ไปดูทีมงานระดับอำเภอประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชน


ในอนาคตนักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดกำแพงเพชรทุกคนก็จะสามารถ ปฏิบัติ เรียนรู้ ออกแบบ และสร้างกระบวนการประเมินแบบมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสมกับทุกๆ กลุ่มอาชีพ /กิจกรรม

        จากการที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในทุกอำเภอ/กิ่งอำเภอ  และในเบื้องต้น พวกเราทีมงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ลงไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงเพื่อสร้างต้นแบบของการประเมินฯ  โดยได้ลงไปปฏิบัติและเรียนรู้ร่วมกับทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอ ครบทุกอำเภอ/กิ่งอำเภอ  อำเภอละ 1 กลุ่มแล้ว

        ซึ่งพอจะสรุปกระบวนการประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ตามบันทึกนี้(ลิงค์) พร้อมทั้งได้ร่วมกันปรับวิธีการทำงาน(กระบวนการประเมิน) ในวันสัมมนานักส่งเสริมการเกษตรในระดับอำเภอ (สายที่ 1/สายที่ 2)เพื่อที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอ จะได้นำกระบวนการและวิธีการเหล่านั้นลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเองอีกต่อหนึ่ง

         เมื่อวันศุกร์ ที่ 23  มีนาคม ที่ผ่านมา ผมพร้อมด้วยคุณสราญจิต และคุณสมเดช จากสำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ลงไปร่วมสังเกตการประเมินของทีมในระดับอำเภอ  ที่อำเภอคลองขลุง   ซึ่งได้ไปประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง  งานนี้เป็นหน้าที่ของทีมในระดับอำเภอต้องลงปฏิบัติเอง(ผมและทีมจังหวัดไปเพื่อให้กำลังใจและให้ข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง)   ผมมีภาพของบรรยากาศในการประเมิน และผลการประเมินของทีมสำนักงานเกษตรอำเภอคลองขลุงมาฝากครับ

  •  ทีมงานของสำนักงานเกษตรอำเภอคลองขลุง นำทีมสาวๆ มาเพรียบ  ยกเว้นพี่รัตนพล  มโน นักวิชาการฯ ประจำตำบล
  • บรรยากาศของการทบทวนข้อมูลของกลุ่ม เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งใช้การเล่าจากตัวแทนกลุ่มสลับกับการตั้งคำถามเป็นระยะๆ จากทีมประเมิน และจดบันทึกย่อๆ โดยพี่รัตนพล (ปรับจากเดิมที่เราออกแบบว่าใช้นักส่งเสริมการเกษตรเป็นคนตั้งคำถามและให้กลุ่มร่วมกันตอบ-บอกเล่าข้อมูล)
  • ในระหว่างการทบทวนข้อมูล  มีการบอกเล่ากลยุทธ์ส่งเสริมการการขายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ด้วยการแจกเสื้อแก่ลูกค้าที่มาซื้อปุ๋ยอินทรีย์ฯ ของกลุ่ม
  • ในขั้นที่ 2 ในการประเมินตนเองของสมาชิกกลุ่ม  ขั้นตอนนี้ก็มีการปรับวิธีการประเมินเล็กน้อย  จากเดิมที่ออกแบบให้สมาชิกทุกคนไปลงคะแนนเอง เป็นการอธิบายรายละเอียดแต่ละประเด็นแล้วให้สมาชิกยกมือ (การยกมืออาจทำให้สมาชิกหลายคนไม่กล้าแสดงออก)  แต่ที่กลุ่มฯ นี้ ทุกคนยินดีใช้วิธีการนี้


ผลการประเมิน 7 ประเด็นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ

  • กระบวนการสุดท้ายเป็นการร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนากลุ่ม ด้วยสมาชิกกลุ่มเอง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปว่าสมาชิกต้องร่วมมือกันเองในเพื่อชพัฒนากลุ่มของตนเอง


แนวทางพัฒนาของกลุ่ม ซึ่งกลุ่มจะต้องร่วมกันวางแผนในรายละเอียดกันต่อไป

           จากการร่วมสังเกตการณ์ประเมินโดยทีมของสำนักงานเกษตรอำเภอคลองขลุง  ได้เห็นการร่วมแรงร่วมใจของทีมสำนักงานเกษตรอำเภอ แล้วคิดว่าในการประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มต่อๆ ไปคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  เพราะเท่าที่สังเกตพบว่าทีมงานก็ได้มีการเตรียมตัว และแบ่งหน้าที่กันทำงานมาก่อนเป็นอย่างดี  ส่วนผลการปฏิบัติงานในครั้งต่อๆ ไปน่าจะสมบูรณ์มากยิ่งๆ ขึ้น เพราะทีมงานได้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงนั่นเอง และในอนาคตนักส่งเสริมการเกษตรของจังหวัดกำแพงเพชรทุกคนก็จะสามารถ  ปฏิบัติ เรียนรู้ ออกแบบ และสร้างกระบวนการประเมินแบบมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสมกับทุกๆ กลุ่มอาชีพ /กิจกรรม

          หลังจากนั้นทีมงานทั้งอำเภอ/จังหวัด ก็ได้ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่ม  ซึ่งเป็นการไปเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจ เสียดายที่แบตเตอรี่หมดเสียก่อนเลยไม่มีภาพกิจกรรมของกลุ่มมาฝาก

           ในการลงไปประเมินกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ของทีมสำนักงานเกษตรอำเภอเอง(ในทุกอำเภอ/กิ่งอำเภอ)   ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงมือปฏิบัติของทีมงานในระดับพื้นที่   และในระดับจังหวัดเราก็ได้หารือกันว่าในรอบ 1 เดือนเราจะเชิญตัวแทนของสำนักงานเกษตรอำเภอมาปรึกษาหารือถึงปัญหาอุปสรรคและ ลปรร.ผลการปฏิบัติงานร่วมกันในประเด็นของการประเมินวิสาหกิจชุมชน และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานพัฒนาสถาบันเกษตรกร  ผลเป็นประการใดจะนำมาเล่าต่อนะครับ

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 86543เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
แวะมาเยี่ยม นักส่งเสริมมืออาชีพครับ ยินดีที่ได้เรียนรู้....ครับ

เรียนพี่สิงห์ป่าสัก

  • แวะมาเยี่ยมคับ
  • อ่าน blog พี่เมื่อไหร่ ได้แนวคิดดีดี ตลอดเลยครับ ( เอาเรี่ยวแรงมาจากไหนอ่ะพี่ )
  • ผมเองเห็นด้วยกับกระบวนการของพี่มากคับ เพราะการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน การมีส่วนร่วมของวิสาหกิจชุมชนนั้น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเลยล่ะ ( ในความคิดของผมนะคับ ) เพราะจากการได้พบปะ  ลปรร. กับวิสาหกิจชุมชนที่เป็นกลุ่มนำร่อง ซึ่งได้จัดทำแผนพัฒนาไปแล้ว ผมพบว่า ถ้าหากว่าวิสาหกิจชุมชนได้กำหนดแนวทางการพัฒนาด้วยตัวของเขาเองแล้ว ( มีจนท.ร่วมเป็นพี่เลี้ยงและกองเชียร์ ) มันมีสิ่งดีดี เกิดขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะการ "เรียกความเชื่อมั่นในการทำงานของวิสาหกิจชุมชนให้กลับคืนมา" หลังจากที่เริ่มหายไป เพราะนโยบายการพัฒนาของรัฐในช่วงที่ผ่านมา

เรียน  คุณหมอนนทลี

  • งานในภาคสนามการทำงานเป็นทีมนั้นสำคัญมากครับ ต้องร่วมมือกันไม่เช่นนั้นเหนื่อย....ครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ

เรียน  พี่ชัยพร

          ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนและ ลปรร. - ให้กำลังใจ

เรียน น้องวิศรุต

  •  การเรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น และนำไปประยุกต์ใช้  เป็นการเรียนลัดสู่ความสำเร็จในการทำงานอย่างหนึ่งนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่แวะเข้ามา ลปรร. และให้กำลังใจ
  • ก็ได้กำลังใจจากคนอ่านบล็อกนี่แหละครับทำให้มีเรี่ยวแรงบันทึกต่อ...อิอิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท