นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น


         เมื่อวันที่ 15 พ.ค.50  คุยกันในการประชุมภาคีจัดการความรู้ท้องถิ่น-ภาคประชาชน-ประชาสังคม   ว่าผมจะพาเพื่อนชื่อคุณ Randy Spence ไปเยี่ยมชมกิจการของนักเรียนชาวนา   เพื่อดูกิจกรรม KM ของนักเรียนชาวนา   ซึ่งได้สร้างนวัตกรรมเล็ก ๆ จากการทำนาของตนอย่างมากมายไม่น่าเชื่อ

         คุณ Randy ทำงานให้แก่ IDRC (International Development Research Center) ของแคนาดา   เพื่อหาทางสร้างเครือข่ายหน่วยงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   สำหรับขับเคลื่อนนวัตกรรมในภูมิภาคนี้

         ผมพยายามบอกเขาว่า  ต้องเน้นส่งเสริมนวัตกรรมในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรือถูกครอบงำอยู่ทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ   ถ้าเข้าไปส่งเสริมคนในชนบทอย่างถูกต้อง    โดยการใช้ KM เป็นเครื่องมือ   คนเหล่านี้จะสร้างนวัตกรรมได้มากและคมอย่างน่าพิศวง   ผมบอกเขาว่าถ้าอยากดูด้วยตาตัวเอง  ผมจะพาไปดู

         จึงนัดกันว่า วันที่ 10 ธ.ค.50 ผมจะพาคุณ Randy กับภรรยาไปดูการสร้างนวัตกรรมของชาวนาที่เคยเข้าเรียนโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี   ผมกะจะชวน ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ และคุณหญิงไปด้วย

         ผมหวังว่าเมื่อคุณ Randy เข้าใจเรื่องนวัตกรรมที่สร้างขึ้นโดยคนเล็กคนน้อยในชีวิตประจำวัน   ผมจะชวนให้เขาจัดเครือข่ายนวัตกรรมภาคประชาชนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เพื่อขับเคลื่อนขบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนี้

         หรือเท่ากับขับเคลื่อน KM ภาคประชาชนระหว่างประเทศ นั่นเอง

         โดยเป้าหมายหลักไม่ได้อยู่ที่เนื้อความรู้   แต่อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติหรือ KM นั่นเอง

         คุณอ้อมกำลังนำ "เรื่องเล่าจากชาวนา" จากโครงการโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญลงบล็อกพอดี  ในเรื่องเล่านี้เราจะเห็น "จุลนวัตกรรม" (micro - innovation) มากมาย   อ่านได้ที่ http://gotoknow.org/play

วิจารณ์  พานิช
 16 พ.ค.50

หมายเลขบันทึก: 96729เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท