BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

แกงสมรม


แกงสมรม

แม้จะเป็นคนปักษ์ใต้บ้านเรา แต่บางคนก็ไม่รู้จัก แกงสมรม ถ้าไม่คุ้นเคยกับวัดวาหรือประเพณีพื้นบ้าน.... สำหรับชาวเหนือ ถ้ารู้จัก แกงโฮ๊ะ ก็ให้เข้าใจได้เลยว่า แกงสมรม ก็ทำนองเดียวกับ แกงโฮ๊ะ เพียงแต่การปรุงรสชาิดต่างกันไปเท่านั้น...

แกงสมรม ก็คือ แกงที่ได้มาจากการนำเอาแกงต่างๆ ที่เหลือมารวมกันแล้วก็นำมาปรุงใหม่ โดยใส่เครื่องแกงเพิ่มเติม ซึ่งก็เป็นเครื่องแกงส้มปักษ์ใต้นั่นเอง... สำหรับแกงสมรมนี้ อาจกล่าวได้ว่า อยู่คู่กับวันสารททำบุญเดือนสิบหรือวันชิงเปรตของปักษ์ใต้....

วันทำบุญเดือนสิบนั้น ตามค่านิยมท้องถิ่นทั่วไป นอกจากทำขนมประจำเดือนสิบหลายชนิดแล้ว... ในส่วนของอาหารจะมี แกงคั้วกะทิ อยู่ด้วยอย่างหนึ่งเสมอ ซึ่งจะเป็นแกงคั้วชนิดไหนแบบใดก็ได้ เพื่อจะได้กินกับขนม ต้มสามเหลี่ยม หรือ ต้มปัด ซึ่งทำด้วยข้าวเหนี่ยว...

 

ดังนั้น แกงคั้วกะทิ เหล่านี้ จึงมีมากในวันทำบุญ... แม่ครัว เจ้าหน้าที่ี่ หรืออาจเป็นพระ-เณรประจำัวัดนั้นๆ จะนำแกงคั้วกะทิเหล่านี้ ใส่หม้อใบใหญ่ รวมกันไป ซึ่งมีทั้ง คั้วไก่ คั้วหมู คั้วเนื้อ คั้วลูกชิ้น คั้วหน่อไม้ คั้วกุ้งเสียบ คั้วปลาช่อนแห้ง คั้วเห็ดแครง... ฯลฯ

นอกจากแกงคั้วกะทิเหล่านี้แล้ว ก็ยังใส่อย่างอื่นเพิ่มเติมไปด้วยตามที่เห็นสมควร เช่น ไข่พะโล้ หมูแดง หมูกรอบ เนื้อแห้ง ปลาทอด ทอดมัน กุนเชียง ไข่ครอบ แกงจืด แกงส้ม ....ฯลฯ ซึ่งสิ่งเพิ่มเติมเหล่านี้ อาจเลือกสรรได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีอยู่และความชอบของแต่ละคน...

เมื่อได้ปริมาณเพียงพอแล้ว ก็จะตั้งเก็บไว้ จนกระทั้งเสร็จงานตอนเย็นหรือค่ำๆ ก็จะนำมาปรุงอีกครั้ง โดยเพิ่มเครื่องแกงและปรุงรสชาดใหม่ตามใจชอบ ซึ่งที่ขาดไม่ได้ของแกงสมรมก็คือ ส้ม ที่ใช้ในการประสานให้รสชาดเป็นหนึ่งเดียวกัน... ส้มที่ดีที่สุดในกรณีนี้ก็คือ น้ำส้มโหนด แต่ถ้าไม่มี น้ำส้มโหนด อาจใช้น้ำส้มสายชู หรือส้มอื่นๆ ก็ได้...

สำหรับที่วัดยางทอง คุณโยมหน้าวัดจะมารับไปปรุงให้ และจะนำมาถวายทั้งหม้อใบใหญ่ในตอนเช้า... ต่อจากนั้นพระ-เณร ตลอดเด็กวัด ก็จะนำถ้วยจานมาเอาหรือตักแจกกันทั่ววัดตามสมควร... ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้ ตอนเช้าก็อุ่นอีกครั้งและอีกครั้ง...

แกงส้มรมหม้อใหญ่นี้จะวางอยู่ประมาณ ๒-๔ วันก็จะหมดไป... ซึ่งโดยทั่วไปใครก็สามารถมาตักแบ่งไปได้ โดยถ้าเป็นวัดตามบ้านๆ มิใช่วัดในเมือง ก็อาจมีเด็กหรือญาติโยมนอกวัดมาร่วมกินด้วย... และในกรณีนี้ บางครั้งก็อาจจัดแบ่งหม้อพิเศษไว้ถวายพระ-เณรโดยเฉพาะ กล่าวคือ หม้อนี้สำหรับพระ-เณร หม้อนั่นทั่วไป... ประมาณนี้

แกงสมรมนอกจากจะกินกับข้าวสวยทั่วไปแล้ว บางคนก็กินกับต้มสามเหลี่ยมหรือต้มปัดได้... โดยต้มเหล่านี้ เมื่อเลยวันแรกไป ก็มักจะย่างไฟอ่อนๆ เพื่อจะเก็บไว้ต่อไปได้อีกสัก ๒-๓ วัน เพื่อใช้กินกับแกงสมรม... ส่วนบางคนจะกินกับขนมอย่างอื่น หรือกินเปล่าๆ ก็ไม่มีใครว่า (ผู้เขียนเคยเห็นตอนเด็กๆ คนแก่บางคนกินแกงสมรมเปล่าๆ )

...... 

เคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่บอกว่า ใครได้กินแกงสมรมจะหายเจ็บหายไข้ อายุมั่นขวัญยืน... อาจเป็นว่า ถ้ามิใช่เดือนสิบแล้ว ก็ไม่ค่อยมีใครทำกัน จึงหากินได้ยาก ถ้าไม่ได้กินปีนี้ ก็ต้องรอกินเดือนสิบปีหน้าโน้นแหละ... ประมาณนั้น

สำหรับ ๒ วันที่ผ่านมา ผู้เขียนยังไม่ได้ฉันข้าวเลย ตอนเช้าก็ฉันกาแฟกับขนมเดือนสิบ ตอนเพลก็ฉันต้มย่างกับแกงสมรม (หม้อแกงตั้งอยู่ที่กุฏิผู้เขียน)... พรุ่งนี้ คงจะได้อีกมื้อหนึ่ง (เปิดหม้อพิจารณาดู) ส่วนที่เหลือก็เททิ้ง ล้างหม้อเก็บไว้ แล้วก็คอยต่อไปอีกปีหน้า.....      

หมายเลขบันทึก: 138253เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2007 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการค่ะ

ไม่เคยทานแกงสมรมค่ะ แต่ได้ยินชื่อค่ะ

คงจะอร่อยนะคะ ถ้าทานปีละครั้ง นึกถึงแกงบวนค่ะ นานๆได้ทานที เดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีให้เห็นบ่อยๆ น่าจะยุ่งยากในการเตรียมของนะคะ

กราบ 3 หนค่ะ

ไม่มีรูป

sasinanda

วันศารทเดือนสิบปีหนึ่งมี ๒ ครั้ง

  • ครั้งแรก แรม ๑ ค่ำ เดือนสิบ เรียกกันว่า บุญแรก หรือ วันรับเปรต
  • ครั้งหลัง แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ เรียกกันว่า บุญหลัง หรือ วันส่งเปรต

ดังนั้น แกงสมรม สามารถทำได้สองครั้งในช่วงเดือนสิบ แต่บางครั้งก็ขี้เกียจ ทำนองว่า ทำบุญแรกแล้วบุญหลังขี้เกียจทำ หรือบุญแรกขี้เกียจทำค่อยทำบุญหลัง .... 

แกงบวน ? ไม่เคยได้ยิน ลองถาม google มีเยอะเลย ก็อนุโมทนาที่คุณโยมแนะนำให้รู้จัก แกงบวน แกงโบราณ .... 

เจริญพร

นมัสการครับ..

นึกถึงตอนเป็นเด็ก..วันชิงเปรต..นี่สนุกมาก..เคยชิงเปรตมาได้เป็นข้าวเหนียวหนึ่งปั้นรวมอยู่กับขนมลาขนมบ้าขนมพองขนมบิซำ..ด้วยความไม่ประสาทิ้งก้อนข้าวเหนียวไป..ปรากฎว่าเพื่อนเอาไปแกะเป็นเงินห้าบาทอยู่ข้างในยังนึกเสียดายถึงวันนี้..ผู้ใหญ่เนี่ยะเขามีวิธีหลอกเด็กที่เซ่อๆได้ดีเนอะ..นึกถึงอะไรๆอีกหลายอย่าง..ซึ่งเป็นอดีตที่สดใสสำหรับเด็กสมัยก่อนแต่มัมคงน่าเบื่อสำหรับเด็กสมัยนี้..เฮ้อ..ไม่ทราบเพราะอะไร?..แกงสมรมเนี้ย..ผมว่าเป็นอะไรที่อร่อยมาก..คำว่าสม..น่าจะมาจาก..ผสม..ตามอาการที่รวบรวมเอาแกงต่างๆของทุกคนมาต้ม(..รมไฟ..)นะครับ

P

ลุงรักชาติราชบุรี

สุดยอดความคิดเลย อาจารย์ ! 

  • สม คือ ผสม
  • รม คือ รมไฟ
  • แกงสมรม คือ แกงหลายอย่างผสมกันแล้วนำมารมไฟอีกครั้ง

ตามสำนวนอาจารย์สอนตรรกศาสตร์ ท่านคงจะบอกว่า สมเหตุสมผล

ส่วนสำนวนพ่อท่านแถวปักษ์ใต้ ท่านคงจะบอกว่า พอฟังได้

ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้...

แต่ ตามที่เคยผ่านมา ไม่เคยได้ยินการใช้สำนวนปักษ์ใต้ว่า รม มาจาก รมไฟ ซึ่งหมายถึง การทำให้สุก เลย...

เท่าที่เคยได้ยินมีคำว่า ลวน แปลว่า ทำให้สุก ได้... เช่น เอาเนื้อหมูนี้ไปลวนไว้ก่อน หรือ เอาแกงนี้ไปลวนสักหีด .....

ก็คิดเล่นๆ....

เจริญพร 

..นมัสการครับ..นึกสนุก..กับภาษา..คำว่า..สม..บางทีก็หมายถึง..เสมอ..ความที่ญาติโยมต่างทำกับข้าวกับปลามาวัด..ลางทีก็มักอวดเอาของดีตามที่ตนรู้สึกว่าดีว่าเหมาะกับฐานะตนมาถวายพระ..ครั้นเมื่อแกงของคนทุกฐานะมารวมกัน..เลยกลายเป็นของกลางที่ทุกคนมีส่วนร่วม..ก็เป็นอุบายธรรมได้นะครับ..สำหรับ..รม..อาจมาจาก..ระดม..หรือ..รวม..หรือจะเป็นสร้อยคำที่ทำให้เป็นชื่อคล้องจอง..ก็เป็นได้ทั้งนั้น..สรุปรวมว่า..สมรม..เป็นแกงที่เป็นส่วนผสมหลอมรวมของสังคมไทยที่..ญาติโยมชาวใต้รู้จักหน้าตาและลิ้มรสทีไรก็นึกถึงงานบุญ..ใช่ไหมครับ..
P

ลุงรักชาติราชบุรี

ตามอาจารย์ว่ามาก็พอฟังได้....

แกงสมรม น่าจะบ่งบอกถึงความเป็นคนใต้มากกว่าสำนวนว่า สะตอสามัคคี ดังเช่นที่เค้าเรียกกัน...

เจริญพร 

เนือยเลยครับท่านมหา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท