"เรื่องเล่าจากดงหลวง" 12 ผลกระทบพายุช้างสารต่อดงหลวง


... แต่ปีนี้ดงหลวงน้ำไม่พอ ขาดฝนไปสักประมาณ 1 สัปดาห์ ฝนมาจริง ท้องฟ้ามืดมาจริง แต่พัดเลยไปทางเหนือหมด ไม่ตกหนักๆเหมือนปี 48 หรือตกเพียงชั่วคราวแล้วก็เลยไป นาในที่ดอนจึงขาดน้ำไป ต้นสั้นไม่เติบโต เกษตรกรบ้านพังแดงในพื้นที่งานสูบน้ำห้วยบางทรายตัดสินใจเอาน้ำจากระบบเข้าแปลงนาหลังจากยินดีจ่ายค่าน้ำ แต่เกษตรกรจำนวนหนึ่งแปลงนาขาดน้ำทำให้ผลผลิตได้น้อยไป ผู้นำบางรายบอกว่าคาดว่าผลผลิตจะขาดไปประมาณ 30-50 % ช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม ได้น้ำมาหน่อยหนึ่งพอช่วยได้บ้างแต่ก็น้อยไป และไม่ตรงช่วงเวลาที่ต้นข้าวต้องการน้ำ ยังไม่ได้ทำการสำรวจจริงๆว่าลักษณะการขาดน้ำเช่นนี้มีจำนวนมาก น้อย แค่ไหน แต่สำรวจโดยตาเปล่าและสอบถามเกษตรกรบางรายที่คุ้นเคยกันดีก็พูดในทำนองเดียวกัน

1.        Depression Pattern : หากท่านที่เคารพสนใจเรื่องฟ้าฝนบ้างก็จะทราบดีว่า การก่อตัวของพายุระดับใดก็แล้วแต่ ในแต่ละปีนั้นมันมี Pattern อยู่จนนักอุตุนิยมวิทยาสามารถพยากรณ์ได้แม่นพอสมควร โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยี่สูงขึ้นก็ยิ่งแม่นมากขึ้น หากเราบินได้เหมือนนกมองลงมาที่ชายขอบประเทศไทยซีกตะวันออก มองจากจังหวัดหนองคาย สกลนครนครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา เรื่องลงไปจนถึงภาคใต้ แนวพื้นที่ดังกล่าวนี้จะได้รับอิทธิพลฤดูฝนไม่เหมือนกัน คือ จังหวัดหนองคาย สกลนคร นครพนมและมุกดาหารจะได้รับอิทธิพลฝนจากทะเลจีนใต้ก่อนพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่เดือน พ.ค., มิ.ย., ก.ค., ส.ค., ก.ย., ต.ค. โดยเฉพาะเดือน ส.ค., ก.ย., ต.ค. เป็น 3 เดือนที่จะมีพายุเข้าหลายลูก อย่างเดือนกันยายน ปี 2548 ประมาณวันที่ 25-28 กันยายน มีพายุ ดำเรย ภาษาเขมรแปลว่า ช้างปีนี้ พ.ศ. 2549 พายุช้างสารเข้าประมาณสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม ล่ากว่าปีที่ผ่านมา  ซึ่งก็ไม่ตกมาก ส่วนมากผ่านไปภาคเหนือ เอาน้ำไปท่วมที่น่าน เชียงใหม่โน่น  แล้วพายุลูกต่อๆมาก็ก่อตัวแล้วก็จะพัดผ่านประเทศไทยโดยมีทิศทางที่ต่ำลงไปสู่ภาคกลางและภาคใต้ในที่สุด  ซึ่งปีนี้น้ำมากที่ภาคเหนือแล้วสะสมลงมาภาคกลางจนน้ำท่วมกันเป็นประวัติการณ์  

 

2.        น้ำท่วมดงหลวงปี 48 : เมื่อปี 48 ผู้เขียนจัดประชุมเครือข่ายไทบรูที่บ้านเลื่อนเจริญเรื่องการทำแผนฝึกอบรมตามที่ ผอ.โครงการต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด วันนั้นวันที่ 25 ก.ย. 48 คุยกันไม่รู้เรื่องเลยเหมือนฟ้าถล่มลงมา ยิ่งหลังคาบ้านเป็นสังกะสียิ่งมองปากพะงาบๆแต่ฟังไม่รู้เรื่อง  ผู้เขียนเคยประสบน้ำท่วมเมื่อปี 45 มาครั้งหนึ่งแล้วปีนั้นเข้าพื้นที่ไม่ได้ ติดแค่บ้านหนองแคน อีก 2 วันน้ำก็แห้ง น้ำท่วมครั้งนั้นผู้เขียนได้รายงานให้ทางโครงการทราบจนต้องปรับแบบก่อสร้างอาคารสูบน้ำห้วยบางทรายให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตรแต่ก็เสียวๆ เดือนกันยายนปี 48 งานก่อสร้างเพิ่งเสร็จใหม่ๆ และเตรียมจะเพาะปลูกเป็น crop แรกในเดือนกันยายน ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ผู้เขียนอยู่ที่ประชุมเป็นห่วงอาคารสูบน้ำที่อยู่ริมห้วยบางทราย กลัวว่าน้ำสูงขึ้นมากเท่าใดก็ไม่รู้ กลัวมันจะจมน้ำ เป็นแย่เลย พยายามติดต่อน้องๆที่อยู่บ้านพังแดงก็ติดต่อไม่ได้ และได้ข่าวมาแล้วว่าน้ำท่วมถนนเข้าพังแดงแล้ว รีบสิ่งแรกที่คิดคือ ไปซื้อถุงปุ๋ยเพื่อเอาไปใส่ทรายกั้นทางน้ำเข้าโรงสูบน้ำ โชคดีที่ร้านค้าดงหลวงมีขาย แต่ราคาแพงหน่อยถึงใบละ 7 บาท ซื้อ 100 ใบ ใจกะไม่ถูกว่ากี่ใบจึงจะพอ เอามากไว้ก่อน  แล้วก็บึ่งรถเข้าพังแดงตามถนนสายเปรมพัฒนา แล้วก็เข้าไปไม่ได้ติดอยู่ที่บ้านหนองแคน น้ำท่วมมากเท่าปี 45 น้ำยังขึ้นมาเรื่อยๆ พบนายอำเภอพาสื่อมวลชนมาทำข่าว เด็กนักเรียนติดค้างกลับบ้านไม่ได้ นายอำเภอสั่งการให้เอาเรือท้องแบนมาบริการ ใจไม่ดีเลยทำไงดีถึงจะรู้สภาพที่โรงสูบ ติดต่อมาที่สำนักงานให้พยายามติดต่อบ้านพังแดง  และทราบว่าน้ำขึ้นสูงมากและสูงเรื่อยๆ ยิ่งใจไม่ดีมากขึ้น

 

วันรุ่งขึ้นตรวจสอบสภาพน้ำจากเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อได้ที่บ้านโพนไฮว่า น้ำยังท่วมถนนเดินทางไปไม่ได้  พวกเราจึงรีบตัดสินใจจะเดินทางอ้อมไปอำเภอนาแกแล้วเข้ากกตูม วกกลับมาพังแดง ก็ทราบว่าทางนาแกก็เข้าไม่ได้ จึงมีทางเดียวคือจากมุกดาหารไปกุฉินารายณ์เข้ากกตูมแล้วลองไปทางถนนเปรมพัฒนาลงมาบ้านพังแดง ก็ติดน้ำที่บ้านกกตูมนั่นเองจึงวกรถกลับบ้านแก่งนางออกบ้านห้วยเลา ซึ่งเป็นทางลูกรัง ต้องค่อยๆวิ่งจนถึงบ้านพังแดงพร้อมถุงปุ๋ย 100 ใบ ข้ามสะพาน รพช.เข้าเขตพื้นที่โครงการ พบว่าน้ำสูงมากแต่ไม่ท่วม เข้าไปดูโรงสูบทันที เฮ่อ...โล่งใจระยะความสูงยังอยู่ที่ ความห่างประมาณ 1 เมตรจากระดับน้ำ  และระดับน้ำกำลังลดลง ผู้เขียนทิ้งถุงปุ๋ยให้น้องๆเตรียมใส่ทรายสำรองเผื่อน้ำมาอีก ใจหายเมื่อน้ำสูงมากขนาดนั้นและหากน้ำป่ามามากกว่านี้ล่ะ......คงเข้าอาคารสูบน้ำแน่เลย...ไม่อยากนึกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง....

 

3.        น้ำแล้งปี 49 : ไม่ผิดครับผู้เขียน เขียนไม่ผิด แม้ปี 2549 น้ำท่วมน่าน เชียงใหม่ ลุ่มเจ้าพระยาแม้บ้านผู้เขียนเอง จนเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี  ความจริงคนภาคกลางคุ้นเคยกับน้ำท่วมทุกปีอยู่แล้ว  ผู้เขียนนึกภาพออกว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้างก่อนน้ำท่วมจะมาถึงในฤดูการทำนาปี ... แต่ปีนี้ดงหลวงน้ำไม่พอ  ขาดฝนไปสักประมาณ 1 สัปดาห์  ฝนมาจริง  ท้องฟ้ามืดมาจริง แต่พัดเลยไปทางเหนือหมด  ไม่ตกหนักๆเหมือนปี 48 หรือตกเพียงชั่วคราวแล้วก็เลยไป  นาในที่ดอนจึงขาดน้ำไป  ต้นสั้นไม่เติบโต  เกษตรกรบ้านพังแดงในพื้นที่งานสูบน้ำห้วยบางทรายตัดสินใจเอาน้ำจากระบบเข้าแปลงนาหลังจากยินดีจ่ายค่าน้ำ แต่เกษตรกรจำนวนหนึ่งแปลงนาขาดน้ำทำให้ผลผลิตได้น้อยไป ผู้นำบางรายบอกว่าคาดว่าผลผลิตจะขาดไปประมาณ 30-50 % ช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคม ได้น้ำมาหน่อยหนึ่งพอช่วยได้บ้างแต่ก็น้อยไป และไม่ตรงช่วงเวลาที่ต้นข้าวต้องการน้ำ  ยังไม่ได้ทำการสำรวจจริงๆว่าลักษณะการขาดน้ำเช่นนี้มีจำนวนมาก น้อย แค่ไหน  แต่สำรวจโดยตาเปล่าและสอบถามเกษตรกรบางรายที่คุ้นเคยกันดีก็พูดในทำนองเดียวกัน

 

4.        สัจธรรมความเสี่ยงของเกษตรกรและผลกระทบ: รู้ รู้ กันดีว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่เสี่ยง โดยเฉพาะการเกษตรอาศัยน้ำฝน   ก็เสี่ยงกันมากี่ชั่วอายุคนแล้ว  ผลกระทบเรื่องนี้รู้กันดีว่าบ้านพังแดงจะต้องเกิดการขาดแคลนข้าวอีกแล้วในปีนี้ แต่ละครอบครัวจะขาดข้าวไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 6 เดือน แม้แต่ผู้นำเกษตรกรของเรา เขาบอกผู้เขียนเมื่อเดือนกันยายนแล้วว่า ต้องเข้าป่าไปหาหน่อไม้ ให้เมียไปแลกข้าวที่บ้านก้านเหลืองดง กว่าข้าวใหม่จะออกและจะผ่านกระบวนการเกี่ยว ขน นวด สีข้าว ก็จะขาดข้าวไปจนถึงเดือน ธ.ค.โน้น อย่างเร็วก็เดือน พ.ย.  ดังนั้นเมื่อมีเวลาก็ขึ้นป่ากัน  หากใครมีลูกหลานทำงานก็ร้องขอให้ส่งเงินส่งทองมาซื้อข้าวกิน  ส่วนโครงการก็เรียกร้องให้เสียสละทำงานเพื่อกลุ่ม องค์กร ชุมชน  หากเราไม่รับรู้เรื่องปากท้องเขาเช่นดังกล่าว คุณผู้ทำงานพัฒนาชุมชนก็คือ การเอาเป้าหมายงาน แผนงานเป็นที่ตั้ง  โดยไม่เอาสถานการณ์ชาวบ้าน ชุมชน เป็นตัวตั้ง ทำงานเพื่อให้แผนงานบรรลุ  แต่ไม่รู้ว่าชาวบ้านที่มานั่งให้อบรม พูดถึงเรื่องอนาคตที่สดใสของชุมชน ของครอบครัว ของกลุ่ม.....สารพัด  แล้วก็ไปเขียนรายงานการบรรลุผลจำนวนครั้งที่ทำการฝึกอบรม มีจำนวนเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมตามเป้า  หรือมากกว่าเป้าหมาย..แต่เข้าไปดูครัวที่บ้านเขาซิ..มีผักไม้จากป่า 2-3 กำ มีหนูป่าที่จับได้ตัวสองตัว  ข้าวติดก้นกระติบ กับลูกเล็กๆอีก 2 คน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่มีใครเห็น หากการพัฒนาเป็นเพียง Tourism development อย่างเขาพูดกัน นักประเมินผลมาดูผลการประเมินองค์กรก็ว่าไม่เห็นก้าวหน้าเลย หรือทำไมก้าวหน้าช้า  หรือทำไมการพัฒนาตกไปอีก นักบริหารข้างบนก็มองแต่ผลตรงนั้นแหละ  แต่ไม่มองที่มาที่ไปด้วย  หาได้เข้าใจวิถีและชีวิตของท้องถิ่นไม่

 องค์ประกอบหลักของชีวิตนั้นมิได้อยู่ที่องค์กร แต่อยู่ที่ฐานครอบครัว องค์กรเป็นเสี้ยวส่วนของชีวิตต่างหาก  การที่จะทุ่มเทหรือไม่ทุ่มเทให้กับองค์กรนั้น ผู้นำเอาครอบครัวเป็นตัวตั้งหากพออยู่ได้ก็จะเสียสละเวลาให้กับองค์กร  แต่หากครอบครัวไม่มีอะไรจะกินเขาก็ต้องเลือกครอบครัวก่อน  ผู้เขียนสังเกตเห็นผู้นำคนหนึ่งที่อยู่ในสภาพนี้พูดจาแสดงวาทะด้วยเสียงอันดัง เมื่อถูกกลุ่มต่อว่าไม่ทำงาน หรือทำงานน้อยไป  หรือทำไมไม่ทำตามหน้าที่รับผิดชอบ  นี่เองที่ผู้เขียนกล่าวว่า องค์กรต้องใช้เวลาปรับตัว คือให้คนในองค์กรได้ปรับชีวิตครอบครัวกับองค์กรโดยใช้เวลาสักหน่อย ผู้เขียนมีประสบการณ์ที่สะเมิงย้อนไปแล้วเศร้าเพราะผัวเมียทำงานเพื่อส่วนรวมจน เศรษฐกิจครอบครัวพังพินาท เราไปพูดอย่างไรก็ไม่รู้ จนทั้งผัวเมียทำงานเพื่อองค์กร เพื่อชุมชนมากเกินไป ในที่สุดต้องออกจากพื้นที่เข้าสู่เมืองเชียงใหม่เพื่อต่อสู้เอาเศรษฐกิจครอบครัวคืนมา
คำสำคัญ (Tags): #ดำเรย#tourism#development
หมายเลขบันทึก: 74694เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลที่ต่อเนื่องครับ

ความขาด ความเกิน ที่ธรรมชาติให้มา ก็สอนให้คนเราอดทน โอนอ่อนผ่อนตามได้ ไม่เน้นว่า จะต้องได้ฝ่ายเดียว

ธรรมชาติ ก็ยังคงเป็นธรรมชาติ ตลอดเวลา

ธรรมฃชาติป็นอย่างนี้ คนอีสานก็เลยมีวิถีแบบนี้

ดีหมือนกันนะคะ บางที่มันก็ทำให้คนเราได้รู้จักการทบทวนและคิดตระหนักต่อตนเอง และธรรมชาติ

คุณบอน ครับ  อย่าลืมผ่านไปทางมุก หรือดงหลวงก็แวะหากันนะครับ

กาเหว่า..ใช่แล้วครับ

ขอบคุณครับทั้งสองท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท