อิโคะ (ICO) - เทพนิยายสำหรับผู้ใหญ่


เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศช่วงนี้ หยิบเทพนิยายแนวแฟนตาซีมาเล่าสู่ น่าจะช่วยให้หายร้อนทางใจได้บ้าง

ปีก่อนผมไปพบหนังสือเทพนิยายเข้าเล่มหนึ่ง ชื่อ ICO  (ผู้แต่ง: มิยาเบะ มิยูกิ, ผู้แปล: นิพดา เขียวอุไร)

ผมเลิกอ่านเทพนิยายแนวแฟนตาซีไปนานมาก หลัง ๆ แทบจะไม่สนใจหนังสือแนวนี้ แต่วันนั้นไปร้านหนังสือ รู้สึกสะดุดตากับรูปหน้าปก ลองพลิกไปสุ่มอ่านดูกลาง ๆ เล่ม นึกสะดุดใจกับคำพูดบางประโยค ก็ตัดสินใจซื้อเลย อ่านจบแล้วก็สนุกดี แม้ให้ความรู้สึกเหมือนเล่นเกมส์ไปหน่อย

(หนังสือเรื่องนี้ถอดลำดับเรื่องมาจากเกมส์ ฉากหนี หรือ ฉากต่อสู้ จึงเหมือนการบรรยายเกมส์)

แต่สิ่งที่รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ธรรมดา ยังคงเป็นบทพูดที่บังเอิญพลิกไปเจอในครั้งนั้น ซึ่งความรู้สึกของผม นี่เป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุดของเรื่อง

และคำพูดเหล่านี้กลับอ้อยอิ่งในความรู้สึกมาตลอด 

เรื่องนี้เขียนแนวเทพนิยาย เริ่มจากที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เกิดมีเด็กประหลาด หัวมีเขา ชื่อ อิโคะ (ICO) ถูกเลี้ยงไว้อย่างดี เมื่อโตครบวัย ก็มีนักบวชจากเมืองใหญ่มารับตัวไปส่งที่ปราสาทลี้ลับ เพื่อเป็นบรรณาการสังเวยปิศาจแม่มดเจ่้าของปราสาท  โดยจับบรรณาการใส่โลง แล้วโลงจะเปลี่ยนบรรณาการให้กลายเป็นอสุรกายเฝ้าปราสาท

บางฉาก อ่านแล้วหนาวเยือก เพราะเป็นฉากสยดสยองแนวหนังผีญี่ปุ่น อาจไม่เหมาะกับเด็กเล็กเท่าไหร่..เตือนไว้ก่อน...

ในเรื่องจะเผยแง้มที่มาที่ไปของเหตุการณ์ ว่าทำไมเด็กมีเขา ทำไมนักบวชต้องมารับตัว ทำไมต้องมีบรรณาการให้ปิศาจ และเล่าถึงความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเหตุการณ์ที่เคยเกิดในปราสาท ควบคู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง (เรื่องยาวครับ อยากรู้ก็เชิญหาอ่านนะครับ)

ฉากสำคัญที่ผมว่า ก็คือ ตอนที่อิโคะ เผชิญหน้ากับเจ้าของปราสาท ซึ่งปริศนาและความจริงจากอดีตล้วนเริ่มคลี่คลาย

ที่แท้แล้ว ไม่ใช่ปิศาจเจ้าของปราสาทเรียกร้องบรรณาการ

แต่เป็นมนุษย์ด้วยกันเอง ที่ทำเช่นนั้น คือเปลี่ยนมนุษย์ด้วยกันเองให้กลายเป็นอสุรกาย เพื่อทำหน้าที่หยุดร่างเด็กสาวที่ปิศาจเจ้าของปราสาทจะสิงสู่ไว้ ไม่ให้ตื่นจากการหลับไหล โดยร่างเด็กสาวนั้นเป็นผู้กักขังกาลเวลาไว้อีกต่อ

โห..อะไรจะซับซ้อนปานนั้น..

แต่เรื่องนี้ สื่อสารในสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น

ลองดูสักนิด ผมตัดตอนมาอีกที ตัดแบบสุ่ม ๆ  ไม่ได้ยกมาทั้งหน้า

"คนพวกนั้นไม่ได้คิดว่าเจ้าเป็นมนุษย์ เจ้าคือบรรณาการ ... เป็นแค่บรรณาการเท่านั้น"

"พวกเทวอาณาจักรกล่าวหาว่า ข้าทำสิ่งน่าละอาย น่าสะพึงกลัว แต่โคนลิ้นของพวกมันไม่ทันจะแห้ง พวกมันกลับดำเนินรอยตามข้า ทำเหมือนที่ข้าทำ ทว่าโหดร้ายกว่า..."

"เจ้ารุ้หรือไม่ว่า เหตุใดข้าจึงไม่ต่อต้านการกักขังกาลเวลา..."

"..เพราะว่าข้าพึงพอใจ เจ้าบรรณาการน้อยเอ๋ย..."

"...ถ้ามนุษย์ลงมือกระทำบาปเช่นนั้นด้วยความยินยอมพร้อมใจ  ก็ถือว่าโลกใบนี้เป็นเครื่องสังเวยชั้นเยี่ยมของอสุรเทพแล้ว อสุรเทพผู้เป็นนายเหนือหัวของข้าถือเอาความหวาดกลัว ความพยาบาท ความโกรธแค้น และความเศร้าโศกของมนุษย์เป็นพลัง ท่านจะยินดีสักปานใดหนอ... ข้าชนะแล้ว ความมืดชนะแล้ว เจ้าจะไม่ให้ข้าไม่พึงพอใจได้อย่างไร จริงไหม เจ้าบรรณาการน้อย..."

ย้อนได้แสบทรวงไหมครับ

คือด่ามนุษย์ ที่เซ่อจนแยกไม่ออกว่า ระหว่าง เทวะ กับ อสูร นั้น การตัดสิน ไม่ได้ดูที่ ในนามของใคร แต่ต้องดูที่การ ทำอะไร ต่างหาก

ปากบอกว่าทำเพื่อเทวะ แต่กลับส่งมอบโลกทั้งใบให้อสูรหน้าตาเฉย

คือโดนอสูรเขมือบไปทั้งสมองแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกตัวอีก

ปัญหาภาคใต้ปัจจุบันนี้ ...อันที่จริง.. ก็ไม่ได้ต่างจากเทพนิยายเรื่องนี้เท่าไหร่่หรอกครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 85074เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2007 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท