลิตจะต้องนำส่งเข้ารัฐหมด จากปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุหล่อหลอมให้อุปนิสัยของคนจีนส่วนใหญ่มีความขยัน อดทน ประหยัด มีวินัยในการใช้ชีวิต มีความจงรักภักดีต่อบรรพบุรุษ  

           ทุกวันนี้นับตั้งแต่จีนได้เปิดประเทศติดต่อกับโลกภายนอก เศรษฐกิจจีนได้ก้าวกระโดด ผงาดขึ้นมาและในอนาคตอันใกล้นี้ จีนจะเป็นผู้กุมอำนาจฐานเศรษฐกิจของโลก ส่วนทางด้านยุโรปและสหรัฐอเมริกาต้องถึงคราวล่มสลาย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่โดยพิษเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ และภัยพิบัติธรรมชาติกระหน่ำซ้ำเติม ปัจจุบันนี้คนอเมริกันมากกว่า 15 คนต้องตกงาน บ้านและอสังหาริมทรัพย์มีราคาตกต่ำมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจของจีน ที่ได้ชื่อว่า "มังกร" 

           นักธุรกิจจีนรุ่นใหม่ มักประสบผลสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยและส่วนใหญ่เป็นพวกยากจนมาก่อน ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ได้สั่งสมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ จนประสบผลสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนพวกที่มีการศึกษาสูง ต้องมาเป็นลูกจ้างหรือที่ปรึกษาให้กับนักธุรกิจเหล่านี้ ในอดีตจีนเคยเป็นคอมมิวนิสต์และปิดประเทศมายาวนาน แต่เมื่อปี ค.ศ.1978 เปิดประเทศเป็นครั้งแรก มังกรที่ตื่นจากหลับไหล มายาวนาน ได้แหวกม่านไม้ไผ่ติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้คนทั่วโลกต้องตะลึงเมื่อมังกรผงาด

            หากประเทศไทยคิดจะเป็นผู้นำอาเซียน ควรสร้างสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศจีน ศึกษาแนวคิด ปรัชญา การเจรจาธุรกิจในสไตล์คนจีน ใช้โอกาสที่ไทยเคยมีสัมพันธ์อันดีกับชาติจีนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจของไทยที่จะเติบโดไปข้างหน้า  และก้าวเป็น........ "ผู้นำอาเซียน".......... อย่างสมศักดิ์ศรี

           ในตอนที่ 5 จะพูดถึง อาเซียน +3 ติดตามได้ที่   http://www.gotoknow.org/blog/niparat/469804

 

หมายเลขบันทึก: 469623เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2011 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท