สภามหาวิทยาลัย 40 : พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ม.มหิดล


         ที่จริงหัวข้อของตอนนี้น่าจะให้ชื่อว่า "เรียนรู้จากพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ม.มหิดล ประจำปี 2548"  เพราะผมได้เรียนรู้มากจากการนั่งสังเกตพิธีทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายของวันที่ 6 ก.ค.49   ได้นั่งคุยกับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล  ศ. นพ. พรชัย  มาตังคสมบัติ   ซึ่งเป็นคนสมองดี  ความจำดีเยี่ยมและมีความรู้กว้างขวางมาก

                            

รูปที่เห็นการตกแต่งเวทีชัดที่สุด  ถ่ายกับ ศ. นพ. ศรีประสิทธิ์ บุญวิสุทธิ์

- สิ่งแรกคือการจัดตกแต่งเวที   ที่ให้ความรู้สึกสง่า  สะอาด  สงบ  น่าประทับใจมาก  

- เป็นพิธีรับปริญญาที่ผู้เข้าร่วมพิธีไม่เหงาเลย   ไม่รู้สึกว่าต้องรอเพราะแม้จะต้องเข้านั่งประจำที่ก่อนเวลาพิธีพระราชทานกว่าชั่วโมง  แต่ไม่มีใครรู้สึกว่าต้องรอ   เพราะมีวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งบรรเลงอย่างไพเราะ   มีนักร้อง (เป็นนักศึกษา) ระดับได้รับรางวัล  มาร้องเพลงให้ฟัง   เพลง The Sound of Music เพราะมาก
- ปริญญาบัตรมีขนาดเล็กกว่าสมัยก่อน   ผมปรารภประเด็นนี้ต่อท่านอธิการบดีพรชัย   ท่านอธิบายว่าเป็นความจงใจเพื่อลดน้ำหนัก  มีเป้าหมายเพื่อลดภาระในการยกน้ำหนักขององค์พระราชทาน
- มหาวิทยาลัยมหิดลมีครุยสำหรับอาจารย์และกรรมการสภาเหมือนกันหมด   ทำให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก   กรรมการสภาติดตรามหาวิทยาลัย 2 ข้างอก   อาจารย์ติดข้างเดียว   นายกสภากับอธิการบดีมีสังวาลย์คล้องไหล่ด้วย
- ผมได้เห็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่พระเป็นครั้งแรก   โดยเขาจัดให้พระ (13 รูป) มานั่งรอบนปะรำยกพื้น   ตอนพระราชทานมีผ้าวางบนโต๊ะเตี้ย ๆ   สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จมาทรงวางใบปริญญาบัตรบนผ้าโดยที่พระยืนถือชายผ้าด้านหนึ่งไว้แล้วพระปล่อยผ้า   หยิบปริญญาบัตรไป
- เป็นพิธีที่มีพระภิกษุ 5 รูปสวดชยันโตอยู่ตลอดเวลา   ผมนั่งอยู่ในพิธีบอกตัวเองว่าพระเหนื่อยกว่าเราเยอะ   เราอ่านรายงานถวาย   2 - 3 นาทีแล้วก็ได้นั่งเฉย ๆ   ได้มีเวลาสังเกตเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในรายละเอียด   แต่พระ 5 รูปต้องสวดตลอดเวลา 2 ชั่วโมงตอนเช้า และ 2 ชั่วโมงตอนบ่าย
- ปีนี้สมเด็จองค์ประธานฉลองพระองค์ครุยปริญญาพยาบาล
- ผมสังเกตว่าบัณฑิตหญิงบางคนถอนสายบัว  บางคนโค้งคำนับ   ท่านอธิการบดีพรชัยอธิบายว่าคนที่สวมชุดปกติขาวถือเป็นชุดราชการ   จะทำความเคารพโดยการโค้งคำนับ   เฉพาะคนที่ไม่แต่งชุดราชการเท่านั้นที่ถอนสายบัว
- เขาตัดการอ่านชื่อ นาย นาง นางสาว ออกหมด   รวมทั้งการโค้งคำนับก็ทำเพียง 2 จังหวะ   เพื่อทำให้การเข้ารับพระราชทานเร็วขึ้น เขาบอกว่าความเร็วนาทีละ 28 คน
- ที่นั่งนายกสภาติดกับกองทัพช่างกล้อง   มีคนแซวว่าให้เป็นผู้คุมทีมช่างกล้อง   ผมชองกล้องถ่ายรูปอยู่แล้วจึงเดินสังเกต   เห็นว่าเขาใช้กล้อง Nikon F4 และ F3 (เกือบทั้งหมดเป็น F4) วางบนขาตั้งรวม 8 ตัวและมีสำรองอีก 3 ตัว   ใช้ฟิล์มฟูจิชนิด ASA400 เขาถ่ายพร้อมกัน 2 กล้อง   ใช้สายลั่นชัตเตอร์
- ผมนึกเปรียบเทียบกับประสบการณ์สมัยกว่ายี่สิบปีก่อนที่ผมต้องไปนั่งเป็นพระอันดับสมัยเป็นรองอธิการบดี มอ. หรือไปอ่านรายชื่อบัณฑิตสมัยเป็นคณบดี   พบว่าสมัยนี้สบายกว่ามากเพราะแอร์เย็น  แม้จะสวมชุดปกติขาวคลุมด้วยครุยก็ไม่มีปัญหาเหงื่อแตก   คืออุณหภูมิเย็นสบาย
- มีการซักซ้อมบัณฑิตให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายตอนเสด็จกลับ   ไพเราะ  มีพลังและซึ้งใจมาก   ผมยิ่งซึ้งเมื่อเห็นแววตาบัณฑิตที่มองตามสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ด้วยใบหน้ายิ้มละไมและแววตาปลาบปลื้มเทอดทูน

                       

ถ่ายกับผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  ครุยชมพู ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ศ. พญ. อนงค์ เพียรกิจกรรม  และ ศ. นพ.  ดิเรก จุลชาต

                        

                             รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ

                       

                             พิธีถวายปริญญาแก่พระภิกษุ

วิจารณ์  พานิช
 8 ก.ค.49

หมายเลขบันทึก: 38479เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2006 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณท่านอาจารวิจารณ์เป็นอย่างสูง สำหรับบันทึกในมุมมองที่เราจะหาฟังได้ยากค่ะ ตัวเองเคยนึกเสมอว่า อยากรู้จริงๆว่าคนแต่ละคนในพิธีแบบนี้คิดอย่างไร โดยเฉพาะคนใหญ่ๆโตๆ

            โดยปกติแล้วเป็นคนแอนตี้พิธีการเป็นอย่างมาก และพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตลอดชีวิตขอรับปริญญาเดียวจากพระหัตถ์ของในหลวง ซึ่งถือว่านั่นคือพิธีที่คุ้มค่าที่สุด และมีความประทับใจอย่างใหญ่หลวง ส่วนปริญญาอื่นๆไม่เคยคิดจะเข้าพิธีอีกเลยค่ะ

ขอบพระคุณจริงๆค่ะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท