ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

มนุษย์บางคน(เป็นโรค)ไม่ชอบคำชม?


จาก "โรคไม่ชอบคำชม" นิตยสาร Spice, August 1999

"ผิวของคุณสวยจัง"
"เฮอะ หยาบยังงี้เนี่ยนะ"

"ชุดนี้หล่อจัง"
"อือ ถ้าคนอื่นใส่"

"ผมทรงนี้เท่ระเบิด"
"ก็เห็นอยู่ว่าหงอกแล้ว พูดออกมาได้ยังไงวะ"

ฯลฯ 

รู้สึกคุ้นๆ มั๊ยกับคำตอบทำนองนี้?

ทั้งๆ ที่คนเราชอบคำสรรเสริญเยินยอ  แต่ก็มีคนพวกหนึ่งทนรับฟังคำชมหรือเยินยอจากคนอื่นไม่ได้ ไม่รู้จักพูดขอบคุณเวลาได้รับคำชม แต่กลับหาทางพูดให้ร้ายตนเองมาตอบโต้  หรือไม่ก็พูดกลับไปทำนองว่า "จริงหรือเปล่า" พูดเป็นเล่น" "ตาบอดหรือไง"  อะไรประเภทนี้  

ถ้าเพื่อนชมว่า "แหม วันนี้หน้าตาดูสดใสจัง" คนจำพวกนี้ก็จะตอบทำนองว่า "เฮ่ย ตอนนี้มีแต่เรื่องเครียดทั้งนั้น" "เหรอ  เมื่อคืนนอนไม่หลับเลยเนี่ยนะ"

ทำไมบางคนจึงยอมรับคำชมไม่ได้ และตอบโต้ไปอย่างนั้น คงไม่ใช่เพื่อต้องการคำชมเพิ่มมากขึ้นอีก หรืออยากให้คนอื่นชมซ้ำย้ำให้ฟังอีกเป็นแน่

ทำไมคำชมจึงเป็นสิ่งที่ทำให้บางคนรู้สึกไม่ชอบใจ ไม่สบายใจ ไม่มีความสุข
ตัวคุณเองรู้สึกอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า?
คุณเคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมคนบางคนจึงตอบคำชมของคุณด้วยคำพูดที่ให้ร้ายตัวเองอย่างนั้น
นี่คือเหตุผลที่สรุปมาได้ 

การมองตัวเองในแง่ร้าย
คนบางคนประเมินตัวเองว่าด้อย คิดถึงตนเองในแง่ร้าย จึงเกิดอาการแปรเจตนารมณ์ของคำชมที่ได้รับเป็นอย่างอื่นที่ไม่ดีเกี่ยวกับตนเอง เช่น ถ้ามีใครชมว่า "นุ่งยีนตัวนี้แล้วคุณเท่จัง" ก็จะคิดว่าจริงๆแล้วคนพูดคงอยากจะว่าตนเองแต่งตัวไม่ถูกกาละเทศะ เป็นต้น

อาการให้ร้ายตนเองแบบนี้ มักจะเกิดเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับร่างกายและบุคลิกภาพ  เมื่อถูกชมว่า "คุณนี่ฉลาดจริงๆ" หรือ "คุณตลกจัง" ก็จะรู้สึกอัดอัดทันที  แบบนี้เป็นพวกที่ไม่มั่นใจในสติปัญญาความสามารถของตน
 
ไม่เคยได้รับคำชมในวัยเด็ก
การไร้ความสามารถที่จะรับคำชมได้อย่างสง่างาม  อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์เดิมในวัยเด็กก็เป็นได้ ผู้ปกครองที่เข้มงวดบางคนไม่เคยพูดชมเชยลูกหลานของตนเลย ทำให้คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าจะแสดงออกอย่างไร และรู้สึกยากลำบากที่จะตอบรับคำชมของคนอื่น

ในสมัยก่อน ผู้หญิงจะถูกอบรมว่าต้องสงบเสงี่ยมหงิมงาม ไม่แสดงออกนอกหน้าว่าพอใจหรือไม่พอใจ จะกรี๊ดกร๊าดอย่างเดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นอันขาด ดังนั้น ผู้หญิงจะมีอาการเช่นนี้มากกว่าผู้ชาย

อย่างเช่นคุณชมพูเล่นเปียโนได้ดีมาก เมื่อจบการแสดงมีคนชม เธอไม่กล้าที่จะพูดว่า "ขอบคุณค่ะ ดิฉันก็รู้สึกว่าวันนี้เล่นได้ดี ตั้งใจซ้อมมากเลยค่ะ" แต่เธอจะตอบว่า "ดิฉันยังด้อยฝีมือค่ะ" หรือไม่ก็ "วันนี้ยังไม่ดีสำหรับดิฉันหรอกค่ะ" เป็นงั้นไป
 
สิ่งแอบแฝงหรือซ่อนเร้น
บ่อยครั้งในสังคม การที่คนเราไม่รับคำชมของคนอื่น เป็นเพราะไม่ไว้ใจกันและกัน คิดว่าอีกฝ่ายหวังอะไรบางอย่างจากตน หรือมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในคำชมเหล่านั้น เช่น ถ้ามีผู้ชายคนหนึ่งชมคุณสมร เธอก็จะคิดว่าเขามาจีบหรือต้องการให้เธอช่วยทำอะไรบางอย่างให้

หลายคนคงเคยได้รับคำชมว่า "เธอเก่งจัง" แล้วตามด้วย "อยากให้ช่วย...ให้หน่อยได้มั๊ย"
ใครที่ได้รับคำชม แล้วตามด้วยคำขอร้องให้ทำโน่นทำนี่บ่อยๆ เข้า ก็จะพัฒนาความรู้สึกไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจว่าเวลาได้ยิน จะเป็นคำชมที่บริสุทธิ์ใจ หากแต่ชมเพราะหวังบางสิ่งบางอย่างจากตน

บางครั้งก็เกี่ยวกับลักษณะของคนที่ชมด้วย ถ้าคนชมฉลาดกว่า สวยกว่า  คนที่ได้รับคำชมมักจะไม่ชอบใจ รู้สึกว่าเป็นคำชมที่ไม่จริงใจ
 
กลัวที่จะยอมรับ
บางคนกลัวคำชมเพราะเกรงว่าเมื่อมีคนชมมาก  ตนเองจะเป็นจุดเด่น ทำให้เป็นที่หมั่นไส้หรืออิจฉาของคนอื่นๆ

บางคนกลัวที่จะได้รับคำชมในตอนแรก จนกว่าจะมีคนอื่นๆ มาชมในเรื่องเดียวกันซ้ำๆ เสียก่อนจึงจะถึงจุดที่พูดว่า "ขอบคุณ ฉันก็ว่ายังงั้นเหมือนกัน" ทั้งนี้ก็เพราะต้องได้ยินจากหลายปากซะก่อน จึงจะเกิดความมั่นใจว่าเป็นจริง

โรคไม่ชอบคำชมน่าจะเป็นความผิดปกติทางจิตใจที่รักษาได้ไม่ยาก แต่ถ้าอาการรุนแรงก็คงต้องพึ่งจิตแพทย์

แล้วจะต้องทำอย่างไร 
สำหรับคนที่บางครั้งรู้สึกไม่สบายใจเวลาที่มีคนชม ลองเปลี่ยนปฏิกิริยาที่เคยโต้ตอบด้วยการให้ร้ายตนเองหรือตอบกลับให้คนชมรู้สึกไม่ดี มาเป็นคำพูดง่ายๆว่า "ขอบคุณ" และตามด้วยรอยยิ้ม จะดีกว่า

นอกจากนั้น ลองฝึกมองดูตนเองในกระจก หาคำพูดเพราะๆดีๆมาชมตัวเอง พูดดังๆ เพื่อฝึกรับฟังคำชมจากเสียงของตนเองโดยไม่คิดหาข้อโต้แย้งร้ายๆ ขึ้นมา

เวลาที่ได้รับคำชม ไม่ว่าตัวเองจะคิดยังไง คำตอบควรเป็นคำที่อยู่ในวงเล็บเท่านั้น  ไม่จำเป็นต้องแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือไม่เชื่อสิ่งที่เขาชม 

คำชม:  บ้านสวยจังเลย
คำตอบ:  รกไปหน่อยค่ะ (ขอบคุณ)
คำชม: อาหารอร่อยมาก คุณทำกับข้าวเก่งจริงๆ
คำตอบ: ฉันว่าวันนี้ออกจะเค็มไปนิด  (ขอบคุณ)
คำชม: สูทสีน้ำเงินสดอย่างนี้คุณใส่แล้วดูดีจริงๆ
คำตอบ: สีอื่นๆที่เคยใส่มันแย่หรือไง (ขอบคุณ)

โรคนี้หายได้ด้วยคำวิเศษ 2 พยางค์เท่านั้นคือ ขอบคุณ

 

คำสำคัญ (Tags): #ป้าเจี๊ยบ#ชีวิต
หมายเลขบันทึก: 111037เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจมากครับ ที่มีใครสักคนหนึ่ง มีความรู้ มีประสบการณ์ วิเคราะห์ลักษณะจิตใจของคนให้เราได้เรียนรู้กัน  

 ผมเป็นคนหนึ่งที่นำจิตวิทยามาใช้ในชีวิตการทำงานที่ปรึกษาธุรกิจอย่างมาก   พบเจอคนหลายๆ แบบ  ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และ วิธีคิดของเขา ที่ขัดกับการพัฒนาตัวเค้าเอง และ องค์กร์

คนที่ได้ต้องการคำชม หรือ ไม่อยากให้ใครเห็นความดีประเภทนี้  สวมหน้ากากหินแกรนิตที่หยาบกระด้างไวเบื้องนอก  ด้านในเป็นเนื้อหนังอ่อนนุ่มราวปุยฝ้ายที่อาจถูกทำร้ายมามาก หรือ ขยาดความผิดหวัง ผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น

ผมว่าคนพวกนี้น่าสงสารมากครับ  บางคนมีอารมณ์นี้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนชัดเจนตอนอายุมากๆ เข้ากลางคนแล้ว เลยทำให้ดูเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่าคุยด้วย ไม่น่าเข้าใกล้ไปเลย

คำว่า "ขอบคุณ" ของป้าเจี๊ยบนี่ เด็ดขาดครับ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง คำนี้ทำให้หัวใจละเอียดอ่อนอย่างมหัศจรรย์

ถึงตรงนี้ ขอนำ Blog ขอป้าเจี๊ยบ ไปไว้ที่ Planet "หัวใจละเอียด" นะครับ  ที่นั่นผมพยายามรวบรวมท่านผู้รู้ที่สร้างสรรค์งานเขียนแนวเจียระไนหัวใจให้ละเอียดขึ้น

ดีใจอีกอย่างที่ได้เขียนความเห็นคนแรก :)

 

ร่วมแสดง    ความเห็น สร้างมาตรฐานใหม่




 

สวัสดีค่ะ คุณ P กุนซือรับจ้าง
ยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ค่ะ และรู้สึกเป็นเกียรติมากที่บอกว่า "ขอนำ Blog ขอป้าเจี๊ยบ ไปไว้ที่ Planet "หัวใจละเอียด" นะครับ  ที่นั่นผมพยายามรวบรวมท่านผู้รู้ที่สร้างสรรค์งานเขียนแนวเจียระไนหัวใจให้ละเอียดขึ้น"  เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้ภาษาไพเราะจัง  ยิ้ม..ยิ้ม..
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท