อนุทินล่าสุด


บุรชัย
เขียนเมื่อ

รายงานข่าวผลการประชุมวิชาการ วิกิพีเดีย ที่กรุงวอชิงตันดีซี จากวอชิงตันโพสต์

เปล่า ผมไม่ได้ไปหรอก ผมอ่านเจอบนเว็บ และคิดว่าน่าสนใจ :-)

บางคนดูจะชอบอ่านอนุทินสั้นๆ โพสต์นี้จบแค่นี้ครับ 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ตามข่าวกล่าวว่า คนไทยใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด และงี่เง่ามากที่สุด เป็นที่รู้กันทั่วโลก อ่านแล้วก็เข้าใจ 

ผมคงไม่เข้าข่ายนี้ เพราะไม่ได้เล่น เป็นเพราะตั้งใจไว้นานแล้วว่าไม่ยอมเล่นเด็ดขาด จะว่าเลียนแบบกลุ่มนักใช้คอมพิวเตอร์มือโปรฯ ของฝรั่งก็ได้ คนพวกมือโปรนี้ไม่อยากสูญเสียข้อมูลส่วนตัวให้บริษัทนั้นและหน่วยงานการข่าวของประเทศมหาอำนาจ (แม้ว่าเราจะไม่มีอะไรสำคัญ แต่ก็เป็นความรู้สึกส่วนตัว) แต่ที่สำคัญกว่า ผมว่าคือเสียเวลาอันมีค่าไป  แต่ก็ต้องยอมแลก ด้วยการยอมสูญเสียโอกาสติดต่อใกล้ชิดกับเพื่อนๆ อีกหลายร้อยคนที่ใช้เฟซบุ้คกัน

 



ความเห็น (5)

เสียดาย "เวลา" จริง ๆ ครับ อาจารย์ ;)...

ผมเลิกเล่นตลอดชีวิตไปแล้ว

เรียนท่านอาวุโส แบบว่า เพื่อความรวดเร็วในการส่งงาน ส่งข่าวในกลุ่ม ใช้ง่าย สะดวก แทนเมล... แต่ ถ้าเล่นๆๆ ก็ เสียเวลาจริงๆ "พยายามหลุดออกมาให้ได้หลังจากส่งงานเสร็จค่ะ" และที่สำคัญ กลัวเสียเพื่อนไป เค้าจะถามหา ฯลฯ ฮา....

      ถึงว่ามีเถาวัลย์ขึ้นที่ FB  อ. วสวัต  ดีมาร  อ่ะน่ะ   อิอิ

มีข้อเสนอแนะครับว่า ควรใช้โดยจำกัดเวลา ตั้งนาฬิกาปลุกไว้เลย ได้เวลาแล้วหยุด ก็จะช่วยได้ครับ

FB เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพราะจะกรองสิ่งที่ที่โปรแกรมคาดว่าเราจะต้องการมาให้เรา แต่ก็มีข้อเสีย ตรงที่อะไรที่มันคาดว่าเราอาจจะไม่สนใจมันก็จะไปนำเสนอมาให้เรา ถ้าเราใช้มันอย่างเดียวก็อาจจะพลาดอะไรไป เสมือนกับ กรณีที่เราไปค้นหา บทคัดย่อ จากฐานข้อมูล โดยใช้คำหลัก เราก็จะได้รายการที่ค้นมาได้ ตามคำหลักนั้นๆ แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจแต่ไม่ได้โดนทำดัชนีโยงกับคำหลักนั้นก็จะค้นไม่เจอ

ไปเจอนี่มาโดยบังเอิญ เพื่อเป็นข้อมูล

อ่านจากคอมเมนต์ บางคนบอกว่าจากสถิติบอกว่า มีผู้ใช้ปลอม ที่เป็น bots  (โปรแกรมหุ่นยนต์) ประมาณ ๕๔ ล้านบัญชี และมี like ปลอมแยะมาก

http://yro.slashdot.org/story/12/07/14/0047206/facebook-like-system-devalued-by-fake-users

 

เพิ่มมาอีก เพิ่งไปเจอครับ สำรวจพบผลกระทบเชิงลบของสื่อเครือข่าย กับผู้ใช้กว่า 50% ในสหราชอาณาจักร http://mashable.com/2012/07/08/social-media-anxiety-study/

บุรชัย
เขียนเมื่อ

เสาร์ ๑๔ กรกฎาคมนี้ พายุแม่เหล็กทำให้เกิด CME จากดวงอาทิตย์ ชั้น X class (แรง) จะมาถึงผิวโลก อาจจะทำให้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ และคอมพิวเตอร์ของเราเสียหายหรือทำงานผิดปกติได้ ต้องระวังกันหน่อย ส่วนตัวผมเอง ว่าจะงดใช้คอมพิวเตอร์และถอดปลั๊กสัก ๒ วันให้มันผ่านไปก่อน กันไว้ดีกว่าเสียใจภายหลัง

ตามสำเนาประกาศที่ลอกมานี้

X-FLARE! Big sunspot AR1520 unleashed an X1.4-class solar flare on July 12th at 1653 UT. Because this sunspot is directly facing Earth, everything about the blast was geoeffective. For one thing, it hurled a coronal mass ejection (CME) directly toward our planet. According to a forecast track prepared by analysts at the Goddard Space Weather Lab, the CME will hit Earth on July 14th around 10:20 UT (+/- 7 hours) and could spark strong geomagnetic storms. Sky watchers should be alert for auroras this weekend. Geomagnetic storm alerts: textvoice


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

หลายปีมานี้ เมื่อขับรถมาต่างจังหวัดไกลๆ บ่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดก็คือ อาคารที่ทำการของ อบต. และ เทศบาลต่างๆ เริ่มดูดีขึ้น การออกแบบเริ่มมีความแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน สวยงามขึ้น ไม่ได้ถอดแบบเดียวกันมาหมด ดูจะสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น เขาก็ทำอะไรได้ดี เพื่อท้องถิ่นตนเองได้ดีขึ้น ท้องถิ่นไหน ผู้นำ อบต. หรือ เทศบาล มีวิสัยทัศน์ ทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ ก็น่าจะไปได้รุ่ง นี่เป็นตามความรู้สึกของผม

ไปอ่านเจอบทความเรื่องหนึ่งของฝรั่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึง ความคิดริเริ่มของหน่วยงานท้องถิ่น คล้ายๆ กับเทศบาล แต่เป็นของเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีประชากรแค่ ๓ พันคน ในรัฐ นอร์ธคาโรไลน่า สหรัฐฯ ผู้นำของเขามีความคิดริเร่ิมว่า จะทำอย่างไรจะดึงอาชีพงานการ เข้ามาในท้องถิ่นของเขา และสิ่งหนึ่งที่เขาทำคือ เขาพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมให้บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาตั้ง อย่าง แอปเปิ้ล ซึ่งมองหาสถานที่ตั้ง iCloud ซึ่งจะเป็น ศูนย์กลางดาต้า (data center) ที่เราเคยเรียกกันว่า server farm นั่นแหละ สุดท้ายก็มาลงที่นั่น ใครใช้บริการ iTune เป็นต้น ก็คงถือได้ว่าใช้บริการที่นี่ไปด้วย

ผมคิดว่า น่าจะดีไม่น้อย ถ้าท้องถิ่นห่างไกลๆ ใดของไทย มีแนวคิดแบบนี้ ไม่ต้องไปรอองค์กรของรัฐบาล ทำการริเริ่มเองได้บ้าง ต้องฝันไปในอนาคตไปก่อน

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

อ่านคอลัมน์ "มายาคติของคนไทยส่วนใหญ่" ข้อเขียนของ อ. โกวิท จากเว็บมติชน

อ่านจบแล้ว ความคิดเห็นผมก็เตลิดต่อไป ผมก็ตั้งคำถามตัวเองต่อว่า แล้วหนี้ในอนาคตของลูกหลานไทย ใครเป็นคนรับผิดชอบการก่อหนี้ของรัฐบาลประชานิยม (หลายคณะ และ หลายพรรค) ถ้าในอนาคตนั้น แม้คนในรัฐบาลต่างๆ ที่ก่อหนี้และใช้เงินอย่างไม่รับผิดชอบไม่อยู่แล้ว

คำตอบต่อคำถามนั้นก็คือ คนไทยทั้งที่เลือกรัฐบาลเข้าไป และรวมทั้งคนไม่เลือกด้วย ถือว่าทำกรรม(มีเจตนา)ร่วมกัน (ผมด้วย เมื่อยังมีชีิวิตอยู่)  ต้องรับผิดชอบ 

ถ้าใครไม่อยากรับผลของกรรมก็โน่น ต้องหนีเข้านิพพานไปเลย อย่ากลับมาเกิดเป็นรุ่นลูกหลานเหลนโหลนลืดลืบ อีก (ไม่ว่าจะในประเทศไหนๆ ก็ตามที่มีหนี้ล้นพ้นตัว) หรือจุติไปอยู่บน ฉกามาพจร หรือ พรหมโลกภูมิใดๆ รอไปจนกว่าคนในโลกอนาคตจะเลิกยึดถือเงินตราเป็นของสำคัญสูงสุด แล้วค่อยมาเกิด อิอิ :-) 

ทุกอย่างเป็นของชั่วคราว เกิด ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วก็ดับ ยังไงๆ ผมไม่กังวลหรอก

ประโยคสุดท้ายของผมที่ว่า รอไปจนกว่าคนในโลกอนาคตจะเลิกยึดถือเงินตราเป็นของสำคัญสูงสุด ผมไปนึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับมายาคติ นึกถึงสังคมที่น่าจะเป็น, สังคมในอุดมคติ, อาจจะนานเกินศตวรรษข้างหน้าก็ได้ ผมนี่เห็นอย่างจริงใจเลยว่า คนเราไม่ควรจะยึดยือว่าเงินตราเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ก็เห็นชัดๆ ว่า คนในชนบทมีความสุขได้โดยใช้เงินน้อยกว่าคนเมืองมาก 

ถ้าสังคมอนาคต ทำให้ทุกคนในสังคม (ยูโทเปียละมัง) ได้ทำงานที่ตัวเองรัก มีฉันทะได้เต็มที่ และอยู่ได้อย่างพอเพียง ไม่ต้องโลภ ไม่ยึดติดวัตถุมากนัก ความสบายพอประมาณ คนไม่ล้นระบบนิเวศน์ของโลก เงินก็แทบจะไม่ต้องคิดถึงมัน ใครเคยคิดถึง ออกซิเจนที่เราหายใจ น้ำบริสุทธิ์ที่เราดื่ม หรือยึดติดกับมันบ้าง ?

ความคิดตอนหลังของผมนี่ เป็นคนละเรื่องกับบทความในลิงก์ที่กระตุ้นให้ผมเขียนโพสต์นี้แล้วนะครับ 

 



ความเห็น (2)

เรียนอาจารย์ ....

เราหมายถึง นักคิด นักเขียน นักทำ ยังก้าวไม่พ้น มายาคติ และยิ่งต้องพูดต้องชี้ชัด ส่วนใหนตรงใหนอย่างคือมายาคติ

เมื่อ มาคติ มีแต่ งู กับแขก ตอนนี้มีนักการเมืองมาอีกพวก

ในความคิด ในการดำเดินชีวิต ที่ สะอาด สงบ สันติ ง่าย งาม คือสิ่งตามหา

ขอบคุณครับสำหรับความเห็น รู้สึกดีที่มีฟีดแบ็คครับ ผมก็เลยถือโอกาสไปเพิ่มเติมบางประโยคในโพสต์เดิมให้ข้อความชัดเจนขึ้นครับ

ผมไม่ได้ติดใจในเรื่อง มายาคติ จะของคนไทย เรื่องอะไรก็ตาม ที่ท่านผู้เขียนเดิมในลิงก์เขียนไว้ ผมไม่ได้ติดอยู่กับความขัดแย้งในสังคมไทย ที่กำลังทำให้เกิดวิกฤตในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ผมมองว่า ทุกอย่างมีเกิด ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วก็ดับ รวมทั้งเรื่องหนี้สาธารณด้วย ชั่วคราวในที่นี้ เป็นเรื่องเชิงสัมพัทธ์ อาจจะเป็น ๑๐ ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้

ความคิดของผม มองข้ามช็อท มองข้ามเรื่องที่ท่านผู้เขียนเดิมกังวลเรื่องหนี้สาธารณะไปเสียด้วยซ้ำ ผมมองไปยังสังคมอุดมคติ อาจจะเข้าใกล้สังคมยุคพระศรีอาริย์ ที่คนอยากได้อะไรก็ไปเอามาจากต้นกัลปพฤกษ์ อาจไม่ต้องใช้เงิน อาจไม่ต้องทำงานหนัก ถ้ามีเครื่องทุ่นแรง มีหุ่นยนต์มาใช้ มี software agents มาช่วยทำงาน ช่วยเป็นคู่คิด เป็นเหมือนเลขาส่่วนตัว

สังคมในอุดมคติเป็นสิ่งที่ผมพยายามนึก และสื่อออกมาในโพสต์ข้างต้น สำหรับเราในขณะนี้ สังคมในอุดมคติ อาจจะเป็นมายาคติเรื่องหนึ่งสำหรับผมอยู่ก็ได้

บุรชัย
เขียนเมื่อ

วันนี้ไปได้หนังสือมา ๑ เล่ม ชื่อ

กลับหัวคิด มองโลก 80%โดย นพ. ชิเกตะ ไซโตะ แปลและเรียบเรียงเป็นไทย โดย ประวัติ เพียรเจริญ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ ส... เนื้อหาคิดว่าดีมาก

คนเรา แม้จะอายุวัยใกล้เกษียณ บางทีก็ต้องการวิสัยทัศน์ที่สูงกว่าของผู้อาวุโสกว่าเหมือนกัน หมอไซโตะแกเป็นจิตแพทย์ อายุ ๙๐ ปีกว่าแล้ว เขียนหนังสือขายดีในญี่ปุ่น มากว่า ๓๐๐ เล่ม เกือบเท่าๆ กับ อาซิมอฟ ในอเมริกา ที่เขียนออกไป ๕๐๐ เล่ม

บทเรียนจากหนังสือที่สำคัญ ของหมอ ไซโตะ สรุปจากที่อ่านมาทั้งเล่มได้ข้อสำคัญสำหรับตัวเอง (มีที่ผมข้ามไปแยะ ถ้าผมคิดว่าตัวเองไม่ต้องใช้ข้อแนะนำข้อนั้นๆ)

๑ ลองแยกกายมาอีกตัว เพื่อมาดูตัวเอง (ผมเห็นว่าอันนี้ก็เข้าข่ายทำวิปัสสนาได้ถึงขั้นแรก คือ นามรูปปริเฉทญาณ)

๒ ถ้าเราคิดว่า มีเวลาแค่ ๓ วัน ทำงานไม่ทัน แสดงว่าเราประเมินตัวเองไว้ดีเกินไป คาดหวังผลสูงมากไป

๓ งานที่เริ่มวันนี้ พยายามให้เสร็จวันนี้ อย่าทิ้งงานจุกจิกไว้พรุ่งนี้ หรือวันหน้า ถามตัวเองว่ามีเหตุผลที่ดีหรือไม่ ถ้าไม่ดี ก็ต้องทำเลย

หมั่นชมตัวเอง หมั่นพูดว่าตัวเองรู้สึกดี แล้วมันจะเป็นจริงๆ

๔ ต้องจูงใจ หรือสั่งงาน คนอื่น หรือตัวเราเอง ด้วย รูปธรรม (วัดปริมาณ นับได้) ไม่ใช่นามธรรม เช่น เขียนหนังสือวันละ ๑๐ หน้า ไม่ใช่ เขียนหนังสือแยะๆหน่อย

๕ คนเป็นสัตว์สังคม ต้องคุยกัน สื่อสารกันเป็นประจำ การพบกันในงานเลี้ยงเป็นเรื่องสำคัญ (ของคนญี่ปุ่น)

๖ หากหนีปัญหา ความขมขื่นจะตามไปทุกแห่ง ต้องกล้าเผชิญหน้าตรงๆ

๗ จงเปลี่ยนจังหวะการทำงาน ทุกๆ ๒ ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เบื่อ ช่างก่อสร้างญี่ปุ่น ก็จะพักเบรคทุก ๒ ชั่วโมง เหมือนกัน

๘ อย่าให้ความอยากรู้อยากเห็น และ ความอดทน ลดน้อยลงเด็ดขาด

ใครสนใจไปหาซื้อมาอ่านเองก็ดีครับ




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

เมื่อสองวันก่อนไปซื้อหนังสือมา ๒ เล่ม จากศูนย์หนังสือจุฬาฯ อ่านจบไปแล้ว ๑ เล่มตั้งแต่วันแรก สองวันนี้กำลังอ่านอีกเล่ม และเห็นว่าเพิ่งออกมาปีกว่าๆ เอง ก็อยากจะแนะนำ

ชื่อหนังสือคือ "จะเล่าให้คุณฟัง" เป็นหนังสือแปลจากภาษาสเปน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ คงไม่ต้องพูดถึงคุณภาพของหนังสือแปลจากสำนักพิมพ์นี้ รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าดีมาก

เป็นเรื่องของจิตแพทย์ชาวอาเย็นตินา คุยกับคนไข้ของเขาในแต่ละนัด แต่ละตอนๆ หมอจะเล่านิทานแต่ละเรื่องให้คนไข้ฟัง นิทานแต่ละเรื่องก็สนุกดี ได้แง่คิด ผมว่าผมอ่านจบเมื่อไรก็คงต้องอ่านรอบสองอีกแหละ ไม่งั้นไม่เก็ท

ที่ชอบก็คือนิทานเรื่องหนึ่ง ในเรื่องชวนคิดหลายๆ สิบเรื่อง เรื่อง "หน่อต้นออมบู" หน้า ๒๔๓ เป็นนิทานเล่าเรื่องของชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ที่อาศัยจตุรัสกลางบ้าน ที่มีต้นออมบู (สงสัยจะในอัฟริกา) ทำกิจกรรมต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมาชั่วนาตาปี ต่อมาต้อนออมบูแก่ตัวลงกำลังจะตาย และแตกหน่อ ชาวบ้านก็เริ่มแตกความเห็นเป็น ๒ กลุ่ม ว่าจะเอายังไงดีกัน สุดท้ายทะเลาะกันแหลก อ่านดูแล้ว รู้สึกเหมือนเหตุการณ์ในประเทศสารขัณฑ์ (Sarkhan ในนิยาย The Ugly American หม่อมคึกฤทธิ์เล่นบทเป็นตัวนายกรัฐมนตรีในภาพยนต์เรื่องนี้ ก่อนได้เป็นนายกฯ จริงๆ ต้องบอกไว้ให้แจ้ง เดี๋ยวคนรุ่นหลังไม่รู้จัก) ยังไงก็ไม่รู้  ใครอยากรู้เรื่องไปช่วยอุดหนุนสำนักพิมพ์เขาหน่อยก็แล้วกันนะครับ จะได้มีหนังสือดีๆ ออกมาเรื่อยๆ 

สองสามเดือนมานี้ไม่บ่อยนักที่ผมอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยกระดาษ ได้สัมผัสกระดาษหนาๆ ถนอมสายตา รู้สึกตัวว่า ก่อนนี้ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์มากไป จนต้องไปหาหมอตาให้เช็ค และเขาสั่งให้หยอดน้ำตาเทียม

เปลี่ยนบรรยากาศไปอ่านกระดาษ ออฟไลน์บ้างนี่ดีจริงๆ

 

 

 

๖ ก.ค. ๒๕๕๕



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

การจัดการความรู้ จำเป็นต้องมีการสร้างฐานข้อมูล เพื่อ ใช้รวบรวมข้อมูล จัดหมวดหมู่ และเชื่อมโยงหมวดหมู่องค์ความรู้เข้าด้วยกัน และที่สำคัญข้อมูลต้องปรับเปลี่ยนได้ง่าย

คุณอาจจะเป็นเหมือนผมสมัยก่อน (ความจริงตอนนี้ก็ยังทำอยู่บ้าง นิสัยเสียเดิมๆ แก้ยากนะครับ) ผมมักพิมพ์บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ ลงในแฟ้มต่างๆ แยกกัน เป็นแฟ้ม text file เล็กๆ เต็มไปหมด มากจนโน้ตเล็กๆ เหล่านั้นเพิ่มจำนวนเป็นร้อยๆ แฟ้ม เวลาจะหาอะไรแต่ละที ก็ค้นยาก เพราะคำหลัก (keywords) ที่ใช้ค้นมักจะเป็นคำพื้นๆ เวลาค้นแล้วเจอแฟ้มอะไรในระบบ ก็ได้รายชื่อแฟ้มมาทีเป็นร้อยเป็นพัน แล้วต้องเสียเวลาไปเปิดดูอีกทีละแฟ้มๆ

เมื่อราว ๒ ปีมาแล้ว ผมเริ่มไปเจอว่า อาจารย์ทาง computer science บางคนใช้ wiki สำหรับจัดการข้อมูลส่วนตัวในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คของตัวเอง ผมก็เลยคิดอยากทำบ้าง ก็ไปค้นหา personal wiki engine สำหรับมาลงเครื่องคอมพิวเตอร์ MacbookPro ของผม ไปๆ มาๆ ก็ไปเจอโปรแกรมสร้างฐานข้อมูลส่วนตัวโปรแกรมหนึ่ง ที่คนไม่ค่อยรู้จักกันนัก แต่คนที่ใช้ไม่มากนักนั้นชอบมันมาก ติดตั้งง่ายในทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น Mac OS-X, Linux, Unix, Windows เพราะใช้ Java ก็เลยลองใช้ดู และผมก็ชอบมันมาก และก็ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โปรแกรมนี้ชื่อว่า PiggyDB น่าจะแปลเป็นไทยได้ว่า ฐานข้อมูลหมูๆ (แต่จริงๆ คุณสมบัติไม่หมูเลยนะ) พัฒนาโดยชาวญี่ปุ่น ชื่อ คุณ ไดสุเกะ โมริตะ ใช้ง่ายเพราะคุณไม่ต้องรู้ภาษา SQL เลย ใช้งานง่ายเหมือนเราใช้เว็บเขียนบล๊อกนี้แหละ

Piggydb นี้เป็นโปรแกรมฟรี เปิดเผยรหัสโปรแกรม ประเภทฐานข้อมูลสำหรับบันทึกและจัดการองค์ความรู้ ที่เหมือนกับเว็บล็อก ผมใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เก็บโน้ตเกี่ยวกับความรู้ต่างๆ สารพัดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย ในการเตรียมเขียนบทความ หรือใช้ระดมสมองส่วนตัว บางทีก็จดรวบรวมคำศัพท์เทคนิคใหม่ๆ ที่เพิ่งเคยอ่านเจอ จะได้ไม่ลืม (เพราะ neurons ในสมองก็ตายไปเยอะแล้ว ความจำแย่ลงๆ) หรือจดเอกสารอ้างอิงที่จะไปค้นคว้าต่อไป เป็นต้น  โน้ตเล็กๆ พวกนี้ คุณไดสุเกะ เขาเรียกว่า knowledge fragments เราสามารถ tag แต่ละ fragment ด้วยคีย์เวอร์ดไว้ได้ หรือสร้าง ลิงก์เชื่อมโยงเข้ากันได้ เอาซ้อนเข้าไว้ภายในโน้ตอื่นก็ได้ ดังนั้นท่้ายที่สุด fragment ต่างๆ ก็จะมาเชื่อมโยงกันได้ และแต่ละ fragment เราก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ตลอด กี่รอบก็ได้ การค้นหาเนื้อเรื่องก็ทำได้เร็วมาก แม้แค่คำที่ไม่ได้ tag ไว้มันก็เจอจากเนื้อหา หรือหัวข้อที่โพสต์ และเราสามารถสำเนาฐานข้อมูลไว้ได้ง่ายมาก

การจัดความรู้โดยใช้เครื่องมือนี้ ต่างจากวิกิพีเดีย เพราะเป็นแบบ bottom up approach ทำงานช้ินย่อยๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยเชื่อมเป็นชิ้นใหญ่เข้าด้วยกัน แต่ผมเข้าใจเอาเองว่า ใครจะทำเป็นแบบ top down ด้วยก็ได้คือทำโครงเรื่องไว้ก่อนแล้วค่อยเพิ่มเนื้อหาก็ได้เหมือนกัน  เครื่องมือซอฟต์แวร์นี้ผมเห็นว่าทำได้ปนกันทั้งอย่างเลยก็ได้ 

โปรแกรมนี้กำลังพัฒนาต่อเนื่อง และเพิ่มคุณสมบัติใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ถ้าได้ซอฟต์แวร์รุ่นเวอร์ชั่นใหม่มา ก็ติดตั้งทับรุ่นของเก่าไปเลย ความรู้เก่าในฐานข้อมูลก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน ปลอดภัยดี ผมขอแนะนำให้ใครที่ยังไม่เคยใช้ ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและ ดาวน์โหลดมาลองใช้ดูครับ คุณอาจจะชอบมันก็ได้ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณ

 


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

น่าสนใจมากค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

ของฟรี และดีจริงครับ คนไม่ค่อยรู้จัก อยากให้ลองใช้จริงๆ ครับ เพิ่งไปเช็ค รู้สึกว่าเขากำลังจะอัพเดทรุ่นใหม่เร็ววันนี้ ก็เลยมาเล่าให้ทราบกัน

บุรชัย
เขียนเมื่อ

แต่ละวัน ผมดูวีดิโอสารคดีหลายเรื่อง จากยูทิวบ์ก็แยะ วันนี้หนึ่งในวีดิโอที่ดูก็เป็น เสียงบรรยายจากเทป ของ แอนโธนี ร๊อบบินส์ ต่อ ในเรื่อง "ปลุกยักษ์ในตัวคุณให้ตื่นขึ้นมา" ความยาว ๑ ชั่วโมงครึ่ง (อย่าไปสนใจภาพสไลด์ที่นำเสนอ ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในการบรรยาย ผมคิดว่า คนอื่นแอบเอามาโพสต์ขึ้นมา ไม่ใช่ของที่โทนี่ทำขึ้นมาเพื่อสังคมแบบเทปก่อนๆ) ผมเห็นว่า เนื้อหาการบรรยายดีมาก ถ้าใครฟังภาษาอังกฤษได้สมควรจะฟัง เขาเป็นคนมีพรสวรรค์ที่เปลี่ยนแปลง (transform) ตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง จากพื้นฐานเป็นเด็กจากครอบครัวระดับคนใช้แรงงาน พ่อทิ้งไป อดอยาก เรียนแค่มัธยม แต่เขาเปลี่ยนบุคลิกภาพของตัวเองอย่าน่าทึ่ง จนปัจจุบันเป็นคนดังระดับโลก กระทบไหล่ประธานาธิบดีสหรัฐ มีรายได้หลายร้อยล้านเหรียญต่อปี เพราะอัจฉริยภาพของเขา เขาเป็นครูสอนการปรับปรุงตนเองที่เยี่ยมคนหนึ่งของโลกทีเดียว 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

เพิ่งไปเจอวีดิโอการบรรยายของ แอนโธนี ร๊อบบินส์ (Anthony Robbins) โดยบังเอิญ ความยาวแค่ ๒๒ นาที ก็เลยฟัง เขาเป็นนักพูดระดับโลก พูดอเมริกันเร็วปรื๋อ กระฉับกระเฉงเร่งเร้า สะกดคนฟัง ผมเข้าใจหมด แต่รอบแรกก็ยัง"ไม่เก็ท" แต่ผมก็ต้องฟังถึง ๒ รอบ โดยในรอบที่ ๒ ผมได้ทำโน้ตย่อไว้ด้วย เขาตั้งคำถามในหัวเรื่องการบรรยายไว้ว่า "ทำไมคนเราถึงลงมือทำอะไร(จริงจัง) และทำยังไงเราถึงจะทำได้ดีกว่านั้น" ก็เป็นการบรรยายที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการจะปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน หรือ ปรับปรุงตนนั่นเอง

ผมรู้ว่าหนังสือของเขาเป็นหนังสือขายดีเยี่ยมระดับโลก ทั้งฉบับภาษาอังกฤษ ภาษาต่างๆ และ ภาษาไทย ผมเองก็เผอิญโชคดีเมื่อสองเดือนก่อนไปได้หนังสือฉบับภาษาอังกฤษของเขามาเล่มหนึ่ง ชื่อ Unlimited Power ซึ่งเป็น National Bestseller ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1987  โดยไม่ได้ตั้งใจจะไปหาอะไรเป็นการจำเพาะ จากร้านหนังสือเก่าที่สวนจตุจักร ผมไม่อายที่จะบอกว่าผมอ่านไปได้แค่ค่อนเล่ม แต่ก็ยังอ่านไม่จบทิ้งไว้แค่นั้นจน ๒ เดือนมาแล้ว เพราะว่ามันยาว เสียเวลาอ่านมาก แล้วก็ไปอ่านเล่มอื่นอีกหลายสิบเล่มสารพัดเรื่องแทน (คนเราความสนใจเปลี่ยนไปง่ายๆ)  อย่างน้อยเขาก็พูดปรามาสคนอ่านไว้ในหนังสือว่า คนส่วนมาก ดูเหมือนจะ 90% อ่านไปแค่บทที่ ๑ และจะไม่ประสบผลสำเร็จ ผมก็ถือว่าตัวเองทำได้ดีกว่าคนส่วนมาก อ่านไปได้ไกลพอควร จากนั้นก็พลิกๆ ดูคร่าวๆ แต่ต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่ดีจริงๆ และผมก็ได้ราคาครึ่งเดียวจากราคาหน้าปก แม้จะเป็นหนังสือมือสองก็ตาม

ผมคิดว่า การได้ดูวีดิโอที่เขาพูดนี้ในวันนี้ แม้จะถ่ายไว้ตั้งหลายปีมาแล้ว ใช้เวลาดู๒ รอบก็ตกราวๆ ๔๕ นาที ดีกว่าผมไปค่อยๆ อ่านหนังสือของเขาเป็นอาทิตย์ ให้ข้อคิดดีมาก

แถมวีดิโออีกตอน เพิ่งอัพเมื่อธันวาคมที่แล้วนี้เอง ดีมากเหมือนกัน (๓๘ นาที)

ยังไงก็แล้วแต่ เขียนไปยังงั้นแหละ ตอนนี้ผมคิดแล้วว่า ผมคงต้องหวนกลับไปอ่านหนังสือของเขาใหม่ โดยตั้งต้นใหม่อีก แล้วคราวนี้ก็จะพยายามอ่านให้จบ

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ข้อมูลเปิดสาธารณะ (Open Data) เป็นเรื่องที่ดี หลายประเทศเริ่มทำ แต่ดูเหมือนเมืองไทยยังไม่ได้เริ่ม แม้จะเห็นได้ว่ามีคนอยากทำอยู่เหมือนกัน เห็นได้จากโครงเว็บเปล่าๆ ที่ยังปราศจากเนื้อหาใดๆ  

ผมเห็นว่า องค์กรต่างๆ ที่มีตัวเลข มีสถิติ ข้อมูลดิบ ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้ต่างๆ ที่ย่อยแล้ววิเคราะห์แล้วก็ได้ น่าจะเอามาแชร์เป็นเรื่องเป็นราวกับสังคมในวงกว้าง ข้อมูลดิบต่างๆ ถ้าหน่วยงานต่างๆ เก็บไว้ มันก็จะเริ่มล้าสมัย และไม่เป็นประโยชน์ การหวงข้อมูล เป็นความคิดล้าสมัยไปแล้ว อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารหวงอำนาจ กลัวว่าจะเสียอำนาจการควบคุม หรือกลัวเสียความเป็นเจ้าของเรื่องในเรื่องนั้นๆ ไป หรือเพราะว่า อาจจะเตรียมกักเอาไว้เผื่อจะขายได้ (commmercialize) แต่ที่ร้ายก็คือ ผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ (แต่ผมหวังว่าคงไม่ใช่เพราะเหตุนี้) ผมเห็นว่า ข้อมูลที่ได้มาจากงานที่เป็นภาษีอากรของประชาชน ควรเปิดเผยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสนับสนุนให้คนเอาไปใช้ต่อ เอาไปพัฒนาต่อยอดต่อไป  

ถ้าอยากเข้าใจแนวคิดและประโยชน์ของ Open Data ต้องไปฟังการบรรยาย โดย Sir Tim Berners-Lees แล้วจะเห็นว่ามีคุณค่ามหาศาลต่อสังคม และ ประเทศ

จริงๆ แล้ว โพสต์นี้ก็ต้องการจะเน้นเรื่องการบรรยายนี้แหละ เป็นโจทย์ให้คนในองค์กร ทั้งหลายไปคิดและทำต่อไป

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

โลกที่เปิด (Open World) ดีอย่างไร ลองไปฟัง บรรยายจากวีดิโอนี้ดู 

พอสรุปได้ว่า ความเปิด (Openness) สำหรับคนในโลก มีประโยชน์ ๔ ด้าน (หรือมีความหมายในทางปฏิบัติ ๔ อย่าง)

ความร่วมมือ (collaboration) ทำให้กำแพงกั้นระหว่างหน่วยงาน ระหว่างองค์กร (และระหว่างประเทศ) เร่ิมเป็นรูพรุน คือคนสามารถทำงานร่วมกันในแนบราบได้ง่ายขึ้น

ความโปร่งใส (transparency) ในประเด็นนี้เน้นการสื่อสาร ระหว่าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holders)  ในยุคของข้อมูลข่าวสาร การกระทำใดๆ ก็ตาม ใครๆ ในโลกนี้ก็รับรู้ได้หมด เราเสมือนหนึ่งเปลือยเปล่า ดังนั้น ถ้าเราจะรู้สึกโป๊ ก็ควรจะให้รูปร่างดูดี ใช่ไหม องค์กรต่างๆ ก็ต้องทำตัวให้ดี

การแบ่งปัน (sharing)  ตัวอย่างเช่น open-source softwares, wikipedia ที่คนมาช่วยกันทำงานในแง่ที่ตนเองสนใจ (และได้ประโยชน์) แต่เปิดโอกาสให้คนในวงกว้างได้ร่วมพัฒนาและร่วมใช้ด้วย ผลที่สุดแล้ว ประโยชน์ก็ตกกลับไปยังผู้แบ่งปันนั่นเอง  อย่างบริษัทใหญ่ๆ ตัวอย่างเช่น ไอบีเอ็ม ที่อนุญาตให้เอาผลงานบางอย่างไปให้ใช้ประโยชน์แบบ โอเพ่นซอร์ส ปรากฏว่าธุรกิจของบริษัทก้าวหน้าดีขึ้นมาก

การให้พลังอำนาจ (empowerment)  เพราะความรู้คือพลัง ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ ลดค่าใช้จ่าย และยังเป็นเครื่องป้องกันตัวให้กับคนตัวเล็กๆในสังคมได้อีก ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในประเทศอาหรับต่างๆ ในระยะไม่กี่ปีมานี้ (Arabspring)

ผู้พูดสรุปว่า เรามาช่วยกันทำให้โลกนี้เป็นโลกที่เปิดกันเถอะ

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ถ้าอยากได้ไอเดียอะไรใหม่ๆ ก็ไปดู TED วีดิโอ นี่เป็นข้อสรุปที่ผมบอกตัวเองไว้หลายปีมาแล้ว และก็ได้ผล

วันนี้ผมรู้สึกว่า ไม่ได้ไปเยี่ยมเยือนที่นั่นมานานแล้ว วันนี้ก็เลยแวะไป

ไปเจอ วีดิโอน่าสนใจ ที่พูดโดย Massimo Banzi เกี่ยวกับ Arduino ที่เขาร่วมพัฒนาขึ้นมา  (ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ใช้อุปกรณ์ และ ซอฟต์แวร์แบบ open-source) ที่ทำให้เด็ก(ฝรั่ง) อายุ ๑๑ ขวบ คิดสร้างอุปกรณ์อะไรแปลกๆ ได้มากมาย ดูแล้วน่าสนุก

สำหรับผมคงเกินวัยจะไปทำอะไรเล่นไปแล้ว แต่ว่า น่าจะเหมาะสำหรับท่านที่เป็นครูอาจารย์ที่สอนหนังสืออยู่ตามโรงเรียนมัธยม อาจจะเอาไปใช้ทำโปรเจ็คในโรงเรียนได้ครับ 

ถ้าต้องการข้อมูล ก็ไปค้นต่อได้จาก วิกิพีเดีย ใช้คำหลักนั้นๆ 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ข่าวออกมาวันนี้ว่า รมต. คนหนึ่งจะให้ ไอซีที เซ็นเซอร์คลิปยูทิวบ์ บอกว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสียของประเทศชาติ

ใจจริงผมไม่อยากให้คอมเมนต์เรื่องนี้เท่าไร เพราะเรื่องอะไร ก็รู้ๆ กันอยู่ คนก็พูดกันมากแล้ว สำหรับผม เห็นว่าไม่เป็นสาระสำหรับสมองผม

แต่ที่อดมาเขียนไดอารี่ไม่ได้ก็เพราะผมเห็นว่า หากมีการเซ็นเซอร์เว็บจริง นี่ละ จะเป็นเรื่องเสื่อมเสียของประเทศชาติ เสียหายมากกว่าต้นเรื่องเอง เพราะจะกลายเป็นข่าวใหญ่ให้ฝรั่งเล่นได้อีกครั้งหนึ่ง เรื่องการเซ็นเซอร์ในประเทศไทย โดนประจำ เป็นเรื่องใหญ่ประจำ ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะสมควรแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่ในระดับนานาชาติ การเซ็นเซอร์กลายเป็นความล้าหลังของเมืองไทยในมุมมองของฝร่ัง แสดงถึงความไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง ทางวิชาการ หรือศิลปะก็แล้วแต่

แต่ผมรู้สึกอีกอย่างด้วย คือในฐานะประชาชนคนไทยธรรมดาๆ คนหนึ่ง ผมรู้สึกเหมือนโดนตบหน้าอย่างแรง ว่าคนไทยทั้งประเทศเนี่ยไร้สติปัญญาแยกแยะ จำเป็นที่หน่วยงานรัฐจะต้องมาเซ็นเซอร์อะไรต่างๆ เป็นประจำ ว่าอันไหนดูได้ อันไหนดูไม่ได้ รู้สึกตัวว่า เหมือนโดนเอาปูนหมายหัวไว้ทั้งประเทศว่า โง่

ผมว่า วิสัยทัศน์ของคนที่มาบริหารประเทศไทยส่วนมาก มีปัญหา (นี่พูดกลางๆ นะ ไม่ได้ว่าใคร เพราะผมระวังตัว มีสติ ไม่ละเมิด กรรมบท ๑๐ อยู่)

(แต่ถ้าจะเซ็นเซอร์จริงๆ ฝรั่งเขาก็มีแนวปฏิบัติอยู่นะ เช่นใช้หมายศาล ไม่ได้ใช้อำนาจหน่วยงานของรัฐ)

เอาละพูดไปแล้ว หมดประเด็น

แต่ในใจที่โพสต์นี่คือผมอยากจะซาวเสียงดูฟีดแบ็คของคนไทยมากกว่าว่า จะมีจำนวนมากไหม ที่เห็นด้วยกับเรื่องการเซ็นเซอร์เนื้อหาบนเว็บ ผมทายว่ามีน้อยคน ที่เห็นด้วยกับเซ็นเซอร์ (โดยไม่ใช่คำสั่งศาล) ประเด็นนี้ ผมว่าน่าสนใจยิ่งกว่า

 

 

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ebook หนังสือธรรมะภาษาไทย ของท่านเจ้าคุณ พระคันธสาราภิวงศ์ มีดีๆ และ ถ้าใครสนใจไปดาวน์โหลดได้จาก เว็บไซต์ของ วัดท่ามะโอ ที่ลำปาง ผมเกือบลืมไปแล้ว (เพราะเคยไป "ดูด" มาเก็บไว้หมดแล้วตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว) พอดีนึกย้อนไปถึงโพสต์ก่อนหน้านี้ ก็เลยจำได้ว่า พระอาจารย์ของผมรูปหนึ่ง ท่านแนะนำหนังสือ อภิธัมมาวตาร ว่าเป็นหนังสืออภิธรรมที่ดีมาก ซึ่งผมเคยอีเมลติดต่อขอซื้อจากวัด พระอาจารย์ผู้แปลท่านก็กรุณาตอบมาบอกว่า หมดแล้ว ไม่มีขาย ให้ไปดาวน์โหลดมาเอง ผมก็จัดการเรียบร้อยตั้งแต่ปีที่แล้ว

ก็เลยขอแนะนำไว้ ณ ที่นี้ครับ เผื่อใครสนใจ หนังสือเล่มนั้น รายการที่ ๑๑ 

มีหนังสือดีๆ แยะของท่านเจ้าคุณ พระคันธสาราภิวงศ์ ที่ผมชอบก็ รายการที่ ๒๑ ๒๒ วิปัสสนานัย เล่ม ๑ และเล่ม ๒ และหนังสือ ปฏิจจสมุปบาท ด้วย ผมชอบเหมือนกัน

http://www.wattamaoh.com/home/download.php

หวังว่าคงมีหนอนหนังสือคอธรรมะไปดาวน์โหลดมาอ่านบ้าง

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

เจอ ebook อภิธัมมโฆษภาษยัม ของ วสุพันธุ์ แปลเป็นภาษาอังกฤษ (Vasubhandhu Abhidharmakosabhasyam) ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับ คัมภีร์อภิธรรมของมหาญาณ ชื่อนั้น โดยบังเอิญ จากเว็บห้องสมุดในรัสเซีย มี ๓ เล่ม ด้วยกัน

http://lirs.ru/lib/kosa/Abhidharmakosabhasyam,vol_1,Vasubandhu,Poussin,Pruden,1991.pdf">ลิงก์เล่มแรกอยู่นี่

(ขอโทษทีครับ โพสต์แล้วลิงก์มันเกิด error แก้ไม่หาย เพราะว่า engine ของที่นี่ไปงง กับสัญญลักษณ์ลูกน้ำ แต่ท่านคงเดาได้เองว่า ลิงก์มันต้องยาวจนจบถึง pdf)

เล่มสอง เล่มสาม ก็แค่เปลี่ยนตัวเลขเล่มจาก 1 เป็น 2 หรือ 3

ผมเป็นนักศึกษาอภิธรรม เห็นแล้วก็เกิดฉันทะ (คือเป็นในแง่บวก ก็เลยไม่เรียกว่า โลภะ)

หวังว่าอาจจะมีท่านอื่นสนใจเหมือนผม ดาวน์โหลดมาเก็บไว้เป็นสมบัติ หรือไม่งั้น ผมคิดเล่นๆ ว่า ใครไม่อ่านเอง อยากทำบุญ สร้างคัมภีร์ ก็เอาไปร้านซีร๊อกส์ ปรินท์ออกมาเย็บเล่ม แล้วเอาไปถวายวัด หรือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ได้นะ

 



ความเห็น (1)

ตอนเขียนบล๊อกนี้ ในตอนท้าย ที่พูดถึงการไปซีร๊อกส์หนังสือ ไม่ทันได้ดู ปี ค.ศ. ที่ตีพิมพ์ของหนังสือ เข้าใจเอาว่า เป็นหนังสือเก่าแล้ว เพราะคัมภีร์ก็อายุตั้ง ๒๒๐๐ ปีละมัง แต่ว่าฝรั่งเพิ่งมาศึกษา แรกก็เป็นภาษาฝรั่งเศส ต่อมามีคนแปลเป็นอังกฤษ ก็เลยเพิ่งพิมพ์ ค.ศ. ๑๙๙๑

ในทางเทคนิคแล้ว เนื่องจากลิขสิทธิ์ของเขายังไม่หมด (ไม่รู้ว่ากฎหมายประเทศไหน ใช้กี่ปี โดยทั่วไปหลายๆ ประเทศกำหนดไว้ที่ ๕๐ ปี ) ถ้าไปก๊อปมาก็เท่ากับละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ว่าเข้าใจว่าเป็นหนังสือที่หาซื้อไม่ได้ง่ายนัก เพราะคงมีไม่กี่คนในโลกนี้ที่อยากอ่าน

ในส่วนของผมเอง โพสต์ไปแล้ว ด้วยใจบริสุทธิ์ แล้วก็ไม่อยากไปแก้อีก ผมถือว่าผมไม่ได้ผิด กรรมบท ๑๐ เพราะไปยุให้คนอื่นละเมิดศีล

จริงๆ แล้ว เคยได้อ่านฝรั่งก็พูดกันว่า การคิดเรื่อง เศรษฐศาสตร์ของทรัพย์สินทางปัญญา มันควรจะแตกต่างจากทรัพย์สินอย่างอื่น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

นกยูงรำแพนหาง เกี้ยวตัวเมีย เสียงร้องของนกในแบ็คกราวด์คือเสียงนกยูงร้อง ผมถ่ายมาจาก วัดภูค่าว กาฬสินธุ์ 

จนก่อนหน้านี้ไม่นาน อายุก็ป่านนี้แล้ว ผมยังก็ไม่เคยเห็นนกยูงรำแพนสักที แต่วัดนี้นกยูงแยะจริงๆ และหลายตัว ก็ออกมารำป้อ เต้นระบำ ยั่วนักท่องเที่ยว จนอดถ่ายวีดิโอคลิปเก็บไว้ไม่ได้ คลิปนี้เก็บไว้นานสองเดือนแล้วจนจะลืม ก็เลยเพิ่งเอามาอัพโหลดเพื่อแชร์สักครู่นี้เอง 

นกยูงรำแพน



ความเห็น (1)

I used to keep a few peacocks (and pea-hens). The males are quite noisy in the cold months, calling, fighting and panning about. Then they mate and that the end of male story. They fly off to sleep in trees leaving peahens to lay and hatch under bushes on the ground. Most hens get killed and eggs taken by foxes, dogs and goannas around this hatching time.

So much for beutiful male birds, so much selfishness (in human terms)!

บุรชัย
เขียนเมื่อ

น้ำพุเต้นระบำในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ใกล้สวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผมเพิ่งรู้ว่าในสวนนี้มีน้ำพุเต้นระบำด้วย หลังจากลูกโตก็ไม่ได้ไปแถวนั้นเสียนาน ผมถ่ายวีดิโอคลิปไว้ด้วย ใครไม่เคยไปสวนนี้ ซึ่งอยู่ใกล้สวนจตุจักร และ หมอชิต หรือเคยไป แต่ว่าไม่ยักเห็นน้ำพุ เพราะว่าเขาเปิดโชว์เป็นเวลา ดูได้จากวีดิโอนี้ ผมเพิ่งโพสต์ขึ้นไป

น้ำพุเต้นระบำ

 
 
 


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ช่วงนี้ก็กำลังอ่านหนังสือปรัชญาภาษาไทย ที่ครูบาอาจารย์หลายท่านเขียนไว้ ผมได้ไปหาซื้อมา จากหลายสถานที่ หลายโอกาส 

และก็ค้นเอกสาร ค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บ โดยเฉพาะพวกศัพท์แปลกๆ ที่ ไม่มีในพจนานุกรมไทย  

เผอิญไปเจอ เอกสารนี้เข้า เห็นว่าเอกสารนี้ (ไม่ใช่คำค้น) จะมีประโยชน์ ก็เลยจะใส่ลิงก์ไว้ เผื่อใครสนใจไปดาวน์โหลดมาอ่านบ้าง เป็น pdf ebook ได้ที่นี่ ชื่อหนังสือคือ

ปัญจสดมภ์ 

ปัญจสดมภ์ : ค่านิยมแห่งชาติต่อการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดอง  โดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ. ดร.

 

ตามชื่อหนังสือ ก็ว่าด้วยเรื่องวิธีที่จะสร้างการปรองดอง เพื่อแก้ปัญหาสังคม และการเมืองไทยในปัจจุบัน

จัดพิมพ์ฉลองพุทธชยันตี พระพุทธศาสนาครบรอบ ๒๖๐๐ ปี นี่เอง

ดูคร่าวๆ แล้ว ก็เห็นว่าท่านผู้เขียน เขียนออกมาได้ตรงใจ ก็ขอกล่าวคำ สาธุ อนุโมทามิ คือ ขออนุโมทนาในเจตนาที่เป็นกุศลกรรมของท่านในครั้งนี้ด้วยครับ

และต้องขอบคุณเจ้าของ หรือท่านที่ดำเนินการเอาไว้บนเว็บ เพื่อประโยชน์ของพหุชนด้วยครับ

ในส่วนตัวผมเอง ก็จะได้ใช้ศึกษาแนวคิด และเอาไว้อ้างอิงต่อไปได้ 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

๙ มิถุนายน ๒๕๕๕

โพสต์แรก

วันนี้เป็นวันดี ครูบาอาจารย์ระบุว่าเป็น ฤกษ์อมฤตโชค ก็เลยถือเป็นโอกาสดี ตัดสินใจสมัครเข้าเว็บ GotoKnow เป็นครั้งแรก ผมไม่เคยใช้ engine ที่นี่มาก่อน แม้ว่าผมจะเขียนบล๊อกที่อื่นมานานหลายปีแล้ว (ตอนนี้ยังไม่บอก นานๆ ไปอาจจะบอกว่าอยู่ที่ไหน) แต่ครั้งนี้เป็นคร้ังแรก ที่ผมจะไม่เขียนบล๊อกแบบนิรนาม ก่อนหน้านี้เขียนแบบนิรนามด้วยความสบายใจมานาน และเนื้อหาก่อนหน้านั้นก็ค่อนข้างจะจับฉ่าย ครอบจักรวาล แต่ในบล๊อกนี้ ต้ังใจว่าจะให้ประเด็นแคบ จะเน้นประเด็นทางด้านปรัชญาเป็นหลัก

ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้เรียนมาทางนั้น ครั้งสุดท้ายคงสมัยเรียนปริญญาตรี อาจจะราว พ.ศ. ๒๕๒๐ ประมาณนั้น ที่ลงเรียนเป็นเรื่องเป็นราว จากนั้นก็หายไป ความสนใจไม่มีด้วยยุ่งและเครียดกับงาน มาหลายสิบปี

เวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีกบิน ต่อเนื่องมาจนผมเกษียณตัวเองจากงานเมื่อปีที่แล้ว แล้วก็ไปบวชระยะยาวในป่าทางภาคอีสาณ เป็นวัดที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ประมาณ ๗ เดือน ใช้เวลาศึกษา ปฏิบัติธรรม และธุดงค์ (รายละเอียดเรื่องนี้คงจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ในอนาคต ถ้าเขียนจนจบ ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม) และนอกจากนี้ ยามดึกๆ ก็ได้อ่านหนังสือมากพอสมควร ท่ามกลางแสงเทียนในป่า เป็นหนังสือทั้งทางพุทธ และ ปรัชญา ที่ผมขนไปกว่า ๑๐๐ เล่ม มีทั้งของคนไทย (เช่นหนังสือ พุทธธรรม ของท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นต้น) และ ของชาวต่างชาติ อาทิ ทะไลลามะ, ท่าน ริการ์ (ที่เป็นลูกศิษย์ของ Jacob จบปริญญาเอกทาง ชีววิทยาโมเลกุล และไปบวชเป็น พระลามะในธิเบตอยู่กว่า ๓๐ ปี), ฯลฯ เป็นที่สุด จนเมื่อตัดสินใจว่า ผมสมควรจะสึก ก็กราบลาพระอุปัชณาย์ออกมา ท่านก็ว่า ให้มาทำหน้าที่(เผยแผ่ธรรมะ)ต่อไป ความสนใจก็ต่อเนื่องมา ก็เลยคิดว่า อยากจะศึกษาปรัชญาฝรั่ง เทียบกับพุทธศาสนา

ที่นี่ ผมคิดว่า จะโพสต์อะไรๆ เล็กๆ น้อยๆ ในประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ จากการศึกษาด้วยการอ่านด้วยตัวเอง  ก็หวังใจอยู่ว่าหากมีคนมาช่วยอ่านโพสต์ และกรุณาช่วยชี้แนะ ช่วยให้คอมเมนต์เป็นเรื่องเป็นราว เนื้อหาที่โพสต์ไปก็อาจจะมีความคลอบคลุมมากขึ้น และทำให้ผมแตกฉานมากขึ้น และอาจจะเป็นพื้นฐาน ในการรวบรวมประเด็น สำหรับเขียนเป็นหนังสือได้ในอนาคต (แต่จะมีคนไทยสนใจอ่านหนังสือประเภทหนักสมองหรือ ?) และแน่นอนว่า คนอ่านก็คงได้อะไร(กลับไปปวดศีรษะบ้าง) พอสมควร

 

 

 

 



ความเห็น (2)

ยินดีต้อนรับค่ะ บันทึกไว้ที่นี่ใน"บันทึก"แล้วใส่คำสำคัญไว้ จะทำให้ค้นหา จัดระบบได้ง่าย และจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวแน่นอนค่ะ 

คู่มือการใช้ GotoKnow (ฉบับย่อ) .pdf

ขอบคุณครับ สำหรับกำลังใจ รู้ว่ามีเพื่อนๆ มาอ่านก็ดีนะครับ ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท