The World is Flat ใครว่าโลกกลม


The World is Flat

    หนังสือ The World Is Flat: A Brief History of the Twenty-First Century โดย Thomas L. Friedman เป็นหนังสือที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเล่มหนึ่งของโลก ภายหลังการออกวางจำหน่ายเมื่อกลางปี ค.ศ. 2005 และยังมีการนำมาแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทยด้วย

    ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์วิถีของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ หรือตอนต้นศตวรรษที่ 21 ซึ่งหากดูจากชื่อหนังสือแล้ว (หนังสือแปลฉบับภาษาไทยตั้งชื่อว่า “ใครว่าโลกกลม”) จะเห็นได้ว่า เป็นการเปรียบเปรยว่าผู้เขียนมองเห็นโลกเป็นสนามแข่งขันทางการค้าที่มีระนาบแบน ไม่ได้กลมเหมือนความเป็นจริง ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จเท่าๆ กัน

    ถึงแม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจะขยายวงกว้างไปทั่วโลก จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าและการลงทุนในภาพรวม และสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบทุนนิยมในระยะยาว แต่หนังสือเล่มนี้ก็ยังมีคุณค่าต่อการศึกษาความเป็นไปของการแข่งขันภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี ที่แทบทุกประเทศได้เข้าไปร่วมวงไพบูลย์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของคนทุกชนชาติ ไม่ว่าจะอยากให้เกิดขึ้นกับตนหรือไม่ก็ตาม

    สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้นำมาจากต้นฉบับของสำนักวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นแนวทางให้กับผู้สนใจที่ต้องการอ่านฉบับเต็มต่อไป

    สรุปสาระสำคัญ

    1. ความหมายของ The World Is Flat

    ผู้เขียนอธิบายว่า ในปี ค.ศ. 1492 เมื่อ Christopher Columbus เดินเรือเพื่อหาเส้นทางไปทวีปอินเดีย แต่ด้วยความผิดพลาดโดยบังเอิญไปพบทวีปอเมริกา Columbus มีประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนั้นว่าโลกกลม แต่ในปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์ที่อินเดียเป็นศูนย์กลางของ Business Process Outsourcing (BPO) ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับเขียน Software กรอกแบบภาษี วิเคราะห์ผล X-ray ติดตามกระเป๋าเดินทางที่สูญหายให้แก่สายการบิน โดยให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกผ่านทาง Internet ส่วนประเทศจีนมีแรงงานที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นหลายพันคนกำลังให้บริการ BPO แก่บริษัทต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาเอง รูปปั้น Virgin of Guadalupe ที่ชาวเม็กซิกันนับถือและวางขายอยู่ในประเทศเม็กซิโกนั้นขณะนี้ทำจากประเทศจีน ประสบการณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่แบน และผลที่เกิดขึ้นก็คือการเผชิญหน้ากันในสนามการแข่งขันภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน (level playing field)

    2. กระแสโลกาภิวัตน์ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์มี 3 ช่วง ได้แก่

    (1) Globalization-1.0 เริ่มจากปี ค.ศ. 1942 มีกลไกการเปลี่ยนแปลงคือประเทศตะวันตก เช่น สเปนและอังกฤษ เป็นต้น ที่เดินทางแสวงหาอาณานิคม ทำให้โลกเสมือนลดขนาดลงจากขนาดใหญ่เป็นขนาดกลาง

    (2) Globalization-2.0 เริ่มจากปี ค.ศ. 1800 โดยกลไกคือบริษัทข้ามชาติที่แสวงหาตลาดและแรงงานในโลกตะวันออก ทำให้โลกเสมือนลดจากขนาดกลางเป็นขนาดเล็ก

    (3) Globalization-3.0 เริ่มจากปี ค.ศ. 2000 ที่เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้โลกเสมือนลดจากขนาดเล็กเป็นขนาดจิ๋ว โดยกลไกคือคนทุกคนและทุกกลุ่มที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี (plug and play) และร่วมในกระแสโลกาภิวัตน์นี้ได้โดยไม่จำกัดเฉพาะชาวโลกตะวันตกอีกต่อไป

    3. เหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้โลกแบน ได้แก่

    (1) 11/9/89 The wall came down and Windows came up วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 (11/9) กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มโลกไร้พรมแดน และหลังจากนั้นอีก 5 เดือน โปรแกรมWindows 3.0 เริ่มวางตลาด

    (2) 8/9/95 People to people connectivity วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1995 บริษัท Netscape เข้าเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งทำให้เกิดสิ่งสำคัญ 3 เรื่อง 1) มี browser ที่ทำให้การใช้ Internet เกิดเป็นที่นิยมทั่วโลก 2) ทำให้มีมาตรฐานที่การติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ใช้คอมพิวเตอร์ระบบต่างๆ เกิดขึ้นได้ 3) เกิดกระแส Dot-Com boom จนเกิดการลงทุนในการวางสาย Fiber Optic มูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารได้ทั่วโลกโดยต้นทุนการส่งเอกสาร เพลง หรือข้อมูลลดลงอย่างมหาศาล

    (3) Work Flow Software (Application to application connectivity) การที่มีมาตรฐานและการเชื่อมโยงให้เกิดการสื่อสารกันได้ระหว่างผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่างกันและโปรแกรมต่างกันได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน (work flow) อย่างมาก การแบ่งปันความรู้และการร่วมงานกันเกิดขึ้นระหว่างคนที่อยู่ต่างสถานที่ ต่างเวลา ต่างงานกัน อย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

    (4) Open-sourcing เช่น การเปิดให้ใช้โปรแกรม Linux ฟรีแก่คนทั่วไป ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของการสร้างสรรค์ (new industrial model of creation) และการร่วมทำงาน เช่น นักศึกษาอายุ 19 ปีของมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริการ่วมกับนักศึกษาอายุ 24 ปี ในประเทศ New Zealand พัฒนาโปรแกรม Firefox Web Browser โดยไม่เคยพบตัวกันเลย และโปรแกรมได้มีผู้ download ไปใช้แล้วกว่า 10 ล้านคน

    (5) Outsourcing เป็นรูปแบบใหม่ของการร่วมกันในกระบวนการทำงาน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท สามารถแยกออกไปทำนอกบริษัทในที่อื่นได้

    (6) Offshoring การที่จีนเข้าร่วม WTO กระตุ้นการย้ายฐานการผลิตหรือแยกกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทไปต่างประเทศ (offshoring) ที่มีต้นทุนถูกกว่ามากขึ้น

    (7) Supply Chaining การบริหารห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก บริษัท Wal-Mart ซื้อของจากประเทศจีนเป็นมูลค่าอันดับที่ 8 เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าของจีน (มากกว่าการส่งออกของจีนไปแคนาดาหรือออสเตรเลีย)

    (8) Insourcing คือการที่บริษัทเข้าไปทำงานต่าง ๆ ในบริษัทอื่น เช่น UPS ซึ่งขณะนี้รับทำงาน logistics ให้กับหลายบริษัท การดูแลและให้บริการแก่ลูกค้าซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Toshiba หรือการให้บริการลูกค้าสั่งซื้อรองเท้าทาง nike.com นั้นจะดำเนินการโดย UPS ตั้งแต่การตอบโทรศัพท์ ซ่อมของ ห่อของ ส่งของจนถึงการเก็บเงิน

    (9) In-forming เราสามารถหาข้อมูลให้ตัวเองได้อย่างง่ายดายจาก Internet และ search engine เช่น Google

    (10) The Steroids Wireless and Voice over the Internet เป็นเครื่องมือที่เหมือนยาชูกำลังที่จะทำให้การร่วมงานในรูปแบบต่างๆ ทำได้โดยมีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากเราจะสามารถเชื่อมต่อกับใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย

    ทั้ง 10 เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้โลกแบนขึ้นและเรียกปัจจัยเหล่านี้ว่า “flatteners”

    4. Triple Convergence

    ประมาณปี ค.ศ. 2000 มีการเปลี่ยนแปลง 3 เรื่องเกิดขึ้นซึ่งเป็นกระบวนการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไปในศตวรรษที่ 21 ได้แก่

    (1) First Convergence ได้แก่ การที่ flatteners ทั้ง 10 ประการได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่น informing มีผลต่อ outsourcing; outsourcing มีผลต่อ insourcing; insourcing มีผลต่อ offshoring เป็นต้น ซึ่งเป็นกระบวนการร่วมและแลกเปลี่ยนงานและความรู้กันทั่วโลกโดยไม่ขึ้นกับความแตกต่างระหว่าง เวลา ระยะทางหรือแม้กระทั่งภาษา

    (2) Second Convergence ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแนวราบ (horizontal) การค้นพบกระแสไฟฟ้าในระยะแรกยังไม่ได้ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงโรงงานกระบวนการผลิต และพฤติกรรมการทำงานของคนจากที่เคยคุ้นเคยกับเครื่องจักรไอน้ำ ถ้าเปรียบเทียบกับในปัจจุบันสิ่งที่กำลังเพิ่งเริ่มต้นก็คือการที่คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากแนวตั้ง คือ command and control value creation models มาเป็น connect and collaborate horizontal value creation model

    ตัวอย่างเช่น ในยุค globalization 1.0 การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจะต้องซื้อผ่านบริษัทจำหน่ายบัตรโดยสารซึ่งให้บริการลูกค้า ยุค globalization 2.0 เริ่มมีเครื่องขายอัตโนมัติที่สนามบินที่ลูกค้าสามารถซื้อได้ด้วยตนเอง ส่วนยุค globalization 3.0 ลูกค้าสามารถซื้อผ่าน internet และสั่งพิมพ์บัตรโดยสารเองที่บ้านและนำไปขึ้นเครื่องบินได้เลย นั่นคือลูกค้าได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นแนวราบ โดยทำงานแทนพนักงานของบริษัทด้วยทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและจะเกิดขึ้นอีกมากมายต่อไปในโลก

    (3) Third Convergence ได้แก่ การที่มีคนอีก 3 พันล้านคนจากจีน อินเดีย และรัสเซีย เข้ามาร่วมแข่งขันในโลกที่แบนขึ้น ถ้าเพียงแค่ร้อยละ 10 ของประชากรนี้ได้เข้ามาร่วมในกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็มากกว่าจำนวนแรงงานของสหรัฐถึงสองเท่า

    5. ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

    การปฏิรูปในระดับมหภาคดังเช่นในอดีต ได้แก่ นโยบายส่งเสริมการส่งออก แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดเสรีการเงินปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน ลดการอุดหนุนจากรัฐบาล ลดการปกป้องทางภาษีการค้า สร้างความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน และ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศสามารถอยู่รอดในโลกแบนที่มีการแข่งขันสูง

    ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในระดับจุลภาค โดยมีวัตถุประสงค์ให้มีกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนคนในประเทศจำนวนมากที่สุดให้สามารถสร้างนวัตกรรม เป็นผู้ประกอบการ จัดตั้งบริษัท เข้าถึงทุน เผชิญการแข่งขัน และเป็นที่ต้องการของคนในที่ต่างๆในโลกที่จะเข้ามาร่วมงานกัน (collaborate) ทั้งนี้การปฏิรูปดังกล่าว จะต้องมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่

  •     โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ท่าเรือ สนามบิน และ โครงข่ายโทรคมนาคม   เป็นต้น
  •     กฎระเบียบ ที่สนับสนุนและไม่ขัดขวางวัตถุประสงค์ข้างต้น
  •     การศึกษา ทั้งโอกาสและคุณภาพ
  •     วัฒนธรรม ประเทศที่สามารถเปิดรับแนวคิดและการปฏิบัติที่เป็น best practice จากต่างประเทศและปรับเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ เช่น สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และ จีน เป็นต้น จึงจะมีโอกาสของความสำเร็จสูง นอกจากนี้การร่วมงานกัน ต้องมีความไว้ใจระหว่างกัน ซึ่งต้องการความอดทน และการยอมรับในความแตกต่าง (culture of tolerance)

    นอกจากองค์ประกอบทั้ง 4 ยังมีสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ที่เป็นปัจจัยส่งผลให้บางประเทศ เช่น เกาหลีและไต้หวันประสบความสำเร็จในการปรับตัว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อียิปต์ และ ซีเรีย ไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การมีผู้นำในสังคมที่มีวิสัยทัศน์และความตั้งใจในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง และพลังของสังคมที่จะร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาประเทศ ชาวจีนขณะนี้ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ผลิตรถ GM ได้ แต่ต้องการจะเป็นบริษัทอย่าง GM และเข้ามาแทนที่ GM ในธุรกิจรถยนต์ให้ได้ การปฏิรูประดับจุลภาคที่สำเร็จต้องการแนวร่วมที่มีความหลากหลายและมีจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ยาก และท้าทายกว่าการปฏิรูประดับมหภาคที่ผ่านมาในอดีต

ที่มา http://www.rsunews.net/Off%20the%20shelf/TheWorldIsFlat/TheWorldIsFlat.htm

หมายเลขบันทึก: 308285เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2009 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท