กฏหมายควรรู้


กฏหมายที่ควรเรียนรู้ไว้สำหรับใช้ในการจัดตั้งธุรกิจสำหรับสินค้าประเภทสินค้าส่งออก
กฏหมายที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจสินค้าส่งออก

1.   กฏหมายที่เกี่ยวกับการจดสิทธิบัตร

2   กฏหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจ

3.  กฏหมายที่เกี่ยวกับ FTA

4   กฏหมายที่เกี่ยวกับการค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

5   กฎหมายที่เกี่ยวกับการเซ็นสัญญาทางการค้า

6  กฏหมายในการจัดจ้างแรงงาน

ส่วนที่ 1 : ลักษณะของบุริมสิทธิ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 251 บัญญัติว่า “ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตน จากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ...”

จากบทบัญญัติดังกล่าวได้มีผู้ให้ความหมายของบุริมสิทธิว่า “บุริมสิทธิ คือ สิทธิของเจ้าหนี้ซึ่งโดยสภาพหรือลักษณะแห่งหนี้นั้นเอง กฎหมายให้สิทธิแก่เจ้าหนี้บางจำพวกนั้นในอันที่จะได้รับชำระหนี้ของตนโดยสิ้นเชิงจากทรัพย์สินทั้งหมด หรือเฉพาะบางสิ่งบางอย่างของลูกหนี้ได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ”(1)

จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บุริมสิทธินั้นเป็นสิทธิพิเศษของเจ้าหนี้บางประเภทที่เรียกว่า เจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ หรือจากทรัพย์สินเฉพาะอย่างของลูกหนี้ได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ ทำนองเดียวกันกับกรณีของสิทธิจำนำและจำนอง บุริมสิทธิเป็นสิทธิที่เป็นอุปกรณ์แห่งหนี้เท่านั้น กล่าวคือ จะต้องมีหนี้อันเป็นประธานอยู่แล้ว บุริมสิทธิจึงจะเกิดขึ้น หากหนี้อันเป็นประธานถูกบอกล้าง หรือถูกโอนไปยังบุคคลอื่น บุริมสิทธิก็ย่อมตกไปหรือโอนไปยังบุคคลอื่นด้วยตามกรณี(2) นอกจากนี้ บุริมสิทธิยังเป็นสิทธิที่จะแบ่งแยกไม่ได้ กล่าวคือ ตราบใดที่เจ้าหนี้ยังไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนแล้ว ลูกหนี้ที่ได้ชำระหนี้ให้แต่บางส่วนจะขอให้แบ่งแยกบุริมสิทธิไม่ได้(3) (4)


สำหรับการเกิดขึ้นของบุริมสิทธินั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 251 บัญญัติว่า “ผู้ทรงบุริมสิทธิย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตน จากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยนัยดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือบทกฎหมายอื่น” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บุริมสิทธินั้นจะเกิดขึ้นได้แต่โดยบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น บุริมสิทธิไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างบุคคล สำหรับบทบัญญัติของกฎหมายที่ก่อให้เกิดบุริมสิทธินั้นมี 2 แหล่งที่มาด้วยกัน คือ

1. บทกฎหมายที่กำหนดก่อตั้งบุริมสิทธิขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ก. ตามบรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 6 มาตรา 251 ถึง 289
ข. ตามบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 มาตรา 1598/13 เรื่องบุริมสิทธิของผู้อยู่ในปกครอง
ค. ตามบรรพ 6 ลักษณะ 3 หมวด 1 มาตรา 1650 เรื่องบุริมสิทธิในค่าใช้จ่ายในการจัดทำศพ

2. บทกฎหมายที่กำหนดก่อตั้งบุริมสิทธิขึ้นนอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติล้มละลาย, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน, พระราชบัญญัติ ประกันสังคม, พระราชบัญญัติเงินทดแทน เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่าที่กฎหมายบัญญัติให้มีบุริมสิทธินั้น กฎหมายถือเอาลักษณะของหนี้เป็นสำคัญ ในบางกรณีเป็นเรื่องของความยุติธรรมระหว่างเจ้าหนี้ เช่น ผู้เป็นเจ้าหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมมีบุริมสิทธิเป็นอันดับแรก (มาตรา 253 (1)) บางกรณีเป็นเรื่องเนื่องจากหลักทางศีลธรรมและมนุษยธรรม เช่น หนี้ค่าปลงศพ หนี้ค่าจ้าง และหนี้ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคประจำวัน (มาตรา 253 (2), (3), (4)) บางกรณีเป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น หนี้ค่าภาษีอากร (มาตรา 253 (3)) บางกรณีเป็นเรื่องทางการค้าและธุรกิจ เช่น หนี้ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าพักอาศัยในโรงแรมค่าขนส่งคนโดยสารหรือสินค้า ค่ารักษาสังหาริมทรัพย์ ค่าซื้อขายสังหาริมทรัพย์ (มาตรา 259 (1) ถึง (5)) ค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์ ค่าจ้างทำของเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์ ค่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา 273 (1) ถึง (3)) บางกรณีเป็นเรื่องการให้ความสนับสนุนแก่การเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เช่น หนี้ค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย กับค่าแรงงานกสิกรรมหรืออุตสาหกรรม (มาตรา 259 (6), (7)) เป็นต้น(5)

ได้เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1673/2511 ว่า การที่จำเลยนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันต่อศาลในการขอทุเลาการบังคับคดีนั้นไม่ก่อให้เกิดบุริมสิทธิแก่โจทก์ เพราะกรณีเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าเป็นบุริมสิทธิ
สำหรับประเภทต่าง ๆ ของบุริมสิทธินั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ :-
1. บุริมสิทธิสามัญ คือ สิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นจากกองทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253-258

2. บุริมสิทธิพิเศษเหนือสังหาริมทรัพย์ คือ สิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้ อื่น ๆ จากสังหาริมทรัพย์เฉพาะอย่างของลูกหนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 259-272

3. บุริมสิทธิพิเศษเหนืออสังหาริมทรัพย์ คือ สิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ จากอสังหาริมทรัพย์เฉพาะอย่างของลูกหนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 273-276


ลำดับของบุริมสิทธินั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 277 ถึงมาตรา 280 ซึ่งแบ่งพิจารณาได้ 5 กรณี ดังนี้(6)

1. บุริมสิทธิสามัญหลายรายแย้งกัน (มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, มาตรา 253 และมาตรา 1598/13)
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
(2) ค่าปลงศพ
(3) ค่าภาษีอากร ค่าจ้างแรงงานและเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งเป็นนายจ้าง
(4) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน
(5) บุริมสิทธิของผู้อยู่ในปกครอง

2. บุริมสิทธิสามัญแย้งกับบุริมสิทธิพิเศษ บุริมสิทธิพิเศษอยู่ในลำดับก่อนบุริมสิทธิสามัญ แต่บุริมสิทธิในค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกันอยู่ในอันดับก่อนบุริมสิทธิพิเศษ (มาตรา 277 วรรคสอง)


3. บุริมสิทธิพิเศษเหนือสังหาริมทรัพย์หลายรายแย้งกัน (มาตรา 278)
(1) ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ค่าพักอาศัยในโรงแรม ค่าขนส่ง (จำนำ มาตรา 282) ยกเว้น (ก) เจ้าหนี้บุริมสิทธิลำดับที่หนึ่งรู้ว่ามีเจ้าหนี้บุริมสิทธิลำดับที่สองหรือที่สามอยู่
    ก่อนแล้ว เจ้าหนี้บุริมสิทธิลำดับที่หนึ่งหาอาจใช้บุริมสิทธิต่อเจ้าหนี้บุริมสิทธิลำดับหลังได้ไม่ (มาตรา 278 วรรคสอง) (ข) เจ้าหนี้บุริมสิทธิลำดับที่หนึ่งไม่อาจใช้สิทธิต่อผู้รักษาทรัพย์ซึ่งตนได้รับ ประโยชน์ด้วย (มาตรา 278     วรรคสอง)
(2) ค่ารักษาสังหาริมทรัพย์
(3) ค่าซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ค่าเมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย และค่าแรงงานกสิกรรมและ อุตสาหกรรม ยกเว้น สำหรับบุริมสิทธิเหนือดอกผล ผู้ทำการงานกสิกรรมอยู่ในลำดับที่หนึ่ง ผู้ส่ง เมล็ดพันธุ์ ไม้พันธุ์ หรือปุ๋ย      อยู่ที่ลำดับที่สอง และผู้ให้เช่าที่ดินอยู่ในลำดับที่สาม

4. บุริมสิทธิพิเศษเหนืออสังหาริมทรัพย์หลายรายแย้งกัน (มาตรา 279 วรรคหนึ่ง, 273)
(1) ค่ารักษาอสังหาริมทรัพย์
(2) ค่าจ้างทำของเป็นการงานขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์ (จำนอง มาตรา 287)
(3) ค่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

5. บุริมสิทธิลำดับเสมอกันหลายรายมีสิทธิเหนือทรัพย์อันเดียวกัน ต่างได้รับชำระหนี้เฉลี่ยตามส่วน (มาตรา 280)
    ยกเว้น (1) ค่ารักษาสังหาริมทรัพย์ เจ้าหนี้รายหลังอยู่ในลำดับก่อน (มาตรา 278 (2))
    (2) ค่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นไปตามลำดับการซื้อขาย (มาตรา 279 วรรคสอง)

ส่วนที่ 2 : บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับบุริมสิทธิในหนี้ที่เกิดจากการจ้าง แรงงาน

บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับบุริมสิทธิในหนี้ที่เกิดจากการจ้างแรงงาน มีดังต่อไปนี้ :-
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541)
2. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
3. พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
4. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
5. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541)

2.1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541)

บุริมสิทธิในหนี้ที่เกิดจากการจ้างแรงงานปรากฏขึ้นในกฎหมายครั้งแรกตามมาตรา 253 และมาตรา 257 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541 ดังต่อไปนี้

“มาตรา 253 ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ คือ...
(4) ค่าจ้างเสมียน คนใช้ และคนงาน...”

“มาตรา 257 บุริมสิทธิในมูลค่าจ้างเสมียน หรือคนใช้ เพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้นั้น ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือน แต่ไม่ให้เกินสามร้อยบาทต่อเสมียนหรือคนใช้คนหนึ่ง ๆ
บุริมสิทธิในมูลค่าจ้างคนงานนั้น ใช้สำหรับเอาค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไปสองเดือน แต่ไม่ให้เกินร้อยห้าสิบบาทต่อคนงานคนหนึ่ง ๆ”


ผู้ทรงบุริมสิทธิตามมาตราเหล่านี้ คือ เสมียน คนใช้ และคนงาน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้หาเช้ากินค่ำ ถ้าไม่ให้มีบุริมสิทธิได้รับใช้ไปก่อน อาจต้องถึงอดอยาก ทั้งจำนวนหนี้ตามมาตรา 257 ก็ไม่มากมายอะไร ให้ได้ไปก่อนก็ไม่เป็นภาระแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้เกินไป(7)

คำว่า เสมียน คนใช้ คนงาน มุ่งไปถึงหน้าที่ลักษณะงานที่ทำ เช่น เสมียนมุ่งไปถึงลักษณะที่จะต้องทำงานด้วยวิชาการทางเล่าเรียน เขียนอ่าน ต่างกับคนใช้ ซึ่งโดยปกติไม่ต้องมีวิชาเช่นนั้น คนรับจ้างพิมพ์หนังสือ เก็บหนังสือในสำนักงานทนายความเป็นเสมียน คนใช้ในโรงแรม บ๋อยบนรถไฟเหล่านี้เป็นคนใช้ คนงานขุดดิน จีนจับกัง หรือพวกขนของที่ท่าเรือเหล่านี้เป็นคนงาน(8)

เสมียน หรือคนใช้ มีสิทธิจะได้รับค่าจ้างนับถอยหลังขึ้นไป 4 เดือน นับจากเดือนที่ขอรับชำระหนี้ แต่จะมีบุริมสิทธิไม่เกิน 300 บาทต่อคน ส่วนคนงานนั้นมีสิทธิจะได้รับค่าจ้าง นับถอยหลังขึ้นไป 2 เดือน นับจากเดือนที่ขอรับชำระหนี้ แต่จะมีบุริมสิทธิไม่เกิน 150 บาทต่อคน ส่วนเงินค่าจ้างที่ยังคงค้างแก่เสมียน คนใช้ และคนงานนอกจากบุริมสิทธินั้นยังตกเป็นหนี้สามัญ ซึ่งเจ้าหนี้เหล่านี้จะได้รับเฉลี่ยตามส่วนเหมือนอย่างเจ้าหนี้สามัญทั้งหลายนั่นเอง


สำหรับลำดับของบุริมสิทธิของเจ้าหนี้เหล่านี้ถือเป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิในลำดับที่ 4 ถัดจากมูลหนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน ค่าปลงศพ และค่าภาษีอากร(9)


2.2 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้อง กับบุริมสิทธิในหนี้ที่เกิดจากการจ้างแรงงาน พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์จะสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้าง โดยจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างซึ่งประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และสำหรับกรณีว่างงาน(10)


มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างออกเงินสมทบเข้ากองทุน ฝ่ายละเท่า ๆ กัน ตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง(11)

นอกจากนี้ นายจ้างซึ่งไม่นำส่งเงินสมทบในส่วนของตน หรือในส่วนของลูกจ้าง หรือส่งไม่ครบจำนวนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ นายจ้างยังมิได้นำส่ง หรือของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่ นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ(12)
มาตรา 51 ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติว่า “หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระเงินสมทบ และหรือเงินเพิ่ม ให้สำนักงานมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”


ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิไม่ใช่ลูกหนี้เหมือนอย่างในบทบัญญัติมาตรา 257 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่คือสำนักงานประกันสังคม แม้ว่าหนี้นั้นจะมีนายจ้างเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกันก็ตาม

สำหรับเงินหรือหนี้ที่มีบุริมสิทธิก็ไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินสมทบที่จะต้องจ่ายตามมาตรา 46 และเงินเพิ่มตามมาตรา 51 นั่นเอง จะเห็นได้ว่า เงินนี้ไม่ใช่ค่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นเงินหรือหนี้ที่กฎหมายบัญญัติให้ลูกหนี้คือนายจ้างมีหน้าที่จ่าย เนื่องจากมีสถานะเป็นนายจ้างที่ได้จ้างลูกจ้างอันถือเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้(13) นอกจากนี้ มีข้อสังเกตอีกว่าเงินสมทบ และเงินเพิ่มนี้ ไม่มีการกำหนดอัตราสูงสุดเอาไว้เหมือนอย่างกรณีของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น จึงน่าจะถือว่าเป็นหนี้บุริมสิทธิทั้งจำนวน

ลำดับของบุริมสิทธิในหนี้เงินสมทบ และเงินเพิ่มนี้ อยู่ในลำดับเดียวกันกับบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งคือลำดับที่ 3 และอยู่ในลำดับที่สูงกว่าบุริมสิทธิในมูลค่าจ้าง เสมียน คนใช้ คนงาน


2.3 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ ลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย หรือฟื้นฟู สมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือค่าทำศพ ตามแต่กรณี(14)

นอกจากนี้ นายจ้างยังต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง ทั้งนี้เป็นอำนาจของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในการประกาศกำหนดประเภทและขนาดของกิจการและท้องที่ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ ตลอดจนกำหนดอัตราเงินสมทบไม่เกินร้อยละ 5 ของค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายแต่ละปี(15) ในกรณีที่นายจ้างผู้ใดไม่จ่ายเงินสมทบภายในกำหนดเวลา หรือจ่ายเงินสมทบไม่ครบจำนวนตามที่จะต้องจ่าย ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อเดือนของเงินสมทบที่จ่าย(16)

มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 บัญญัติไว้ว่า “หนี้ที่เกิดจากการ ไม่ชำระเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ให้ลูกจ้าง หรือสำนักงานมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้าง ซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

เจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิตามพระราชบัญญัตินี้มี 2 บุคคล คือ ลูกจ้าง เป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิในหนี้เงินทดแทน และสำนักงานกองทุนเงินทดแทน(17) เป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิในหนี้เงินสมทบ หรือเงินเพิ่ม ส่วนนายจ้างเป็นลูกหนี้ โดยเงินทดแทน เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มเป็นหนี้บุริมสิทธิทั้งจำนวน เพราะไม่มีการกำหนดอัตราสูงสุดเอาไว้เหมือนอย่างกรณีเงินค่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เช่นเดียวกันกับกรณีของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ลำดับของบุริมสิทธิในหนี้เงินทดแทน เงินสมทบ และเงินเพิ่ม อยู่ในลำดับที่ 3 เหมือนกันกับบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และอยู่ในลำดับที่สูงกว่าบุริมสิทธิในมูลค่าจ้างเสมียน คนใช้ คนงาน


2.4 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายที่รัฐได้บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำใน การใช้แรงงาน เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรม เหมาะสมกับสภาพการณ์ในสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับฉบับปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป(18)

กฎหมายฉบับนี้มีขอบเขตการใช้บังคับกับการจ้างแรงงานทุกประเภท แต่ไม่ใช้บังคับกับ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(19) หรือกิจการที่มีกฎกระทรวงยกเว้นไว้(20) นอกจากนี้ ตามมาตรา 22 งานเกษตรกรรม งานประมงทะเล งานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้า เรือเดินทะเล งานที่รับไปทำที่บ้าน งานขนส่งและงานอื่น ๆ ที่เห็นควรออกพระราชกฤษฎีกาโดยกำหนดในกฎกระทรวงให้มีการคุ้มครองแรงงานกรณีต่าง ๆ แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11 บัญญัติว่า “หนี้ที่เกิดจากการไม่ชำระค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสะสม เงินสมทบ หรือเงินเพิ่มให้ลูกจ้างหรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณี มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของนายจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามของค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ เงินสะสม เงินสมทบ ไว้ดังต่อไปนี้

“ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวนตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

ค่าล่วงเวลา” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
ค่าทำงานในวันหยุด” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด

ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด

ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

ค่าชดเชยพิเศษ” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเพราะมีเหตุกรณีพิเศษที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เช่น การเลิกจ้างเนื่องจากนำเครื่องจักรมาใช้ตามมาตรา 121 เป็นต้น

เงินสะสม” หมายความว่า เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

เงินสมทบ” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้แก่ลูกจ้างเพื่อส่งเข้าสมทบกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

สำหรับเงินเพิ่มนั้น ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตลอดจนค่าชดเชย หรือค่าชดเชยพิเศษ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน(21)และในกรณีที่นายจ้างไม่ส่งเงินสะสมหรือเงินสมทหรือส่งไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเพิ่มให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าต่อเดือนของจำนวนเงินสะสมหรือเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งหรือที่ยังขาดอยู่นับแต่วันที่ต้องนำส่งเงินดังกล่าว(22)

จากมาตรา 11 นี้จะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิจะเป็นลูกจ้าง หรือกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน แล้วแต่กรณีตามประเภทของเงิน ดังนี้
- ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ลูกหนี้ คือนายจ้าง ส่วนลูกจ้างเป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิ
- ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ ลูกหนี้ คือนายจ้าง และลูกจ้างเป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิ
- เงินสะสม ลูกหนี้ คือลูกจ้าง ส่วนเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิ คือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- เงินสมทบ ลูกหนี้ คือนายจ้าง ส่วนเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิ คือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
- สำหรับเงินเพิ่มนั้น หากเป็นเงินเพิ่มตามมาตรา 9 นายจ้างจะเป็นลูกหนี้ และลูกจ้างจะเป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิ หากเป็นกรณีเงินเพิ่มตามมาตรา 131 นายจ้างจะเป็นลูกหนี้ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิ

หนี้เงินตามมาตรานี้นั้น กฎหมายกำหนดลำดับแห่งบุริมสิทธิไว้ว่า เป็นลำดับเดียวกันกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากร คือ ลำดับที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กฎหมายมาตรา ดังกล่าวไม่ได้กำหนดอัตราสูงสุดเอาไว้เหมือนอย่างกรณีมาตรา 257 จึงน่าจะตีความได้ว่าหนี้เงินตามกรณีกฎหมายเฉพาะนี้จะมีบุริมสิทธิเหนือหนี้ทั้งจำนวน


2.5 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2541)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 และมาตรา 257 ได้ถูกบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน ระหว่างนั้นในปี พ.ศ. 2526 ก็ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 2511/2526 พิพากษาว่า หนี้ค่าชดเชยของโจทก์ก็ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานไม่เป็นบุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 ส่วนหนี้ค่าจ้างคนงานที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เป็นบุริมสิทธิตามมาตรา 253 (4) และมาตรา 257 วรรคสอง ซึ่งโจทก์มีบุริมสิทธิในมูลค่าจ้างนับถอยหลังไปสองเดือนแต่ไม่เกิน 150 บาท

คำพิพากษาฎีกานี้เองแสดงให้เห็นว่าบุริมสิทธิในมูลหนี้ที่เกิดจากการจ้างแรงงานตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นประเภทของเงินหรือหนี้ที่ควรมีบุริมสิทธิ หรือจำนวนอัตราสูงสุดของบุริมสิทธิเอง มาตรา 253 และมาตรา 257 จึงถูกแก้ไขโดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2541 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 48 ก. วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มาตรา 253 และมาตรา 257 มีบทบัญญัติดังนี้

“มาตรา 253 ถ้าหนี้มีอยู่เป็นคุณแก่บุคคลผู้ใดในมูลอย่างหนึ่งอย่างใดดังจะกล่าวต่อไปนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ คือ
(1) ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกัน
(2) ค่าปลงศพ
(3) ค่าภาษีอากร และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้าง
(4) ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวัน”

“มาตรา 257 บุริมสิทธิในเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้แก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างนั้น ให้ใช้สำหรับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ และเงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ นับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือนแต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่ง”

มาตรา 257 ไม่ได้ให้คำนิยาม “ค่าจ้าง” “ค่าล่วงเวลา” “ค่าทำงานในวันหยุด” “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด” “ค่าชดเชย” “ค่าชดเชยพิเศษ” ไว้ว่าหมายความถึงอะไร จึงน่าจะมีความหมายตามคำนิยามที่ให้ไว้ตามกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั่นเอง

ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงบุริมสิทธิตามมาตรา 253 (3) และมาตรา 257 คือ ลูกจ้าง ส่วนผู้เป็นลูกหนี้ คือนายจ้าง สำหรับประเภทของหนี้ที่มีบุริมสิทธินั้น มาตรา 257 บัญญัติให้ครอบคลุมถึงเงินประเภท ดังต่อไปนี้
- ค่าจ้าง
- ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด
- ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ
- เงินอื่นใดที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำขึ้น

จะสังเกตได้ว่าประเภทของหนี้ที่มีบุริมสิทธินั้นได้ขยายเพิ่มเติมจากบทบัญญัติเดิมของกฎหมายที่บัญญัติเฉพาะค่าจ้างเท่านั้น ให้ขยายถึงหนี้ประเภทอื่น ๆ อีกเป็นอันมาก นอกจากนี้ กฎหมายปัจจุบันยังไม่ได้แบ่งประเภทของงานตามลักษณะงานที่ทำ คือ เสมียน คนใช้ คนงาน อย่างกฎหมายเดิม แต่บัญญัติให้ลูกจ้างทุกประเภททุกลักษณะงานมีบุริมสิทธิเท่าเทียมกัน


มีข้อน่าสังเกตว่าหนี้เงินตามมาตรา 257 นี้ ได้มีการปรับจำนวนให้สูงขึ้นกว่าเดิมแต่กฎหมายกำหนดจำกัดอัตราของบุริมสิทธิไว้เพียงนับถอยหลังขึ้นไปสี่เดือน และต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อลูกจ้างคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งบทบัญญัตินี้ต่างจากบทบัญญัติของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ไม่ได้กำหนดอัตราสูงสุดของบุริมสิทธิไว้แต่ประการใด


สำหรับลำดับของบุริมสิทธินั้น เดิมบุริมสิทธิในค่าจ้างเสมียน คนใช้ และคนงาน ถูกกำหนดไว้ให้อยู่ในลำดับที่ 4 แต่กฎหมายปัจจุบันได้ขยับลำดับของบุริมสิทธิในหนี้อันเกิดจากการจ้างแรงงานมาอยู่ในลำดับเดียวกันกับหนี้ภาษีอากร คือลำดับที่ 3 ทั้งนี้อาจเป็นการปรับให้มีความสอดคล้องกับพระราช-บัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั่นเอง

อ้างอิงข้อมูลจากบทความรองศาสตราจารย์มานิตย์  จุมปา

หมายเลขบันทึก: 54376เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2006 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท