ดร.ชาญณรงค์ อินอิว


ศึกษานิเทศก์
กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
Username
iniwediet
สมาชิกเลขที่
8439
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
ประวัติย่อ

วิสัยทัศน์และแนวทางในการพัฒนาสถานศึกษา

วิสัยทัศน์ (Vision)

“โรงเรียนมีความเป็นเลิศตามหลักธรรมาภิบาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

สู่คุณภาพนักเรียนที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21”

(school of height performance organization used to good governance with national strategy to be student of sustainable personal mastery in 21st century)  

พันธกิจ (Mission)

  1. ส่งเสริมการจัดการศึกษาของนักเรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม สามารถค้นพบความรู้ความถนัดของตนอย่างมั่นคง
  2. ส่งเสริมคุณภาพนักเรียนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21
  3.  สนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน
  4. ส่งเสริมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
  5. ส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. พัฒนาระบบบริหารจัดการและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

เป้าประสงค์ (Goal)

  1. นักเรียนทุกคน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีคุณธรรมจริยธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศ ในปี พ.ศ. 2564
  2. นักเรียนทุกคน ได้เรียนวิชาภาษาจีน วิชาภาษาอังกฤษ และกิจกรรมสะเต็มศึกษา (STEM Education) อย่างมีคุณภาพ ในปี พ.ศ. 2564
  3. ครูและบุคลากรภายในโรงเรียนทุกคนได้รับการพัฒนากระบวนการลูกเสือ-เนตรนารีรวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ในปี พ.ศ. 2563
  4. นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ได้รับการจัดทำข้อมูล การป้องกัน การติดตามเด็กออกกลางคันโดยชุมชน ผู้ปกครองร่วมรับผิดชอบ และคัดกรองนักเรียนที่มีความจำเป็นและต้องการเป็นพิเศษ โดยดำเนินการตามแนวทาง No Child Left Behind ในปี พ.ศ. 2562
  5. นักเรียนทุกคน เข้าร่วมธนาคารขยะ โดยโรงเรียนและชุมชนร่วมกันคัดแยก นำกลับมาใช้ประโยชน์ และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขยายผลบรรจุในหลักสูตรสถานศึกษา ในปี พ.ศ. 2563
  6. โรงเรียน ได้รับการบริหารตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ. 2550 และบริหารจัดการอัตรากำลังสอดคล้องกับนโยบายลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครู ในปี พ.ศ. 2562   

กลยุทธ์ (Strategy)

  1. บูรณาการศาสตร์พระราชามาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
  2. พัฒนาคุณภาพกระบวนการเรียนรู้ด้วยการวิจัยเป็นฐาน
  3. พัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล รวมถึงการนำกระบวนการ PLC มาอบรมพัฒนาครู
  4. ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษากับนักเรียนกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหาด้วยระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบเครือข่าย ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา ด้านสื่อและองค์ความรู้
  5. ปลูกฝังจิตสำนึกการพัฒนาที่ยั่งยืนจากโรงเรียนตามพระราชดำริ : ต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
  6. นำหลักธรรมาภิบาลมาพัฒนาระบบบริหารจัดการ กลุ่มบริหารวิชาการ กลุ่มบริหารงบประมาณ กลุ่มบริหารงานบุคคล และกลุ่มบริหารทั่วไป

จุดเน้น (Focus Point)

  1. นักเรียนมีร้อยละที่เพิ่มขึ้นของคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากการทดสอบระดับชาติ
  2.  นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  3. ครูมีจิตวิญญาณความเป็นครู
  4. บุคลากรมีความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนคุณภาพนักเรียน
  5. ด้านการบริหารจัดการ
  6. นำหลักธรรมาภิบาลมาบริหารสถานศึกษา
  7. นำภาคีเครือข่ายภาคเอกชน/ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา

ผลลัพธ์ (Outcome)

      นักเรียนทุกคนมีคุณธรรมจริยธรรม มีลักษณะและทักษะการเรียนรู้ 3R x 8Cs ในศตวรรษที่ 21 มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ก้าวข้ามกับดักความเหลื่อมล้ำโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา  

กรอบความคิดในการพัฒนาสถานศึกษา :

          บริหารตามหลักธรรมาภิบาลในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และใช้วงจร เดมมิ่ง (deming cycle) สำหรับการพัฒนาพันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ จุดเน้น เพื่อดำเนินงานคุณภาพการศึกษาในทุกกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน ตรงตามความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น วัตถุประสงค์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล และของต้นสังกัด ประกอบกับพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ จัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและการเรียนรู้ จัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ เพื่อกำหนดเป็นแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาที่มีระบบการติดตามตรวจสอบประเมินผล และปรับปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้วยังให้ความสำคัญกับการบริหารอัตรากำลัง ทรัพยากรทางการศึกษา ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระบบการนิเทศภายใน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อมีส่วนร่วมการวางแผน ปรับปรุง และพัฒนา และร่วมรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา ทั้งนี้ยังส่งเสริมการบริหารจัดการเกี่ยวกับงานวิชาการเพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การส่งเสริมกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เน้นคุณภาพนักเรียนรอบด้านให้เชื่อมโยงวิถีชีวิตจริงครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาครู บุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพโดยจัดให้มีชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนางานและการเรียนรู้ของนักเรียน ประกอบกับจัดหาพัฒนาระบบการบริการด้าน ICT เพื่อส่งเสริมระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ของนักเรียน

กระบวนการวิธีการและแนวทางการพัฒนาสถานศึกษา :

          ใช้หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปรงใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่าเป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบบริหารจัดการ กลุ่มบริหารวิชาการ กลุ่มบริหารงบประมาณ กลุ่มบริหารงานบุคคล และกลุ่มบริหารทั่วไป เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ จุดเน้น ด้วยวงจรเดมมิ่ง (deming cycle) ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เกิดความเป็นไปได้ในการบรรลุวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสถานศึกษา จึงกำหนดเป็นกลยุทธ์เชิงนโยบายของโรงเรียนในปีงบประมาณ 2562 – 2564 ดังนี้

นโยบายที่ 1 จัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง

          การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง จะเน้นการส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม สามารถค้นพบความรู้ความถนัดของตนเอง โดยมีเป้าประสงค์ให้นักเรียนทุกคนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีคุณธรรมจริยธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศภายในปี พ.ศ. 2564

          กลยุทธ์ : บูรณาการศาสตร์พระราชามาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

          ตัวชี้วัด : ร้อยละ 100 ของชั้นเรียนมีการบูรณาการ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

          แนวทางการดำเนินการ :

          ดำเนินการตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริสืบสานพระราชปณิธานและพระบรมราโชบายด้านการศึกษา หรือ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในทุกชั้นเรียน

นโยบายที่ 2 พัฒนาคุณภาพนักเรียน

          การพัฒนาคุณภาพนักเรียนจะเน้นการส่งเสริมคุณภาพนักเรียนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมีเป้าประสงค์ให้นักเรียนทุกคนได้เรียนวิชาภาษาจีน วิชาภาษาอังกฤษ และกิจกรรมสะเต็มศึกษา (STEM Education) อย่างมีคุณภาพ ภายใน ปี พ.ศ. 2564

          กลยุทธ์ : พัฒนาคุณภาพกระบวนการเรียนรู้ด้วยการวิจัยเป็นฐาน

          ตัวชี้วัด : ร้อยละ 80 ของครูผู้สอนนำผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิชาภาษาจีน วิชาภาษาอังกฤษ หรือ กิจกรรมสะเต็มศึกษา (STEM Education) ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

          แนวทางการดำเนินการ :

          ดำเนินการตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยส่งเสริมการนำผลการวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับวิชาภาษาจีน วิชาภาษาอังกฤษ หรือ กิจกรรมสะเต็มศึกษา (STEM Education) ไปใช้                    ในการพัฒนาคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูผู้สอน

นโยบายที่ 3 พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา

          การสนับสนุนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน โดยมีเป้าประสงค์ให้ครูและบุคลากรภายในโรงเรียนทุกคนต้องได้รับการพัฒนากระบวนการลูกเสือ-เนตรนารี รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ภายในปี พ.ศ. 2563

          กลยุทธ์ : พัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล รวมถึงการนำกระบวนการ PLC มาอบรมพัฒนาครู

          ตัวชี้วัด :

          1) ร้อยละ 100 ของครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ในรูปแบบที่หลายหลายโดยเน้นไปที่กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี  

          2) ร้อยละ 100 ของครูผู้สอนนำกระบวนการ PLC ไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล  

          แนวทางการดำเนินการ :

          ดำเนินการตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่

          1) ส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในรูปแบบที่หลายหลายโดยเน้นไปที่กิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีวินัยต่อตนเองและมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม

          2) พัฒนาครูผู้สอนโดยนำกระบวนการ PLC ไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล   

นโยบายที่ 4 สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

          การส่งเสริมระบบดูและช่วยเหลือนักเรียนให้เข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าประสงค์ให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ได้รับการจัดทำข้อมูล การป้องกัน การติดตามเด็กออกกลางคันโดยชุมชน ผู้ปกครองร่วมรับผิดชอบ และคัดกรองนักเรียนที่มีความจำเป็นและต้องการเป็นพิเศษ โดยดำเนินการตามแนวทาง No Child Left Behind ภายในปี พ.ศ. 2562  

          กลยุทธ์ : ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษากับนักเรียนกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหา ด้วยระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และบูรณาการเทคโนโลยีดิจิตัล เพื่อการศึกษาให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่าย ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาด้านสื่อและองค์ความรู้

          ตัวชี้วัด :

          1) ร้อยละ 100 ของนักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

          2) ร้อยละ 100 ของสถานศึกษาบูรณาการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยเทคโนโลยีดิจิตัลเพื่อการศึกษาให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่าย ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ

          แนวทางการดำเนินการ :

          ดำเนินการตามนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสร้างความเข้มแข็งของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระบบส่งเสริมความประพฤตินักเรียน ระบบคุ้มครองนักเรียน และการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ได้รับโอกาสในการเข้ารับบริการอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ด้วยโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิตัลด้านระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา ด้านสื่อและองค์ความรู้  

นโยบายที่ 5 จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          การส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าประสงค์ให้นักเรียนทุกคน เข้าร่วมธนาคารขยะ โดยโรงเรียนและชุมชนร่วมกันคัดแยก นำกลับมาใช้ประโยชน์ และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขยายผลในหลักสูตรสถานศึกษา ภายในปี พ.ศ. 2563  

กลยุทธ์ : ปลูกฝังจิตสำนึกการพัฒนาที่ยั่งยืนจากโรงเรียนตามพระราชดำริ : ต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม  

          ตัวชี้วัด : ร้อยละ 100 ของสถานศึกษามีกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสถานศึกษา   

          แนวทางการดำเนินการ :

          ดำเนินการศึกษาดูงานโรงเรียนตามพระราชดำริ : ต้นแบบการจัดการสิ่งแวดล้อม กับโรงเรียนกุดบากพัฒนาศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 23 จังหวัดสกลนคร ด้วยการแบ่งฐานการเรียนรู้เป็น 4 ฐาน คือ ฐานเรียนรู้เกษตรผสมผสาน ฐานเรียนรู้ด้านพลังงาน ฐานเรียนรู้ขยะรีไซเคิลและฐานเรียนรู้น้ำ เพื่อให้นักเรียนทุกคน เข้าร่วมธนาคารขยะ โดยโรงเรียนและชุมชนร่วมกันคัดแยกนำกลับมาใช้ประโยชน์ และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขยายผลในหลักสูตรสถานศึกษา

นโยบายที่ 6 พัฒนาระบบบริหารจัดการและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

          กลยุทธ์ : นำหลักธรรมาภิบาลมาพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานศึกษา 

การพัฒนาระบบบริหารจัดการโดยใช้หลักธรรมาภิบาลและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยมีเป้าประสงค์ให้โรงเรียนได้รับการบริหารตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ. 2550 และการบริหารจัดการอัตรากำลังสอดคล้องกับนโยบายลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครู ภายในปี พ.ศ. 2562  

          ตัวชี้วัด :

          1) ร้อยละ 100 ของสถานศึกษาแบ่งส่วนราชการตามตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ. 2550

          2) ร้อยละ 100 ของสถานศึกษาบริหารจัดการอัตรากำลังสอดคล้องกับนโยบายลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนของครูในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมด้วยพลังประชารัฐ 

          แนวทางการดำเนินการ :

          ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมด้วยพลังประชารัฐในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไปเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ลดภาระงานครู โดยจัดทำงานมาตรฐานและภาระงานครูและบุคลากรในสถานศึกษา ด้วยวิธีการบริหารจัดการเวลาแบบ cycle-time management โดยปรับหลักสูตรสถานศึกษาให้ครูสอนไม่เกิน 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ และแบ่งภาระงานในสถานศึกษาเป็น 2 ส่วน คือ 1) ภาระงานสอนตามตารางสอน : จัดตารางสอนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติมอยู่ระหว่าง เวลา 8.30 น. - 14.30 น. 2) ภาระงานสนับสนุนการบริหารสถานศึกษา/นโยบายและจุดเน้น : จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนกับกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ให้เริ่มดำเนินการพร้อมกันในระหว่างเวลา เวลา 14.30 น. – 16.30 น.  ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแบบลดรอบระยะเวลา เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการบริหารจัดการให้กับโรงเรียนในเครือข่ายสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต่อไป  

บทสรุปสำหรับนักบริหาร

          การบริหารสถานศึกษาให้มีความเป็นเลิศตามหลักธรรมาภิบาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผู้บริหารสถานศึกษาควรศึกษาการกำหนดเป้าหมายวิสัยทัศน์ และพันธกิจให้ชัดเจน เพื่อสามารถดำเนินการพัฒนาวิชาการที่เน้นคุณภาพนักเรียนรอบด้านตามหลักสูตรสถานศึกษาในทุกกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้แล้วผู้บริหารสถานศึกษาควรดำเนินการพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ จัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุน การบริหารจัดการเรียนรู้ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ จุดเน้น ด้วยวงจรเดมมิ่ง (deming cycle) ให้เกิดความเป็นเลิศในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามกลยุทธ์เชิงนโยบายของโรงเรียนในปีงบประมาณต่อไป

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท