คุณไม่จำเป็นต้องฉลาดที่สุด...


เราอาจเคยได้ยินประโยคที่ให้กำลังใจขึ้นต้นว่า

"คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนฉลาดที่สุด ก็...."

ผมมีประสบการณ์ของคนอื่นอีกต่อหนึ่ง มาเล่า

โดยส่วนตัวแล้ว ยิ่งมา ก็ยิ่งเห็นจริงว่า มีความจริงลึกล้ำแฝงในประโยคธรรมดาที่ดูพื้น ๆ นี้

ผมเห็นประโยคนี้ครั้งแรก ตอนอ่านประวัติชีวิตของ ลีโอ ซิลลาร์ด นักฟิสิกส์ยิว สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เขาเป็นคนที่มีชีวิตแบบเงียบ ๆ ชอบอยู่หลังฉาก แต่งานวิชาการของเขา ไม่ได้รวบรัดเลย

ประวัติศาสตร์บันทึกว่า เขามองอนาคตได้ไกล และแม่น

เขาเป็นคนต้นคิดเรื่อง chain reaction ของปฎิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ ในช่วงกำลังว่างงานจัด กำลังรอไฟแดงเพื่อข้ามถนน (ช่วงลี้ภัยอยู่ในอังกฤษ)

และเขาคือคนที่อยู่เบื้องหลังการให้ไอนสไตน์ออกหน้าในการเขียนจดหมายประวัติศาสตร์ถึงประธานาธิบดีสหรัฐ ที่นำไปสู่การสร้างระเบิดปรมาณู

และเมื่อการสร้างระเบิดยังไม่ทันเสร็จดี เขาพยายามกลับทิศทาง ยื้อยุดการนำไปใช้ (แต่ไม่สำเร็จ) เพราะรู้ว่า จะทำให้เกิดยุคการแข่งขันสร้างอาวุธร้ายนี้แพร่ลามไปทั้งโลก (การที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมานี่เป็นหลักฐานว่า การมองไกลของเขา เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลประมวลข้อมูลล่าสุดเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งเมื่อรู้ว่า การตัดสินใจเก่าตัวเอง ไม่เหมาะสม ก็กล้ากลับลำ)

แต่ที่ทำให้ประโยคนี้ มีความหมาย คือตอนที่ฮิตเลอร์เริ่มกุมอำนาจทางทหารตอนเกิดการเผาที่ทำการรัฐสภา

ตำนานบันทึกไว้ว่า ก่อนหน้านั้น เขาก็เตรียมกระเป๋าพร้อมเดินทางสองใบอยู่ตลอดเวลามรนานแรมปีแล้ว (แสดงว่าเขาอ่านการเมืองขาด ฟังฮิตเลอร์หาเสียง และความวุ่นวายการเมืองแบบโหมโรงที่มีมาก่อนหน้า ก็คาดได้ว่า สักวันหนึ่ง อาจมาถึงจุดนี้ และกล้าตัดสินใจทำตามการคาดหมาย) พอมีเรื่องวุ่น ๆ ขึ้นมา เขาก็เดินทางออกนอกประเทศเยอรมันทันที โดยรถไฟชั้นหนึ่ง

เขาเล่าว่า ที่โดยสารรถไฟชั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้ด่านตรวจเกรงใจขึ้น ไม่มาเซ้าซี้ และรถไฟขบวนที่เขานั่งวันนั้น เขาเล่าว่า "โล่งมาก ทั้งขบวน" และไม่มีใครมาสนใจตรวจจริง ๆ จัง ๆ

แต่วันรุ่งขึ้น เขาทราบข่าวว่า มีชาวยิวระลอกแรก ลี้ภัยจ้าละหวั่น และรถไฟสายเดิม คนอัดยัดเยียดแน่นทั้งขบวน และโดนตรวจโดนค้นกันถี่ยิบ

เขาสรุปสั้น ๆ อย่างกินใจในการเล่าเรื่องนี้ว่า

"คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนฉลาดที่สุด ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ขอเพียงคุณไวกว่าคนอื่น แค่ก้าวเดียวก็พอ"

 

ลองมาดูอีกกรณีหนึ่ง

ตั้งแต่ผมยังเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ ก็มีคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมนะ ประเทศไทยจึงไม่สามารถผลิตยาแข่งขายกับชาวโลกได้

เหตุผลที่ผมได้ยินบ่อยมาก จนเอือมที่จะฟัง คือ "เพราะคนไทยไม่ฉลาดพอ"

แต่จริงหรือ ?

ดูงานวิจัยเกี่ยวกับการสังเคราะห์ทางเคมียา เอ๊ะ เห็นมีเยอะแยะไปหมด ตีพิมพ์ระดับโลกก็เกลื่อน

แสดงว่า ปัญหา ไม่ได้อยู่ตรงความฉลาด

ผ่านไปนาน กว่าผมจะค่อย ๆ ตระหนักว่า ปัญหา อยู่ตรงคำว่า "ความคุ้มทุน"

ผมเชื่อว่า คนไทย สังเคราะห์อะไรก็ได้ ถ้ามุ่งมั่นที่จะทำ

แต่ทำไมไม่ทำ ?

เพราะหากสังเคราะห์แล้ว ราคาสารที่สังเคราะห์ได้ แพงกว่าชาวโลกเขานับสิบ ๆ เท่า นับร้อย ๆ เท่า จะผลิตให้ใครยอมซื้อล่ะครับ ?

ความคุ้มทุนของการสังเคราะห์สารเคมี อยู่ตรงคำว่า economy of scale และ economy of variety คือหากผลิตน้อย และยังผลิตไม่หลากหลาย ต้นทุนผลิต จะแพงมาก

ประเทศที่ต้นทุนผลิตต่ำ เขาทำได้ เพราะเขาเริ่มก่อนชาวบ้าน หรือเพราะมีอุตสาหกรรมต้นน้ำ (ยุโรป/สหรัฐ) หรืออุตสาหกรรมที่วางยุทธศาสตร์อย่างดีว่า อะไรควรมาก่อน อะไรควรมาหลัง (เช่น อินเดีย ที่ใช้ย่างก้าวที่ฉลาดในการกำหนดวางลำดับการส่งเสริมโดยภาครัฐ) ซึ่งมักเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งแตกแขนงผลิตภัณฑ์ต้นน้ำได้ง่าย พอหลากหลายขึ้น และผลิตในระดับสเกลยักษ์ ช้าหรือเร็ว ก็จะวิวัฒนาการสังเคราะห์สารที่ทวีความซับซ้อน หลากหลาย ในราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ ได้เอง จนสามารถเริ่มแข่งกับประเทศอื่นได้

ประเทศไทยเอง ก็อยู่ในระยะต้น ๆ ดังว่านั้น เท่านั้นเอง คือ อุตสาหกรรมยา มาเร็วไปหน่อย อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่งมาถึง กว่าจะมาบรรจบกันได้ อาจเหลือโรงงานยาไม่มาก แต่ใครรอด จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ได้

สำหรับประเทศที่เขาประสบความสำเร็จเรื่องสังเคราะห์ยาขาย สิ่งที่สำคัญกว่าความฉลาดในการมีความรู้เรื่องสังเคราะห์ยา คือการก้าวไปถึงจุดที่อุตสาหกรรมมี economy of scale และ economy of variety เร็วกว่าเรา (..ก้าวเดียวเอง !)

 

อีกตัวอย่างก็ได้

ในชีวิต ผมเคยเห็นคนที่ฉลาด ๆ หลาย ๆ คนสมัยเรียน จบไปแล้ว ประกายความฉลาด ค่อย ๆ หรี่หายไป และถูกแทนที่ด้วยคนที่ "ดูเหมือนโง่" กว่า ถูกแซง ถูกกลบ หายไปในที่สุด

ซึ่งในหลาย ๆ กรณี ลองศึกษาดู ปัญหาที่แท้จริงของเขา มักอยู่ที่ "เพราะเขาฉลาดเกินไป"

...ฉลาดเกินไป จึงมีทางเลือกเดินเปิดกว้างมาก จนไม่สามารถเดินไปไหนได้ไกล เพราะเปลี่ยนใจเล่นสนุกได้ทุกวัน (คนที่โง่กว่า ไม่มีหลายทางให้เลือก จำใจต้องเดินไปทางเดียว ไม่ต้องวอกแวก)

...ฉลาดเกินไป จนไม่เห็นคนอื่นอยู่ในสายตา (สอบตกเรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์ ไม่มีคนอยากคบ เว้นแต่คนที่คบหวังผลไว้ใช้งาน)

...ฉลาดเกินไป จนกล้ามองชีวิต ว่าเป็นเส้นตรง ที่อธิบายได้ด้วยสมการตัวแปรมิติเดียว

แต่บังเอิญมันไม่ใช่

ที่มาของคนฉลาดเหล่านี้ นับไปนับมา อาจเริ่มตั้งแต่เด็ก

ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่คงเห็นแวว พยายามส่งเสริม พวกหลักสูตรสำหรับเด็กอัจฉริยะมีที่ไหน ส่งไปหมด ประมาณว่า เห็นโจทย์ คิดในใจสายฟ้าแลบ รู้คำตอบ พ่อแม่ทึ่ง ครูอึ้ง เพื่อนเสียว (ไม่กล้าคบ)

แต่ความฉลาด หากไม่ใช้เพื่อ "โจทย์ชีวิต" ที่คู่ควร ก็เหมือนทักษะทางกายของการเล่นยิมนาสติก คือ แม้มีความสามารถเดินด้วยมือข้างเดียวได้ แต่จะมีความหมายอะไร จะมีความสามารถไว้เพื่ออะไีร ?

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 153646เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2007 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เป็นคนไม่ฉลาดค่ะ
  • เลยต้องเรียนรู้อยู่เสมอ
  • แต่บ่อยครั้งที่รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยสบายนะคะ

- โง่หรือฉลาดก็อยู่บนฐานเดียวกัน

- อย่าเป็นชาล้นถ้วยก็พอ

- ชอบที่จะเรียนรู้....เอาไว้พึ่งตนเอง  และเผื่อแผ่ผู้อื่น (ที่ต้องการ)

สำหรับการประสบความสำเร็จในชีวิต
ความรู้หรือความฉลาดเป็นสิ่งสำคัญ
แต่จุดชี้ขาดคือโอกาสและการตัดสนใจ

ที่สำคัญกว่าคือ ความเข้าใจชีวิต

คนฉลาดที่เเท้จริงคือคนที่สร้างคนธรรมดาๆ ให้เป็นคนที่มีความเมตตา สร้างประโยขน์เพื่อมวลมนุษย์ส่วนรวม เเละเดินไปบนเส้นทางเเห่งความดี เเละไม่มีทางที่จะหวังผลประโยขน์จากผูใด เเละไม่มีทางทำให้ใครๆเสียใจเพราะตัวเองเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท