ชีวิตที่พอเพียง : (377) กอดไม่เป็น


         ไปงานมหกรรม KM ภูมิภาค ที่ มน. สัปดาห์ที่แล้ว  เห็นสมาชิกลุ่มเฮฮาศาสตร์พบกัน เป็นต้องกอดกัน    ผมเกิดความสงสัยว่าเจ้าวัฒนธรรมกอดมันเกิดในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ได้อย่างไร

         ก่อนกลับผมยังกระเซ้าสาวๆ ในทีม มน. ว่าผมขอโทษที่ไม่ได้กอดลา เพราะกอดไม่เก่งเหมือนครูบาฯ    ดร. แสวงจึงมากอดผมแทน  ให้ความรู้สึกที่ดี และรู้สึกว่ามีความรักความปรารถนาดีถ่ายทอดมากับสัมผัส

         วันนี้ (๒ ต.ค. ๕๐) เราไปเข้าฝึกหัดความสร้างสรรค์ (Creativities Workshop)      แบบฝึกหัดที่ ๔ คือการกอดรัดกัน    ภาษาอังกฤษว่า hug
  
         หลังจากแบบฝึกหัดผ่านไป    เรา ลปรร. ความรู้สึกกัน     มีคนบอกว่า การกอดไม่อยู่ในวัฒนธรรมไทย    เราไม่คุ้นเคย    แรกๆ รู้สึกกระดากกระเดื่อง     ต่อมาก็รู้สึกสะเทือนใจ    บางคนถึงกับร้องไห้ หรือน้ำตาไหล     ครู คือคุณ Gil Alon บอกว่า แม้ฝรั่งที่มีวัฒนธรรมกอดอยู่แล้ว    มาทำแบบฝึกหัดนี้ก็รู้สึกสะเทือนอารมณ์    เพราะที่กอดๆ กันนั้น ส่วนใหญ่เป็นการกอดกันด้วยมรรยาททางสังคม ไม่ได้กอดกันด้วยใจ    พอมากอดกันแบบ "สัมผัสแนบแน่นถ่ายเทความรักสู่กัน" ทุกคน ทุกชาติทุกภาษา ทุกวัฒนธรรม จะรู้สึกสะเทือนอารมณ์

         การกอดรัดสัมผัสอย่างถูกต้องเป็นการที่ "มนุษย์สัมผัสมนุษย์"    ให้ความรู้สึกอบอุ่นเอื้ออาทร ความรักและความเท่าเทียมกัน

ครูบอกว่า วิธีกอดที่ถูกต้อง คือ
     • กอดแบบสัมผัสแน่นไว้เฉยๆ ไม่ใช้มือตบหลัง หรือลูบหลัง
     • ไม่เอามือของเรามาประสานหรือเกยกัน  ต้องให้มือของเรากอดแผ่นหลัง ของเพื่อนไว้แน่น
     • กอดให้แน่น จนอาจรู้สึกหัวใจเต้นของเพื่อน

         ขอย้ำว่าไมีมีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกทางเพศแต่อย่างใด
 
         ผมมองว่า การกอดเป็นการสื่อสารแบบ อวัจนะ (non-verbal) สื่อสารความรัก ความเห็นอกเห็นใจ   อันจะนำมาซึ่งความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นระหว่างกัน    และนำไปสู่ "ความสร้างสรรค์รวมหมู่" (collective creativity)

         ผมเชื่อว่า ครอบครัวใด พ่อแม่ลูกกอดกันทุกวัน ตั้งแด่เด็กจนโต ลูกจะเป็นคนมีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง

วิจารณ์ พานิช
๒ ต.ค.  ๕๐

หมายเลขบันทึก: 135063เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2007 08:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ผมก็กอดไม่เป็นเหมือนกัน
  • แต่พอเข้าก๊วนเฮฮาศาสตร์ พอเจอคนรู้ใจก็จะกอดกันได้ แต่อาจจะกอดไม่ถูกวิธี
  • แต่ในความรู้สึก..จะมีความรัก ความเข้าใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และชายหญิงกอดกันได้โดยไม่มีความรู้สึกทางเพศจริงๆ
  • บันทึกนี้มีที่พิมพ์ผิดครับ ย่อหน้าที่สี่ บรรทัดที่ห้า "มารยาททางสังคม"
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ครับทำให้เข้าใจอะไรเยอะขึ้นทีเดียว
  • ปล.พึ่งเคยเห็นคำว่า "กระดากกระเดื่อง" ปกติเคยเห็นแต่คำว่า "กระด้างกระเดื่อง" ครับ

บันทึกนี้เป็น...บันทึกที่อ่านแล้วสดชื่น...ตื่นเต้น...ได้ความรู้ระคน..กัน...อ่านแล้วรู้สึกขอบคุณค่ะ...ขยับเข้าใกล้อาจารย์ได้อีกนิดนึง...

น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ พิษณุโลกไม่มีโอกาสได้กอดท่านอาจารย์ เอาไว้จะไปกอดถึง สำนักงาน สคส.เลยครับ

 

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ 

P
88. sasinanda
ดิฉันเห็นรุปเขากอดกันที่เฮฮาศาสตร์ ก็รู้สึกอบอุ่นไปด้วยค่ะ

ตัวดิฉันเอง อยู่ในครอบครัว ที่คุณพ่อคุณแม่กอดลูก แสดงความรัก แต่ไม่บ่อยมาก

พอมาถึงลุตัวเอง กอดกันทุกวัน ตั้งแต่เกิดจนป่านนี้ โตมากแล้ว ก็ยังกอด และหอมแก้มกันทุกครั้งที่พบกัน แม้แต่อยู่บ้านเดียวกัน ก็กอดกันทุกวัน

ถ้า วันไหนไม่กอดเขาๆ จะมองหน้า แล้วสงสัยว่า แม่กังวลใจเรื่องอะไรอยู่ค่ะ และขอยืนยันเรื่อง จะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง

เพราะ คนจะเข้าใจผิด ว่าเขาเป็นลูกชายคนโตเสมอ เพราะเป็นคน calmและมีบุคคลิกแบบพี่คนโตจริงๆค่ะ

     แค่กอดแขน โอบไหล่ สัมผัสเล็กๆ น้อยๆ เวลาปลอบเด็ก ก็ทำให้เขารู้สึกอบอุ่น มั่นใจ

    นี่ถึงกับกอดแนบแน่น ก็ทำให้เกิดความรู้สึกดีมากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ 

การกอดกันเป็นสัมผัสแห่งความอบอุ่นจริงๆครับ

ผมนึกถึงการกอดลูกแบบรู้สึกเป็นห่วงตอนไปส่งลูกเข้าหอพักในม.วลัยลักษณ์ และกอดลูกเพื่อให้กำลังใจตอนลูกไปทำงานที่มัลดีฟส์ แล้วเราไปเยี่ยมกันทั้งครอบครัว ก่อนกลับผมกอดลูกเฉยๆประมาณ๒-๓ นาที ไม่ต้องพูดกอดไว้เฉยๆแน่นพอประมาณ ลูกสาวเขาร้องไห้ เขาบอกว่าอบอุ่นมาก มีกำลังใจทำงานต่อครับ สนับสนุนให้กอดกันครับ

กราบเรียน อาจารย์หมอ

  • เคยอ่านเจอว่าการกอดทำให้เซลล์สมองแตกตัวได้ดีอีกด้วยนะคะ

 

         ผมเคยสังเกต ตอนที่ดูการถ่ายทอดมวยทางทีวี ก่อนชกจะมีการถอดมงคล พี่เลี้ยงบางค่ายเมื่อถอดมงคลแล้วจะสวมกอดนักมวย และนักมวยคนนั้นมักจะชนะทุกที ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับการกอดหรือเปล่า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท