ประสบการณ์ขึ้นเตียง...ของสาวเฉียดหลักสี่


ดิฉันตั้งใจมา “ขึ้นเตียง” ในเย็นนี้อีกครั้งเพื่อ “ฝังเข็ม”
           ช่วงสัปดาห์ก่อน ดิฉันมักมีอาการมึนงงและเวียนศีรษะบ้านหมุน จนน่ารำคาญตัวเองแม้จะไม่ได้มีอาการทั้งวันและเป็นเพียงบางช่วงก็ตาม ซ้ำเมื่อวันก่อนยังเกิดอาการบ้านหมุนขึ้นมาอีก ตื่นเช้าขึ้นมาจึงตัดสินใจไปเช็คสุขภาพเสียที

          ตลอดทั้งวันของเมื่อวาน ดิฉันจึงพัลวันอยู่กับเรื่องสุขภาพของตัวเองทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่รีบไปโรงพยาบาลแต่เช้าตรู่ ด่านแรกที่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตของตัวเอง ก็คือ การขับรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถของโรงพยาบาล ซึ่งสร้างขึ้นใหม่
6 หรือ 7 ชั้น ดิฉันไม่แน่ใจ ยังดีที่ไปแต่เช้าจึงหาที่จอดได้ในชั้น 2 ไม่อย่างนั้นคงแย่แค่ชั้น 2 ก็รู้สึกขาสั่นเล็กน้อยแล้ว เนื่องจากทางขึ้นที่สูงชันนั่นเอง พาลตื่นเต้นและเสียวไปซะอย่างนั้น

          ดิฉันยื่นบัตรและไปที่ห้องตรวจอายุรกรรมหมายเลข
5 ได้บัตรคิวหมายเลข 13 เมื่อดิฉันแจ้งว่าต้องการมาเช็คสุขภาพตัวเอง คุณพยาบาลเธอก็จัดเอกสารให้และเขียนเส้นทางการตรวจเช็คลงในกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ให้ดิฉันเริ่มไปตามลำดับ ดังนี้

                   
1) ห้องหมายเลข 18        ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
                   
2) ห้องหมายเลข 112
      เอ็กซเรย์ปอด
                   
3
) แผนกสูตินารีเวช          ตรวจภายใน
                   
4) ห้องหมายเลข 2
          วัดคลื่นหัวใจ
                   
5) ห้องหมายเลข 5
          ห้องตรวจอายุรกรรม เพื่อกลับมาให้คุณหมออ่านผลการตรวจอีกครั้ง

          ขณะนั้นเวลาประมาณแปดโมงเศษ ดิฉันก็ริบตรงดิ่งไปตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะเสียก่อน เพราะเริ่มหิวข้าวแล้วตงิด ๆ นั่งอยู่พักใหญ่จึงได้เรียก เนื่องจากคนไข้เยอะมาก ๆ โดยเฉพาะคนไข้โรคเบาหวาน จึงได้เห็นกับตาวันนี้ว่าคนไทยเรานั้น เป็นโรคเบาหวานกันเยอะจริง ๆ

          หลังจากเก็บปัสสาวะและเลือดแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้มารับผลได้ในเวลา
11.00 น. มองดูเวลาดิฉันจึงเปลี่ยนใจยังไม่ไปทานข้าว รีบไปเอ็กซเรย์เสียก่อนเกรงว่าคนจะเยอะ ปรากฏว่าที่ห้องนี้คนน้อยมากจึงดำเนินการได้เร็ว ไม่นานดิฉันก็ได้ฟิล์มเอ็กซเรย์

          เมื่อไปยื่นแฟ้มประวัติคนไข้ไว้ที่ห้องตรวจภายในแล้ว ซึ่งคนเยอะมากอีกเช่นกัน คนท้องก็ค่อนข้างเยอะ จากนั้นจึงรีบไปทานข้าวเช้า กลับเข้ามาก็ยังไม่ถึงคิว จึงขออนุญาตคุณพยาบาลหน้าห้องตรวจ เพื่อไปวัดคลื่นหัวใจเสียก่อน จะได้ไม่เสียเวลา

          ประสบการณ์แรกในชีวิตลำดับที่สอง เกิดขึ้นที่ห้องตรวจวัดคลื่นหัวใจนี่เอง ไปถึงคุณพยาบาลเธอก็ให้ดิฉันขึ้นนอนเตียง แล้วให้เลิกเสื้อชั้นนอก-เสื้อชั้นในขึ้น รู้สึกว่าเธอเอาอะไรสักอย่างที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์มาจุ๊บ ๆ บริเวณอก (ตอนนี้มีผ้าปิดอกให้ค่ะ ไม่ต้องกลัวโป๊) ทิ้งไว้สักพักก็ถอดออก เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจ

          เสร็จแล้วดิฉันก็รีบย้อนกลับไปห้องตรวจภายในอีกครั้ง นั่งรออีกไม่นานก็ถึงคิวตรวจ ดิฉันเองเคยผ่านการตรวจภายในมาแล้ว
2 ครั้ง จึงไม่ตระหนกตกใจอะไรในการขึ้นขาหยั่ง เพียงแต่ลืมท่าไปบ้างจนคุณพยาบาลต้องเตือนให้จัดท่าทางที่ถูกต้อง ระหว่างการตรวจของคุณหมอผู้ชาย คุณพยาบาลเธอก็จะอยู่เป็นเพื่อนกับเราตลอดค่ะ

          ดิฉันแนะนำสำหรับผู้หญิงเราที่ยังไม่เคยตรวจภายในเลย ให้มาตรวจกันเถอะค่ะ ถ้ามัวอายหมออยู่ เป็นอะไรขึ้นมาจะแก้ไขไม่ทัน การตรวจก็ไม่ได้เจ็บอะไรอย่างที่มีคนกังวล เดี๋ยวนี้เครื่องไม้เครื่องมือแพทย์เขาพัฒนาแล้ว ไม่รู้สึกเจ็บเลยค่ะ ตรวจปีละครั้งตัวเองจะได้ปลอดภัย คุณหมอจะตรวจหาก้อนเนื้อในมดลูก และตรวจหามะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะนัดเรามาฟังผลในครั้งหน้า ประมาณ
7 วัน

          ก่อนกลับไปห้องตรวจอายุรกรรม ดิฉันแวะไปรับผลเลือดและปัสสาวะเสียก่อน แล้วจึงมายื่นให้คุณพยาบาลหน้าห้อง กลับมาคราวนี้ปรากฏว่าคนไข้เยอะกว่าเดิมเป็นเท่าตัว คุณพยาบาล
3 คน เธอหมุนซ้ายหมุนขวาอยู่เป็นพัลวัน วุ่นวายมาก ๆ จนน่าสงสารเธอทั้ง 3 คน จนทำให้นึกว่าทำไมที่นี่จึงเชื่องช้าในเรื่องการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ก็ไม่รู้ เห็นป้ายติดขออภัยในความไม่สะดวก เนื่องจากอยู่ระหว่างการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ ติดอยู่ทั่วโรงพยาบาล

          เมื่อคุณหมออายุรกรรมอ่านผลการตรวจทั้งหลายทั้งแหล่นั่นแล้ว ก็บอกว่าดิฉันมีสุขภาพร่างกายเป็นปรกติดี มีเรื่องไขมันที่ต้องเริ่มดูแล เพราะมีแนวโน้มว่าจะสูง ให้ไปดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร เมื่อซักประวัติแล้วคุณหมอก็ลงความเห็นว่าเรื่องมึนงงบ้านหมุนนั้นก็น่าจะมาจากอาการเกี่ยวกับหูชั้นใน ที่ดิฉันเคยไปรักษาตัวที่รพ.ศิริราช คุณหมอแจ้งว่าถ้าไม่สะดวกไปศิริราช ก็ให้ขอประวัติมารักษาตัวกับคุณหมอที่นี่ก็ได้ จากนั้นก็สั่งยาแก้มึนงงให้

          เบ็ดเสร็จรวมเวลาตั้งแต่ที่ดิฉันออกจากบ้านมาจนถึงขณะนี้
7 ชั่วโมง มองนาฬิกาเป็นเวลา 12.30 น. คิดจะไปติดต่อขอสแกนลายนิ้วมือเพื่อเข้าระบบจ่ายตรงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกับกรมบัญชีกลาง ก็ดันมาติดเที่ยงเสียได้ นึกได้ว่าเคยมาใช้บริการนวดแผนไทยที่นี่ จึงเดินไปยังตึกแพทย์แผนไทยเพื่อขอรับบริการนวดกดจุดฝ่าเท้า เผื่ออาการปวดศีรษะจะทุเลาเร็วขึ้น

          กลับมาจากนวดกดจุดฝ่าเท้าแล้ว เป็นเวลา
13.30 น.ก็พอดีได้ดำเนินการสแกนลายนิ้วมือได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าหลังจากนี้อีก 1 เดือน ให้มาติดต่อรับบัตรอีกครั้ง แต่ก่อนหน้านั้นดิฉันต้องมาที่โรงพยาบาลนี้ก่อนในวันที่ 7 ธ.ค.49 เพื่อฟังผลการตรวจมะเร็งปากมดลูก ซึ่งที่จริงแล้วคุณหมอบอกว่าจากการตรวจแล้วดิฉันปกติดี จะไม่มาในวันที่ 7 อีกก็ได้

          ออกจากโรงพยาบาลนี้เพื่อไปทานมื้อกลางวัน เมื่อมองนาฬิกาอีกครั้งเป็นเวลาประมาณบ่ายสองโมงเศษ มีเวลาพอเหลือให้ไปจัดการธุระส่วนตัวที่ธนาคารพักหนึ่ง แล้วจึงรีบขับรถออกจากตัวจังหวัดไปยังโรงพยาบาลบางปลาม้า ใช้เวลาประมาณ
15 นาที เพื่อมายื่นบัตรคนไข้รับบริการ ฝังเข็ม ดิฉันได้รับคิวเป็นลำดับที่ 7 รอเวลาไม่นานก็ถึงเวลาเข้ารับการรักษา คือ เวลา 16.00 น.

          ดิฉันตั้งใจมา
ขึ้นเตียง ในเย็นนี้อีกครั้งเพื่อ ฝังเข็ม รักษาอาการปวดประจำเดือน ที่ปวดมากต้องใช้ยาแก้ปวดตลอด หลัง ๆ รู้สึกต้องใช้ยามากขึ้น และยังมีอาการไม่สบายตัวก่อนมีประจำเดือนทุกครั้งจนน่ารำคาญ และเลือกการรักษาประเภทนี้ ก็เพื่อรักษาอาการวิงเวียน มึนงง บ้านหมุนนี่ด้วย

          ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งที่
3 ของวันนี้อีกครั้ง เพื่อน ๆ ที่ทราบว่าดิฉันมา ฝังเข็ม ต่างพากันทำท่าหวาดเสียวกลัวเข็มกันทั้งนั้น แต่ดิฉันก็ยังไม่วายใจกล้ามาลองดูจนได้ เพราะทรมานและรำคาญกับอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ บ้านหมุนอยู่บ่อย ๆ เคยมีคนทักว่าดิฉันเลือดลมท่าจะไม่ดี แต่เวลาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลทีไร ก็ไม่เห็นหมอบอกว่าเราเป็นอะไร ก็เห็นว่าแข็งแรงทุกครั้ง

          เมื่อถึงเวลารักษา คนไข้จะขึ้นนอนบนเตียงพร้อมกันราว
20 เตียง เห็นจะได้ คุณหมอ คือ นพ.อนวัชร์  รักษ์วรรณวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก็ทำการ ฝังเข็ม ให้คนไข้ทีละคนตามอาการ ดิฉันนอนอยู่บนเตียงลำดับที่ 7 ก่อนรักษาคุณหมอจะถามอาการของเราก่อน แล้วจึงค่อยใช้เข็มแทงลงไปบนผิวเนื้อของเราบนจุดฝังเข็มตามเส้นลมปราณ

          อาการของดิฉัน ได้รับการ
ฝังเข็ม 14 เข็ม บริเวณขมับซ้าย-ขวา, ใต้กกหูซ้าย-ขวา, ท่อนแขนซ้าย-ขวา, หลังมือระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ทั้งช้าย-ขวา, หน้าแข้งซ้าย-ขวา, ใต้ตาตุ่มด้านในซ้าย-ขวา  และหลังเท้าระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ทั้งซ้าย-ขวา เช่นกัน รวมแล้วฝั่งซ้าย 7 จุด ฝั่งขวา 7 จุด จากนั้นจะมีคุณพยาบาลนำอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้ามาคีบที่เข็ม แล้วเปิดกระแสไฟฟ้านิด ๆ

          ดิฉันนอนตัวแข็งไปเลย ตื่นเต้นเล็กน้อยแต่ไม่กลัว รู้สึกเจ็บนิดหน่อยตอนถูกเข็มแทง และรู้สึกตื๊ด ๆ ตอนกระตุ้นไฟฟ้า เวลาผ่านไป
20 นาที เครื่องจะร้อง คุณพยาบาลเธอก็มาจัดการนำอุปกรณ์ออก รวมทั้งเข็มที่ฝังไว้ด้วย .... ตอนเก็บเข็มก็ยังรู้สึกเจ็บนิด ๆ หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที ก็ไม่รู้สึกอะไรแล้ว เป็นปรกติดีทุกอย่างค่ะ

          การ
ฝังเข็ม นั้นเป็นการรักษาโดยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีน ผู้ที่จะทำการ ฝังเข็ม ได้ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมและรับรองโดยองค์กรอนามัยโลก (WHO) ซึ่งการ ฝังเข็ม จะช่วยปรับสมดุลของร่างกาย และเกิดการหลั่งสาร เอนดอร์ฟินช่วยระงับอาการปวด

          ประโยชน์ของการฝังเข็มจะช่วยสามารถรักษาโรคและกลุ่มอาการปวดต่าง ๆ ได้เช่น
                    - กลุ่มอาการปวด เช่น ปวดหลัง ปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดไหล่ ปวดเข่า ฯลฯ ซึ่งในวันนั้น คุณป้าข้าง ๆ เตียงของดิฉันก็มารักษาอาการปวดส้นเท้าค่ะ
                    - โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ โรคหอบหืด เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
                    - อาการท้องผูกเรื้อรัง เครียด นอนไม่หลับ
                    - ช่วยปรับสมดุลร่างกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก ของผู้มีน้ำหนักตัวมากเกินพิกัด
                    - กระตุ้นระบบไหลเวียน บรรเทาอาการของสิว ฝ้า ริ้วรอยบนใบหน้า

          ใครที่อยากจะลอง
ฝังเข็ม แต่กล้า ๆ กลัว ๆ ยังไม่เคยรับการรักษาด้วยวิธีนี้ ก็ลองตัดสินใจดูนะคะ สำหรับตัวดิฉันเองนั้น เดิมกลัวเข็มฉีดยามาก ๆ เพราะสมัยเด็กถูกคุณหมอฉีดยาแล้วรู้สึกปวดขัดเวลาที่ยาวิ่งเข้าสู่ร่างกาย เข็ดจนกระทั่งโต แต่เมื่อต้องตรวจสุขภาพประจำปี และต้องตรวจเลือดด้วยทุกครั้ง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ฝังเข็ม เจ็บน้อยกว่าค่ะ และคุณหมอแจ้งว่ายังต้องมา ฝังเข็ม อีกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 10 ครั้ง จึงจะเห็นผลชัดเจน ครั้งหนึ่งจ่ายค่ารักษา 300 บาท ข้าราชการเบิกได้ทั้งหมดค่ะ

          หากใครจะเข้ารับการรักษาด้วย
การแพทย์ทางเลือก ลักษณะนี้ก็ลองดูนะคะ หลายคนที่เคยไปรักษาด้วยวิธีนี้เขาก็ว่าได้ผลกันหลายคนแล้วค่ะ ร่างกายแข็งแรง จิตใจก็แจ่มใสไปด้วยค่ะ


 
หมายเลขบันทึก: 64183เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เรียน คุณปวีณาค่ะ

  • เก่งจังเลยค่ะ...ตรวจตั้ง5 รายการใช้เวลาเพียงครึ่งวัน
  • ดีใจด้วยค่ะที่มิได้เป็นอะไรมาก
  • ดิฉันเคยเป็น..อาการบ้านหมุน..จำได้ว่า..มันพาเราเอาหัวหมุนๆๆๆแล้วดึงหัวเรากดลงทิ่มดิน...จนต้องหลับตา...แล้คลานไปอาเจียน...ไม่มีทางยืนได้เลย..เสียการทรงตัว...เขาเรียก"เสียศูนย์"น่ะค่ะ..ตอนตรวจบอกว่าน้ำอะไรในหัวนี่แหละมันไม่สมดุลย์...ให้ยามาทาน..2-3วันก็หาย...โอย..ประทับใจกับ"อาการบ้านหมุน"ค่ะ
  • ทำได้ไงคะ...ยอมฝังเข็ม...น่ากลัวจะแย่...(คิดไปเองค่ะ)
  • ขอให้สุขภาพแข็งแรง...หายดีไวๆนะคะ...ส่งกำลังใจมาเยี่ยมค่ะ
  • อ้อ...ลืมไปค่ะ...ถ้าเดือนหน้ากรุณารายงานภาวะปวดท้องจากมีประจำเดือน(dysmenorrhea)..ด้วยนะคะว่าดีขึ้นไหม...ท่านที่เป็นจะได้มีทางเลือกค่ะ

ชื่อเรื่องน่าติดตาม เลยเข้ามาเยี่ยมครับ

  • คุณปวีณา ธิติวรนันท์  คะ ชื่อบันทึกค่อนข้างหมิ่นเหม่ นะคะ..ต้องรีบเข้ามาอ่านเลย ว๊า! ไม่เป็นอย่างที่คิดเลยค่ะ
  • สรุปว่า 1วันของคุณปวีณา ธิติวรนันท์   คุ้มค่าเวลาจริงๆค่ะ
  • นี่แหละค่ะวิถีชีวิตของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล กับผู้ป่วยและญาติ.. ทำงานกับคนที่หลากหลาย และมากมาย ก็ต้องเป็นขั้นตอนหลายขั้นตอน ทำให้รู้สึกว่าไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องน่าเบื่อ อยู่ที่มุมมองและความเข้าใจในคนค่ะ คนไข้บางคนมาตรวจตั้งแต่เช้าพร้อมกับการมาทำงานของเจ้าหน้าที่ กลับพร้อมเจ้าหน้าที่เมื่อหมดเวลาทำงาน ก็รู้สึกเห็นใจ แต่ก็มีปัจจัยจำเป็นหลายๆอย่างที่ทำให้ต้องเป็นเช่นนี้...
  • สวัสดีค่ะคุณกฤษณา....รู้สึกว่าเราจะตามกันไปตามกันมานะคะเนี่ย ดีใจที่แวะมาเยี่ยมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ

  • เรื่อง บ้านหมุน นี่ดิฉันเคยเป็นนานสุดก็เป็นเดือนเลยค่ะ ... ต่อมาก็เป็นนิดหน่อยไม่กี่วัน บางวันก็เป็นบางช่วง ไม่เป็นทั้งวัน ... อย่างนี้เป็นโรคประจำตัวของเราหรือเปล่าคะ

  • แล้วจะรายงานผลให้ทราบนะคะว่าฝังเข็มแล้ว อาการดีขึ้นไหม ได้ผลหรือไม่ เพราะบางคนเขาก็ไม่ดีขึ้นก็มีค่ะ

  • ขอบคุณสำหรับแรงใจที่มอบให้กันค่ะ

Mr. Kamphanat Archa (Jack)

  • ขอบคุณมากค่ะ ที่แวะเข้ามาเยี่ยมกัน
  • ตามไปทำความรู้จักแล้วค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ
  • นั่นแน่...กะแล้วว่าต้องมีคนคิดลึก...ก็คุณ nutim คนหนึ่งล่ะ (คิก....คิก)
  • พักนี้ไม่รู้เป็นไง "รัก" คนโรงพยาบาลไปเสียทั้งหมด...เป็นกำลังใจให้คนโรงพยาบาลทุกคนค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันค่ะ

กลัวจะคิดลึกเลยต้องรีบเข้ามาอ่าน แล้วตกลงคุณป้าข้างๆเตียงหายเจ็บส้นเท้าไหมคะ (บังเอิญเป็นเหมือนกัน)

  • สวัสดีค่ะ คุณครูน้องตุ๊ก....
  • ดูหน้าตาแล้ว น้องน่าจะไม่ใช่คนคิดตื้น ๆ หรอกค่ะ คนหน้าตาแบบนี้คิดลึกทุกคน (ล้อเล่นค่ะ...คิก...คิก...)
  • คุณป้าเขาเพิ่งมารับการรักษาเป็นครั้งที่ 2 ค่ะ ต้องมาอีกสัก 8 ครั้ง คงจะตอบคำถามน้องตุ๊กได้...แล้วจะติดตามถามผลให้นะคะ
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมกันค่ะ
  • สุดยอดเลยชื่อบันทึก ดึงผู้อ่านให้เหลียวหลังกลับมาอ่านทันทีเลยครับ น่าทึ่งจริงๆ
  • นั่นแน่....พี่บัวก็ตามมาอ่านกับเขาเหมือนกัน....
  • การตั้งชื่อเรื่องที่น่าสนใจ (แต่ไม่ต้องหวาดเสียวแบบนี้ก็ได้) เป็นเทคนิคหนึ่งในการดึงดูดให้ผู้คนสนใจเข้ามาอ่านบันทึกของเราค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับการเข้ามาเยี่ยมชมค่ะ ... และอย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงทั้งกายใจอยู่เสมอนะคะ .... จะได้พร้อมลุยงานด้วยกันไง...

คุณปวีณาคะ

 

เห็นบันทึกนี่หลายครั้ง

คิดหลายตลบว่าจะเปิดอ่านดี ๆ ไม่อ่านดี  (คิดลึกอ่ะนะ...คนเรา)

จนในที่สุดเช้านี้ก็ตัดสินใจเป็นตายร้ายดีก็เป็นไป  เหิดซะหน่อย

เอิ๊ก ๆ ๆ ๆ คนเราหนอ คิดมากไปด้าย ย ย ยย ย ย ย ย ย

Miss somporn poungpratoom

  • สวัสดียามเช้าค่ะคุณสมพร....
  • ตอนจะจั่วหัวตัวเองก็คิดหลายตลบเหมือนกันค่ะ เกรงว่าจะทำความเสื่อมเสียให้แก่พื้นที่นี้...
  • แต่อยากรู้ว่าจะมีคนคิดลึกแค่ไหน ปรากฏว่ามีคนมาแสดงความคิดเห็นกับเราอยู่ 6 คน แต่พอไปดูสถิติปรากฏว่าได้รับการเข้าเยี่ยมชมในหน้าบันทึกนี้ถึง 67 คน แสดงว่ามีคนมาเมียง ๆมอง ๆ หรือประมาณ แอบ ๆ ดูเพราะชื่อบันทึกนี้มากกว่าค่ะ
  • ชื่อบันทึกนี้ สอนเราว่า "อย่าหลงเชื่อในสิ่งที่เราเห็นภายนอก" ค่ะ....5555555555....เอิ๊ก..ก...ก...

 โอว... ขยัน .. เขียนได้ยาว ละเอียดชัดเจนมากเลยครับ ได้ประโยชน์ที่เดียว .. ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท