สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา



          ปี ค.ศ. ๒๐๑๒ จะมีการทดสอบ PISA ครั้งต่อไป และในปี ๒๐๑๓ คืออีก ๒ ปีจากนี้เราก็จะทราบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของประเทศไทยเป็นอย่างไร   ผมทำนายว่าจะตกต่ำลง หรือคงที่   ซึ่งหมายความว่าเราอยู่ในกลุ่ม poor คือกลุ่มล่างสุดของโลกต่อไปเหมือนในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่เราลงทุนด้านการศึกษาสูงมาก

          รายงานของ McKinsey บอกว่า หากดำเนินการอย่างถูกต้อง และทำอย่างต่อเนื่อง จะเห็นผลในเวลาที่สั้นขนาด ๖ ปี   ซึ่งประเทศไทยเราโชคไม่ดี เราไม่มีความต่อเนื่องของนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินการด้านการศึกษา

          เพื่อช่วยกันออกความเห็น สำหรับนโยบายและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องด้านการศึกษา   ผมขอเสนอ สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้

๑. ยกเลิกระบบการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของครู (คศ.) ที่ใช้ในปัจจุบัน   คือให้ “ทำผลงาน” ในกระดาษ  และมีการติววิธีทำผลงาน   เปลี่ยนมาเป็นเลื่อนเมื่อผลสัมฤทธิ์ของลูกศิษย์ได้ผลดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการทดสอบระดับชาติ ๓ ปีติดต่อกัน   จนได้ผลในระดับผ่านเกินร้อยละ ๙๐ ของจำนวนเด็กนักเรียนทั้งหมด   ซึ่งหมายความว่าต้องมีการทดสอบระดับชาติในทุกชั้น  


๒. มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์เพิ่มผลสัมฤทธิ์ของศิษย์ทั้งโรงเรียน หรือทั้งเขตการศึกษา   แล้วคณะครูและทุกฝ่ายช่วยกันดำเนินการ   เน้นที่การมี PLC ระดับโรงเรียน ระดับเขตการศึกษา และระดับประเทศ   เมื่อนักเรียนทั้งโรงเรียน หรือทั้งเขตการศึกษาสอบ National Education Test (NET) ผ่านเกินร้อยละ ๙๐  ก็ได้รับรางวัลทั่วทั้งโรงเรียน หรือทั่วทั้งเขตการศึกษา (เช่นได้เงินรางวัลเท่ากับ ๒ เท่าของเงินเดือน)   และหากรักษาระดับนี้ได้ ก็ได้รับรางวัลทุกปี 


๓. ปราบปรามคอรัปชั่นเรียกเงินในการบรรจุ หรือโยกย้ายครู   นี่เป็นความชั่ว ที่บ่อนทำลายระบบการศึกษาไทย   ต้องมีมาตรการตรวจจับ และลงโทษรุนแรง   ไล่ออกและฟ้องเรียกค่าเสียหาย   เพราะเป็นพฤติกรรมที่ก่อความเสียหายต่อบ้านเมืองรุนแรงมาก   อาจต้องออกกฎหมายให้ลงโทษรุนแรงได้


๔. แบ่งเงินลงทุนเพิ่มด้านการศึกษา ครึ่งหนึ่ง ไปไว้สนับสนุนการเรียนรู้ของครูประจำการในลักษณะการเรียนรู้ในการทำหน้าที่ครู ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)   ซึ่งเน้นที่ learning ของครู ไม่ใช่เน้นที่ training  และเน้นการเรียนรู้เป็นกลุ่ม เพื่อให้ครูจับกลุ่มช่วยเหลือกัน   โรงเรียนดีๆ จำนวนหนึ่งในประเทศไทยทำกิจกรรมนี้อยู่แล้ว เช่นโรงเรียนรุ่งอรุณ เพลินพัฒนา ลำปลายมาศพัฒนา เป็นต้น


๕. จัดงาน ลปรร. ประจำปี ด้านการยกระดับผลสัมฤทธิ์ ของนักเรียน   เชิญครูที่มีผลงาน  โรงเรียนที่มีผลงาน  และเขตการศึกษาที่มีผลงาน  มาเล่าแรงบันดาลใจ วิธีการ และวิธีเอาชนะอุปสรรค และให้รางวัลหรือการยกย่อง   งานนี้ควรจัดในทุกจังหวัด หรืออย่างน้อยทุกภาคหรือกลุ่มจังหวัด

 
๖. ยกระดับข้อสอบ NET ให้ทดสอบ complex thinking, complex skills ตามแนวทาง 21st Century Skills

๗. ส่งเสริมการเรียนแบบ PBL  โดยส่งเสริมให้มี PLC ของครูที่เน้นจัดการเรียนรู้แบบ PBL  ให้รางวัลและยกย่องครูที่จัด PBL ได้เก่ง   เพราะ PBL เป็นเครื่องมือให้นักเรียนเรียนรู้ในมิติที่ลึกและซับซ้อน ตามแนว 21st Century Skills

          ผมไม่ใกล้ชิดกับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน   การดำเนินการตามข้อเสนอข้างบนจึงอาจต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง   แต่ไม่ใช่ปรับเข้าสู่วีธีการแบบเดิมๆ ในกระบวนทัศน์เดิม

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ มี.ค. ๕๔
       

หมายเลขบันทึก: 434192เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2011 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะ
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์ อย่างนี้ต้องรื้อทั้งระบบค่ะ รวมถึงระบบการฝึกหัดครูและระบบการคัดเลือกครูประจำการ

ทราบมาว่าตอนนี้โรงเรียนรุ่งอรุณกำลังศึกษานวัตกรรมใหม่ทางการเรียนการสอน ชื่อว่า Lesson Study และ Open Approach  ซึ่งน่าสนใจมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท