อนุทิน 173172


Wasawat Deemarn
เขียนเมื่อ

“ตัวมอม” สัตว์หิมพานต์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น มักปรากฏคู่กับวัดและวิถีชีวิตของชาวล้านนา ตัวมอมเป็นสัตว์ในจินตนาการที่ช่างหรือสล่าล้านนาใช้เรียกสัตว์ในอุดมคติที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง ปรากฏอยู่เฉพาะในคติความเชื่อของชาวบ้าน และงานศิลปกรรมล้านนา กล่าวคือ มักปรากฏอยู่ในลักษณะของงานประติมากรรมประดับตามวัดทางภาคเหนือตอนบนเท่านั้น โดยเฉพาะวัดในจังหวัดเชียงใหม่ที่อดีตเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา

ตัวมอม มีลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้ง สุนัข แมว ตุ๊กแก กิ่งก่า ลิง เสือ ฯลฯ มีแขนยาว ลำตัวยาวยืดคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน มีใบหู และสีตัวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฝีมือของช่าง ในงานประติมากรรมของชาวล้านนาจะปรากฏประติมากรรมรูปตัวมอมประดับอยู่บริเวณราวบันได ตามหน้าแหนบ รอยต่อคอสอง บนเครื่องหลังคา หน้าบัน ซุ้มประตูโขง ซุ้มวิหาร ซุ้มประตูทางเข้า บานประตูท้องไม้ โก่งคิ้ว ต้นเสา และบริเวณภายในของวิหาร อุโบสถ เจดีย์ อาคารอื่นภายในวัด

สันนิษฐานว่า “ตัวมอม” ตามความเชื่อของกลุ่มชนเป็นชื่อเรียกสัตว์ในอุดมคติของกลุ่มชนที่นิยมการสัก โดยมีความเชื่อว่า ตัวมอมเป็นสัตว์ของเทพชั้นสูง มีอำนาจ อิทธิฤทธิ์ อวตารลงมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์

อ้างอิง https://www.silpa-mag.com/culture/article_34945



ความเห็น (2)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท