KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 148. KM กับนวัตกรรม (2)


         ผมนึกออกแล้ว     การจัดการนวัตกรรมที่ใช้ Engineering Model นั้น     มันเป็นความคิดในยุคโมเดิร์น (Modern)      แต่การจัดการนวัตกรรมแนว/ทฤษฎี Social Network ของคุณนพดล เป็นความคิดในยุค Postmodern    เป็นคนละกระบวนทัศน์

        Engineering Model เน้นนวัตกรรมเพื่อตลาด "จากหิ้งสู่ห้าง" เป็นวาทกรรมของกระบวนทัศน์นี้     ซึ่งไม่ผิด  แต่ไม่ครบ     นวัตกรรมควรมีเป้าหมายที่หลากหลาย     แต่ที่สำคัญที่สุดคือเป้าหมายความอยู่ดีมีสุขของคนทุกคน หรือคนส่วนใหญ่ในสังคม     เพื่อบรรลุเป้าหมายเช่นนี้ ต้องเห็นคุณค่าของนวัตกรรมหลายแนว     และมีการจัดการนวัตกรรมหลายโมเดลประกอบกัน

        นวัตกรรมแนววิทยาศาสตร์พื้นฐาน  แนววิศวกรรม  มีคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่อย่างไม่มีข้อสงสัย     แต่การยึดมั่นถือมั่นในแนวนี้เท่านั้น มันลดคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นคน     เพราะจะมีคนเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่สามารถแสดงบทบาทได้      คนเกือบทั้งหมดเป็นผู้ไร้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมแนวนี้     ซึ่งอาจเรียกว่านวัตกรรมก้าวกระโดดเชิงเทคโนโลยี

        บริษัทญี่ปุ่นได้เดินนำหน้าไปแล้ว  ในการใช้พลังของนวัตกรรมเชิงเครือข่ายสังคม     ดังปรากฎเป็นผลสำเร็จในระบบการผลิต TPS (Toyota Production System) และการจัดการแนวโตโยต้า (The Toyota Way)     และดังที่เห็นในการนำเสนอข้อค้นพบจากการไปดูงาน KM ในบริษัทญี่ปุ่น ๔ บริษัท ซึ่งอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/buildchumphon/45266  และ http://gotoknow.org/blog/thaikm/44886 

        นวัตกรรมทั้งสองแนวเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน     ในบริษัทธุรกิจ นวัตกรรมแนวเครือข่ายสังคม ช่วยให้บริษัทสร้างมูลค่าจากจุดสัมผัสกับลูกค้า      เพิ่มมูลค่าจากนวัตกรรมแนววิศวกรรม     ในประเทศไทย บริษัททรู  และเซเว่นอีเลฟเว่น ก็ทำ KM เพื่อสร้างนวัตกรรมแนวเครือข่ายสังคม

        ไทยเรากำลังขมักเขม้นใช้ KM ในหลากหลายบริบท    และบริบทหนึ่งคือใช้กระตุ้นความเข้มแข็งของเครือข่ายทางสังคม     ซึ่งเดิมเข้มแข็งบนฐานวัฒนธรรม     เสริมเข้าไปอีกฐานหนึ่ง คือฐานของการเรียนรู้      ที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง  น้ำใจเอื้ออาทรต่อกันบนฐานวัฒนธรรมไทยช่วยในการทำให้การ ลปรร. อยู่บนฐานของความไว้ใจเชื่อใจ ความมีใจแบ่งปัน ความหวังดี มีไมตรีต่อกัน

       เราหวังว่า KM ในชุมชน - ท้องถิ่นไทย จะสร้างนวัตกรรมสองต่อ    คือนวัตกรรมทางสังคม    และนวัตกรรมของ KM ที่เป็น KM ทางสังคม    ไม่ใช่ KM ทางธุรกิจ

วิจารณ์ พานิช
๒๐ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 48094เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
จริงๆแล้ว KM ทางสังคม เกิดขึ้นในชุมชนในท้องถิ่นมานาน และปัจจุบันก็เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การเข้าไปให้ความหมาย ของคนข้างนอก หรือนักวิชาการ มองอย่างไร เพราะความรู้ในตัวคน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และบางอย่างต้องดับไป สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ คือ เข้าไปจับ กระแสร์ของ"วงจรชีวิต" ของความรู้ของคนในชุมชนว่ามีการหมุนเกลียวของการพัฒนาความรู้อย่างไร มีความรู้อะไรบ้างที่ยังอยู่และความรู้อะไรที่ ถูก "แรงเหวี่ยง"ของเกลียวความรู้ หลุดออกไป เพราะอะไร งานอย่างนี้น่าจะสามารถมองเห็น "แผนที่ความรู้"ของชุมชน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น ที่ตรงใจชาวบ้านมากกว่า ครับ

กะปุ๋มมองว่าอย่างนี้นะคะ...กระบวนการดังกล่าวสามารถแทรกซึมไปได้ทุกภาคส่วน...เนียนเข้าไปทำให้เราได้มองเห็น และต่อยอดต่อไปได้ทั้งในชุมชน...ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงระดับเทคโนโลยีได้...เพราะ KM อย่างแท้จริงไม่ได้มีกรอบไว้อย่างตายตัวว่าจะเหมาะสมกับใครอะไร...อย่างไร และแค่ไหน แต่ทุกอย่างไร้รูปแบบ...หากแต่เคลื่อนเข้าไปสู่ความสมดุล...แห่งสังคมฐานความรู้...

....

คนมักมองว่าเรื่องใหม่...และเริ่มปฏิกิริยาต่อต้าน...หากแต่เราใช้ใจโน้มเข้าไป..ด้วยความเป็นกัลยาณมิตรนั้น...ก็เชื่อว่า...ความศรัทธาในสิ่งดีงามแห่งปัญญามนุษย์นี้...จะช่วยให้เกิดกระแสวงจรแห่งชีวิตนี้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...และยั่งยืนได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท