ข้อสังเกตเรื่องแชร์ลูกโซ่


นกตายเพราะอาหาร คนตายเพราะสมบัติ

ช่วงนี้ มีข่าวเรื่องแชร์ลูกโซ่ ค่อนข้างบ่อย

หลายท่านคงเอะใจว่า ทำไมบ่อยในช่วงนี้ แต่บางยุค แทบไม่มีเห็น ?

เวลาปัญหาประทุขึ้น ก็มีผู้เดือดร้อนสาหัส สูญเสียหลาย ๆ อย่าง บ้าน รถ ความสุขครอบครัว ความมั่นคงยามชรา หรือแม้แต่ชีวิต และกระทบลามวงกว้างถึงคนข้างเคียง

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราอาจต้องลองย้อนกลับไปค้นข่าวเก่า ๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน ว่าช่วงที่เกิดแชร์ลูกโซ่ระบาด เกิดในบรรยากาศแบบไหน

ประเด็นที่น่าสังเกตจากข่าวก็คือ แชร์ลูกโซ่ จะมากเป็นพิเศษในช่วงที่คนกำลังไม่มีทางออกกับภาวะเงินเฟ้อ

ถ้าหากการเกิดร่วมกันนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเหตุและผลกัน เราควรจะคาดหมายว่า ปัญหาแชร์ลูกโซ่นี้ จะยังอยู่อีกหลายปี และที่ผ่านมา อาจยังไม่ขึ้นไปถึงระดับจุดสุดสุดของวิกฤติการณ์ด้วยซ้ำ โดยทำนายจากระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่มีผู้คาดว่า อาจยังขึ้นต่อ

รากเหง้าของภาวะเงินเฟ้อที่เห็นชัดที่สุด หากมาจากราคาต้นทุนพลังงาน หรือราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็น่าจะเป็นกรอบบังคับให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ราคาน้ำมันเกิดการ "กระโดด" ในช่วงไหนบ้าง ?

จากสถิติ Monthly Energy Review ระบุว่า

ช่วงกลางปี 2522 น้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 12 เหรียญต่อบาร์เรล แล้วราคาทะยานต่อเนื่อง ไปนิ่งแถว ๆ 32 เหรียญ ในช่วงต้นปี 2524 แล้วราคาค่อย ๆ ซึมยาวลงอย่างช้ามาก ๆ ไปจนถึงต้นปี 2529 แล้วจึงหล่นตุ้บลงมาที่เดิม

น่าสังเกตว่า ช่วงประมาณตั้งแต่ปี 2525 จะเป็นช่วงที่แชร์ลูกโซ่ระบาด และไปจบลงประมาณปี 2530 โดยจุดสูงสุดของวิกฤติการณ์ อาจเป็นการปฎิวัติในปี 2528 ที่มีสื่อมวลชนบางค่าย วิเคราะห์ว่า มูลเหตุจูงใจ มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาแชร์ลูกโซ่ช่วงนั้น

ราคาน้ำมันดิบ มาทะยานต่อเนื่องอย่างแน่วแน่ตั้งแต่ราว 2546 (พร้อม ๆ กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพารา โลหะ ฯลฯ) ก็ดูเหมือนจะสอดคล้องกับการเฟื่องฟูของแชร์ลูกโซ่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทำไมเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เปลี่ยนมาก ๆ จึงกระตุ้นให้เกิดการระบาดของแชร์ลูกโซ่ ?

ผมตั้งสมมติฐานว่า เมื่อเกิดเงินเฟ้อแบบเห็นต่อหน้าต่อตา (ราคาน้ำมัน-สินค้าในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนกันแทบทุกวัน) ก็จะทำให้คนที่มีเงินฝาก เกิดความกลัว สิ้นหวัง หดหู่ ว่าสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ค่อย ๆ หดตัวเล็กลงไปเรื่อย ๆ ทุกวัน อยากป้องกันตัวด้วยการหาอะไรทำที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วทันใจ

ความรู้สึกนี้ ทำให้ดุลยพินิจที่เคยคมชัด เสียไปหมด เพราะผลตอบแทนสูง ๆ ที่ดูเหมือนได้มาง่าย ตามปรกติ จะมีความเสี่ยงแฝงสูงมากเช่นกัน เมื่อเกิดความโลภหน้ามืดขึ้นมา ความเสี่ยงที่ประจกษ์ได้ด้วยการคิดนี้ ก็จะถูกซ่อนไปด้วยความโลภ

หากมองว่า แชร์ลูกโซ่ คงไม่จบในเร็ววัน เราเองก็คงต้องหัดระวังตัว

...ด้วยการตระหนักว่า การถูกชักชวนให้ลงทุนที่ผลตอบแทนสูงผิดปรกติ อาจเหมือนการชวนรับประทานอาหารโอชะ ที่ผูกเชือก และมีเบ็ดฝังใน

 

หมายเลขบันทึก: 151827เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

คนเราอยากได้โหยหาในเงินตรา จึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เดี๋ยวนี้มีแชร์ข้าวสาร แชร์โน่นแชร์นี่ให้เป็นข่าวอยู่เรื่อย ทางกฎหมายเขาเรียกว่า เป็นการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนครับ

สวัสดีครับ ท่านP  อัยการชาวเกาะ

  • ปัญหานี้ เคยทำให้การเมืองไทยเข้าวิกฤติมาแล้วเมื่อปี 28
  • ผู้ดูแลเรื่องนี้ คงจะต้องเหนื่อยไปอีกพักใหญ่
  • แต่ทำเพื่อให้สังคมอยู่ได้ ก็จำเป็น
  • ผมเป็นกำลังใจให้ท่านครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท