NEXT - สิทธิเหนือชีวิต


ช่วงนี้มีแผ่นดินไหวรอบบ้านบ่อย ทำให้นึกถึงซึนามิ และคนที่โดนผลกระทบ

ผมเคยไปออกชุมชนร่วมกับทีมเภสัช ไปดูแลเรื่องยาในชุมชนเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนหลังซึนามิเข้า

คุยกับคนที่ต้องอยู่ตามที่พำนักชั่วคราวในบางแห่ง เขาเล่าว่า เคยมีทีมนักวิจัยมาขอเจาะเลือด และดูเหมือนจะขอเนื้อเยื่อด้วย และมีใบอะไรก็ไม่รู้ มาให้เซ็นยินยอมด้วย มากันหลาย ทั้งไทย และเทศ เขาเกรงใจเพราะเพิ่งได้รับการช่วยเหลือ ก็เลยยอม แต่ก็ไม่วายบ่นว่า โห ... เจาะไปแต่ละที... "เลือดเต็มบ้อง"  (คือดูดไปเต็มเข็มใหญ่)

ตอนนั้น ผมก็ได้แต่สงสัย ว่า วิจัยอะไรของเขาหนอ ?

มาหายสงสัยตอนที่อ่าน NEXT ของไมเคิล คริชตัน

ไมเคิล คริชตัน เป็นนักเขียนนิยายมือทองแนววิทยาศาสตร์ที่มีการนำไปสร้างภาพยนตร์แล้วสร้างความฮือฮา เช่น จูราสสิกปาร์ก

ปีที่แล้ว (2549) เขาเข็นนิยายเรื่องใหม่ออกมา เรื่อง NEXT

แนวเรื่องคือ ผู้ป่วยไปรักษาโรคมะเร็ง โดนแพทย์ผู้รักษาจับเซ็นเข้าร่วมโครงการวิจัยอีกรายการหนึ่งโดยไม่แจ้งข้อมูลให้ทราบ และแบบที่คนไข้ไม่กล้าปฎิเสธ (ใครบ้าพอที่จะกล้า ?) ซึ่งเซลล์ที่ถูกส่งไปปรากฎว่า โดนนำไปขึ้นสิทธิบัตร โดยผู้เป็นต้นกำเนิดของเซลล์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ได้ เพราะเซ็นใบยินยอมทุกอย่างไปแล้ว และบริษัทดังกล่าวอ้างสิทธิเหนือเซลล์ซึ่งรวมไปถึงเซลล์อนุพันธ์ คือเซลล์ของลูกหลานของคนไข้ด้วย และบริษัทตั้งใจจะ "เก็บเกี่ยว" เซลล์อนุพันธ์ ไม่ว่าเจ้าตัวจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม

ก็เลยต้องหนีกันตามระเบียบ

เรื่องสิทธิเหนือพันธุกรรมนี่ เป็นเรื่องที่หนัก เพราะอ่านแล้ว มักมีแต่กรณีศึกษาที่ชวนสยอง ชวนหดหู่ 

มีกรณีที่อาจเทียบเคียงได้ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ต่างชาติจะนำท่าฤาษีดัดตนไปขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร หรือเรื่องสิทธิเหนือชื่อข้าวหอมมะลิ

ตอนนี้ ในระดับโลก และระดับภูมิภาค มีการรุกทำวิจัย clinical trials ประเภทมัดมือชกแบบนี้แพร่หลาย ไม่รู้ว่า วันไหนจะมาถึงเมืองไทย

แม้ว่า ปัจจุบัน จะมีบางองค์กร ยกประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ ก็ยังสงสัยอยู่ดี ว่า  จะมีหน้าตาอย่างไรเมื่อมาถึงเมืองไทยเต็มตัว

หรือมาถึงแล้วก็ไม่รู้ ?

การทำวิจัย clinical trials แบบดี ๆ ในโลกนี้มีมาก และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการตอบโจทย์สาธารณสุขสำคัญ ๆ ไม่น้อย

ปัญหาจะมีเมื่อมีการ "หมกเม็ด" คือตั้งใจรุกล้ำสิทธิผู้ป่วยกันแบบ "แน่วแน่"

วันไหนมีแบบนี้ในบ้านเราและเกิดคดีอื้อฉาว รับรองว่า ค่าใช้จ่ายการทำ clinical trials ทุกราย รวมทั้งที่ทำแบบฝ่ายธรรมะ จะแพงขึ้นมหาศาล จนการทำ clinical trials ประเภท "ตั้งใจดี แต่ทุนน้อย" ไม่มีโอกาสทำในประเทศกันอีกต่อไป

 

หมายเหตุท้ายเรื่อง: มีข่าวใน

ผู้จัดการออนไลน์ 19 กันยายน 2550 14:27 น.
ว่ามีข่าวลือนักวิทยาศาตร์ต่างชาติ ดอดเข้ามาทำวิจัยสเต็มเซลล์ในไทย เพราะไม่มีกฎระเบียบควบคุมเข้มแข็ง

เพี้ยง...ไม่จริง !

(เมื่อไม่มอง ก็ไม่มี จริงมั้ย ?)

หมายเลขบันทึก: 128899เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2007 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • เรื่องนี้ได้ยินมาว่า เซลล์ตัวอย่างของคนไข้เพาะได้หลายรุ่น (generation) โดยไม่หยุดแบ่งตัว เลยนำไปจดสิทธิบัตรได้
  • ดูเหมือนคนไข้จะไม่ได้อะไรสักจ๊าด(ยกเป็นเงินพม่าเลย เพื่อความขลัง) บริษัทวิจัยรวยไปเละทีเดียว...

สวัสดีครับคุณหมอนพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์

  • ขออภัยที่ไม่ได้เข้ามาดู สองสามวันที่ผ่านมา มีติดพันครับ
  • ที่คุณหมอกล่าวถึง หมายถึงในภาพยนตร์หรือเปล่าครับ ?

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท