อนุทินล่าสุด


อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

วันนี้ผมหนี(ความจริงขออนุญาต)ลูกเมีย มาพังธรรมะหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช ที่คณะวิศวะ มข. ผมได้รู้จักพระอาจารย์ณรงค์ ที่มาฟังธรรมเช่นกัน ท่านบอกว่า ท่านพร้อมจะช่วยเรื่องการขยายธรรมะสู่นิสิต มมส. ที่ผมวาดฝันที่จะทำในปีงบประมาณหน้าที่กำลังจะถึงในอีกหนึ่งเดือนนี้  ท่านอยู่วัด "เมืองบึง" แถววัดพระยืน กันทรวิชัย (ห่างจาก มมส. เพียงสิบกว่ากิโลฯ เองครับ) ..... ผมเรียกสิ่งที่เกิดกับผมวันนี้ว่า ธรรมะจัดสรร



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

มีช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ฝีมือดีคนหนึ่งอยากแนะนำ สำหรับคนที่อยู่ใกล้ "ตึกคอม" ขอนแก่นนะครับ  วันที่ 22 สิงหาคม แจ็คเสียงหักคาในคอมพิวเตอร์ ซัมซุงซีรี่ 9 ทำให้"ขวัญน้อย" ลูกสาวไม่ดู "มิสเตอร์บีน" ไม่ได้หลายวัน  ตอนแรกถือขึ้นไปชั้น 4 ช่างที่ร้านหนึ่งบอกว่า "...ไม่มีทางพี่ ส่งศูนย์อย่างเดียว และศูนย์ก็ต้องเปลี่ยนบอร์ดด้วย..."  ผมไม่เชื่อเร็ว เดินไปถามอีก 2 ร้านบอกว่า ยี่ห้อนี้ทำไม่ได้ครับ.... จนมาเจอร้านชื่อ "ยิ้มคอมพิวเตอร์" ช่าง (น่าจะชื่อยิ้ม) บอกร้านซ่อมมือถือชั้น 3 น่าจะช่วยได้ เขามีอุปกรณ์  ผมเดินลงมาเจอร้าน "A&N SERVICE ช่างชื่อ "หนุ่ม" ทำอยู่ไม่นานครับ ปลดทุกข์ให้ได้ ......ท่านใดที่มีปัญหาคอมิวเตอร์ เบอร์คุณหนุ่มคือ 0836689445 ครับ (ผมประทับใจทั้งการพูดจาและความสามารถ จนรับปากน้องเขาว่าจะมาชมผ่านอนุทิน) อยู่ตึกคอม ชั้น 3 ขอนแก่นครับ....



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

บ่ายวันนี้ (29 สิงหาคม 2556) ผม พี่แจ็ค (ดร.มลฤดี เทคโนฯ มมส.) และคุณเสือ ไปสมทบกับ ศน.สุริยา  ศน.สายรุ้ง และ ศน.ดร.นุชรัตน์ จาก สพป.กส. 1 เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนบึงวิชัยสงเคราะห์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์  ท่าน ผอ.ประสบ ตรีทศ อยู่ตอนรับพร้อมครูทุกคนอย่างพร้อมหน้าเทียวครับ

ทราบว่าเมื่อวานนี้ ดร.นุชรัตน์ โทรศัพท์มาบอกทางโรงเรียนว่าให้เตรียมคุณครูที่สอนดีที่สุดในโรงเรียน ไว้ตัอนรับการนิเทศการสอนในวันนี้ ผู้เป็นตัวแทนคือ คุณครูแดง (ครูสายัณ ทิพยรัตน์กุล) ครูประจำชั้น ป. 1 และ ครูสุจิตรา สุขวิชัย ครูสอนภาษาอังกฤษ ม. 3

ข้อสังเกตสำหรับห้องเรียน ป. 1 ของครูสายัณ 

  • เด็กๆ มีความมั่นใจ กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น กระตือรือร้นอาสาตอบ มีชีวิตชีวา 
  • เด็กๆ สามารถ อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขคล่อง  
  • ครูแดงมีวิธีการสอน และจิตวิทยาหลายอย่างที่ทำให้เด็กเป็น "นักเรียนรู้" นักตอบคำถาม 
  • ผมเสนอให้ครูแดง สอนเชื่อมโยงกับชีวิตโดยนำ การสอนแบบโครงงานบูรณาการบนฐานชีวิต มาใช้สำหรับเด็กๆ  หรือ PBL มาใช้สอนเด็กๆ ครับ 

 ข้อสังเกตสำหรับห้องเรียน ชั้น ม.1 ของครูสุจิตรา

  • ครูตุ๊ก (ครูสุจิตรา) เก่งมา ทั้งการพูด ทั้งน้ำเสียง ทั้งความมั่นใจ ทุกอย่างเป็นเหมือน อาจารย์สอนมืออาชีพ ที่สอนนิสิตชั้นตรี โท เอก ที่มหาวิทยาลัย 
  • แต่ปัญหาก็คือ ท่านสอนเหมือนกับที่อาจารย์อาจารย์มหาวิทยาลัยสอนกัน คือ เน้น "Lecture" หรือบรรยาย ซึ่งเน้นการสอนทางเดียว เด็กนักเรียนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมน้อย กระบวนการสร้างความรู้เอง หรือกระบวนการงอกความรู้ใหม่ในตัวเด็กเองอาจเกิดได้น้อย 
  • ผมแนะนำท่านว่า หากมีใครสักคนบันทึกเสียงท่านไว้ในแต่ละคาบสอน แล้วนำมาแชร์ออนไลน์ให้รักเรียนฟังซ้ำได้ก็ดี 

ข้อสังเกตอื่นๆ

  •  ท่าน ผอ.ประสบ มั่นใจและฝากความหวังไว้กับครูแดง ในการทำให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเป็นมาก 
  • ที่นี่มี รอง ผอ. ฝ่ายวิชาการ ที่เข้มแข็ง และเก่งหลายด้าน ทั้งดนตรีที่ท่านจบมา ทั้งเทคโนคอมฯ ที่ท่านจบมา ท่านพูดมีหลักการ พูดเป็น แสดงได้เบื้องต้นว่า ท่านเป็นคนคิดเป็นระบบ  
  • ที่นี่ เด่นด้านอินเตอร์เน็ตและ ไอซีที และห้องสมุดมีชีวิต  เหมาะที่จะทำ "Flip Classroom"
  • ห้องสมุดมีชีวิต มีหนังสือเยอะมาก มีห้องสมุดเสียง ที่เด็กๆ จะได้ดูหนัง ฟังเสียงสื่อต่างๆ ได้ดี เรียนได้ว่า เอื้อต่อการ ออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย 
  • ยังไม่มีการสอนแบบโครงงานบูรณาการบนฐานชีวิตหรือปัญหา หรือ PBL  
  • ผมเชียร์ให้ท่าน ผอ. ให้หันมาทำ PLC กันเรื่อง Flip Classroom กับ การสอนแบบ PBL กันอย่างจริงจัง... หวังจะเชียร์ให้เป็นต้นแบบต่อไปครับ


ความเห็น (1)

ครูสุจิตราที่ ผอ. เลือกมาคงเป็นที่ยอมรับของครูและนักเรียน คาบที่มีท่าน ๆไปสังเกตการณ์อาจจำเป็นต้องใช้การบรรยายก่อน ท่านคงจะใช้เทคนิคนิคอื่น ๆที่เหมาะสมในคาบอื่นหรือเนื้อหาอื่น ๆหรือไม่ หรือท่านสอนมานานท่านรู้ว่าควรสอนอย่างไร เมื่อไร ทฤษฏีหนึ่ง ๆไม่เคย work ไปทั่วทุกสถานการณ์ เสียดายท่านไม่ได้เล่าว่าขอดูคนที่สอนแย่ที่สุด และสอนได้ปานกลาง แต่โรงเรียนนี้ตามอนุทินนี้ดูว่ามีความพร้อมค่อนข้างมากที่เอื้อต่อการทดลองแนวคิดศตวรรษที่่ 21 —ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

วันนี้ (29 สิงหาคม 2556) ผม พี่แจ็ค (ดร.มลฤดี เทคโนฯ มมส.) และคุณเสือ ไปสมทบกับ ศน.สุริยา ศน.วรายุทธ ศน.สายรุ้ง และศน.ประยูร จาก สพป.กส. 1 เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนคำปลาฝาโนนชัย ต.ขมิ้น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

เราไปถึงโรงเรียนประมาณ 9:45 ลงรถ เจอท่าน ผอ.สุรศักดิ์ ผมเดินไปทักทายตามสมควรคารวะ แล้วบอกท่านว่า กระบวนการนิเทศของเราคราวนี้ เน้นนิเทศการสอน หรือเรียกว่า นิเทศชั้นเรียน  เราจะเยี่ยมห้องเรียนก่อน แล้วค่อยมารวมสะท้อนผลกันตอนเวลา 11:30 น. แล้วท่านก็พาเราไปห้องเรียน ชั้นอนุบาล 2  ห้องเรียน ป.1  และห้องเรียน ม.1 ก่อนจะไปรวมกันที่ห้องประชุม

ข้อสังเกตสำหรับโรงเรียนคำปลาฝาโนนชัย

ณ ห้องเรียนอนุบาล 2

  • ก่อนถึงห้องอนุบาล 2 เราเดินผ่านห้อง อนุบาล 1 นักเรียนเงียบมาก ต่างกับห้องอนุบาล 2 ที่แม้จะเงียบในตอนแรก แต่พอครูแจกอุปกรณ์ทดลอง "วิทยาศาสตร์น้อย" เรื่อง "ความลับของสีดำ" เสียงดังของเด็กอนุบาลก็ประสานกันด้วยความสนุกสมใจ เหมือนได้ของที่รอมานาน
  • ห้องอนุบาล 2 ก่อนเริ่มการสอน นักเรียนกลุ่มละ 4-5  คน นั่งหันหน้าหากัน ครูเริ่มด้วยการบอกให้ตัวแทนกลุ่มมารับอุปกรณ์ซึ่งประกอบด้วย ชามพลาสติก กรรไกร กระดาษกรอง 2 แผ่น ปากกาแบบ non permanent และ แบบ permanent อย่างละ 1 ด้าม.... (ผมเดาว่าครูต้องการที่จะสอนให้เด็กฝึกการทำงานเป็นทีม ด้วยการเลือกผู้นำผู้ตาม และฝึกให้ผู้นำรับผิดชอบหน้าที่บางอย่าง แต่ การจัดขั้นตอนกระบวนการรีบเร่งเกินไป และนักเรียน "ไม่นิ่ง" สมาธิเด็กไม่ดี และตัวกระบวนการของครูเองที่เดินไปแจกอุปกรณ์ซะเอง ทำให้กิจกรรมไม่บรรลุเท่าที่ควร) 
  • ผมถามคุณครูไสว ว่า ถ้าเราแบ่งระดับเป้าหมายของการจัดกิจกรรม "ความลับของสีดำ" ครั้งนี้ออกเป็น 3 ระดับ คือ 
    • ต้องการให้เด็กชอบ เด็กสนุก ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ 
    • เข้าใจ เข้าใจว่าอะไรคือ "ความลับของสีดำ" 
    • นำไปใช้หรือเชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริง เช่น ผสมสีที่ต้องการได้ ฯลฯ
      คุณครูต้องการระดับใด ท่านบอกผมประมาณว่า เด็กจะได้เจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ และเข้าใจด้วยว่า ทำไมสีดำกลายเป็นหลายสีได้บนกระดาษกรอง ฯลฯ
  • เห็นด้วยกับท่านอย่างยิ่งว่า เด็กๆ ชอบและสนุกมาก แต่เป้าที่ 2 คงต้องปรับอีกหน่อยครับ ซึ่งได้คอมเมนต์ไปในรายละเอียดกับท่านแล้ว 
  • จากนั้นครูบอกให้เด็กๆ ช่วยกันตักน้ำจากถังที่วางไว้แล้วตั้งแต่ต้นตรงกลางโต๊ะญี่ปุ่น ลงในชามพลาสติก  (ตรงนี้ดีครับ เด็กๆ ชอบสนุก) 
  • แล้วพับกระดาษกรองแผนแรกเป็นรูปกรวย  ใช้กรรไกรตัดให้มีรูตรงกลาง  ม้วนกระดาษกรองอีกแผ่นหนึ่งเป็นรูปแท่งกลม (ตรงนี้ครูพูดว่า ม้วนเป็นมวนยาสูบของคุณตา... ไม่รู้ว่าเด็กจะพอรู้ไหม แต่สำหรับผมแล้ว ภาพมวนยาพ่อผม ผุดขึ้นในใจชัดมากครับ...ฮา) 
  • จากนั้นจุ่มลงไปในน้ำที่ตักไว้ในชามพลาสติก .... หากทำถูก จะได้ผลแบบนี้ครับ  (ขอเอารูปตอนที่เราอบรมที่ มมส. มาโชว์ นะครับ)

 

 

  •  แต่สิ่งที่ได้วันนี้ไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะ ครูเลือปากกาสีผิดยี่ห้อ ผิดชนิด ผมจำไม่ได้ว่าต้องใช้ยี่ห้องอะไร แต่ครูไสวกับครูรัตนา ต้องทดลองดูก่อนครับว่า จะได้ผลแบบ "ตื่นตา ตื่นใจ" เด็กๆ แบบภาพนี้ได้หรือไม่
  • ตอนท้าย ครูแจกกระดาษ A4 ให้เด็กๆ วาดรูป กระดาษกรอง.... แต่เมื่อครูเลือกสีผิด ผลก็เลยไม่ได้เห็นเป็นดังรูป แทบจะไม่มีสีอื่นๆ เลย นอกจากสีดำ สีคล้ำ ที่ครูพยายามจะบอกว่าเป็นสีฟ้า สีน้ำเงิน พอให้เด็กวาดรูป ก็เลยกลายเป็น "ดอกทานตะวัน" กันทุกคน
  • ข้อเสนอแนะสำคัญของการทดลองบ้านวิทยาศาสตร์น้อยคือ
    • ครูต้องทดลองทำดูก่อน 
    • ถ้าเป็นเด็กเล็กมาก เช่น อนุบาล  ไม่ถึงระดับ 2 ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องทำให้ "ทึ่ง ตื่นตา ตื่นใจ สงสัย อยากรู้" 
    • ถ้าเป็นเด็กประถม ต้องไปให้ถึง ระดับที่ 2  เด็กควรได้คำตอบด้วยตนเองว่า "ความลับของสีดำ" คือ  ความจริงสีดำอาจเกิดจากการผสมหลายๆ สีเข้าด้วยกัน 

ณ ห้องเรียน ชั้น ป. 1

  • คุณครูสำราญ ได้รับคำชมจาก ผอ. สุรศักดิ์ ว่า ดูแลเด็กดีมาก เอาใจใส่เด็กดีมาก ... 
  • ผลจากการลองคุยและตั้งคำถามกับเด็กๆ  พบว่า เด็กๆ ป.1 บวกเลขได้ และหลายคนเก่งถึงขั้นคล่อง 
  • แต่ครูสำราญ ท่านไม่ได้สอนให้เราได้นิเทศ ท่านใช้ทีวีช่อง DLTV  ให้เด็กเรียนทางไกล  เหตุผลน่าจะเป็นไปได้ว่า ท่านยังไม่มั่นใจในตนเองในวิธีการสอนของตน หรือไม่ ก็เป็นเพราะท่านยังไม่เปิดใจให้กับทีมผมและเป็นบุคลิกส่วนตน  ตอนหลังเมื่อมาถามท่านที่ประชุม จึงได้รู้ว่า เป็นไปตามเหตุอันหลัง ท่านพูดใหัฟังสั้นๆ ว่า "ทำอย่างไรก็ได้ ให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเป็น"  ผมคิดว่าเป็นคำพูดที่ออกมาจากการตกผลึก จากความมั่นใจ มั่นคง  ...ท่านเป็นครูเพื่อศิษย์ครับ 
  • อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ก็ยังคงเรียนคณิตศาสตร์แบบที่ผมเรียกว่า "ท่องวิธี" "จำวิธี" แล้ว "ทำโจทย์"  ยังไม่ใช่การเรียนคณิตศาสตร์เพื่อ "พัฒนาการคิด"  
  • ผมเสนอแนะท่านว่า หากมีอาจารย์หนุ่มๆ สาวๆ ลองค้นหาเกมส์คณิตศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์นอกกะลา มาทดลองสอน เด็กๆ จะไปได้ถึงขึ้น คิดและอธิบายวิธีคิดได้แน่

ณ ห้องเรียน ชั้น ม.1

  • คุณหญิงท่าน ผอ.สุรศักดิ์ คุณครูวิไลลักษณ์ ท่านก็เปิดทีวี DLTV เช่นกันครับ  แต่น่าสนใจตรงที่ท่านมองแบบกระบวนการได้ คือ ท่านบอกว่า กำลังให้นักเรียนฝึก "ถอดความ" หรือ "ย่อความ" หรือ "ฝึกจดบันทึก" จากการเรื่องที่ได้ฟังในทีวี.... แสดงว่าท่านไม่ได้เน้นเนื้อหาในทีวี แต่เน้นฝึกวิธีการเรียนรู้ของเด็กๆ 
  • ผมเสนอท่านว่า วิธีการสอนที่ต้นทางของ DLTV ขณะนั้น เป็นการสอนแบบเก่า อาจารย์ผู้สอนอยู่ทางโน้นควรเปลี่ยนวิธีได้แล้ว 
  • ผมคุยกับท่าน ศน.ประยูร ที่เป็น "ปราชญ์" ด้านแต่งกลอน ที่ "หาตัวจับยาก" ในเขตพื้นที่อีสานนี้...(จริงๆครับ)  พบว่าท่านมีกลอนหนึ่งเกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางในการพัฒนาชุมชนของท่าน  ...ผมคว้าโอกาสทันที เชิญให้ท่านได้คุยกับเด็กๆ และได้อ่านกลอน แล้วให้เด็กๆ ทุกคนฝึก "ถอดความ" 
  • พบว่า เด็กๆ ไม่ค่อยกล้าแสดงออกเท่าใด หมายถึง ยังไม่มั่นใจเท่าใด  ผมเลยใชโอกาสนั้น แนะนำวิธีการ "ฝึกคิด"  3 ขั้น คือ 
    • ฝึกคิด "จับความ" คือฟังแล้วจับใจความ เขียนย่อไว้ว่า เรื่องอะไร เกี่ยวกับอะไร เกี่ยวกับใคร  ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่  เรียกรวมกันสั้นว่า "ฝึกถอดความ" 
    • ฝึกคิด "หาเหตุผล" ให้ถามกับคำถามตนเองว่า "ทำไม" ทำไมท่านประยูร ถึงได้แต่งกลอนบนนั้น ทำไมผู้เขียน ผู้แต่ง เขียนขึ้น ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น คือคิด "พิจารณาเหตุผล ความหมาย" 
    • ฝึกคิด "ประเมินค่า" ดีหรือไม่ดี ดีๆ เพราะอะไร ตรงไหนบอกว่าดี ถูกหรือผิด ตรงไหนถูกตรงไหนผิด 

โดยรวม AAR กับตนเองว่า แม้วิธีการเรียนการสอนของครูจะยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก แต่การบริหารจัดการของท่าน ผอ.สุรศักดิ์ นั้นดีเยี่ยมครับ ครูทุกท่านก็จัดการห้องเรียนห้องสอนได้สะอาดเรียบร้อย สมกับที่เป็นโรงเรียนแนวหน้าของเขตฯ ครับ

และที่สำคัญ ผมคิดว่าผม อาจจะเจอครูเพื่อศิษย์ BP เข้าแล้วอีกหนึ่งคน..... จะติดตามท่านต่อไปครับ



ความเห็น (1)

วิธีการสอนที่ต้นทางของ DLTV ขณะนั้น เป็นการสอนแบบเก่า อาจารย์ผู้สอนอยู่ทางโน้นควรเปลี่ยนวิธีได้แล้ว

เห็นด้วย ดูหลายครั้งแล้วไม่ค่อยปลื้ม ควรเปลี่ยนได้แล้ว (แต่คงลงทุนทำการผลิตไปหลายล้าน คงไม่เปลี่ยนง่าย ๆ)

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

ตอนบ่ายวันนี้ เราอยู่ที่โรงเรียนนาจำปา ต.นาจำปา อ.ดอนจาน  มีความเห็นนำมาบันทึกกันลืม ก่อนจะนำรูปมาประกอบเป็นบันทึกการทำงานต่อไปครับ

ข้อสังเกตต่อโรงเรียนนาจำปา

  • พรุ่งนี้โรงเรียนจะพาเด็ก ป.1-ป.4 ไปทัศนศึกษาที่ภูผาเทิบ  วันนี้ตอนบ่ายจึงไม่มีการเรียนการสอน นักเรียนกำลังเล่นกีฬาตระกร้อและวอลเล่บอลล์กันอย่างสนุกสนาน โดยมี อ.วันชัย นั่งเป็นสังเกตการอยู่ 
  • ครูผู้หญิงทั้งหมดกำลังเตรียมตัว คือเตรียมป้ายชื่อ และสิ่งต่างๆ สำหรับการเดินทางพรุ่งนี้ อยู่ในห้องพักครู 
  • ครูอาคม นักศึกษาฝึกสอน กำลังสอนเด็ก ป. 1 ที่กำลังเรียนอย่างขมักเขม้น เด็กๆ กำลังเขียนตัวอักษรภาษาไทย 44 ตัว และภาษาอังกฤษ 26 ตัว ลงในสมุด แล้วนำมาให้ครูอาคมตรวจ  ครูอาคมกำลังตรวจงานของเด็กทีละคนๆ  เด็กหลายคนนอนเขียนกับพื้น บางคนนั่งก้มเขียน 
  • ผมสังเกตว่า เด็กๆ เขียนตัวหนังสือไม่สวย ไม่อยู่ในบรรทัด ไม่ถูกต้องหลายตัว.... ไม่สอดคล้องกับที่ครูปนัดดาบอกว่าท่านสนใจตรวจการบ้านของเด็กทุกคนอย่างละเอียด....
  • ครูวันชัยกับครูจิรันธนิน กลับมาทำอย่างที่ท่านได้นำเสนอไว้คราวที่ได้อบรมที่มหาสารคาม คือ กลับมาคัดกรองเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีจำนวน 24 คน และกลุ่มที่อ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง พอได้แต่ไม่พอใจจำนวน 44 คน แล้วจัดเวรครูเข้าสอนพิเศษทุกวันจันทร์และวันพุธ .... ครูจิรันธนินบอกว่า ได้ผลดี ท่านยกตัวอย่างเด็กชายคำวิสัย ที่เปลี่ยนแปลงพฤิตกรรม และผู้ปปครองก็พอใจ ....
  • ครูไม่มีการบันทึกการเรียนรู้เชิงพฤติกรรมของเด็กรายบุคคล มีการตรวจเช็คว่าเด็กมาเข้าเรียนพิเศษหรือไม่ และมีการประเมินด้วยเครื่องมือเชิงปริมาณทั่วไป .....
  • มีศูนย์บริบาลเด็กเล็กอยู่ในพื้นที่บริเวณโรงเรียน 
  • เด็กๆ กล้าคุย เราเรียกว่า "ไม่กลัวคน" แต่ไม่ค่อยเป็นระเบียบนัก รวมทั้งห้องเรียน  "ครูที่พูดไม่ได้" สามารถพัฒนาได้อีก 

ข้อคอมเมนต์

  • ครูอาคมควรเน้นการสอนด้วยวิธีการทำให้เห็น "ตัวอย่างที่ดี" ด้วย เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้ด้วยการสังเกตตัวอย่าง และซึมซับจากครู เช่น การคัดตัวบรรจงลงบนกระดาน สวยงาม อยู่ในกรอบ  และเวลาตรวจงานเด็กๆ ต้องสนใจในรายละเอียดเหล่านี้ด้วย .... เพื่อฝึกความเป็นระเบียบ สะอาด 
  • ควรเพิ่มกิจกรรมเตรียมเด็กให้ "นิ่ง" มากขึ้น หมายถึง การฝึกกิจกรรมที่จะทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น เพราะสังเกตจากงานของเด็ก ป. 1 (ชั้นอื่นๆ ไม่ได้นำมาพิจารณา) เด็กไม่กลัวคน กล้า แต่ดื้อ "ไม่นิ่ง" 
  • การทำ PLC ของครูวันชัยกับครูจรันธนินกับเพื่อนครู เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ท่านอาจารย์บอกว่าสำเร็จผลบ้างแล้ว อยากให้ทำต่อไป ... มีวิธีหนึ่งที่สำคัญและได้ผลดีคือ ใช้เด็กกลุ่มที่ 3 คือเด็กเก่ง มาช่วยสอนเด็กอ่อนด้วย จะทำให้เด็กเก่งๆ ขึ้น เด็กอ่อนดีขึ้น เกิดระบบพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน 
  • ที่นี่ยังไม่มีการสอนโครงงานบูรณาการ .... จึงอยากเชียร์ให้มี ผมก็อธิบายไปเยอะเหมือนๆ กับที่อธิบายให้โรงเรียนด่านใต้วิทยาฟัง
  • ที่นี่เด่นเรื่องการสอนแบบ "ครอบครัว" ครูเป็นกันเองกับเด็กๆ น่าจะเป็นจุดสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ รูปแบบการพัฒนาทักษะอนาคตของบริบทตนเองได้ 

สู้ๆ ครับ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

วันนี้ ผมกับคุณเสือ ศน.สุริยา ศน.สายรุ้ง และ ศน.วรายุทธ ตรีสกุล เดินทางไปเยี่ยมครูที่โรงเรียนในเขตพื้นที่ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 ภายใต้โครงการพัฒนาครูแบบ Coaching และ Mentoring  2 โรงเรียนคือ โรงเรียนชุมชนโพนงามประสาทศิลป์ ต.โพนงาม อ.กมลาไสย และ โรงเรียนนาจำปา ต.นาจำปา อ.ดอนจาน  มีความเห็นนำมาบันทึกกันลืม ก่อนจะนำรูปมาประกอบเป็นบันทึกการทำงานต่อไปครับ
ข้อสังเกตต่อโรงเรียนชุมชนบ้านโพนงามประสาทศิลป์

  • โรงเรียนสะอาดเรียบร้อยมากครับ เหมือนที่ด่านใต้ฯ และบ้านแกหัวแฮดฯ เมื่อวานนี้.... ความสะอาดเรียบร้อยสำคัญและจำเป็นในการบ่มเพาะอุปนิสัยพอเพียงให้กับเด็กๆ  .... มีผูใหญ่ท่านหนึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า  "ครูที่พูดไม่ได้"
  • คุณครูปรียาภรณ์มีความสุขในการสอนมาก ความสุขในตัวครูสำคัญมาก เพราะความสุขจะแผ่ไปยังเด็กๆ ผ่านสีหน้า ท่าทาง การพูดจา เด็กๆ จะสัมผัสสิ่งนี้ได้ .....นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ..."ครูเป็นอย่างไร เด็กจะมีแนวโน้มเป็นอย่างนั้น ในชั้นเรียนประถม"
  • ครูสุปราณี มีความคิดสร้างสรรค์ในการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนคณิตศาสตร์ โดยใช้การใช้เกมส์และการแข่งขันด้วยคะแนนมาเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กๆ อยากเรียนคณิตศาสตร์ ถือเป็นก้าวสำคัญของการ "ขยับ" ออกมาจากวิธี "สอนทางเดียว"
  • ครูไพจิตร (อาจจำสลับกับครูสายใจ) ที่สอนเรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ให้เด็กๆ ฟัง  และให้เด็กนั่งหันหน้าเข้าหากัน ท่านก็กระตือรือล้นที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการการสอน และสรรหาสื่อภาพสมจริงสวยงามมาให้เด็กๆ ได้เห็นครับ
  • เศรษฐกิจชุมชนและสังคมดีมาก ค่าแรงสำหรับการรับจ้างปักดำนาสูงถึงวันละ 350 บาท พร้อมจัดรถรับส่งด้วย ชุมชนมีชื่อเสียงด้านทำ "หมอนขิด" .... ชาวบ้านในเขตพื้นที่กาฬสินธุ์มีฐานะดี เพราะน้ำจากเขื่อนลำปาว ชลประทานจากแม่น้ำลำปาว ทำให้ชาวนาทำนาได้หลายครั้งต่อปี บางครอบครัวเลี้ยงกุ้ง บางครอบครัวเลี้ยงปลาในกระชัง บ้างปลูกยางพารา บ้างปลูกมันสัมปะหลัง ..เรียกว่า "อุดมสมบูรณ์" สมกับที่เป็น "เมืองน้ำดำ" 
  • เป็นอีกโรงเรียนที่ยังไม่พบว่า จัดการเรียนการสอนแบบ "โครงงานบูรณาการชีวิต"  
  • นักเรียนยังไม่กล้าคิดกล้าพูด กล้าแสดงออกมากนัก....

ขอคอมเมนต์สำหรับ โรงเรียนชุมชนโพนงามประสาทศิลป์

ผมมีเสนอข้อความเห็นและข้อเสนอแนะ 5 ประการ ดังนี้ครับ

  1. ต้องสอนให้นักเรียนทุกคนได้ "ฝึกคิด" ผมทดลองสอนแบบ "พาคิด" อ่านได้ที่นี่ครับ ผมให้ท่านอาจารย์ไพจิตรท่านสะท้อนว่า เห็นอะไรบ้างจากการสาธิตการสอนของผม ท่านใช้คำว่า "เห็นเด็กมีส่วนร่วมในการเรียน"
  2. ควรสอนจาก "สำรวจความรู้เดิม" แล้วค่อย "เติมความรู้ใหม่" แล้วไปต่อให้ถึง "นำไปใช้" หรือเชื่อมโยงกับชีวิตเสมอ (อ่านตัวอย่างได้จากการสอนแบบ "พาคิด" ที่นี่ครับ)
  3. ออกแบบให้ได้ "ฝึกทักษะ" คือเน้นกระบวนการ ไม่ติดเนื้อหา  ด้วยการออกแบบให้ได้ ฝึก 4 อย่างคือ "สืบค้น" "ถอดบทเรียน" "สร้างสื่อหรือชิ้นงาน" และ "นำเสนอหรือเผยแพร่" เป็นต้น  คอมเมนต์ข้อนี้สำหรับครูปิยภา ครูในโรงเรียนควรสอบถามว่าการสอนเน้นกระบวนการที่ผมให้ความเห็นแนะนำนั้นทำอย่างไร
  4. การออกแบบการเรียนการสอนควรคำนึงถึงคำว่า "คุ้มค่า" ท่านใดอยากรู้ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ให้ถามคุณครูปราณีนะครับ ท่านใช้เกมส์สอน แต่ผมเสนอว่าโจทย์ปัญหาอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เราใช้ และไม่ทั่วถึงเด็กทุกคน 
  5. การเรียนการสอนต้องไปให้ถึงคำว่า "คุณค่า" หรือ "ความหมาย" อันนี้คอมเมนต์ทุกโรงเรียน  กรณีของโพนงามฯ เราคุยกันเรื่องสัตว์ประจำชาติ .....

จบภาคเช้าวันนี้ครับ 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

ตอนบ่ายวันนี้เราอยู่ที่ โรงเรียนด่านใต้วิทยา  (เรารวม คุณเสือ ศน.สายรุ้ง และ ศน.สุริยา)

มีข้อสังเกตดังนี้ที่ด่านใต้วิทยา

  • โรงเรียนสะอาดเรียบร้อย เป็นระเบียบมากๆ เหมือนที่ ร.ร.บ้านนาแกหัวแฮดส้มโฮง 
  • ผมรู้สึกว่า นักเรียน มีระเบียบ เรียบร้อย มีสัมนาคารวะ สรุปรวมคือ นักเรียนมีวินัยมาก ....(แม้ว่าจะไปอยู่เพียง 3 ชั่วโมง)
  • แม้ว่าจะยังไม่จัดให้นักเรียนมีการ "ถอดบทเรียน" กันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ แต่นักเรียนชั้น ม. 3 ที่ผมเข้าไปทดลองสอนดู ก็สนใจเรียนรู้มากๆ  (ตามีแวว เป็นประกาย มีสมาธิดี)
  • นักเรียนบอกว่าข่าวที่ดังที่สุดคือ "ข่าวสมีคำ" และไม่ได้บอกข่าวอื่นที่ทันเวลากว่านั้น.. ผมพูดกับนักเรียนเพื่อทำให้เขาเห็นความสำคัญของการตามข่าวสำคัญของโลกว่า
    • หากคำว่า "ประวัติศาสตร์" คู่กับคำว่า "อดีต"
    • หากคำว่า "อนาคต" คือ "ความฝัน ที่เรามุ่งมั่น"
    • คำว่า "ปัจจุบัน" ก็น่าจะเป็นคำว่า "ข่าว" 
    • "ข่าว" ที่สำคัญในปัจจุบัน จะกลาย "ประวัติศาสตร์" พลันในอดีต ผู้ที่แตกฉานอดีตจะสามารถทำนายอนาคต ...
  • ผมเล่าเรื่อง ชายคนหนึ่งไปท้าทายหลวงปู่ชา สุภัทโท ให้เด็กๆ ฟัง ดังนี้ครับ ...มีชายคนหนึ่งไปถามหลวงปู่ชาว่า  ..... "หลวงพ่อครับ ชาติหน้ามีจริงไหมครับ ........ หากมีจริงพาผมไปดูหน่อย " หลวงปู่ชาไม่ตอบ แต่ท่านถามกลับว่า
    .."พรุ่งนี้มีจริงไหม" ชายคนนั้นตอบว่า "มีซิครับ"  หลวงปู่บอกต่อว่า "งั้นโยมก็พาไปดูพรุ่งนี้หน่อยซิ"....(.สุดยอดไหมครับ สำหรับผมแล้ว นี่เป็นสุดยอดของการสอน)
  • ครูมีความมั่นใจในตนเองสูงครับ  คุณครูสุจรินทร์ไม่เกร็งเลยแม้แต่น้อยครับ ตอนที่ผมเข้าไปสังเกตการสอนของท่าน ตอนมาประชุมสะท้อนผล มีครูกล้าตั้งคำถามที่ตรงประเด็น.... ผมว่าที่เป็นอย่างนี้ เพราะท่าน ผอ.อภิรักษ์ ท่านมีบุคลิกเป็นกันเอง ทำให้ทุกคนกล้าคิด กล้าทำ...
  • ยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ "PBL" หรือ การสอนแบบโครงงานบูรณาการบนฐานชีวิต (เหมือนๆ กับโรงเรียนที่ไปมาทั้งหมด ยังไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง)

คอมเมนต์ของผม สำหรับ โรงเรียนด่านใต้วิทยา

  • ขอชื่นชมความสะอาด เรียบร้อย และเด็กที่มีวินัยของด่านใต้มากครับ เมื่อถามว่าทำอย่างไร...ผมจับได้จากคำตอบแบบไม่ละเอียดนักว่า 
    • ท่านบอกว่า "เราคุยกันจน..... ไม่รู้กี่ครั้งเรื่องทำอย่างไรเด็กถึงจะมีระเบียบ..." แสดงว่า เกิด PLC แล้วครับ
    • ท่านบอกว่า "การยืนประจำหน้าประตูที่ทำมาต่อเนื่อง ทำให้ได้รู้จักเด็กเป็นรายคน ... และเห็นผลชัดว่า นักเรียนเปลี่ยน อยากมาเรียนหนังสือ"...แสดงว่า ท่านต้องใช้ "จิตวิทยาเชิงบวกแล้วแน่ๆ ครับ
    • ท่านบอกว่า "เด็กๆ .... เข้าไว้ก็ไม่ฟัง หยุดไว้ไม่อยู่ ครูพูดไม่ทัน...." แสดงว่า ที่ผมมองเห็นว่า นักเรียนมีตามีแววเป็นประกาย ไม่น่าจะผิด  เพราะความมั่นใจ ภูมิใจ และกล้าคิด จะทำให้จิตส่งพลังออกทางหน้าต่างกลาง "หน้า" และ "ตา" .....(วิชา โหงวเฮ้ง ของจีน ...ไม่ได้คิดเล่นๆ ครับ)
  • ผมแนะนำเด็กห้อง ม. 3 ว่า เราต้องสนใจ "ข่าว" เพราะการตามข่าวที่สำคัญในปัจจุบัน จะทำให้เราแตกฉานอดีต "ประวัติศาสตร์" ซึ่งจะทำให้ชาญฉลาดในการทำนายอนาคต
  • ผมถาม นางสาวศรารัตน์ (อาจจำชื่อผิด) ว่า จบจาก ม. 3 แล้วจะไปอย่างไรต่อ "จะไปเรียนต่อ ม.6 ที่..... ค่ะ" เมื่อถามต่อว่าแล้วจากนั้นล่ะครับ เธอตอบว่า จะไปเรียนเป็น "พยาบาล" ... "แล้วเป็นพยาบาลแล้วไงต่อครับ"......ทุกคนหัวเราะแต่ก็ไม่มีเสียงตอบใดๆ ...... ผมแนะนำเด็กๆ ว่า เราควรหาคำตอบของคำถามที่ไม่มีคำตอบ เช่น เกิดมาทำไม เรียนไปทำไม ไม่เรียนได้ไหม ฯลฯ
  • ผมแนะนำคุณครูสุจรินทร์ว่า เราควรออกแบบการสอนให้นักเรียนได้ฝึกให้ครบทั้ง "นำเข้า" และ "นำออก" และออกแบบให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม ศน.สายรุ้งบอกว่า ทำให้ห้องเรียน "มีชีวิตชีวา" ....(ใช่ๆๆ คำนี้แหละที่ผมจะพูด ..ผมคิดในใจตอนนั้น)
  • ผมสรุปกับ ผอ.อภิรักษ์ และครูด่านใต้ฯ ว่า ทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงอยากเชียร์ให้สอนแบบ "โครงงานบูรณาการบนฐานชีวิต"  ผมเสนอด้วยครับว่า การเรียนรู้บนฐานโครงงานบนฐานชีวิตที่มีดี มีลักษณะดังต่อไปนี้
    • เป็นหัวเรื่องหรือปัญหาที่มีคุณค่า เป็นปัญหาในชีวิตจริง เกี่ยวข้องกับอาชีพหรือความเป็นอยู่เป็นไปของนักเรียน ชุมชน หรือสังคมจริงๆ .....ปัญหาที่ถ้าเด็กทำสำเร็จแล้วเขาจะภูมิใจมาก....ปัญหาแบบนี้เด็กๆ จะได้ "ทักษะชีวิต"
    • เป็นโครงงานที่เด็กๆ จะต้องใช้สมาธิและความพยายามอยู่กับเรื่องนั้นเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 เทอม หรือ 1 ปี ผมเสนอว่า ผอ.อภิรักษ์ ควรจัดให้มี รายวิชาสักวิชา ที่เด็กและครูจะได้เรียนเรื่อง PBL นี้อย่างจริงจัง ผมยกตัวอย่างว่า วิชานี้อาจจัดแบบนี้ว่า 
      • อาทิตย์ที่ 1-2 ระดมปัญหาร่วมกันบนกระดาาคลิปชาร์ท และนำเสนอหน้าชั้นเรียน
      • อาทิตย์ที่ 3-4 ลงสำรวจและเก็บข้อมูลปัญหาที่เด็กๆ เลือกในชุมชนหรือสังคม หรือสถานที่จริงๆ
      • อาทิตย์ที่ 5-6 พาเด็กทำเค้าร่างโครงงาน ...ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา ทำ BAR
      • อาทิตย์ที่ 7-8 ลงพื้นที่ทดลองทำจริงๆ
      • อาทิตย์ที่ 9-10 กลับมาวิเคราะห์ "ถอดบทเรียนระหว่างการดำเนินการ" หรือเรียกว่า DAR และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
      • อาทิตย์ที่ 11-12 นำวิธีที่ปรับปรุงกลับไปทดลองแก้ปัญหาต่อ
      • อาทิตย์ที่ 13-14 กลับมาสรุปผล AAR และนำเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 
      • อาทิตย์ที่ 15 ส่งรายงาน และเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์
      • ฯลฯ
    • เป็นโครงงานที่ทั้งนักเรียนและครูได้เรียนรู้ร่วมกัน จะดีที่สุดถ้า เริ่มต้นทั้งนักเรียนทั้งครูไม่รู้คำตอบ.....
  • ผมเชียร์ให้เรียนแบบ PBL  เพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ครับ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

วันนี้ผมกับคุณเสือ เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนที่ประถมขยายโอกาส สังกัด สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 2 โรงเรียนคือ ร.ร.บ้านนาแกห้วแฮดส้มโฮง และ ร.ร. ด่านใต้วิทยา 

ข้อสังเกตที่ ร.ร.บ้านนาแกฯ 

  • ผอ.ประสงค์วิสัยไกลมาก มีการนำเทคนิคต่างๆ จากทั้งต่างประเทศและในประเทศมาพัฒนาโรงเรียนตนเอง เช่น การทำแผนที่อาเซียนขนาดยักษ์ (และแผนที่โลก) สลักไว้บนพื้นให้เด็กนึกเชื่อมโยงขนาดและตำแหน่งจริง เหมือนที่ สิงคโปร์ชอบทำ...
  • ที่โรงเรียนเปิดให้บริการอินเตอร์เน็ต wi-fi ทั่วบริเวณโรงเรียน ไม่เฉพาะครูและนักเรียน แต่เพื่อวัยรุ่นเลือดใหม่ในหมู่บ้าน ที่แต่ก่อนเพ่นพ่านก่อเรื่อง 
  • คุณครูบอกผมว่า เด็กๆ ที่ใช้อินเตอร์เน็ต เล่น facebook ได้เกือบหมด ....สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ปกครองฐานะดี และต้นทุนเรื่องไอซีทีโดดเด่น ......ผมพยายามชี้ให้เห็นโอกาสของ Flip-class-room 
  • ที่นี่จ้างครูชาวต่างชาติชาวฟิลิปปินส์ 2 ท่าน ท่านหนึ่งมีลูกสาวเรียนที่นี่ด้วยทั้ง 2 คน .... นี่เป็นโอกาสของโรงเรียนที่จะมอบหมายให้ครูท่านนั้นทำงานเพื่อเด็กๆ อย่างเต็มที่ เพราะที่นี่คือ "บ้าน" ของท่านแล้ว 
  • การสอนของครูยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการมากนัก เป็นการสอนเชิงเดี่ยว PLC ครู ยังไม่เห็นชัด ที่เห็นชัดคือความพยายามของผู้อำนวยการ .... สู้ๆ ครับท่าน 
  • ครูส่วนใหญ่คงใกล้เกษียณแล้ว มีครูหนุ่มสาวน้อย การทำ teachless learnmore ด้วย ICT เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณา แม้ว่าจะยาก ดังที่บอกว่าครูที่ถนัดไอซีทีต้องเป็นกำลังสำคัญ
  • คุณครูสมบูรณ์ ที่สอนภาษาไทย ตั้งใจมาก ท่านใช้เพลงในการสอน ผมนึกถึงคุณครูที่โรงเรียนนาโพธิ์ สพป.มค.3
  • ครูณัฐวุฒิ เป็นครูรุ่นใหม่ จบมาทางวิทย์ ชีววิทยา ด้วยชะตาอย่างไรไม่รู้ ต้องมาเป็นครูคณิตศาสตร์ มุ่งมั่น ตั้งใจ ขวนขวาย ท่านใช้เกมส์คณิตศาสตร์ที่สิืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ตมาสอน....ดีครับ... แต่ควรมี PLC พี่เลี้ยงช่วยแนะและสะท้อนผลที่เกิดกับเด็ก .... 

ผมคอมเมนต์กับ ร.ร. บ้านนาแกฯ

  • ออกแบบให้ "เรียนรู้จากธรรมชาติ"  เป็นข้อคิดแนะเมื่อได้เห็น ครูสอนอนุบาลมอบหมายงานให้เด็กๆ ทำ "ดอกไม้" เดาว่าวิธีการคือครูพาทำ พาพับ พาจับ แล้ววางให้ทุกคนทำเอง ผลคือ เด็กๆทุกคนทำได้ ทุุกคนทำเหมือนกันหมด ถามว่า "ดอกอะไร" เด็กเงียบ... มีเสียงตอบ "ดอกไม้"..... ผมคิดว่าเด็กอนุบาล 2 รู้จักดอกไม้หลายชนิดแล้ว หากขยายต่อจากตรงนี้เป็น "ดอกอะไร....." เติมมิติของการเรียนรู้ "เรื่องราว" และ "ความหมาย" โดยวิธีง่ายๆ วิธีหนึ่งคือ มีดอกไม้จริงๆ มาวางไว้ให้เด็กทดลองทำดู หรือเรียกว่า "เรียนรู้จากธรรมชาติ" จริงๆ น่าจะดี...
  • ผมเสนอกับ อ.แอนดี้ ชาวฟิลิปปินส์ว่า วิธีการหนึ่งที่ได้ผลมากคือ การสร้าง "เด็กแกนนำ" หรือ "เด็กจิตอาสา" (ตามครูศิริลักษณ์ ชมพูคำ) เพราะผลงานวิจัยชี้ชัดว่า "วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการสอน" ดังนั้นการใช้เด็กจิตอาสา ช่วยในการสอนภาษาอังกฤษแล้ว นอกจจะช่วยการสะกดคำ และรู้จริง ไม่ใช่จำท่องแบบนกขุนทองไม่รู้ความหมายแล้ว ยังช่วยให้เด็กแกนนำแก่งขึ้น
  • ผมเสนอกับครูณัฐวุฒิว่า "ขั้นบันไดที่เหมาะสม" คือปัจจัยสำคัญมากในการทำให้เด็กนักเรียน เรียนแบบมีความสุขสนุกที่ได้เรียน
  • ผมบอกครูสมบูรณ์ ที่สอนด้วยเพลงว่า "การเลือกเพลง" ถ้าครูเป็นคนเลือก เหตุผลในการเลือกเพลง คือสิ่งที่ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ KPA ที่ต้องการ  ถ้านักเรียนเลือก "นักเรียนจะเลือกเพลงที่ตนเองรู้และร้องได้" ความสนุกและรักเรียน ความเพียรเรียนเองก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย .... ผมว่าอาจต้องใช้ทั้งสองวิธี... 
  • คุณครูสอนพลศึกษาท่านบอกว่า วิธีสอนของท่านเน้นจาก ปฏิบัติ -> ไปสู่ทฤษฎี  ผมเสริมท่านทันทีว่า มีทฤษฎีหนึ่งที่ผมถือปฏิบัติเป็นหลักการคือ ระเบียบวิธีวิจัยแบบ "แผ่นดินแม่" ของ ศ.ดร.เจตนา......
  • ผมบอก ผอ.ประสงค์ว่า วันนี้ที่ได้เยี่ยมชั้นประถม  PLC ครูยังไม่เกิด การสอนยังคงเน้นการสอนแบบเดี่ยว อยู่ในขั้นกิจกรรม  การสอนยังไม่ได้เน้นกระบวนการ.... ครั้งหน้าจะกลับไปเยี่ยมมัธยม
  • ขณะทานอาหารเที่ยง ผมสรุป "หลักการเรียนรู้ จากหนังสือ How learning work" ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ ตีความไว้ และผมนำมาตีความต่อดังนี้
    • ความรู้เดิมสำคัญต่อการเรียนรู้   โดยมากเราเรียนรู้แบบ งอกความรู้ใหม่ ดังนั้น วิธีการคือต้อง "สำรวจความรู้เดิม แล้วค่อยเติมความรู้ให้งอกใหม่"
    • นักเรียนจะได้เรียนรู้ก็ต่อเมื่อ "ได้คิดหรือได้ทำเอง" เท่านั้น นี่คือเหตุผลสำคัญที่ครูต้องหันมาเป็นนักออกแบบให้นักเรียนได้ฝึกคิด ฝึกทำ เราเรียกหน้าที่แบบนี้ว่า เป็น "ครูฝึก"
    • วิธีคิดของนักเรียนมีผลต่อการเรียนรู้  ดังนั้นวิธีการคือต้อง เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างความรู้ขึ้นเอง (constructivism) แน่นอน ไม่ใช่จำ จด ท่อง แต่เป็นการท้าทายให้ทดลองหาคำตอบเอง และให้ได้นำเสนอผลงานของตนเองด้วย
    • อารมณ์และความรู้สึกมีผลต่อการเรียนรู้ ดังนั้นสิ่งที่ครูควรเตรียมให้เกิด "ในใจ" ของนักเรียนคือ ความผ่อนคลาย เพราะผลงานวิจัยชี้ชัดว่า คนเรียนรู้ตอนผ่อนคลายได้ดีกว่า
    • สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ มีผลต่อการเรียนรู้  นี่คือสาเหตุที่สำคัญที่ประเทศใดๆ นั้นก็พยายามสร้างสรรค์สร้างแหล่งเรียนรู้ให้หลากหลาย
    • การเรียนแบบรู้จริง (Mastery Learning) คือสิ่งที่ทุกคนต้องนำมาพิจารณา หาวิธีออกแบบให้นักเรียนได้เรียนด้วยการ ลงมือทำ (Learning by Doing) และนักเรียนต้องได้ สะท้อนบทเรียน (Reflection) 
    • Feedback ของครูหรือผู้ฟัง เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เกิดการเรียนรู้ ยิ่งคอมเมนต์คมเท่าใด ผู้ปฏิบัติที่รับฟังจะได้พัฒนามากขึ้นเท่านั้น
  • วันนี้ผมไปกับ ศน.สายรุ้ง (ผมถือวิสาสะ เรียกท่านว่า พี่สายรุ้ง) ผมรู้สึกว่า ท่านเก่ง ผมบอกท่านตรงๆ ว่า ศน. ที่ สพป.กส. 1 มีพลัง พลังที่จะขับเคลื่อนฯ ต่อ ท่าน ศน.สุริยา มีทีมที่เข้มแข็งครับ


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

บันทึกเรื่อง "งานประจำ...ทำโรงเรียนให้เป็นปัจจุบัน" ของ ผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจที่จะเขียนอนุทินเล็กๆ นี้ครับ

มีคำ 3 คำ ที่ผมชอบมากคือ "ไปดู" "ไปอยู่" "ไปให้" ซึ่งจะนำไปสู่ "ในหัว" "ในตัว" และ "ในใจ"

"ไป ดู" หมายถึงไปศึกษาดูงาน จะไปไกล ไปใกล้ ไปโรงเรียนเล็ก ไปโรงเรียนใหญ่ สุดแล้วแต่......  ผลลัพธ์คืออาจเป็นความรู้ความเข้าใจ เห็นตัวอย่าง ตลอดถึง "ปิ๊ง" ขึ้นมาได้ "ในหัว" ..... ความจริงการอ่าน รับรู้ ดู ผ่านอินเตอร์เน็ตก็เกิดสิ่งดี "ในหัว" เช่นกัน

"ไปอยู่" หมายถึงการลงมือทำ ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง สิ่งนี้การศึกษาดูงานไม่อาจสามารถทำได้ หรือแม้จะจัดเชิงปฏิบัติการก็ยากจะทำได้ดี เพราะไม่ใช่สถานการณ์จริง คือ ไม่สามารถ "ไปอยู่"กับเขาได้จริง สุดท้าย ต้องกับ "มาอยู่" ในโรงเรียนของตน นั่นคือ ต้องการมาลงมือปฏิบัติ คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง ถึงจะบรรลุความสำเร็จได้ ...... ดังนั้นการ "ไปอยู่" ทำได้ยาก การ "มาอยู่" เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด.....สิ่งนี้เท่านั้นที่จะทำให้เกิดความรู้และทักษะฯ ขึ้น "ในตัว" ของเรา

"ไปให้" คนที่ผ่าน "ไปอยู่" หรือ "มาอยู่" เท่านั้น ที่ผมคิดว่า สมควรที่จเหมาะสมกับการ "ไปให้" คือ การเอาประสบการณ์ ความสำเร็จ สิ่งดีๆ มาแลกเปลี่ยน แบ่งปันให้คนอื่น เพราะคนที่ลงมือคิดลงมือทำเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่จะสามารถเรียนรู้แบบรู้ จริง (Mastery Learning) ตามที่ ศ.นพ.วิจารณ์ ได้เรียบเรียงไว้...... ยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับความสุข ความภูมิใจ นำไปสู่ผลลัพธ์ "ในใจ" ที่ผู้ให้เท่านั้นที่จะรู้....



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

เมื่อวานนี้ ผมได้เรียนรู้ จากข้อความเห็นของผู้อ่านบันทึก(เกี่ยวกับการทุจริตในโรงเรียน)ท่านหนึ่ง ผมเองไม่คิดว่า การเขียนบันทึก จะก่อให้เกิดประโยชน์มากนัก แต่ อาทิตย์ก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่ง บอกว่าท่านได้รับประโยชน์จากการเขียนบันทึกของผม ผมมีแรงบันดาลใจและกำลังใจในการเขียนอย่างมาก  แต่มาเมื่อวานนี้ บันทึกหนึ่งของผม ก่อให้เกิด จิตอกุศลขึ้นกับผู้อ่านท่านหนึ่งและรวมทั้งผู้เขียนด้วย ...... การโต้เถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผล คือปัจจัยสำคัญของการพัฒนาทักษะการคิด  แต่ความขัดแย้งแบบที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองทุกวันนี้ ไม่มีส่วนใดที่จะเป็นประโยชน์เลย.....



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

 ติดกรอบ.........

เมื่อวานนี้ไปร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาเค้าโครงร่างโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
 มีคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จากหลายคณะมาร่วมด้วย  ผมใช้การฟังกว่า 95% ของการประชุมทั้งหมด  ผมเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาของการศึกษาไทยในระดับมหาวิทยาลัยคือ "ติดกรอบ" ผมตีความจากเหตุดังนี้ครับ
  •  
อาจารย์ทางมนุษศาสตร์ท่านหนึ่งเปรยว่า   "...คนสายวิทย์ มักคิดแยกเป็นเรื่องๆ เจาะจงเป็นกรณีๆ .....ทำไมต้องเป็นเรื่องโรคในถุงนำ้ดี....."
  • พนักงานท่านหนึ่งบอกว่า 
การให้บริการวิชาการของสายวิทย์  ".....ควรลดหรือตัดคำว่าถ่ายทอดออก......."

ผมฟังแล้ว ในใจก็คิดเป็นขณะขึ้นมาว่า  ผมเองก็คงกำลังติดกรอบของการที่จะหลุดกรอบ  ก็เป็นได้




ความเห็น (1)

ไม่เชื่อว่า อ.ต๋อย จะใช้การฟัง 95%ฮาๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ
ตอนขับรถกลับบ้านวันนี้พร้อมกับครอบครัว ใจผมตกผลึกลงได้ว่า คนเราสามารถดำเนินชีวิตได้ 2 แบบ คือแบบใช้เกียรติยศเงินทองเป็นฐาน และแบบใช้ธรรมหรือความดีเป็นฐาน หรือที่หลวงตามหาบัวท่านพูดว่า แบบกิเลสเป็นฐานและแบบธรรมเป็นฐาน 
  1. แบบนี้จะไขว่คว้าหา เงินทอง อำนาจ เกียรติยศ จะได้ความสุขและความมั่นใจก็ต่อเมื่อได้สิ่งเหล่านี้มา  ถ้าไม่ได้มา จะทุกข์ หาความสุขในชีวิตได้ยาก 
  2. แบบที่สองคือทำความดี ตามอุดมการณ์ของตนเอง ทุกครั้งที่ทำความดี ความสุขใจและความมั่นใจจะเกิดขึ้นทันที ความดีนั้นไม่ได้เกิดจากการเปรียบเทียบกับคนอื่น จึงเกิดขึ้นได้ง่าย และจะสะสม ยกระดับจิตวิญญาณขึ้น ซึ่งตรวจสอบด้วยการตรวจสอบความเห็นแก่ตัวของตนเอง




ความเห็น (1)

ชอบแบบใช้ธรรมและความดีเป็นฐาน....แต่แบบที่ 1 ก็ขาดไม่ได้เพราะต้องเลี้ยงชีพ  ถ้ามนุษย์โลกชอบแบบที่ 2 มากๆ  ชาวโลกคงมีความสุข

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

ขณะนั่งอยู่ในงานมอบโล่โครงการวิจัยเด่นที่โครงการวิจัย LLEN เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับเกียรติยศนี้ ผมมีความคิดว่า ถ้าหากระบบเสริมแรงที่เราทำกันอยู่อย่างเอิกเกริกในทุกวันี้ หันมาให้ความสนใจกับ ผลกระทบหรือประโยชน์ต่อสังคม เหมือนดังที่รางวัลนี้ใช้เป็นเกณฑ์วนการคัดเลือก ก็คงดีไม่น้อย  ผมประทับใจทั้ง 16 โคนงการที่เข้ารับโล่ในวันนี้  แต่ที่ประทับใจสุดๆ คือ หลายโครงการได้พิสูจน์ให้เห็นถึง พลังของการดำเนินงานด้วยการจัดการความรู้  ผมคิดขึ้นมาได้หลายอย่างอีกว่า สิ่งทีาผมจะกลับไปทำ และโดยเฉพาะที่จะพูดคุยกับครูในวันพรุ่งนี้ ในงาน show & share ของเหล่าเพื่อนครูที่ส่วนใหญ่เคยอยู่ในโครงการ LLEN ด้วยกัน  ลองจินตนาการดู ดังนี้ครับ

  1. เป็นไปได้ไหมที่เราจะจัดตารางเรียนให้เราสามารถมาคุยกันในแต่ละกลุ่มสาระๆ ละ 1ครั้งต่อเดือน โดยไม่กระทบกับการเรียนการสอนแต่ละเดือนมีการ KM ใน โรงเรียน โดยบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ ของแต่ละชั้น เดือนละ 1 ครั้ง  ผมเชื่อว่าน่าจะทำได้  แต่ไม่รู้ครูจะว่าอย่างไร


ความเห็น (2)

มาแสดงความยินดีด้วยครับ

"เป็นไปได้ไหมที่เราจะจัดตารางเรียนให้เราสามารถมาคุยกันในแต่ละกลุ่มสาระๆ ละ 1ครั้งต่อเดือน โดยไม่กระทบกับการเรียนการสอนแต่ละเดือนมีการ KM ใน โรงเรียน โดยบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ ของแต่ละชั้น เดือนละ 1 ครั้ง  ผมเชื่อว่าน่าจะทำได้  แต่ไม่รู้ครูจะว่าอย่างไร"

ขอบแนวคิดของท่านค่ะอยากนำไปใช้ที่โรงเรียนบ้างแต่จะได้รับความร่วมมือไหมน้อการเปลี่ยนแปลงสำหรับบางคนที่ยึดติดสิ่งเก่าๆและไม่อยากทำงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ได้ ขอแชร์ความคิดของท่านนะคะ

   

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

ความสุขหรือความทุกข์ ผมมีความสุขที่วันนี้ได้เจอนักเรียนที่นำเสนอผลงานของตนเองอย่างแข็งขัน จากการซักถามผมพบว่าพวกเขาทำด้วยตนเองเกือบทั้งหมด เว้นแต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ยังไม่ได้ระเบิด ออกมาคือ แรงบันดาลใจ......  เมื่อมาสนทนากับครู ได้ทราบปัญหาและความยากลำบาก ความสุขเปลี่ยนเป็นความทุกข์มืดมน    ผมบอกกับเพื่อนครูท่านหนึ่งว่า  ผมยังไม่ท้อหรอกครับ  เพียงแต่ตอนนี้"มืด" เท่านั้นเอง



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

panda



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

จิตนาการครูเพื่อศิษย์



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

PLC



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อ.ต๋อย
เขียนเมื่อ

ครูเพื่อศิษย์



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท