เงินร้อนท่วมเอเชีย


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เงินร้อนเริ่มไหลบ่าเข้ามาท่วมเอเชีย

แม้จะเป็นเพียงเริ่มต้น แต่ก็ทำให้ต้องเกิดมาตรการ 19 ธันวาคม 2549 ที่ทำให้หุ้นถล่มวันเดียวร้อยกว่าจุด ลงแรงทำลายสถิติ เพราะ "เงินร้อนโดน นะ-จัง-งัง" ถอยญญ่าย พ่ายจะแจ แต่พอเห็นว่า "โอเคแระ" ก็กลับมาใหม่

ปรากฎการณ์นี้ คล้ายกับสมัยที่พลเอกชาติชาย สมัย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2531 เงินลงทุนจากต่างประเทศบ่าท่วมเข้ามา ดันให้ตลาดหุ้นลอยฟ่องขึ้นฟ้า ส่วนหนึ่ง อาจเกี่ยวข้องกับการที่ตลาดทุนสหรัฐตกต่ำ (1987 crash ) เงินฉลาดหนีออกไปลงทุนที่อื่น เช่นในไทย

หมายเหตุไว้ตรงนี้ ว่าตอนตลาดทุนสหรัฐถล่มปี 2530 นั้น เกิดหลังทำสถิติสูงสุดอยู่ราว 2 เดือนเศษ แล้วถล่มยาว ซึ่งสอนว่า ช่วงที่คนกำลังระเริง มักจบแบบไม่คาดฝัน

ในประเทศที่มีวุฒิภาวะ ตลาดทุนคือตัวชี้วัดล่วงหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ในประเทศด้อยพัฒนา ที่เป็นได้เพียง "แหล่งพักร้อนของเงินฉลาด" เงินร้อนทำให้หุ้นขึ้น แล้วเศรษฐกิจจะดีเพราะหุ้นขึ้น เศรษฐกิจจะแย่เพราะหุ้นตก

ตลาดหุ้นไม่ใช่ตัวชี้วัดเศรษฐกิจ อีกต่อไป แต่กลับกลายไปเป็น ตัวกำหนดเศรษฐกิจ

สมัยนั้น เงินร้อน เป็นที่พึงปราถนาของประเทศด้อยพัฒนา และเป็นจุดเริ่มต้นของวิเทโศบายการเงินแบบไร้เดียงสา เพราะเกิดการได้หน้าของผู้กุมนโยบาย แต่นำไปสู่วิกฤติครั้งใหญ่ของประเทศ

ไทยไม่ใช่ประเทศเดียว ที่เงินร้อนต้องไหลบ่าเข้ามาในครั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ต่างก็รับกันไปถ้วนหน้า มากหรือน้อย ก็ต้องดูจากปัจจัยแวดล้อม ไทยอาจรับไปมากหน่อย เพราะหุ้นในตลาด"ถูกมากไป" ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานมหภาคอ่อนตัวลงมาด้วยซ้ำ

คนอยู่ปลายท่อ ที่เขาสูบเงินมาทิ้ง เห็นเงินหล่นตุ๊บตั๊บมาลง ก็อดไม่ได้ ต้องพยายามอธิบาย (rationalization)

ตัวอย่างของการ rationalization ก็ได้แก่ เมื่อฟังข่าวว่าหุ้นตก สื่อก็จะรายงานว่า "นักลงทุนเทขายทำกำไร"

แต่เวลาหุ้นขึ้น ไม่เคยบอกว่า "นักลงทุนแห่ซื้อทำขาดทุน" 

แต่ rationalization ก็เป็นธรรมชาติของปฎิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ ที่จะต้องอธิบายทุกอย่างไปตามถนัดของตนเอง เช่น เพราะบริษัทหุ้นไทยผลประกอบการดีขึ้น เพราะเงินเฟ้อน้อยลง เพราะการเมืองนิ่ง เพราะฯลฯ ซึ่ง ล้วนมีคำโต้แย้ง

...การเมืองนิ่งจริงหรือไม่

...เงินเฟ้อน้อยลงจนของถูกลงหรือไม่

...คงไม่ต้องให้ใครบอก

แม้แต่การกล่าวว่า หุ้นไทยผลประกอบการดีขึ้น ก็ยังมีคำถกเถียง

ลองสุ่มข้อมูลของบริษัทใหญ่ที่สังกัด SET-100  (ยกเว้นบางบริษัทที่ไม่ได้นับไตรมาสเหมือนชาวบ้าน ก็ตัดออก) ดูเฉพาะข้อมูล Revenue (ยอดขาย) และ Earning (กำไรหลังหักภาษี)

ปี 2549 (ทั้งปี) เทียบกับ 2548 (ทั้งปี) ปรากฎว่า ยอดขายเพิ่มขึ้น 18 % แต่กำไรลดลงถึง 20 % (สุ่มจาก 92 บริษัท) ซึ่งในทางปฎิบัติ ถือได้ว่า ทรุดตัวแรง

ปี 2550 (ไตรมาส 1) เทียบกับปี 2549 (เฉลี่ย 4 ไตรมาส) ปรากฎว่า ยอดขายลดลง 3 % แต่กำไรเพิ่มขึ้น 2.5 % (ข้อมูล 84 บริษัท) ซึ่งในทางปฎิบัติ อาจจะถือว่า เป็นการทรงตัวแบบดีขึ้นนิดหน่อย

โดยภาพรวม นี่คงจะห่างไกลจากคำว่าตลาดทุนไทย "ผลประกอบการดีขึ้น" ไปคนละทิศเลย เพียงแต่ PE ratio ประมาณ 11 แถวตลาด 850 จุด ก็ยังถือได้ว่า "ถูกมาก" 

แต่ถึงกระนั้น เงินร้อน ก็ยังคงต้องเข้ามา เพราะมันไม่มีที่ไป 

ผมเชื่อว่า เงินร้อนนี้ หนีการอ่อนตัวในระยะยาวของเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นสกุลเงินที่เดินหนได้ คือเหมือนเดินบนอากาศว่างเปล่า เพราะไม่ต้องมีทองคำรองรับ (ลองย้อนกลับไปอ่านเรื่อง Emergent: เงิน ดูนะครับ)

เพราะแม้หนี้ต่างประเทศที่เรียกว่า outstanding debt ของสหรัฐอย่างเป็นทางการ อยู่ที่เพียง 67 % ของ GDP ซึ่งไม่ได้สูง แต่ตัวเลขนี้ มีผู้คาดว่า ต่ำเกินจริงไปสิบกว่าเท่า ด้วยวิธีการทางบัญชี คือซุกภาระอนาคตไว้ในงบดุลประเทศ

ประเทศพัฒนาแล้ว ก็ทำเป็นครับ เรื่องซุกหนี้ 

Debt to Earning ratio ของบริษัทไหนอยู่ที่เกือบสิบ ศักดิ์ของตราสารหนี้ ก็คงใกล้เคียงพันธบัตรขยะเต็มทีแล้ว

...อย่าว่าแต่.. เงินนี้คือตราสารหนี้ที่มีดอกเบี้ยเป็นศูนย์ให้แก่ผู้ถืออีกต่างหาก จึงเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องด้อยค่าลง

เงินฉลาด จึงกลายเป็นเงินร้อน ไหลออกไปพักผ่อนในที่เย็น ด้วยการโยกหาสกุลเงินอื่น ทำให้สกุลเงินอื่นแข็งขึ้นถ้วนหน้า ซึ่งจะกินเวลายาวนานเพียงใด คงยากจะบอกได้

ความที่เงินร้อนมีมวลมหาศาล ก็จะบ่ามาแบบเนิบนาบ แต่ไม่หยุด เหมือนการระบายน้ำออกจากถังใหญ่ ลงแก้วเล็ก ๆ ที่รองอยู่ ต่อให้คนเท พยายามเทเบาถึงที่สุด แต่จนใจที่แก้วนั้น เล็กไป แต่เรื่องแก้วไม่กระเทือน อย่าหวัง

ค่าเงินอ่อน กับค่าเงินแข็ง เป็นปรากฎการณ์ร่วมกันในเหรียญเดียวกัน  ขึ้นกับเรามองจากฟากไหนของเหรียญ

แต่นี่คงเพิ่งเป็นระยะเริ่มต้นเท่านั้น...จะเกิดอะไรขึ้นถ้าค่าเงินดอลลาร์อ่อนต่อ จนทำให้เงินบาทกลับไปที่เดิมก่อน 2540 ?

วอร์เรน บัฟเฟต ที่เป็นนักลงทุน ก็คงตระหนักข้อนี้ เพราะเขาพยายามโยกเงินออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น  (เช่น ไปซื้อกิจการบางส่วนของเทสโกโลตัส ที่ผมเคยเขียนถึงไว้ในทำไมห้างนอกจึงนิยมบุกไทย) และหันมาเน้นด้านสินค้าโภคภัณฑ์

ไม่กี่ปีก่อน เขาก็ทำนายทิศทางค่าเงินสหรัฐทำนองนี้ และหันมาเก็งค่าเงิน ทั้งที่เขาเป็นนักลงทุน ไม่ใช่นักค้าเงิน เพราะเขารู้ว่า ทรัพย์สินที่เขาดูแลอยู่ คงเสื่อมค่าตามไม่น้อย หากวิกฤติค่าเงินสหรัฐประทุขึ้น

...อาจถึงเวลาต้องหันกลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เมื่อสมัยยี่สิบปีก่อนกันบ้างกระมัง..

เพราะเงินร้อน เวลามันมา มันจะทำให้ทุกคนเคลิ้มว่า มันมาเพราะเราดี เราเก่ง เพราะมันรักเราจริง  เพราะบรรยากาศการลงทุนดี เพราะบรรยาการเมืองดี เพราะต่างชาติมั่นใจ เพราะ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ที่ดูดี และโฆษณาได้ทางการเมือง ว่าเป็นเพราะ "ฝีมือ"

ผู้บริหารกองทุนเห็ดฟัน (Hedge Fund) ได้ยินรัฐบาลไหนโม้อย่างนี้ ก็จะยิ้มกว้าง หวานจ๋อย และกล่าวต้อนรับ  "Welcome to my food chain ! (=หวานคอแร้ง)"

เงินร้อนมาแล้ว มักทำให้ตลาดหุ้นร้อน

เงินร้อนมาแล้ว คนไม่มีสันดานดีการเงิน มักจะเหลิง

เหลิงรายคน ก็จบเห่รายคน เหลิงทั้งประเทศ ก็รอวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ที่จะตามมาหลังวิกฤติเศรษฐกิจรอบหน้าไว้ได้เลย 

แต่เวลาวันไหนเงินร้อนมันหนีเราไป มันจะสร้างความพินาศไปเป็นทาง

เหมือนโจรปล้นบ้านเสร็จ ก็เผาบ้านทิ้ง ทิ้งให้เจ้าของบ้าน (=คนเคยรวย) ที่ "จมไม่เป็น"  ทำตาปริบ ๆ หาแพะบูชายัญ ตามสูตรสำเร็จน้ำเน่า

ถ้าไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับเงินร้อนนี้ให้เป็น อีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า เราจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานเรียน ว่าโง่ดักดาน  ที่ไม่รู้จักเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ทั้งที่เพิ่งผ่านไปแค่เดี๋ยวเดียว

 

 

หมายเลขบันทึก: 109423เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • อ่านแล้ว "ร้อนจังหู"...
สวัสดีครับคุณหมอ
P

นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์

  • "ร้อนจังหู" เป็นคำใต้
  • ร้อนกาย
  • ร้อนใจ
  • ร้อนอากาศ
  • ร้อนเงิน
  • ก็ "ร้อนจังหู" เสมอกัน
  • ขอแค่ "ร้อนกาย" ก็พอ
  • แค่อาบน้ำก็สบายแล้วครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วก็อย่าขอให้เป็นเหมือนปี40เลยนะคะ

น่ากลัวค่ะ

สวัสดีครับ พี่
P

sasinanda

  • มองไกล ๆ น่ากังวลครับ
  • แต่ระยะสั้นไม่กี่ปีจากนี้ ผมยัง เชื่อว่าเป็นช่วงน้ำขึ้นของคนทำธุรกิจหรือนักลงทุนครับ เพราะเป็นการโยกเงินมาในสเกลที่ใหญ่มากระดับที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน จนคงไม่มีอะไรต้านอยู่ และคงไม่ได้เปลี่ยนทิศกันได้ง่าย ๆ แบบปุบปับเหมือนที่เคยเป็นมา (ผมเชื่ออย่างนั้น แต่อาจจะผิด 100 % ก็ได้)
  • แต่ตอนนี้ ทำใจสบาย ๆ น่าจะดีนะครับ 
  • ใครไม่ประมาทสร้างหนี้ท่วมตัว ก็คงไม่มีปัญหา
  • เว้นแต่คนทำธุรกิจส่งออก คงต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท