Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อนุทิน 131982


Archanwell
เขียนเมื่อ

ปรัชญาแห่งความเป็นนักวิชาชีพด้านกฎหมาย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖

------------------------------------------

ในโอกาสที่นักวิชาชีพกฎหมาย ๓ ท่าน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ จะต้องทำงานประเมินผลการทำงานขององค์กร ๗ องค์กรที่รับทุนขององค์กรระหว่างประเทศ เป็นการทำงานที่ยากและซับซ้อน เกี่ยวข้องกับคนมาก พวกเขาจะต้องเผชิญต่อทั้งความชื่นชมและความไม่ชื่นชมในแนวคิด วิธีการทำงาน และผลการทำงาน ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากจะสรุปหลักคิดของนักวิชาชีพกฎหมายดังนี้กับพวกเขา 

"เมื่อพวกเธอเป็นนักวิชาชีพด้านกฎหมาย เธอต้องตระหนักในหน้าที่ของเธอให้ดีที่สุดค่ะ เธออาจจะทำงานได้ไม่ดีหรือผิดพลาด ก็ขอให้ข้ออ่อนดังกล่าวนี้เกิดจากความไม่เจตนา แต่ทุกอย่างจะต้องมีสาเหตุ จึงเรียนรู้ถึงสาเหตุและแก้ไขที่สาเหตุอย่างกล้าหาญ จริงใจ และมีจริยธรรม

การที่จะทำอะไรก็ตามหากไม่มีแผนการที่ดี ตลอดจนความมุ่งมั่น โอกาสพลาดจะสูงมากทีเดียว แผนและการปฏิบัติการตามแผนเป็นเรื่องของเทคนิคบริหารความเสี่ยงที่น่าจะดีที่สุด เมื่อเราทำอะไรโดยปราศจากแผนตลอดจนองค์ความรู้ในการปฏิบัติการตามแผน เราก็จะเผชิญอุปสรรคมากมาย จนอาจจะไปไม่ถึงความสำเร็จ

องค์ความรู้ในการปฏิบัติการตามแผนมีอยู่ ๓ ลักษณะใหญ่ (๑) การจัดการแรงบันดาลใจ (๒) การจัดการขั้นตอนการทำงานตามแผน และ (๓) การจัดการอุปสรรคในการทำงานที่มีต่อทั้งใจและงาน

ในการทำงานครั้งนี้ จึงเป็นการฝึกงานครั้งสำคัญค่ะ ขอให้พวกเธอเรียนรู้และปรับพฤติกรรมให้ได้ค่ะ ขอให้โชคดี"

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=709224265755676&set=a.348722548472518.95079.100000043277137&type=1&theater

งานด้านกฎหมาย เป็นงานเพื่อความยุติธรรม ดังนั้น การทำงานบนความเที่ยงตรงจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้อย่างแน่วแน่ และมีเหตุมีผล และเมื่อเป็นความยุติธรรมทางสังคม บริบทของสังคมจึงเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ การรับฟังทุกคนในบริบทนี้จึงจำเป็น แต่ก็ยากที่สังคมไทยมักสอนให้มนุษย์ซุกฝุ่นไว้ใต้พรม ดังนั้น การเรียนรู้ปัญหาของสังคมอย่างรอบด้าน จึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างมาก

คำว่า "กฎหมาย" จึงต้องตระหนักในขอบเขตของบริบททางสังคม การคิดถึงกฎหมายที่มาจากอำนาจนิยมอย่างเดียว หรือที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วอย่างเดียว จึงอาจทำให้เราไม่เข้าถึงปัญหาสังคม และสร้างความยุติธรรมทางสังคมมิได้ 

การลงชี้ขาดในประเด็นใดก็ตาม ทั้งในศาลและนอกศาล เราคงต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจบริบทของสังคมที่คู่ความหรือผู้ถูกประเมินปรากฏตัวอยู่ ความเข้าใจในกลไกแห่งความยุติธรรมระหว่างคู่ความหรือคนในระบบที่ถูกประเมิน จะทำให้ความยุติธรรมทางสังคมบังเกิดขึ้น และสร้างสันติสุขในสังคมได้อย่างแท้จริง 



ความเห็น (1)

อาจารย์เขียนไว้ดีมากเลยครับ………. เรียนรู้ถึงสาเหตุและแก้ไขที่สาเหตุอย่างกล้าหาญ จริงใจ และมีจริยธรรม

…… ตรงที่ว่า การลงชี้ขาดในประเด็นใดก็ตาม ทั้งในศาลและนอกศาล เราคงต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจบริบทของสังคมที่คู่ความหรือผู้ถูกประเมินปรากฏตัวอยู่ ความเข้าใจในกลไกแห่งความยุติธรรมระหว่างคู่ความหรือคนในระบบที่ถูกประเมิน จะทำให้ความยุติธรรมทางสังคมบังเกิดขึ้น และสร้างสันติสุขในสังคมได้อย่างแท้จริง

ความเห็นที่เข้าข้างตัวเอง ผมอาจจะแปลความหมายไปตามความต้องการของตนได้ ……… (เมื่อความคิดเราไม่อยู่ตรงกลาง ซึ่งก็ยากที่จะทำให้อยู่ตรงกลางซะด้วยครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท