อ่านความจริงหลายระดับ


เวลาฟังเรื่องเล่า มีประเด็นหนึ่ง ที่ผมต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ

"ความจริงอาจมีหลายระดับ เรากำลังฟังความจริงระดับไหน ?"

บางครั้ง เราเห็นคนดีทะเลาะกันแบบเงาก็ไม่เหยียบ ในเรื่องที่ในฐานะคนนอก ฟังแล้วก็พิศวงว่า ทำไมเรื่องที่ฟังจากสองฝั่ง ช่างต่างกันแบบขาวกับดำเช่นนั้น

ถ้าไม่ถูก ก็ต้องผิด ถ้าไม่ผิด ก็ต้องถูก

นั่นคือความเคยชิน

ถ้าอย่างนั้น ไม่มีทั้งถูกและผิดหรือ ?

ก็ไม่ใช่อีก

นั่นเป็นเพราะความจริงมีหลายระดับ หลายระนาบ หลายมิติ

ความจริงต่างระนาบ ต่างมิติ มักขัดแย้งกันเอง

 
บางครั้ง เรื่องที่เราฟัง ก็เป็นเรื่องที่ "จริงตามกาละเทศะ" คือถ้าไม่ดูเวลาและสถานที่ และสถานการณ์แวดล้อม จะตีความไปคนละทิศได้ง่าย

แค่จะบอกว่า จะเชื่ออะไรใคร ลองฉุกคิดนิดนึงว่า เขากำลังจะหาประโยชน์จากเราหรือเปล่า ? เพราะบางทีความจริงแท้ อาจเป็นเพียงว่า เราเป็นเพียงเบี้ยในกระดานให้คนอื่นเขาใช้ประโยชน์ เขาเล่าให้เราเชื่อ แล้วเขาก็ตักตวงประโยชน์จากเรา ...ตรงไปตรงมาถึงปานนั้น

 

ตัวอย่างเช่น ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวลาต่างชาติบอกว่า ไทยเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่กี่เดือนจากนั้น หุ้นจะขึ้น บาทจะแข็งทุกที

แปลว่าอะไรครับ ?

คำแปล: "...หวานคอฝรั่ง..."

หรือจะแปลว่า "ฝรั่งใช้น้ำลายทุบหุ้นไทย" ก็ไม่ผิด

 
อย่างเช่น อ่านข่าว นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ออกมาพูดให้สัมภาษณ์ 'ผมอาจต้องขโมยซากไก่ พิสูจน์ความจริง !' (กลาง กค 2549)

ช่วงนั้นไม่มีวี่แววข่าวหวัดนก

คนที่อ่านข่าวอย่างระวังระไวหน่อย มักจะจับฤกษ์ยาม ทำนายได้ว่า อีกไม่กี่วัน "น่าจะมีคนติดหวัดนกรายแรกในรอบหลายเดือน"

ไม้ใช่ว่าเฮี้ยน แช่งแล้วเป็นจริง

แต่เป็นการอนุมานโดยเหตุและผลว่าการขโมยซากไก่ ไม่น่าจะเป็นเพราะการไม่มีไก่ติดหวัดมาบริโภค แต่เพราะไม่ได้บริโภคข้อมูลเรื่องไก่ติดหวัด ซึ่งคงจะเป็นอะไรที่ร้ายแรงอยู่ไม่น้อย

เวลาเกิดตามนั้นจริง (สัปดาห์ถัดมา) มีข่าวออกมาว่ามีคนติดหวัดนก อ่านแล้วก็จะไม่แปลกใจว่า "มีอีกแล้วเหรอ"

แต่อาจแปลกใจว่า "เอ๊ะ ข่าวออกมาช้ากว่าที่คาดแฮะ"

 

ยกตัวอย่างแบบไร้สาระบ้างก็ได้ ซึ่งถ้าคิดให้ดี ก็อาจสอนอะไรเราได้ไม่น้อย ("...แม้แต่ในน้ำเน่า ก็มีเงาจันทร์..." - คำคมของใครซักคน)

เวลาผมครึ้มใจ ก็เล่าเรื่องเฮฮาให้ภรรยาฟัง

ผลคือ จะมีประโยคหนึ่งที่ผมได้ยินบ่อย ๆ

"เชื่อเลย !"

แปลว่าอะไรครับ ?

ผมน่าเชื่อ ? หรือผมไม่น่าเชื่อ ? 

คำตอบคือ ไม่ใช่สักอย่างครับ

เป็นเพียงสัญญาณว่าผมกำลังจะถูกหยิกน่ะ... อิอิอิ...


กลับมาเรื่องหนัก ๆ อีกที

โดยพื้นฐานแล้วผมอารมณ์วู่วาม เดือดง่าย

แต่เปลี่ยนนิสัยได้ จนมีคนยังเข้าใจผิดว่าผมใจเย็น !

ผมเรียนรู้จากการโดนคนอื่นโวยวายกล่าวหาในเรื่องที่ผมไม่รู้เรื่องรู้ราว ความจริงมาประจักษ์ภายหลัง (คนต้นเรื่องสารภาพเอง) คนที่กล่าวหาผมก็ไม่ได้ขอโทษผมสักคำ

เป็นเรื่องเล็ก ๆ มาก ความรุนแรงใกล้เคียงกับการกล่าวหาว่า "เมื่อกี้ตดคุณหรือเปล่า ทำไมตดในที่สาธารณะ ?"

(จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องนี้ แต่ไม่อยากพาดพิงถึงอีก)

กรณีดังกล่าว ทำให้ผมชะงักทุกครั้งก่อนโวยวายกับคนอื่น หลัง ๆ ผมมักจะท่องประโยคนี้บ่อย ๆ ก่อนจะโมโห ซึ่งมักช่วยให้ผมชะลอเวลาแตกหักได้อีกหลายวัน ซึ่งมักจะนานพอสำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อยู่หลายระดับ

"สิ่งที่เราเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าใช่"

 

(หมายเหตุปิดท้าย ... การเห้น กับการได้กลิ่น พอจะอนุโลมว่าความหมายเดียวกันได้ครับ)

 

คำสำคัญ (Tags): #manifold#ความจริง
หมายเลขบันทึก: 85701เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท