โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการตามภูมิปัญญาท้องถิ่น



นี่คือ โครงการดีๆที่นายบอนมีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานในการจัดกิจกรรมนี้ด้วย  รายละเอียดของโครงการนี้ มีดังนี้ครับ

คณะผู้จัดการประชุมสัมมนา

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันเวลาและสถานที่ 3 พฤศจิกายน 2550 เวลา 8.30 - 15.30 น.
ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.เก่า -  ตึกโบสถ์)

หลักการและเหตุผล
  การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการมุ่งเน้นการจัดการผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วนได้มีปริมาณน้ำและคุณภาพดีใช้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม มีเหตุมีผลในเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนในรูปของลุ่มน้ำ ผู้ใช้น้ำมีจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า ใช้ภาพลักษณ์ของการจัดการทรัพยากรน้ำในเชิงระบบที่ประกอบด้วยการจัดการพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ และพื้นที่ใช้น้ำ การผสมผสานการจัดการจทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ประสานสัมพันธ์ระหว่างการใช้น้ำภาคส่วนต่างๆ อันได้แก่ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และน้ำเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เป็นการประสานร่วมมือระหว่างผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนกับบุคลากรของหน่วยงานและระหว่างหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใช้น้ำและบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ด้วยการจัดการตั้งคณะทำงานในระดับต่างๆ เพื่อการผสมผสานทรัพยากรที่เป็นความรู้ ทักษะ ประสบการณ์บุคคล ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิชาการเทคโนโลยี อุปกรณ์ โดยมีการจัดทำแผนบูรณาการลุ่มน้ำเพื่อใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการ แต่เป็นการดำเนินการในรูปของการจัดการเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรมากที่สุด โดยเฉพาะในฤดูแล้งและหมายรวมถึงฤดูฝนในบางปี ส่วนในบางพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มริมน้ำประสบปัญหาน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายรุนแรง สภาพการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นเสมอเมื่อสภาพฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อีกทั้งขาดแคลนแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำธรรมชาติตื้นเขินและถูกบุกรุกจับจองทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างพอเพียงต่อความต้องการใช้ และมีการกระจายน้ำจากแหล่งต่างๆยังไม่ทั่วถึง สภาพปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ขาดประสิทธิภาพ การกระจายน้ำและการส่งน้ำไม่มีความทั่งถึง โปร่งใส เป็นธรรมแก่ผู้มีสิทธิ์ใช้น้ำทุกภาคส่วน แต่อย่างไรก็ดี จากการรายงานพบว่า มีชุมชรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งที่อาศัยอยู่ในเขตแห้งแล้งมีปริมาณฝนตกน้อยและในเขตที่มีฝนตกมากและประสบปัญหาน้ำท่วม ได้มีการวางแผนและดำเนินการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการผู้ที่มีความต้องการใช้น้ำภาคส่วนต่างๆ กิจกรรม รวมทั้งแนวคิดประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดการน้ำ จนกระทั่งสามารถจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้น้ำทุกคนในกลุ่มผู้ใช้น้ำภาคส่วนต่างๆได้อย่างทั่วถึง โปร่งใส และเป็นธรรม พร้อมทั้งมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณค่าอย่างยั่งยืน

ดังนั้น จึงเห็นสมควรจัดให้มีวันเวลาและเวทีประชุมสัมมนาเพื่อครูภูมิปัญญา ผู้ประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในด้านความรู้ ทักษะ ประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับภูมิปัญญาการจัดการน้ำที่มีผลสัมฤทธิ์ และเพื่อการถ่ายทอด ส่งเสริม เผยแพร่ สร้างความรับรู้และความเข้าใจรวมทั้งเป็นการศึกษาค้นคว้าวิจัยภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมเพื่อการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรน้ำนั้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้นต่อไป

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างการรับรู้ และเข้าใจ หลักการ กระบวนการ และวิธีการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ
2.เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูภูมิปัญญาในท้องถิ่นด้านการจัดการน้ำที่มีผลสัมฤทธิ์ด้วยกันเอง และกับบุคลากรในสถาบันการศึกษา
3. เพื่อกำหนดโจทย์ประเด็นในการศึกษาสำรวจสภาพความเป็นจริงเพิ่มเติมและสรุปแนวทางในการศึกษาวิจัยและการพัฒนาถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการจัดการน้ำไปสู่องค์กรอื่นๆ

ขั้นตอนการประชุม
การจัดสัมมนา จะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ
 ขั้นที่ 1 เพื่อทำให้เกิดการรับรู้ / เข้าใจ โดยมีเป้าหมายผู้ร่วมสัมมนา คือ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจัดการน้ำ และสถาบันการศึกษา
- กำหนดการในการสัมมนา ขั้นที่ 1 ประกอบด้วย

1) การนำเสนอสาระที่เป็นหลักการ IWRM โดย ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มมส เวลาประมาณ 30 นาที
2) นำเสนอ ทักษะ ประสบการณ์การจัดการน้ำของครูภูมิปัญญา ในพื้นที่น้ำแล้งและพื้นที่น้ำท่วม  ดร. แสวง รวยสูงเนิน ศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ เป็นผู้ดำเนินการ เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
3) แบ่งกลุ่มย่อยเสวนา 6 กลุ่ม ประเด็นเสวนาเกี่ยวกับ ความเป็นมา หลักการ วัตถุประสงค์ ขั้นตอน กิจกรรม ผลการดำเนินงาน ปัญหาที่ประสบ สาเหตุ การแก้ไข และแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา (ใช้เทคนิคการเขียนใส่กระดาษทุกคน แล้วรวมประเด็นไว้ที่ flipchart) โดยมีวิทยากรกระบวนการประจำกลุ่ม กลุ่มละ 2 คน
4) นำเสนอผลการเสวนากลุ่มย่อยและสรุปแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา

ขั้นที่ 2 เป็นการขยายผล / ทดสอบ / ศึกษาพัฒนาเชิงวิชาการ โดยมีเป้าหมายการสัมมนาเพื่อให้ อปท. / นักวิชาการ / ผู้กำหนดนโยบาย ได้รับรู้ เข้าใจ สนับสนุนร่วมมือดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง

บุคคลเป้าหมาย
จำนวน 70 คน  ประกอบด้วย
1. ครูภูมิปัญญาที่มีทักษะในการจัดการน้ำทั้งเพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมจาก 6 หมู่บ้าน จำนวน 60 คน
 - บ.นาฝาย อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
 - บ.ดอนแดง อ.กันทรวิชับ จ.มหาสารคาม
 - บ.โพธิ์ตาก อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
และ หมู่บ้านจังหวัดขอนแก่น 3 หมู่บ้าน

2. วิทยากร 4 คน
3. คณะทำงานเป็นวิทยากรกระบวนการ 12 คน

งบประมาณดำเนินการ
  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในด้านความรู้ ทักษะประสบการณ์ที่มีผลสัมฤทธิ์ในการจัดการน้ำด้วยความเป็นธรรมและมีคุณค่าที่ยั่งยืน
2. ทำให้ทราบและเข้าใจถึงหลักการการจัดการน้ำแบบบูรณาการ
3. ทำให้ได้แนวทางในการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการตามภูมิปัญญาพื้นบ้านและแนวทางการถ่ายทอดภูมิปัญญา






 



 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท