2011G09_11_R2R_ผลลัพธ์การวิจัย..การพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย


การดูแลแบบคนทั้งคน การจากไปเมื่อพร้อม
งานวิจัยนี้เริ่มต้นจากคำถามว่า..คนไข้ระยะสุดท้ายต้องการการดูแลอย่างไร?
๑.     เราจึงไปสัมภาษณ์ญาติผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้ป่วยที่ผ่านประสบการณ์รอดตายจากการเจ็บป่วยหนัก
๒.    ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เรารู้ว่าคนไข้ที่ใกล้ตายต้องการอะไร และคนไข้ที่อาการหนักอยู่ต้องการการดูแลอะไร อย่างไรบ้าง
๓.    ผลลัพธ์ตัวอย่าง คำบอกเล่าของญาติ ดังนี้ค่ะ

 

“ตอนที่พ่อหนักๆ แต่ฉันก็ยังดีใจว่าถ้าพ่อจะเป็นอะไรไป..หมอเขาก็ไม่ได้ทอดทิ้งเลยแบบว่าถ้าแกทนไม่ไหว แกทนไม่ได้กับโรคของแกนะ แกจะจากไปก็ไม่เสียใจว่าแกจะไปเพราะหมอเขาไม่ทอดทิ้งเลยเขาเอาใจใส่ตลอด หมอเขาก็ดูแลดีทุกขั้นตอน แม้ตอนดึกเขาก็มีพยาบาลเวรอยู่ ไม่เป็นห่วง เราได้อยู่กับคนไข้ด้วยเราก็ไม่ห่วง"

 

ถ้าคนไข้ยิ่งหนักยิ่งหมอเวียนผ่านไป ไข้มันจะตื้นขึ้นมาเลย ใจคนไข้จะตื้นขึ้นมาเลย เหมือนอาการดีขี้นมาเลยครึ่งนึง ที่ว่าถ้าไม่ไปนี่ใจมันจะห่อเหี่ยว ถ้าเดินผ่านไปผ่านมาเขาก็ไม่มาใกล้เรานี่มันห่อเหี่ยว เคยถามว่าพ่ออยากให้หมอมาทำไมนะ แกบอกเปล่าก็แค่อยากให้มา แค่เห็นหน้าก็ดีใจ ไม่ต้องมาทำอะไรให้ ฉันก็มานึกว่าพ่อไม่ได้ให้หมอมาทำอะไร แสดงว่าแกเห็นหมอเหมือนเห็นอะไรวิเศษสักอย่างนึงเลยนะ แกบอกว่าแก...ชื่น...ใจ ทั้งๆที่แกหนักอยู่นี่แกยิ้มได้ มานึกดูอ้อแกเห็นหมอแล้วแกยิ้มได้  ถ้าคนไข้หนักให้หมอมาเยี่ยมบ่อยได้จะดี ไม่ใช่บางคนมาตรวจแล้วก็เปิดแฟ้มแล้วก็ไม่ทักไม่ทายเดินกลับเลยอย่างนั้นไม่ดี เขาไม่ปลื้มใจ"

 

“พ่อผมชีพจรหยุดเต้นไป 1 ครั้ง หัวใจหยุดทำงาน คนไข้เป็นบุคคลที่ผมเคารพบูชา เป็นบุคคลที่ให้ชีวิตผม เป็นบุคคลที่ให้ทุกๆอย่างกับผม ท่านได้จากผมไปแล้วบุคคลที่ผมรัก..แต่..เพราะมีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ”พยาบาล” และ ”ผู้ช่วยพยาบาล” ได้นำท่านกลับมาหาผม ผมรู้ดีว่าการกลับมาครั้งนี้ของท่าน คงจะอยู่กับผมไม่ได้นานเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่ผมก็ดีใจที่ได้ยืดเวลาในการตอบแทนพระคุณของท่านออกไปอีก

 

สรุปสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ

 

๑.คนไข้ต้องการคนอยู่เป็นเพื่อน
๒.ส่วนญาติต้องการโอกาสให้ได้ทำสิ่งดีๆ แก่คนไข้ในวาระสุดท้าย
 
                                                                                                                    ขอบคุณผู้อ่าน
หมายเลขบันทึก: 459758เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2011 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เป็นเรื่องราวที่ดีมากเลยค่ะ...บางครั้งในกระบวนการเยียวยาไม่ใช่จบลงที่การรักษาเพียงกายเท่านั้น ...สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเยียวยาไปจนถึงครอบครัวและชุมชน...

แต่นั่นก็ไม่ได้มีความหมายมากเท่าที่เราได้เยียวยาเขาที่ "จิตวิญญาณ"...

...

Large_zen_pics_007 

ติดตาม อาจารย์ kapoom มาคะ :-) ขอบคุณบันทึก คำไม่กี่คำกินใจคะ 

แค่เห็นหน้าก็ดีใจ ไม่ต้องมาทำอะไรให้

แต่ยอมรับอย่างหนึ่งว่า คนหนึ่งไม่ได้เก่งทุกอย่าง คือที่มาของ R2R เพื่อสร้างทีมคะ

ปล. ดีใจที่มีเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนางาน palliative care คะ

เรียน อ.กะปุ๋ม

ตอนดูแลคนไข้บางครั้งลืมมองญาติค่ะ พอผลลัพธ์การวิจัยออกมาแบบนี้ทำให้เราเข้าใจ ทำให้บางทีเราดูว่าคนไข้ไม่รอดแน่ แต่ก็ยัง CPR ยืดเวลากันไว้อยู่นาน หลายๆ รอบเพื่อให้ญาติทำใจค่ะ

เรียน คุณอุ้มบุญ

ขอบคุณนะคะ วันนี้อยู่เวร Stand by น้ำท่วมค่ะ

เรียน อ.หมอ CMUpal

ความจริงในส่วนตัวแล้วแอบชื่นชมคน ดี เก่ง สุข อยู่สักพักนึงแล้วค่ะ

To ใบไม้ร้องเพลง

Thanks a lot สำหรับดอกไม้+น้ำใจ

lกำลังสนใจทำ R2R การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นเรื่องยาก แต่จะพยายาม ขอบคุณมากสำหรับข้อคิด

ทำให้นึกถึงคำพูดของผู้ป่วยจิตเวชรายหนึ่ง หลังจากที่เราทำ R2R Mobile Psychi Clinic ที่ให้ผู้ป่วยไม่ต้องไปตรวจหรือรับยาที่โรงพยาบาล หากแต่มาตรวจที่วัดแทน...

"มาตรวจที่นี่ทำให้ผมได้ไปเลี้ยงวัวควายก่อนมาหาหมอครับ"...

เป็นคำพูดที่ตนเองประทับใจมาก...นี่น่ะคือ ชีวิต...

Large_zen_pics_007 

เรียน คุณสุมนมาลย์ แสงซื่อ

ยินดีร่วมแลกเปลี่ยนค่ะ [email protected] (ขอโทษด้วยที่ล่าช้า เพิ่งมีโอกาสเข้ามาคุยด้วยค่ะ)

เรียน อ.กะปุ๋ม

ตอนพัฒนาแนวทาง และตอนทำงานจริง เราต้องอาศัยทีมช่วยในรายที่ยากๆ ค่ะ เช่นรายนี้ เราโชคดีที่ได้จิตแพทย์เด็กมาช่วย ซึ่งจะทำให้เข้าใจและให้การช่วยเหลือสภาพจิตใจของครอบครัวเด็กได้มากขึ้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท