๓๘. Assemblage,Junk, and Land Art : เมื่อขยะ ตึกร้าง บอกเล่าวิถีเมือง


หากมีใครสักคนมากล่าวกับท่านหรือคนทั่วไปว่า เขาจะทำงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง โดยใช้โลก ภูเขา ทะเล เมือง สิ่งไร้ค่าและความว่างเปล่าของสังคมมนุษย์ มาสร้างเป็นองค์ประกอบในงานศิลปะของเขา ท่านคงจะคิดว่าคนพูดบ้า หรือไม่ก็คงเข้าใจว่าหูของท่านคงเพี้ยนเป็นแน่...!!!!

ข้างต้นนี้ เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีอยู่จริง โดยร่วมสมัยกับยุคศิลปะนามธรรม (Abstract Expressionism) ซึ่งเริ่มปรากฏและเฟื่องฟูนับแต่ช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐-๒๔๙๐ (๑๙๔๐-๑๙๕๐) จนถึงปัจจุบัน เรียกว่า Assemblage,Junk, and Land Art ซึ่งเป็นพื้นฐานของศิลปะจัดวางและศิลปะที่เล่นกับผืนแผ่นดินโลก   

ศิลปะแนวนี้ทำให้คำที่กล่าวต่อๆกันมาว่า 'ศิลปินอย่าดูหมิ่นศิลปะ กองขยะดูให้ดีก็มีศิลป์' เป็นคำกล่าวที่หาใช่เลื่อนลอยแบบกลอนพาไป ทว่า เป็นปรัชญาศิลปะ สะท้อนโลกและนำเสนอประเด็นร่วมของสังคมมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งที่สุดแนวหนึ่ง

งานในกลุ่มนี้มีแนวคิดและวิธีทำงานหลายแนว รวมทั้งมีชื่อเรียกเพื่อเจาะจงรายละเอียดที่แตกต่างกันหลายชื่อ ซึ่งก็อาจจัดว่าอยู่ในกลุ่มของ ศิลปะจัดวาง (Installation Art) ทว่า โดยรวมแล้วก็กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่เดินออกจากพื้นที่และทลายกรอบการทำงานศิลปะของกระแสหลัก โดยมุ่งแสวงหาความลงตัวและความสมดุลกันในบริบทใหม่ๆระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ สังคมสิ่งแวดล้อมเมืองกับมนุษย์ โลกทางวัตถุกับโลกทางจิตใจและการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ ดังนั้น หากจะเรียกให้เจาะจง จัดหมวดหมู่เพื่อพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวคิดและวิธีทำงาน ก็อาจจะเรียกไปก่อนว่า ศิลปะการจัดวางบริบท : Reconceptualized Contextual Art

  การก่อเกิด วิธีคิด ความบันดาลใจ 

ศิลปะจัดวาง, Earth Art ศิลปะโลก / ศิลปะผืนดิน เป็นงานศิลปะแนวหนึ่งที่ก่อเกิดขึ้นจากวิถีชีวิตและแรงบันดาลใจต่อความเป็นสังคมเมือง (Urban Society) ในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่แข่งกันทะยานไปข้างหน้า ขณะเดียวกันก็ผลิตขยะและสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการ ที่แปลกแยกกับวิถีสุขภาวะของสังคมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สภาวการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความน่าสนใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากสังคมเมือง สังคมโลก  มีวิถีพัฒนาการที่ไม่สามารถหวนคืนสู่โลก ราวกับไหลไปข้างหน้าอย่างเรื่อยเปื่อย ไม่มีเหตุผล ขาดเจตจำนงค์และจุดมุ่งหมายหรือไม่มีประโยชน์ในวิธีคิดของคนแต่ละยุคเป็นเครื่องกำกับ ซึ่งก็เปรียบเสมือนภาวะว่างเปล่าและเหมือนความเป็นขยะในวิธีคิดของสังคมเมืองโดยทั่วไป ? ประเด็นความน่าสนใจดังกล่าว มีความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้และการเรียนรู้ทางสังคม ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเอง และสามารถเกิดแนวทางในการจัดความสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆได้อย่างเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา

ในสาขาต่างๆก็ให้ความสำคัญและเกิดประเด็นคำถามเพื่อสร้างพัฒนาการต่างๆให้สนองตอบและสอดคล้องกลมกลืนกับสภาวการณ์ในลักษณะนี้ ทางศิลปะก็เช่นกัน โดยเกิดงานทางความคิดในลักษณะที่ว่า ศิลปะจะสามารถสื่อสะท้อนสภาวการณ์ดังกล่าว เพื่อสะเทือนเข้าไปอย่างลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณและให้ประสบการณ์ความสำนึกรู้ในแง่อื่น อันนำไปสู่การดำเนินชีวิตและสร้างสังคมที่งาม ลงตัว มีสุขภาวะและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุลอยู่เสมอ ได้อย่างไร ?

แนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่การเดินออกจากสตูดิโอของคนทำงานศิลปะ แล้วใช้วัฒนธรรมทางวัตถุ วิถีผลิตและบริโภค ความเป็นเมือง ผืนดิน โลก และความเป็นสังคมของมนุษย์ เป็นองค์ประกอบจัดวางศิลปะในกลุ่ม Assemblage,Junk, and Land Art ขึ้น โดยเริ่มพบนับแต่ปี ๑๙๓๖ ในงานของ โจเซฟ คอร์แนล (Joseph Cornell) ซึ่งเริ่มสื่อสะท้อนสภาวการณ์ที่ต้องการวิพากษ์และตั้งคำถามระดับวิธีคิด วิธีมองผ่านความเป็นโกดังทิ้งของ ขยะ ตึกร้าง และโลกทางวัตถุที่หมดประโยชน์ใช้สอยจากวิถีบริโภคของสังคมมนุษย์แต่ไม่รู้ว่าจะคืนสภาพไปสู่สิ่งใด เป็นปรากฏการณ์ร่วมกันของเมืองต่างๆของโลกและขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก่อเกิดแรงกดดันและสร้างความล่มสลายทั้งต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคมการเป็นอยู่ของมนุษย์ มากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งต้องตั้งคำถามกันใหม่ว่า แท้จริงแล้ว ส่วนที่เรียกว่าความเป็นเมืองนั้นคือส่วนที่เป็นความต้องมีขยะ ความรกร้าง หรือส่วนที่เป็นมนุษย์และการใช้สอยของมนุษย์กันแน่ หรือว่าจะต้องมองโลกและปรับทรรศนะให้ต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมในยุคสมัยที่กำลังเป็น เพราะมนุษย์นั้นมีอยู่ทั้งในถ้ำ ชุมชนเกษตรกรรม ชนบท กระทั่งในสังคมเมือง แต่วิธีคิดต่อความเป็นขยะอย่างในปัจจุบันนั้นเป็นผลผลิตจากสังคมอุตสาหกรรมและก่อเกิดเป็นของคู่กันกับสังคมเมืองเท่านั้น ดังนั้น ความเป็นขยะในอีกแง่หนึ่งจึงบอกถึงความเป็นสังคมเมืองได้เป็นอย่างดีไม่น้อยกว่ามิติอื่นๆ

การที่จะทำให้ผู้คนเกิดประสบการณ์ ตื่นตัวเรียนรู้และเข้าถึงภาวะดังกล่าวนี้เพื่อนำไปสู่ความริเริ่มสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงต่างๆได้นั้น บทบาทของงานศิลปะที่สร้างขึ้นในสตูดิโอและจัดแสดงอยู่แต่บนเฟรมหรือในพื้นที่ทางศิลปะซึ่งแยกส่วนออกจากสังคม คงจะไม่มีพลังเพียงพอ งานในแนว Assemblage,Junk, and Land Art จึงได้เกิดขึ้น

  เทคนิค วิธีการ 
สร้างความหมายและมิติใหม่ๆขึ้นจากสิ่งเดิมที่ไร้ประโยชน์
โดยจัดวางบริบทและสภาพแวดล้อมใหม่ ให้เกิดมิติกระทบใจทางศิลปะ

การที่จะจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ที่สื่อสะท้อนจิตวิญญาณความเป็นเมืองและเข้าถึงภาวะพื้นฐานของสังคมเมืองที่สร้างขึ้นบนวิถีบริโภคทางวัตถุของมนุษย์อย่างได้ผลนั้น งานแนวนี้ก็จะมุ่งสื่อผ่านการจัดวางลงไปบนความเป็นเมือง พื้นที่ความเป็นเมือง ผืนดิน นับแต่สะท้อนอยู่บนตัววัตถุสิ่งของชิ้นเล็กๆ กระทั่งถึงตึกอาคารสิ่งปลูกสร้าง ภูเขา แผ่นดิน แม่น้ำ ทะเล ซึ่งสามารถมองลงมาจากนอกโลกหรือจากท้องฟ้า เห็นพื้นแผ่นโลกเป็นฉากหรือองค์ประกอบหนึ่งของงาน ทุกๆอย่างบนการจัดวางในบริบทใหม่ ไม่ว่าจะเป็นขยะและมนุษย์ วิถีสังคมเมืองกับผืนดินแผ่นน้ำ พลันก็มีความเป็นส่วนหนึ่งของโลกและความว่างเปล่า 

แต่ไม่ว่าจะจัดวางลงไปที่องค์ประกอบของวัตถุและสิ่งของ ให้สิ่งดังกล่าวส่งเสียงและสื่อสะท้อนภาวะที่ต้องการด้วยตัวมันเอง หรือจัดวางลงไปบนอาคารสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ กระทั่งออกไปถึงบนพื้นที่กว้างของทะเล ภูเขา แผ่นดิน ที่สามารถมองลงมาจากนอกโลกได้ หรืออย่างไรนั้น หลักคิดสำคัญของงานศิลปะจัดวางแนวนี้ก็จะมุ่งให้เกิดกระบวนการทางปัญญาในการมองโลกและการได้วิธีคิดต่อการสร้างความเป็นสังคมเมืองผ่านการให้ความหมายต่อความเป็นขยะ สิ่งรกร้าง ทิ้งขว้าง ว่างเปล่า มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการร่วมกันหาคุณค่าและความหมายใหม่ๆต่อสุขภาวะและสุนทรียภาพแห่งชีวิตในความเป็นสังคมเมือง

หลักคิดต่อ ศิลปทัศนธาตุ(Art Elements) ที่จะให้การสื่อสะท้อนต่อวิธีคิดดังกล่าวนี้ได้ จะมุ่งหาวัตถุและสิ่งที่ได้ลักษณะพื้นฐานที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

  • กล่องเปล่า สิ่งที่กลวง และบรรจุภัณฑ์ที่ถูกทิ้ง : บริบทภายในเป็นตัวให้สถานะและความหมาย กล่องหรือสิ่งที่กลวงและถูกทิ้ง ซึ่งจะมีประโยชน์ มีความหมาย มีความสำคัญ และมีกาลเทศะแห่งตนได้ก็จำเพาะต่อสิ่งที่ได้บรรจุอยู่ข้างในสิ่งนั้นๆเท่านั้น เช่น ขวดน้ำปลา มีความหมายและมีตัวตนในอีกสถานะหนึ่งสำหรับมนุษย์ก็ต่อเมื่อมีน้ำปลาบรรจุอยู่ในนั้น เมื่อไม่มีน้ำปลา ขวดเปล่าก็เป็นขยะ ? ความเป็นจริงของบางสิ่งอยู่ที่สิ่งอื่น หรืออยู่ที่ความเป็นจริงในตนเองของสิ่งนั้น หรืออยู่ที่การกำหนดรู้ของมนุษย์ หรือความลวงคือความจริง หรือรูปการณ์ทางจิตสำนึกที่ผิดพลาดก็เป็นความจริงอย่างหนึ่ง ? สิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพัฒนาการในการเรียนรู้ของมนุษย์ หากสามารถคิดและตั้งคำถามด้วยทรรศนะใหม่ๆอย่างสร้างสรรค์
  • การห่อ : บริบทภายนอกเป็นตัวแปรสถานะและความหมาย สิ่งที่ถูกโละทิ้งและห่อหุ้มให้เห็นภาษาความไม่มีสถานะเป็นสิ่งนั้นๆ ดังที่เคยเห็นอยู่ทั่วไป สิ่งที่มีการใช้สอยต้องถูกแกะกล่อง เมื่อถูกห่อกลับ ก็กลายเป็นได้สถานะขยะและสิ่งหมดประโยชน์ ?
  • ตึกร้างและความโดดเดี่ยว เอกเทศ : ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับสังคมสภาพแวดล้อมทำให้เปลี่ยนแปลงสถานะและความหมาย ตึกร้าง อาคาร สถานที่ ภูเขา ทะเล ทะเลทราย หรือองค์ประกอบบนพื้นโลกที่มีลักษณะโดดเดี่ยว ยิ่งใหญ่ แต่ไม่เป็นที่สนใจ ร้าง ไร้ประโยชน์ ไร้คุณค่า ไร้ความหมายในวิธีคิดของยุคสมัยหนึ่งๆ หรือในบริบทหนึ่งๆ

ลักษณะพื้นฐานดังกล่าว ขยะจึงไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง ทว่า มีองค์ประกอบในการถูกสร้างขึ้นหลายบริบท ทั้งการจัดวางตนเอง สังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ วิธีคิดของมนุษย์ ขยะอาจคืนสู่โลกหากเกิดความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ นิยามและภาพสะท้อนความเป็นสังคมเมืองและธรรมชาติของวิถีบริโภคที่อยู่บนความเป็นวัตถุดังกล่าว จึงสามารถนำมาจัดแสดงให้สัมผัสได้ เพื่อก่อให้เกิดความสะดุดใจและตั้งคำถามใหม่ๆต่อสภาวการณ์ต่างๆต่อสังคมนั่นเอง ดังนั้น จึงเน้นที่จะให้วัตถุและสิ่งที่นำมาจัดวางนั้นๆยังคงความเป็นสิ่งนั้นเองทั้งหมด ทว่า เปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนบริบท เปลี่ยนสภาพแวดล้อม หากเป็นวัตถุสิ่งของ ก็ยกไปจัดวางในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความหมายและบริบทใหม่ของสิ่งนั้น หากเป็นตึกอาคาร ภูเขา ทะเล และพื้นที่กินอาณาบริเวณกว้าง ก็จะจัดองค์ประกอบที่สื่อสะท้อนความเป็นสังคมโลกและสังคมมนุษย์เข้าไปสู่สิ่งนั้น

                                               

                                               ภาพที่ ๑  กระป๋องในห่อ. ชิ้นส่วนประดิษฐกรรม โดย คริสโต จาวาชีฟ ปี ๑๙๕๙-๑๙๖๐ เป็นการนำเอาวัตถุที่ถูกทิ้งซึ่งจะพบเห็นอยู่ในวิถีชีวิตและความเป็นเมืองอยู่ทั่วไป มาจัดแสดงเพื่อทำให้สิ่งที่หมดความหมายและไร้ประโยชน์ หรือกลายสู่ความเป็นขยะในบริบทความเป็นเมืองและในวิธีคิดของสังคมมนุษย์ในยุคสมัยหนึ่งๆ ให้มีพื้นที่การแสดงตนในอีกบริบทหนึ่ง พื้นที่ศิลปะจึงเป็นการจัดวางพื้นที่สมมุติและเป็นข้อเสนอต่อสังคมเพื่อเห็นสุขภาวะสังคมที่พึ่งประสงค์ : Desirable Society เพื่อให้ความบันดาลใจอันจะนำไปสู่การมองและได้ทรรศนะทางเลือกอย่างอื่นที่ดีกว่าเดิม เช่น แท้จริงแล้ว สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ เป็นขยะ โดยพิจารณาดูเพียงตัววัตถุภายนอกอันได้แก่กระป๋องและสิ่งห่อหุ้ม หรือว่าดูไปที่อีกด้าน ตรงที่การก่อเกิดสิ่งนี้ได้ก็เพราะสิ่งที่เคยบรรจุอยู่ข้างในไม่มีแล้ว ซึ่งก็จะทำให้แนวคิดเรื่องขยะหมดไป กลายเป็นเกิดคำถามใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการค้นหาบริบทใหม่ๆของกระป๋อง เช่น แนวคิดการนำไปแปรเป็นอย่างอื่น การนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์มากกว่าการพัฒนาไปข้างหน้าและทิ้งสิ่งต่างๆให้เป็นขยะอยู่ตลอดไปโดยถือวิธีคิดต่อประโยชน์ของมนุษย์เพียงบางเงื่อนไขเท่านั้นมาเป็นเกณฑ์

การจัดแสดงงานศิลปะแนวนี้ มีทั้งการสร้างให้เป็นปรากฏการณ์ฉับพลันให้คนในเมืองได้สัมผัสและเกิดบริบททางความหมาย ที่ก่อให้เกิดความบันดาลใจและการได้พลังวิธีคิดใหม่ๆแบบ Happening Art รวมทั้งใช้การบันทึกเป็นภาพถ่าย ภาพยนตร์ วิดีทัศน์ เพื่อนำเสนอให้ผู้ชมได้ชมในโอกาสต่างๆได้มากขึ้น

                         ภาพที่ ๒  Assemblage,Junk, and Land Art สร้างบริบทใหม่ให้กับทะเล หาดทราย ภูเขา กระทั่งทะเลทรายซาฮารา(ภาพบนขวาสุดของหน้าขวา) และที่ทำเนียบรัฐบาลของประเทศเยอรมันนีหลังทะลายกำแพงเบอร์ลินและยุบรวมเยอรมันตะวันออกและตะวันตกเป็นประเทศเดียวกัน

                          ภาพที่ ๓ โครงการห่อเก็บอาคาร Reichstag กรุงเบอร์ลินในเยอรมันนีอย่างประนีต เป็นโครงการเพื่อสื่อถึงการมุ่งสู่การยุบรวมประเทศของเยอรมันนีตะวันตกและเยอรมันนีตะวันออกหลังทุบทลายกำแพงเบอร์ลิน เตรียมการเพื่อจัดวางศิลปะ Assemblage เป็นเวลานานถึง ๒๕ ปีระหว่างปี ๑๙๗๑-๑๙๙๕ ควบคู่ไปกับกระบวนการรวมเยอรมันนีเป็นหนึ่งเดียว อาคารดังกล่าวนี้ เคยใช้เป็นสถานที่เจรจาและประชุมร่วมกันของรัฐบาลและสภาผู้แทนระหว่างกระบวนการรวมประเทศ จึงสื่อถึงความสำเร็จ หมดภารกิจอย่างหนึ่ง แต่ก็มีความหมายที่ถูกห่อหุ้มไว้อีกอย่างหนึ่ง ราวกับเป็นของขวัญทั้งของชาวเยอรมันนี ของโลก และของมวลมนุษยชาติ ในช่วงที่จัดวางอาคารนี้ ๒ สัปดาห์ มีผู้คนแตกตื่นไปดูผลงานศิลปะชิ้นนี้ถึง ๕ ล้านคนและก่อเกิดพลัง Critical Mass ขับเคลื่อนสิ่งสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นมากมาย ให้ประสบการณ์ตรงที่สัมผัสได้ต่อพลังของความไร้ประโยชน์ ร้างและว่างเปล่าจากสิ่งที่เคยมีอยู่ภายใน พร้อมกับได้วิธีมองและก่อเกิดบริบททางความหมายชุดใหม่ขึ้นมาขับเคลื่อนวิถีสังคมต่อไป

  พัฒนาการ และความเคลื่อนไหวในประเทศไทย 

ศิลปะในแนวทางดังกล่าวนี้ เป็นงานเชิงความคิดและเป็นความเคลื่อนไหวที่ผุดขึ้นได้ก็ด้วยวิถีความเป็นสังคมเมืองซึ่งเป็นพัฒนาการที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างซับซ้อนหลากหลายไปทั่วโลก ดังนั้น จึงเป็นทั้งแนวการทำงานศิลปะและใช้ศิลปะเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) เพื่อทำให้ความริเริ่มสิ่งต่างๆได้มีกำลังที่จะผุดขึ้นเป็นตัวเลือกเพิ่มความหลากหลายให้แก่สังคม ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ดำเนินควบคู่ไปกับการตั้งคำถามใหม่ๆต่อตนเองและสิ่งรอบข้างของผู้คนที่อยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสังคมเมือง รวมทั้งในประเทศไทย

คนทำงานศิลปะจัดวางในประเทศไทยที่โดดเด่นก็เช่น กลุ่มศิลปะบ้านตึก นำโดยจุมพล อภิสุข ซึ่งเป็นผู้นำศิลปะแนวจัดวางกลุ่มหนึ่งทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ อาจารย์มณเทียร บุญมา (ถึงแก่กรรมแล้ว) แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยได้รับการเลือกสรรจาก Curator ระดับโลกให้ร่วมจัดวางศิลปะแนว Assemblage และอาจารย์เขียนโครงการขอจัดวางขยะดาวเทียมและยานอวกาศ ซึ่งต้องขึ้นไปติดตั้งและมองมาจากนอกโลก ให้โลกและบรรยากาศบนพื้นโลกเป็นฉากหลัง แต่องค์กรสนับสนุนไม่สามารถให้การสนับสนุนแก่โครงการดังกล่าวของอาจารย์ได้ เหล่านี้เป็นต้น

  การเรียนรู้และการสะท้อนสู่การดำเนินชีวิต 

แนวทางของศิลปะดังกล่าวนี้ มุ่งสู่ความงามและสุนทรียภาพที่มีองค์ประกอบความจริงจังต่อชีวิตและสังคม เน้นตั้งคำถามเพื่อให้ประสบการณ์ต่อจิตวิญญาณและความสำนึกที่ลึกซึ้ง อันจะนำไปสู่การได้วิธีคิดต่อมิติจิตใจกับวัตถุ ที่เป็นสัมมาปฏิบัติมากยิ่งๆขึ้นของปัจเจกและสังคมเมือง ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอีกมิติหนึ่งของความว่างเปล่า รวมทั้งเห็นความเป็นขยะและความเป็นประโยชน์ของสิ่งที่ไม่ใช่ขยะว่าไม่ได้มีอยู่โดยตัวมันเอง  ทว่า มีความสัมพันธ์กับการเห็น วิธีคิด วิธีมอง และมิติจิตใจของสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกทางวัตถุ ซึ่งจะเป็นวิธีคิดที่ทำให้เห็นความสร้างสรรค์ แง่งาม และมิติสุนทรียภาพบนความเป็นสังคมเมืองได้ลึกซึ้งแยบคายมากยิ่งๆขึ้น สามารถสร้างสรรค์วิถีดำเนินชีวิตและร่วมกันสร้างสุขภาวะสังคมได้ดีมากยิ่งๆขึ้น

การพัฒนาจิตใจ พัฒนาวิธีคิด วิธีมอง และแปรไปสู่การปฏิบัติในวิถีชีวิตต่อสิ่งเดิมๆในวิถีทางใหม่ๆให้ชีวิตสังคมเมืองเป็นวงจรสร้างสรรค์ที่ไม่มีความสิ้นสุด จึงเป็นศิลปะและสุนทรียภาพที่สำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต.

...........................................................................................................................................................................

อ่านหนังสือและย่อยมาเล่าแบ่งปันกันจาก : Art : The Definitive Visual 
                                                             บรรณาธิการโดย
Guide Andrew Graham -Dixon
โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ หลักสูตร Educational Management (International Programme) และโครงการหลักสูตรการศึกษาทางเลือก ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หมายเลขบันทึก: 379917เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2010 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2014 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ผลงานจัดวางแนว Earth Art อีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์มณเฑียร บุญมา ศิลปินชาวไทยคนหนึ่งที่ทำงานในแนวนี้และประสบความสำเร็จในวงการศิลปะนานาชาติ เข้าไปชมได้ที่นี่ครับ 

งานศิลปะจัดวางของอาจารย์มณเฑียร บุญมา ผ่านการตระเวนไปซื้อเสาไม้จากงานศิลปะบนสถาปัตกรรมโบสถ์ในศาสนสถานภาคเหนือ ๑๔ ต้นที่ถูกรื้อทิ้ง แล้วนำมาจัดวางพร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมนั่งสวดเป็นองค์ประกอบหนึ่งเพื่อบอกเล่าจิตวิญญาณความเป็นทั้งมวลที่สะท้อนอยู่ในเสาโบสถ์ ก็เป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความตื่นตัว   พูดคุยและเรียนรู้แง่มุมต่างๆของสังคมกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ

เรียนท่านอ.

ครูต้อยขออนุญาตค่ะ

เพราะรู้สึกว่าสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นบนโลกใบนี้ ต่างเป็นขยะโลกค่ะ

รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

ขอบคุณค่ะ ขอกลับไปเรียนรู้บันทึกที่ 37 ต่อค่ะ

 

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

  • ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านระบบนิเวศวิทยาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมบางแนว มีแนวคิดแบ่งกรอบการพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ แนวที่ใช้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง และใช้มนุษย์และกิจกรรมสังคมของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
  • แนวที่ถือเอาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง ก็จะเห็นการก่อเกิดของสังคมมนุษย์และกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐาน เกิดชุมชน เกิดเมือง และเกิดปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคมว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบธรรมชาติ เป็นห่วงโซ่และระบบย่อยอย่างหนึ่ง แนวคิดที่จัดวางให้สิ่งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นขยะของโลก จัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้ครับ แต่เป็นกลุ่มย่อยในกลุ่มนี้อีกทีหนึ่ง
  • แนวที่ถือเอามนุษย์และกิจกรรมสังคมของมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้น ระบบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นระบบนิเวศวิทยาของสังคมมนุษย์
  • มนุษย์ สังคมมนุษย์ และกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ จึงมีความเป็นระบบธรรมชาติอย่างหนึ่ง วิธีคิดอย่างหลังนี้ก็จะเน้นการปฏิสัมพันธ์ของสังคมมนุษย์กับธรรมชาติ การพัฒนาทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่คำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การก่อเกิดขยะและความเป็นส่วนแปลกปลอมอันเกิดจากกิจกรรมต่างๆของคนบนธรรมชาติและสังคมโลก จึงอยู่ที่การเรียนรู้และการจัดการตนเองของสังคมมนุษย์นั่นเอง
  • การได้ความนิ่ง เป็นสมาธิ สงบเยือกเย็นในใจ มอง คิด พินิจพิจารณา แล้วก็ได้ทรรศนะ วิธีคิดดีๆ อย่างที่คุณครูkrutoitingได้จากการดูงานศิลปะ ได้นั่งอ่าน แล้วเกิดความคิด สะท้อนคิด และแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันอย่างนี้ เป็นจุดหมายของการทำงานศิลปะแนวนี้เลยครับ
  • ลักษณะอย่างนี้ หากไปเกิดศิลปะจัดวางกลางถนนและในสภาพแวดล้อมจอแจของสังคมเมืองต่างๆ ก็จะเห็นว่า มันทำให้เกิดพื้นที่ของจิตใจและการคิดเห็นใหม่ๆต่อวิถีชีวิตของสังคมเมืองที่กำลังไหลผ่านทุกคนไปอย่างว่างเปล่า ทำให้ชีวิตเดินช้าลงและมีที่อยู่ให้กับความเป็นชีวิตจิตใจในท่ามกลางโลกทางวัตถุครับ

ขอบคุณค่ะ..มาเรียนรู้ศิลปะแบบ functional ที่หลุดกรอบ และสะท้อนการสร้างสรรอย่างแท้จริง ...ได้แต่ชื่นชมค่ะ..ตัวเองยังติดๆกรอบอยู่..

ว่างๆชวนไปเยี่ยมชมพุทธศิลป์ ที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯค่ะ :

http://gotoknow.org/portal/nongnarts

เจ้าของภาพ : เอกรินทร์ เอกอัจฉริยะวงศ์

 

 

ขออภัยค่ะ..link ผิด คลิ๊กที่นี่ค่ะ :

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/380790#2115932

เจ้าของภาพ : กิจจา ปรัชญาธรรมกร

สวัสดีครับคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณครับ

  • พี่นงนาถเรียกศิลปะแบบ Functional นี่ ผมตื่นเต้นมากเลยครับ
  • ตื่นเต้นตรงที่ว่าพอค่อยๆหาวิธีพิจารณาให้เห็นความเชื่อมโยงกันและสามารถสื่อความคิดที่สำคัญสู่กันได้ เราก็จะสามารถสานประสบการณ์ที่ต่างศาสตร์ต่างสาขากันของผู้คน ให้ใช้ความรู้ความเข้าใจในสาขาของตน มาเป็นแนวเข้าสู่อีกมิติหนึ่งของปรากฏการณ์เดียวกันและสามารถได้ความลึกซึ้ง พร้อมกับเกิดทรรศนะที่รอบด้านมากขึ้นไปด้วยได้
  • ศิลปะแบบ Functional อย่างวิธี approach ของพี่นี้ สอดคล้องกับแนวการพิจารณาศิลปะในอีกกลุ่มหนึ่งด้วยจริงๆครับ และงานที่อยู่ในกลุ่ม Earth Art นี้ก็เป็นศิลปะแบบ Functional จริงๆครับ แนวนี้จะสามารถใช้ทรรศนะทางสังคมมาเข้าใจได้ด้วยครับ ทางสิ่งแวดล้อมก็เช่นกันครับ
  • ซึ่งหมายความว่า ที่ระดับหนึ่งในทุกๆเรื่องๆ หากสามารถเชื่อมโยงความรู้เข้าถึงทรรศนะพื้นฐานของกันได้ ก็จะสามารถเกิด Shared Knowledge และ Shared Vision ได้จริงๆครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกอาจารย์แล้ว รู้สึกว่าทุกอย่างล้วนประกอบด้วยศิลป์

หรือศิลป์จะแทรกอยู่ในทุกสิ่ง

จนกลายเป้น "ธรรม" ไปคะ

  • สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
  • มีครูอาจารย์หลายท่านแสดงทรรศนะอย่างที่คุณณัฐรดาว่านี้เลยครับ
  • ท่านพุทธทาสก็กล่าวถึงในแนวนี้
  • ผมเองก็เคยคุยให้กับเพื่อนๆและน้องๆฟังในวิธีคิดอย่างนี้ แต่บอกถึงความแตกต่างไปตรงที่ว่า เมื่อเทียบกับวิถีพุทธธรรมแล้ว ศิลปะออกจะยังอยู่ในระดับปัญญาที่ยังอาศัยการปรุงแต่งอยู่
  • คนทำงานศิลปะหลายคนในประเทศไทยและสังคมตะวันออก ก็มักให้บทสรุปทำนองนี้เช่นกันครับ
  • อันที่จริงคุณณัฐรดาก็เยคุยไว้ที่ไหนสักแห่ง หากเชื่อมโยงไว้และสะสมแง่มุมนี้ไว้อยู่เรื่อยๆ ก็เชื่อว่าจะเป็นฐานการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือและวิธีการปฏิบัติธธรม รวมทั้งเพื่อการเจริญสติภาวนานะครับ
  • มีความสุขมากๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท