KM Inside ชุมชน (๔) : วราภรณ์ หลวงมณี เล่าเรื่องการฝึก "คุณอำนวย" ชาวบ้าน ที่ขอนแก่น (๔)


จะเข้าใจ KM Inside ชุมชน ก็ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน

          ตอนที่ 1   ตอนที่ 2   ตอนที่ 3 

          การฝึก 'คุณอำนวยชาวบ้าน' ทำโดยการร่วมกันทำงานจริงๆ     เสริมด้วยการฝึกปฏิบัติการ (workshop)      ดังนั้น จะเข้าใจ KM Inside ชุมชน  ก็ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน     ซึ่งคุณวราภรณ์เล่าดังนี้

          "ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ เริ่มจากระดับชุมชนที่บ้านพระบาท ซึ่งเป็น  ชุมชนดั้งเดิม มีผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้อยู่ในชุมชนมาก   ในระยะแรกวิทยากรกระบวนการรุ่นแรกพยายามที่จะสร้างกิจกรรมการพึ่งตนเองโดยการพาเก็บข้อมูลครัวเรือน   พาไปศึกษาดูงานกลุ่มอินแปง   จากนั้นพยายามกระตุ้นให้เกิดกลุ่มออมทรัพย์ และการผลิตของใช้ในครัวเรือน แต่ปรากฏว่าไปไม่ได้   

          หลังจากมีการขยายวิทยากรกระบวนการพวกเขาได้ปรับกระบวนการใหม่ หันกลับมารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้คนในชุมชนตระหนักว่า ในอดีตก่อนสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ชาวบ้านพึ่งพิงทรัพยากรน้ำ ป่า และสภาพพื้นที่ที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นป่าบุ่ง ป่าทาม และป่าโคก   ชุมชนแห่งนี้จึงมีองค์ความรู้มากมายในการอยู่ร่วมกับความหลากหลายของธรรมชาติ

        หลังจากกระบวนการรื้อฟื้นที่มีทั้งการจัดเวที การเก็บข้อมูลจากผู้รู้ การเดินสำรวจพื้นที่ การรณรงค์ปลูกต้นคล้าที่ใช้ในการจักสาน ซึ่งเป็นความรู้ที่ยังคงอยู่ของคนในชุมชน และการศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี    ทำให้พวกเขาสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโดยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน     การทำเส้นทางศึกษาป่าชุมชน การรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าความสนุกสนานอย่างเดียว เช่น การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในวันสงกรานต์ และบุญบั้งไฟแบบดั้งเดิม เป็นต้น
           และผลที่เกิดต่อเนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ คือ กิจกรรมออมทรัพย์และสวัสดิการ การทำของใช้ในครัวเรือนของกลุ่มแม่บ้าน การปลูกฝ้าย และปลูกต้นครามเพื่อใช้เอง    และที่สำคัญ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และเด็กเยาวชน ซึ่งในอดีตเด็กจะกลัวผู้ใหญ่ไม่กล้าเข้าใกล้ และผู้ใหญ่เองก็ไม่ไว้วางใจให้เด็กทำงานเพราะเห็นว่าเด็กมักจะทำแต่เรื่องไร้สาระ เมื่อพวกเขาได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมีวิทยากรกระบวนการเป็นตัวเชื่อม ทำให้ผู้ใหญ่ไว้ใจให้เด็กเข้ามาร่วมเป็นกรรมการในกิจกรรมของชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น"

         ไม่ค่อยเห็นบทบาทของ 'คุณอำนวยชาวบ้าน'  และกิจกรรม ลปรร. ภายในชุมชนนะครับ      แต่เห็นการออกไปเรียนรู้จากภายนอก     และที่จริงกระบวนการทำประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมันเป็น KM Inside อยู่ในตัวของมันเองด้วยนะครับ

วิจารณ์ พานิช
๒๕ กค. ๔๙
   
 

หมายเลขบันทึก: 41767เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท