คุณพินิจ
พินิจนันท์ phinitnan เนื่องจากอวน

อนุทินล่าสุด


คุณพินิจ
เขียนเมื่อ

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

        เมื่อเด็กแนวต้องมาสอนหนังสือ

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

คุณพินิจ
เขียนเมื่อ

สิ่งที่ประทับใจในการฝึกสอน

 

                สิ่งที่ประทับใจ มีมากมายหลายอย่าง นับตั้งแต่เช้าของการเข้าแถว ดิฉันชอบฟังเพลงของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นเพลงทำนองทันสมัย มีความหมายดี มีความไพเราะ และทุกวันนี้เพลงเหล่านั้นก็ยังคงดังก้องอยู่ในความทรงจำ นอกเหนือจากนั้นดิฉันยังชอบฟังเสียงออดเข้าเรียนของโรงเรียน ชอบเครื่องแบบนักเรียนที่น่ารัก ชอบความเป็นกันเองของนักเรียน และชอบที่โรงเรียนแห่งนี้ สอนให้ดิฉันเป็นมากกว่า ครู

 

อุปสรรคที่พบในการฝึกสอน

                       

                ประการแรก เป็นเรื่องการแบ่งเวลาเพื่อ ทำวิทยานิพนธ์ ฝึกสอน และลงเรียนไปด้วย ดิฉันรู้สึกเป็นกังวลกับวิทยานิพนธ์มาก จึงไม่ได้ทุ่มเทให้กับการสอนได้เต็มที่ จนเมื่ออาจารย์ได้เรียกมาตักเตือน ดิฉันจึงยอมหยุดงานวิทยานิพนธ์ไว้ทุกอย่าง นอกจากนั้นปัญหาที่เจอคงเป็นปัญหาที่ครูฝึกสอนแทบทุกคนได้พบ คือ การคุมชั้นเรียน ดิฉันรู้สึกว่าอยากเป็นครูที่คุมชั้นเรียนได้มากกว่านี้ เพราะการที่นักเรียนคุยกันในห้องเรียน บ่อยครั้งที่ทำให้ดิฉันเสียสมาธิและรู้สึกเสียความมั่นใจ นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับการสอนอีก เช่น ความเข้าใจในเนื้อหาที่ดิฉันมักจะมองข้ามคิดไม่รอบคอบ   การให้คะแนน   และการติดตามงานนักเรียนที่มีปัญหา เป็นต้น

 

คุณลักษณะของนักเรียนในโรงเรียนสาธิต

 

                นับตั้งแต่วันแรกที่ดิฉันได้เข้ามาฝึกงานในโรงเรียนสาธิต พบว่า นักเรียนโรงเรียนสาธิต เป็นนักเรียนที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัว อันได้แก่ เป็นนักเรียนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง  มีความสนใจที่จะทำกิจกรรมให้กับโรงเรียน มีความเสียสละ  ไม่เห็นแก่ตัว และสิ่งที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ดิฉันไม่เคยพบว่านักเรียนโรงเรียนสาธิตทะเลาะหรือมีความขัดแย้งกันเอง อาจเป็นเพราะว่า นักเรียนที่นี่ เป็นเพื่อนร่วมชั้นกันมาตั้งแต่เด็ก และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะได้รับความเอ็นดูและช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมชั้นเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นเป็นตัวอย่างที่ดียิ่ง

                สำหรับนักเรียนบางกลุ่มที่มีปัญหา ดิฉันสังเกตได้ว่า มีนักเรียนอยู่สองประเภท อันได้แก่ นักเรียนที่มีปัญหาเงียบๆ กับ นักเรียนที่แสดงความมีปัญหาออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งปัญหาที่ว่า มีหลายด้าน เช่น ปัญหาทางด้านการเรียนรู้  ปัญหาด้านพฤติกรรมก้าวร้าว  หรือชอบเรียกร้องความสนใจ อารมณ์แปรปรวนง่าย ไม่ยอมรับความเป็นจริง เป็นต้น แต่ส่วนมากแล้ว ปัญหาที่ว่าเหล่านี้ จะถูกแก้ไขและดูแลเป็นพิเศษโดยครูประจำชั้นและครูแนะแนว  ส่วนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิชาวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) ที่ดิฉันได้สอนนั้น มักจะเป็น นักเรียนไม่ถนัดที่จะเรียนสายวิทย์ แต่ด้วยความคาดหวังอันสูงส่งของผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนต้องเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยความจำใจ แต่นั่นก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยการย้ายแผนการเรียนในช่วงเวลาที่โรงเรียนได้กำหนดไว้

                โดยภาพรวมแล้ว นักเรียนที่ไหนก็คงมีส่วนรวมทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน ซึ่งหน้าที่อันสำคัญของครู นั้นจะต้องเป็นผู้พัฒนาให้เยาวชนเหล่านั้นเป็นบุคลากรที่ดี มีความสามารถและเป็นคนดีต่อสังคมต่อไป

 

การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนครู

 

                สังคมครูในโรงเรียนสาธิตฯ เป็นสังคมที่มีความเป็นวิชาการ เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ และการทำงานอันไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา ทำให้ดิฉันทราบว่า การเป็นครู ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงงานสอนหนังสือเท่านั้น แต่แทบทุกภาระงานที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ครู จะต้องทำทั้งหมด

                สำหรับอาจารย์พี่เลี้ยงนั้น ท่านได้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้งานหลายด้าน และแม้แต่เนื้อหาวิชาเองก็ตาม ดิฉันได้รับความรู้เพิ่มเติม อย่างหาที่เรียนจากที่อื่นไม่ได้ อาจารย์พี่เลี้ยงมีความเมตตาสูงแก่ดิฉัน และมีความเอาใจใส่ต่อการสอนของดิฉันเสมอ อาจารย์ทำให้ดิฉันเกิดความรู้สึกว่าอยากเป็นคนเก่งมากกว่านี้ อยากสอนหนังสือให้ดี และมีความสามารถหลายด้านเหมือนกับอาจารย์บ้าง ที่สำคัญเวลาดิฉันรู้สึกเสียความเชื่อมั่นในการสอน อาจารย์ท่านก็จะเป็นคนให้กำลังใจว่าอย่าเพิ่งท้อ หรือแม้แต่เรื่องการวางตัว ความคิด การประพฤติตัว หลายเรื่องที่ดิฉันได้คำแนะนำจากอาจารย์พี่เลี้ยงเป็นอย่างดี จนอาจจะกล่าวได้ว่า ท่านได้จุดประกายความหวังและความตั้งใจให้กับตัวดิฉันเป็นอย่างมาก จึงขอกราบขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์  เลี้ยงจรูญรัตน์ มา ณ ที่นี้ด้วย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

คุณพินิจ
เขียนเมื่อ

อนุทิน

สัปดาห์ที่ 4 (16- 20 มิถุนายน 2551)

นางสาวพินิจนันท์  เนื่องจากอวน

นิสิตปริญญาโทชั้นปีที่ 2   สาขาการสอนวิทยาศาสตร์

วิชา  159529   การปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์

 

                สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์แห่งการเตรียมพร้อมที่จะสอน ดิฉันเรียนรู้งานมากขึ้น และงานก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งที่สาธิตฯ และที่คณะศึกษาศาสตร์ การเข้ามาฝึกสอนที่นี่ ทำให้ดิฉันเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างไปในทางที่ดีขึ้น ประการแรก คือ การพูด ดิฉันคิดว่าตัวเองพูดรู้เรื่องและสามารถอธิบายความเข้าใจให้นักเรียนฟังได้มากขึ้น มีการลดความตื่นกลัวนักเรียน และเสียงที่พูดเริ่มดัง ถึงแม้ว่าจะดังไม่ได้มากนักเพราะดิฉันผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไปข้างหนึ่งแล้ว จึงมีปัญหาเรื่อง เสียงค่อย มาหลายปี

                การเรียนการสอนในห้องเรียน นับว่าเนื้อหาที่นักเรียนได้เรียนนั้น เริ่มมีความซับซ้อนและยากขึ้น ซึ่งปัญหาสำคัญในการเรียนฟิสิกส์ของนักเรียนก็คือ วิชาคณิตศาสตร์ เพราะคณิตศาสตร์ของนักเรียนบางคน ค่อนข้างอ่อน มีเด็กคนหนึ่งเคยถามดิฉันว่า เขาจะทำอย่างไรดี ในเมื่อเขาชอบเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ คณิตศาสตร์ ก็อ่อนเหลือเกิน เรียนไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย ดังนั้น เขาไม่ควรเลือกเรียนสาย วิทย์ คณิต ใช่หรือไม่ ทางออกของปัญหานี้ ก็มี  2  ทางหลัก คือ กลับไปทบทวนและเรียนคณิตศาสตร์ให้เข้าใจ ส่วนวิธีที่สองก็คือ คิดดูอีกทีว่า ชอบเรียนวิทยาศาสตร์จริงหรือ ถ้าชอบและถนัดเรียนด้านอื่นมากกว่า ก็ เลือกเรียนสายอื่นจะดีกว่า กล่าวถึง การเลือกเรียนสายวิทย์ หรือ ศิลป์ ของนักเรียนตรงนี้ ทำให้ดิฉันนึกถึงค่านิยมของคนไทย ที่พยายามให้ลูกเรียนสายวิทย์กันเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลที่พ่อแม่เห็นว่า หางานทำง่าย ดิฉัน ไม่เห็นด้วยเลย การหางานทำได้ง่าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า คุณเรียนจบสายวิทย์มา แต่ สิ่งที่ทำให้คนมีงานทำก็คือ ความรู้ความสามารถของคนผู้นั้นต่างหาก เรียนตามความถนัด และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด มีความสุขในการเรียนไปด้วย จะดีกว่า

                การเขียนแผนการสอนในสัปดาห์นี้ เริ่มมีความลื่นไหลและง่ายขึ้น อาจเป็นเพราะเขียนมาแล้วบ้างในสัปดาห์ที่สอง และท้ายที่สุด เรื่อง การจัดทำโครงการอย่างที่อาจารย์ได้สอบถามมา ตามที่ดิฉันคิดไว้ก็คือ อยากให้นักเรียนสร้างสื่อการสอนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน เพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนตามต่างจังหวัด



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

คุณพินิจ
เขียนเมื่อ

อนุทิน

สัปดาห์ที่ 3 (2 - 6 มิถุนายน 2551)

นางสาวพินิจนันท์  เนื่องจากอวน

นิสิตปริญญาโทชั้นปีที่ 2   สาขาการสอนวิทยาศาสตร์

วิชา  159529   การปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์

 

                สัปดาห์นี้ งานที่ได้รับมอบหมาย เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง คือ การสอนนักเรียนเป็นจำนวน 1 คาบเรียน นี่นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยที่ได้สอนนักเรียนแบบนี้ ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นและเป็นกังวล แต่เมื่อได้เตรียมการสอนแล้ว ก็ช่วยทำให้ความรู้สึกดังกล่าวลดลงไปบ้าง และเมื่อสอนเสร็จ ดิฉันก็พบว่า มีปัญหาอีกหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น นักเรียนชวนคุยออกนอกเรื่องที่เรียน  นักเรียนไม่ยอมเข้าเรียน (พอรู้ว่าดิฉันจะสอน)  และ เมื่อเข้าเรียนก็เดินไปมาให้ขวักไขว่ไม่นั่งประจำที่ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดที่เขียนมานี้ อย่างที่ดิฉันคิดไว้และได้ปฏิบัติก็คือ ต้องวางตัวให้ดุและเข้มงวดก่อนในคาบแรก แต่พอผ่านไปซัก 15 นาที นักเรียนก็กลับมาเสียงดังเหมือนเดิม ดิฉันจึงยืนเงียบเฉยๆ จนกว่าทั้งห้องจะหยุดคุยแล้วค่อยสอนต่อ ซึ่งนั่นก็ทำให้นักเรียนทั้งห้องค่อยๆเงียบเสียงลง ....แล้วอีกไม่นาน หัวโจกของห้องก็ชวนดิฉันคุยนอกเรื่อง แล้วทั้งห้องก็พร้อมใจกันเสียงดังอีก ซึ่งทั้งหมดนั่น ทำให้การสอนฟิสิกส์เนื้อหาที่คิดว่ายาก กลับยากลงไปอีก ถ้าคะแนนเต็ม 4 การสอนในครั้งนี้ ดิฉันคงให้ตัวเอง 1.5 ติดลบ หลังจากการเรียนการสอนคาบนั้นหมดลง ดิฉันก็ได้รับคำแนะนำกับอาจารย์พี่เลี้ยงว่า ตนเองต้องเสียงดังกว่านี้ หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ อาจต้องใช้ไมค์โครโฟน

                เท่าที่สังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน พบว่า พฤติกรรมนักเรียนมักจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วง 15 นาทีแรก ตั้งใจเรียนมาก และจดจ่อกับสิ่งที่ครูพูด  ช่วงที่สอง เริ่มลดความใจจดจ่อลง และประมาณ 15 นาทีก่อนเลิกเรียน นักเรียนก็อยากจะออกจากห้อง ขาดสมาธิ หลุกหลิก โดยเฉพาะ ถ้าเรียนคาบสุดท้าย ความรู้สึกอยากจะออกจากห้อง จะเพิ่มมากกว่า 15 นาที ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับชั่วโมงที่ได้รับมอบหมายให้เข้าสอน ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความลำบาก ดังนั้น ดิฉันจึงคิดว่า วิชาคำนวณ ไม่ควรจัดให้นักเรียน ได้เรียนตอนบ่าย หรือ คาบท้ายๆ และดีอย่างยิ่ง ถ้าได้เรียนคาบแรก นักเรียนมักจะมีความพร้อมและตั้งใจเรียนมากกว่า

                จากอนุทินฉบับที่แล้วที่ได้รับคำถามว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนที่ตนเองบอกว่า บางอย่างก็เป็นอุดมคติเกินไป ใช้ได้กับห้องเรียนไม่หมด อาจารย์บอกว่า ไม่ควรสรุปเหตุการณ์เมื่อได้พบเจอในครั้งเดียว นั่นก็อาจจะจริงว่าไม่ควรสรุป  ...ส่วนเหตุผลที่ดิฉันบอกไปว่า อุดมคติ เกินไป ก็ขอขยายความตรงนี้ ด้วยตัวอย่าง เช่น การสอนฟิสิกส์ กับ ธรรมชาติของฟิสิกส์ ซึ่งธรรมชาติของฟิสิกส์แล้ว บางเรื่องฟิสิกส์ก็มีความเป็นคณิตศาสตร์และนามธรรมสูง แต่ด้วยความเป็นครู กับหน้าที่และความรับผิดชอบในการเรียนการสอนนั้น เมื่อต้องการให้นักเรียนมีความเข้าใจ ครูจึงได้พยายามเชื่อมโยงสิ่งที่เข้าใจยากเหล่านั้น ให้เข้าเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่าง ที่นักเรียนพอจะเข้าใจได้ ซึ่งนั่น ก็อาจจะทำให้กฎหรือทฤษฎีบางอย่างถูกบิดเบือนไป นอกเหนือจากนี้ บริบทอันเป็นอุปสรรคที่ดิฉันรู้สึกได้เมื่อเข้ามาสังเกตการณ์สอนเป็นอย่างแรกๆ ก็คือ สภาพอากาศ  เสียง  ไม่ได้เข้ามาในโรงเรียนนานแล้ว และเมื่อเข้ามาอีกที ดิฉันรู้สึกว่า ในโรงเรียน ทำไมวุ่นวายกันแบบนี้ ทั้งเสียงดัง  นักเรียนเดินกันขวั่กไขว่  อากาศร้อน นักเรียนนั่งอัดกันเต็มห้อง (ที่โรงเรียนอื่น 50 คนต่อห้องก็มี) ที่เขียนมา อาจฟังดูไร้สาระหรือ เป็นสิ่งที่ดิฉันจะพร่ำบ่นหรือเปล่า แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่คนนอกอย่างดิฉันรู้สึกได้ว่ามีความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่น้อยเลย

                อย่างไรก็แล้วแต่ ดิฉันไม่ค่อยเป็นห่วงกับโรงเรียนสาธิตฯ หรือโรงเรียนที่มีความพร้อมสูงเช่นเดียวกันนี้ เพราะถ้าเทียบสัดส่วนแล้ว ในประเทศไทยคงมีไม่มาก แต่ที่ดิฉันนึกไปถึงกลับเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลความเจริญออกไป  บริบทที่อาจเป็นปัญหาอาจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ บางทีก็เกินกว่าจะคาดเดาได้ อย่างที่เคยได้ยินจากโรงเรียนคุณพ่อ ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า วิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนก็ได้เรียนกับครูที่ไม่ได้จบวิทย์มา เรียกว่า ขาดครูตรงสาขาโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ส่วนมากก็เรียนไปตามหนังสือเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ใจด้วยว่า ถ้าพูดถึง Constructivism หรือ Nature of Science จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่เกิดอะไรขึ้นแม้แต่น้อย...

                ท้ายสุดนี้ ในเรื่องการเขียนแผนการสอนระยะยาว ที่ได้รับคำถามว่า ทำไมจึงเขียนแผนการสอน 6 คาบต่อสัปดาห์ในบางสัปดาห์ ทั้งๆ ที่บอกว่าเป็นวิชา 2.5 หน่วยกิต 5 คาบต่อสัปดาห์ ซึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะการสอนในบางเรื่อง จำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าที่จะจัดคาบเรียนให้ลงตัวเพื่อให้อยู่ในสัปดาห์เดียวกันได้ หรือ การเรียนการสอนบางเรื่อง ดิฉันก็ไม่อาจทราบได้อีกว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเรียนการสอนจะไปจบลงที่ตรงไหน ดังนั้นดิฉันจึงเขียนเผื่อไว้ว่า อาจจะต้องจบการสอนลงไม่สัปดาห์แรกก็จะเป็นในสัปดาห์ถัดไป และถ้าอาจารย์สังเกตก็จะพบว่า ต่อจากสัปดาห์ที่เป็น 6 คาบ ดิฉันก็จะลดชั่วโมงในสัปดาห์ในคาบต่อไปเสมอ

                               

               

               

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

คุณพินิจ
เขียนเมื่อ

อนุทิน

สัปดาห์ที่ 2 (26 พฤษภาคม 30 พฤษภาคม 2551)

นางสาวพินิจนันท์  เนื่องจากอวน

นิสิตปริญญาโทชั้นปีที่ 2   สาขาการสอนวิทยาศาสตร์

วิชา  159529   การปฏิบัติการสอนวิทยาศาสตร์

 

                นอกจากสังเกตการสอนแล้ว อย่างที่ได้กล่าวไปในอนุทินฉบับที่ 1 คือ การสังเกตการณ์งานประจำชั้น ซึ่ง ตนเองได้เรียนรู้งานว่า ที่สาธิตฯ มีการดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดมาก ถ้าเป็นไปได้นั้น ดิฉันก็อยากให้ทุกโรงเรียนมีการจัดการระบบที่ดี และดูแลนักเรียนแบบนี้ด้วย หน้าที่ของการประจำชั้นนั้น สิ่งที่สำคัญก่อนเคารพธงชาติคือ การเช็คชื่อนักเรียน การตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ผม เล็บ และรองเท้า ถุงเท้า กิจวัตรเหล่านี้ ดิฉันจำได้เมื่อนานมาแล้ว ว่าตนเองก็เคยถูกตรวจเหมือนกัน แต่วันนี้ ต้องเป็นคนมาเดินดูนักเรียนเอง ก็นับว่า รู้สึกตัวเองเป็นครูขี้นมาบ้างแล้ว 

                สิ่งที่น่าดีใจในสัปดาห์นี้ ก็คือ การที่มีนักเรียนเข้ามาพูดคุย  ถามการบ้าน และเรื่องที่เรียนบ้าง แต่ปัญหาที่พบก็คือ  การตื่นนักเรียน มีหลายครั้งที่นั่งทำงานอยู่ แล้วไม่ทันตั้งตัวว่า นักเรียนจะมาหาตอนไหน พอเงยหน้ามาอีกทีก็พบว่า มีนักเรียนมายืนพร้อมกับคำถามแล้ว ทำให้ตัวเองคิดไม่ทันนักเรียนบ้าง ต้องใช้เวลาในการอธิบายบ้าง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ อาจารย์พี่เลี้ยงก็จะเป็นผู้ดูแลอยู่ห่างๆ และเมื่อมีปัญหา ท่านก็จะแนะนำว่า ดิฉัน ควรจะมีเวลาในการทบทวนเรื่องที่เรียนและทำโจทย์ที่นักเรียนถามให้ละเอียดขึ้นใจ ถ้าต้องใช้เวลาจริงๆ ก็อาจบอกกับนักเรียนว่า ครูจะไปค้นมาให้ หรือ อาจใช้คำถามย้อนกลับนักเรียนอีกที เช่น เธอคิดว่าอย่างไรนะ    ไหนลองอธิบายให้ครูฟังอีกครั้งซิคะ ส่วนเรื่องหนักใจอย่างมากมายในสัปดาห์นี้ก็คือ การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการกับวิธีสอนและทฤษฎีต่างๆ ที่ได้เรียนมาจากคณะศึกษาศาสตร์ และต้องสอนให้ทันเวลา พร้อมเนื้อหาครบถ้วน  พร้อมกับทำวิทยานิพนธ์ และลงเรียนสัมมนา ทำการสอนทุกวัน และต้องลงไปเก็บข้อมูลด้วย เขียนๆไป ดิฉันก็นึกกลัวและเครียดอย่างจับใจ...

                สำหรับการสังเกตการณ์สอนในห้องเรียน พบว่า การเช็คชื่อนักเรียนตอนต้นชั่วโมงนั้น อาจให้นักเรียนตอบคำถามในเรื่องที่เรียนทีละคน พร้อมให้คะแนนในส่วนความรับผิดชอบก็ได้  ในสัปดาห์นี้ ได้รับมอบหมายงานที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การตรวจงานนักเรียน  ซึ่งพบว่า มีอีกหลายเรื่องมากที่ดิฉันไม่ได้คิดคำนึงในเรื่องการตรวจงานเลย ไม่ว่าจะเป็น การสะกดคำผิดถูกของนักเรียน การเขียนเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ต่างๆ  การให้คำอธิบาย  ลายมือ  ความเป็นระเบียบ เพราะการตรวจงานนักเรียน จะดูเพียงแค่คำตอบก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี เพราะคำตอบที่ได้มา นักเรียนอาจลอกเพื่อนมาก็เป็นได้ ดังนั้น ครูควรจะดูถึงวิธีคิดของนักเรียนด้วย ดังนั้น เกณฑ์การให้คะแนน ในวิชาฟิสิกส์ จึงประกอบไปด้วย ส่วนที่เป็น การแสดงวิธีทำ  คำอธิบาย  และรูปภาพ  ซึ่งนอกเหนือจากนี้ ลายมือของครูก็เป็นสิ่งสำคัญ การตรวจงาน ควรกาเครื่องหมายผิดเป็นรูปโบว์ไขว้กัน และเขียนลงสมุดนักเรียนด้วยความมั่นใจ ซึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ดิฉันคิดว่าคงหาเรียนในห้องไม่ได้ อย่างไรก็แล้วแต่ ดิฉันก็ต้องพัฒนาการตรวจงานอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะความรอบคอบ เพราะเป็นคนใจร้อน ทำให้ตนเองตกหล่นในส่วนของรายละเอียดไป

                จากคราวที่แล้ว ที่พบนักเรียนไม่ตั้งใจเรียนคนหนึ่ง ดิฉันได้สังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน พบว่า จะเป็นเด็กที่เข้าสายบ่อยครั้ง และแสดงความเบื่อหน่าย ชอบนั่งหลังห้องแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาที่อาจารย์พี่เลี้ยงได้สังเกตเห็นตั้งแต่คาบแรก ดังนั้นเมื่อมีโอกาสดิฉันจึงเข้าไปคุย พบว่า เป็นนักเรียนที่มีปัญหาอย่างที่อาจารย์คิดไว้จริง โดยที่ นักเรียนคนนั้นบอกว่า เรียนไม่รู้เรื่องเลยตั้งแต่ต้น ทำให้ไม่ส่งงาน และบ่ายเบี่ยงที่จะหนีไปนั่งหลังตลอด ดิฉันจึงให้คำแนะนำไปว่า ควรจะมาพบอาจารย์เมื่อมีสิ่งที่ไม่เข้าใจ และถ้าเรียนไม่รู้เรื่อง ดิฉันก็ยินดีที่จะสอนให้

                อาจารย์พี่เลี้ยง จะให้คำสอนที่เป็นประโยชน์ กับดิฉัน ก่อนกลับบ้านทุกวัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ใช้ได้ทั้งในห้องเรียนและการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความปกติสุข ความจริงใจต่อนักเรียน เป็นสิ่งสำคัญ การที่ครูดุนั้น ไม่ใช่ต้องการให้นักเรียนเป็นคนไม่ดี แต่ที่ทำไปทั้งหมดก็ด้วยความหวังดี อยากให้นักเรียนเติบโตไปเป็นคนดี เพราะ  ครูไม่มีวันฆ่าศิษย์  ดิฉันเชื่ออย่างนั้น

                ท้ายที่สุดของอนุทินฉบับนี้ ดิฉันคิดว่า ได้เรียนทฤษฎีและความรู้จากคณะศึกษาศาสตร์มามากมาย...แต่ดิฉันมาเอาจิตวิญญาณและความเป็นครูที่นี่  ... ที่สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท