Appreciative Inquiry - Chapter 4 (2)


...พูดด้วยสมอง ภาพถูกแยกเป็นส่วนๆ.... ...พูดด้วยใจ ร้อยเรียงเรื่องราวเป็นภาพหนึ่งเดียว...

ขอตีความต่อจากเมื่อวาน  Appreciative Inquiry - Chapter 4 (1) ในเรื่องของ แนวทางแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนา ซึ่งมี 5 แนวทางคือ

1)  การสร้างมโนทัศน์ร่วม / ฝันที่เป็นจริง  (Socially Constructing Reality)
2)  สมมติฐานหันเข้าหาจุดหมาย (The Heliotropic Hypothesis)  
          (2 แนวทางแรกนี้ ได้แนวคิดมาจาก Professor David Cooperrider)
3)  เสียงจากข้างในขององค์กร (The Organization’s Inner Dialogue)
4)  การแก้ภาวะวิกฤตที่ขัดแย้ง (Resolving Paradoxical Dilemmas)
5)  กระบวนการชื่นชม (Appreciative Process)  
          (แนวทางที่ 3-5 นี้  Dr. Gervase R. Bushe  เขียนขึ้นจากการใช้ AI)


1)  การสร้างมโนทัศน์ร่วม

           Dr. Gervase R. Bushe บอกว่า สิ่งที่ปิดกั้นการพัฒนาองค์กรคือ การขาดจินตนาการ และความตั้งใจร่วมกัน รวมถึงภาษาและคำพูดที่ใช้สื่อสารกันในองค์กรด้วย  (สคส. เราทำงานให้กับทั้งองค์กร และเป้าหมายใหญ่คือสังคมประเทศ พวกเราทำงานกันอย่างเต็มที่ มองไปข้างหน้าด้วยกัน เพราะมีจินตนาการร่วมกันของ "การสานฝันร่วมกันคือ ...ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้..."  ภาษาและคำพูดของพวกเราเป็นธรรมชาติ  ภาษาออกมาจากจิต  คำพูดออกมาจากใจ

           การสร้างมโนภาพ (สร้างฝันที่เป็นจริง) เป็นหนทางที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงองค์กร  AI จะไปเสาะหามโนทัศน์ใหม่ ที่อยู่ในความตั้งใจดีสุดของคน / กลุ่มคน

           คำถามก็คือ  แล้วจะทำให้คนสามารถสานฝันถึงอนาคตร่วมกัน ได้อย่างไร  จะทำให้คนเห็นภาพองค์กรในรูปแบบใหม่ที่ดีกว่า ได้อย่างไร

          ในฐานะที่ Dr. Bushe มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษา OD พบว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนที่อยู่ร่วมกันในองค์กร ตั้งความหวังในสิ่งที่ไม่เคยเห็น/ไม่เคยฝัน  โดยเฉพาะการให้คุณค่าแก่ “การคิดด้วยสมอง”  มากกว่า "การคิดแบบเหนือเหตุผล"

          ที่น่าสนใจ และประทับใจผู้เขียนบล็อกมากก็คือ AI สามารถทำให้เราฟังเรื่องของกันและกัน แม้แต่เพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตองค์กร   การที่มีคนมาสัมผัสสิ่งดีๆ ในตัวเรา ได้ชื่นชมเราอย่างจริงใจ  ลองนึกดูว่า "ความรู้สึก ณ ขณะจิตนั้น" มันช่างเบา สว่าง แท้เชียว   ทำให้เกิดบรรยากาศ “ร่วมกันสร้างฝัน” และเผยให้เห็นถึงความปรารถนาลึกๆ ในใจ (ของใครคนหนึ่งคนนั้น)

          หัวใจของ AI คือ “ถามด้วยใจ” - ใจเปิด   Dr. Bushe บอกว่า ก่อนที่จะตั้งคำถามใดคำถามหนึ่ง จะเริ่มด้วยการครองสติ แล้วพิจารณาความคิด - คิดตามที่พูด - ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ

          กลวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ การเปิดใจ และ การสร้างแนวทาง/ความคิด/มโนภาพใหม่ ใส่เข้าไปในภาษาประจำวัน

วันนี้ มีวรรคทอง มาฝากค่ะ ซึ่งได้จากความรู้สึกขณะอ่านต้นฉบับของ Dr. Bushe

.....เมื่อคนเราได้พูดคุยกัน เรากำลังสร้างโลกที่เราเห็น
              และเมื่อเราเปลี่ยนการพูดคุยของเรา  เราก็เปลี่ยนโลกไปด้วย....

.....การพูดด้วยสมอง ต้องใช้การวิเคราะห์ มองภาพแยกเป็นส่วนๆ
             ในขณะที่การพูดด้วยใจ จะปะติดปะต่อชิ้นส่วน ให้เป็นภาพ เป็นหนึ่งเดียว.....

           แล้วพบกันอีกในตอนต่อไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 32954เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท