ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูก ท่านก็หลีกเลี่ยงได้


มะเร็งปากมดลูก เป็นสาเหตุอันดับ  3 ที่ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิต
แต่สำหรับสตรีไทยนั้น มะเร็งปากมดลูกเป็นภาระโรคอันดับหนึ่ง
(จากโรคมะเร็งทุกชนิด) ที่ทำให้สตรีไทยสูญเสียปีสุขภาวะ
และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, 2548)
โดยพบว่ามากกว่า 50% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก
ไม่เคยตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกเลย อย่างน้อย 5 ปี
...
แม้มะเร็งปากมดลูก จะเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาให้หายได้
แต่โรคมะเร็งปากมดลูก ยังคงครองแชมป์อันดับหนึ่งของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิง
เฉลี่ย 7 คนต่อวัน และพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก รายใหม่สูงถึง 6,000 คนต่อปี
โดยครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อต้องเสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอาย
และกลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง
ซึ่งกว่าจะรู้ว่าป่วยความรุนแรงของโรคก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว


โรคมะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix) เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่ชื่อว่า
HPV (Human Papilloma Virus) ภาษาไทยเรียกกันว่า ไวรัสหูด
ไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์
ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ เมื่อเชื้อไวรัสจะเข้าไปที่ปากมดลูก
จะทำให้เนื้อเยื่อหรือเซลล์ ในปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลง
จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก
เชื้อ HPV เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อนและความแห้งได้ดี
สามารถเกาะติดตามผิวหนัง อวัยวะเพศ เสื้อผ้า
หรือแม้แต่กระจายอยู่รอบตัวในรูปของละอองฝุ่น
ซึ่งผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อมักหายได้เอง ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย
มีเพียง 10% เท่านั้น ที่การติดเชื้อยังดำเนินต่อไป
จนสร้างความผิดปกติให้กับเยื่อบุปากมดลูก และทำให้กลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา
โดยกระบวนการที่เชื้อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งก่อให้เกิด
มะเร็งปากมดลูก ใช้เวลานานประมาณ 10-15 ปี

เรามาดูข้อมูลปี 2552 นะครับ จากคณะทำงานศึกษาเครื่องชี้วัดภาระโรค
และการบาดเจ็บ (BOD) เกี่ยวกับค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก
ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย
...


...
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลปี 2552 วิธีการดูแผนที่ ให้ดูตามโทนสี
พื้นที่ที่มี Tone scale เข้มขึ้นมาทางสีฟ้า - น้ำเงิน
นั่นคือพื้นที่ที่มีสถิติการเสียชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
ยิ่งพื้นที่ไหนมีสีฟ้าหรือน้ำเงินเข้มมาก
พื้นที่นั้นยิ่งมีสถิติการเสียชีวิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก
ส่วนในพื้นที่ที่มี Tone scale เข้มขึ้นมาทางสีเหลือส้ม - เลือดหมู
นั่นคือพื้นที่ที่มีสถิติการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
ยิ่งพื้นที่ไหนมีสีเหลือส้มหรือสีเลือดหมูเข้มมาก
พื้นที่นั้นยิ่งมีสถิติการเสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมาก
...

SMR หรือ standard mortality ratio คือ การเปรียบเทียบอัตราตายจากโรคนั้นๆ
ในจังหวัดนั้น คำนวณจาก จำนวนตายที่เป็นจริงของพื้นที่
หารด้วยจำนวนตายที่ควรจะเป็นของพื้นที่
ถ้าพื้นที่นั้นมีการตายมากกว่าที่ควรจะเป็นค่า SMR จะมากกว่า 1
และยิ่งมากกว่า 1 เท่าใด แปลว่ามีการตายมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าพื้นที่นั้นมีการตายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ค่า SMR จะต่ำกว่า 1 และยิ่งต่ำกว่า 1 แสดงว่ายิ่งมีการตายที่ลดลงเพิ่มมากขึ้น
ถ้า SMR < 1: จำนวนตายในพื้นที่ต่ำกว่าประชาชนทั่วไป,
SMR = 1: จำนวนตายในพื้นที่เท่ากับประชาชนทั่วไป,
SMR > 1: จำนวนตายในพื้นที่สูงกว่าประชาชนทั่วไปโดยสรุป
ถ้า SMR อยู่ในโทนสีฟ้า อัตราตายของคนในจังหวัดนั้นต่ำกว่าประชากรมาตรฐาน
แสดงว่าสถานะสุขภาพของคนในจังหวัดนั้นดีกว่าประชากรโดยรวม
และถ้า SMR อยู่ในโทนสีเหลืองแดง
แสดงว่าสถานะสุขภาพของคนในจังหวัดนั้นแย่กว่าประชากรโดยรวม
...


...

มาดูกันว่า คุณอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือเปล่า

ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก
 - การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
 - การมีคู่นอนหลายคน หรือฝ่ายชายที่เราร่วมหลับนอนมีคู่นอนหลายคน
 - การคลอดบุตรจำนวนหลายคน
 - การสูบบุหรี่
 - การมีภาวะคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเป็นโรคเอดส์ 
  - พันธุกรรม
 - การขาดสารอาหารบางชนิด

 ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย ที่อาจทำให้ผู้หญิงเป็น มะเร็งปากมดลูก
 - ผู้ชายที่มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
 - ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
 - ผู้หญิงที่มีสามีเป็นมะเร็งองคชาติ
 - ผู้หญิงที่มีสามีเคยมีภรรยาเป็น มะเร็งปากมดลูก
 - ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
 - การติดเชื้อ HPV หรือการเป็นหูดที่อวัยวะเพศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
   ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
 - การรับประทานยาคุมกำเนิด ติดต่อกันเป็นเวลานาน
 
- การติดเชื้อ Chlamydia พบว่าผู้ที่ติดเชื้อ Chlamydia ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์
   จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น
 - อาหาร ผู้หญิงที่รับประทานผักและผลไม้น้อยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าคนที่รับประทานผัก
    และผลไม้
- ผู้ที่ได้ยา Diethylstilbestrol (DES) เพื่อป้องกันแท้ง

...


...

สัญญาณเตือนภัยในการเป็นมะเร็งปากมดลูก
* ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการเลยหรืออาจมีเลือดออกจาก ช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์
* ประจำเดือนมาผิดปกติ
* ตกขาวมีกลิ่น ปริมาณมาก สีผิดปกติ หรืออาจปนเลือด

หากคุณอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือ เริ่มมีสัญญาณเตือนภัยตามข้อมูลดังกล่าว
โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจหามะเร็ง อย่ารอให้ทุกอย่างสายเกินไป

การตรวจมะเร็งแรกเริ่ม

เป้าหมายของการค้นหามะเร็งเริ่มแรกคือ การค้นหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์
ก่อนที่จะเกิดอาการของโรค การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกแรกเริ่มโดยมากมาจาก
การตรวจประจำปี ในการตรวจภายในแพทย์ จะตรวจ มดลูก ช่องคลอด ท่อรังไข่
รังไข่ หลังจากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์ถ่างช่องคลอดเพื่อทำ Pap smear
ช่วงที่เหมาะสมในการตรวจภายในคือ 10-20 วัน หลังประจำเดือนวันแรก
และก่อนการตรวจ 2 วันไม่ควรสวนล้าง ยาฆ่า sperm หรือยาสอด
ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปควรตรวจภายในเป็นประจำ ทุกปี

การป้องกันมีต้นทุนน้อยกว่าการรักษานะครับ ดูแลตนเองวันนี้
ป้องกันการเจ็บป่วยในอนาคต เพราะหากพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงในการเกิด
มะเร็งปากมดลูกนั้น จะพบว่าปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ข้อนอกจากจะทำให้มีโอกาส
เป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ก็ยังนำพามาซึ่งภาระโรคต่างๆ มากมาย
เช่น Unsafe Sex เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาระโรคสูงสุดกับประชากรไทยในปี 2547
และการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยอับดับสามที่ทำให้เกิดภาระโรคในปีเดียวกัน รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

เพียงแค่ท่านดูแลการดำเนินชีวิต ไม่ให้เข้าใกล้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดูแลตนเองดีดี ท่านก็สามารถมีสุขภาพดีได้
ลดภาระโรคของท่าน ลดภาระโรคประเทศไทย สำหรับบทความหน้า
จะมีข้อมูลเกี่ยวกับ อาการของมะเร็งปากมดลูก การรักษา และผลข้างเคียงจากการรักษา
เร็วๆ นี้ครับ

ร่วมเป็นเครือข่ายกับเรา FaceBook: BOD

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/cancer/cervixcancer.htm
http://hilight.kapook.com/view/37597
http://www.thailabonline.com/sec7cacervix.htm
http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_ca.php?newsID=1&typeID=18
http://www.thaiclinic.com/medbible/cacervix.html
http://www.perfectwomaninstitute.com/human-papilloma-virus-th.php

หมายเลขบันทึก: 445041เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท