ประโยค


เมื่อเป็นผู้รับสารเราจะวิเคราะห์ประโยค แต่เมื่อเราเป็นผู้ส่งสาร เราจะสังเคราะห์ประโยค

การวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค

 

ความหมายของการวิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยค

การวิเคราะห์ประโยค   คือ   การจำแนกแยกแยะประโยค

การสังเคราะห์ประโยค    คือ    การคิดสร้างประโยคให้ถูกต้องตามระเบียบของภาษา

        เมื่อเป็นผู้รับสารเราจะวิเคราะห์ประโยค  แต่เมื่อเราเป็นผู้ส่งสาร เราจะสังเคราะห์ประโยค ความเข้าใจเรื่องประโยคจึงช่วยให้วิเคราะห์และสังเคราะห์ประโยคได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และหลักการใช้ประโยคที่ใช้ในการสื่อสารนั้น เราอาจวิเคราะห์ความแตกต่างกันในลักษณะต่างๆ ดังนี้

        1.  รูปประโยค

        2.  หน้าที่ของประโยคตามเจตนาของผู้ส่งสาร

        3.  การเรียงลำดับคำในประโยค

        4.  ความยาวของประโยค

        5.  โครงสร้างของประโยค

 1.  รูปประโยค  มีด้วยกัน  5  รูปลักษณะ ดังนี้

       1.1  ประโยคกรรตุ   คือ  ประโยคที่มีประธานเป็นผู้แสดงอาการ   เช่น   แม่ดื่มกาแฟ   น้องเล่นกีฬา   เป็นลักษณะรูปประโยคที่นิยมใช้ในภาษาไทย

      1.2  ประโยคกรรม    มี 2 ลักษณะดังนี้

             -  ประโยคที่มีประธานเป็นผู้ถูกกระทำ   ในกรณีที่เป็นเรื่องไม่ดี  ไม่เป็นที่พอใจจะใช้    “ถูก”     เช่น   เขาถูกปลดออกจากตำแหน่ง         ในกรณีที่เป็นเรื่องดี เป็นที่พอใจจะใช้   “ได้รับ.......จาก”   เช่น     เขาได้รับเชิญจากสมาคมผู้ปกครองและครู

               -  ประโยคที่มีกรรมอยู่ข้างหน้าประธาน   เราจะใช้ประโยครูปนี้เมื่อต้องการเน้นกรรม   หรือ ไม่ต้องการเน้นประธาน   เช่น    ขนมถ้วยนี้น้องตักไว้เอง

        1.3  ประโยคกริยา   คือ  ประโยคที่มีกริยา เกิด  มี  ปรากฏ บังเกิดอยู่หน้าประธาน   เช่น   ปรากฏเงาประหลาดที่บริเวณชายป่าด้านนั้นเสมอ   มีข่าวหลายกระแสแจ้งว่าบุคคลสำคัญของประเทศทั้งสองจะเจรจากันเพื่อยุติปัญหาสงครามยืดเยื้อ

        1.4  ประโยคกริยาสภาวมาลา   คือ  ประโยคที่มีกริยาสภาวมาลาเป็นประธาน   ( กริยาสภามาลา   คือ คำกริยาที่เรานำมาใช้เป็นประธาน หรือกรรมของประโยค)   เช่น    คมเฉือนคม     ทำอะไรก็สู้การทำบุญไม่ได้

        1.5  ประโยคการิต    คือ   ประโยคที่มีผู้รับใช้อยู่ด้วย   เช่น        แม่ให้ฉันเช็ดโต๊ะอาหาร  (ฉัน เป็น ผู้รับใช้)

2.  หน้าที่ของประโยคตามเจตนาของผู้ส่งสาร    แบ่งออกได้เป็น 3                  ประเภทดังนี้

        2.1  ประโยคแจ้งให้ทราบ    คือ   ประโยคบอกเล่า   หรือแจ้งข้อความบางประการให้ผู้รับสารทราบ อาจเป็นประโยคสั้นๆ  หรือประโยคยาวๆ  หรือเป็นใจความปฏิเสธก็ได้  ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ส่งสาร   เช่น    ฉันชอบอ่านหนังสือในห้องสมุด      คุณแม่ซื้อของขวัญให้คุณพ่อ       ธงชัยเป็นนักร้องยอดนิยม      ฉันไม่ชอบอ่านหนังสือในห้องสมุด           คุณแม่ไม่ได้ซื้อของขวัญให้คุณพ่อ      ธงชัยไม่ใช่นักร้องยอดนิยม

         2.2  ประโยคถามให้ตอบ    คือ   ประโยคคำถาม ซึ่งผู้ส่งสารใช้ถามเรื่องราวต่างๆ จากผู้รับสารมักจะมีคำแสดงการถามว่า ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร เท่าไร อย่างไร อยู่ด้วยเสมอ ถ้าเป็นคำถามที่มีเนื้อความปฏิเสธ ก็จะเห็นคำปฏิเสธอยู่ในประโยคด้วย  เช่น   คุณชอบฟังเพลงไหม    คุณไม่ชอบฟังเพลงหรือ คุณจะให้ใครไปเป็นเพื่อนบ้าง คุณจะไม่ให้ใครไปเป็นเพื่อนบ้าง

         2.3  ประโยคบอกให้ทำ  คือ   ประโยคที่ผู้ส่งสารใช้เพื่อให้ผู้รับสารกระทำตามความต้องการของผู้ส่งสาร  อาจจะเป็นคำสั่ง  อ้อนวอน  เชิญชวนขอร้อง   รูปประโยคบอกให้ทำ  จะมีประธานเป็นผู้รับสาร หรือผู้ฟัง ดังนั้นประธานของประโยคจะเป็นสรรพนามบุรุษที่ 2  หรือบุรุษที่ 1  พหูพจน์   หรืออาจจะละไว้ในฐานะที่เข้าใจก็ได้    ถ้าประโยคบอกให้ทำมีเนื้อความปฏิเสธ ก็จะมีคำปฏิเสธอยู่ในประโยคด้วย   เช่น   เธอต้องไปพบเขาในตอนเช้า   เธอต้องไม่ไปพบเขาในตอนเช้า     เปิดประตูซิ      อย่าเปิดประตู           ถ้าคุณครูถามก็บอกว่าฉันไปธุระ    ถ้าคุณครูถามก็อย่าบอกว่าฉันไปธุระ

3.  การเรียงลำดับคำในประโยค  ในภาษาไทยถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นการบอกตำแหน่งหน้าที่ และความหมายของคำ การเรียงลำดับคำในประโยค ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ในประโยค มีข้อสังเกตว่า คำที่ผู้พูดให้ความสำคัญที่สุดมักจะอยู่ที่ต้นประโยค   หรือไม่ก็อยู่ท้ายประโยค    ถ้าเรียงลำดับคำต่างกัน ความสัมพันธ์ของคำในประโยคอาจต่างกัน และทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนไปด้วย   เช่น   แมวกัดหนู    หนูกัดแมว   แต่ในบางประโยคก็สามารถเปลี่ยนการเรียงลำดับคำได้โดยที่ความหมายของประโยคยังคงเหมือนเดิม  เช่น    พรุ่งนี้เช้าเราพบกันนะ       เราพบกันพรุ่งนี้เช้านะ     แก้มเธอเปื้อนโคลน     โคลนเปื้อนแก้มเธอ

4.  ความยาวของประโยค  ประโยคมีความหมายมากขึ้นเพราะเหตุผล 2 ประการดังนี้

         4.1  การเพิ่มรายละเอียด     เพื่อใช้เป็นบทขยายส่วนใดส่วนหนึ่งในประโยค   อาจจะเกี่ยวกับเวลา   สถานที่ เหตุผล ฯลฯ   ซึ่งจะทำให้ประโยคยาวขึ้น  และมีความซับซ้อนมากขึ้น   เช่น

                “นายจิตติ  รุ่งสว่าง  ชนะการประกวดแข่งขันวาดภาพ”

                “นายจิตติ  รุ่งสว่าง  นักเรียนโรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งชนะการประกวดแข่งขันวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย”     เป็นประโยคที่ยาวมากเพราะมีส่วนขยายประธาน และส่วนขยายกรรมเพิ่มเข้ามา

          4.2  ข้อความที่ซ้ำกับประโยคก่อน  ถ้าตัดออกเพื่อให้ประโยคกะทัดรัด ประโยคก็จะสั้นเข้า ถ้าไม่ตัดออก เพราะต้องการย้ำความ ประโยคก็จะยาวขึ้น   เช่น

                “เพื่อนๆ บางคนอาจเคยเดินผ่านวัดระฆังมาแล้ว แต่อาจไม่ได้สนใจว่าจะมีสิ่งใดงดงามน่าชม”

                “เพื่อนๆ บางคนอาจเคยเดินผ่านวัดระฆังมาแล้ว   แต่เพื่อนๆ อาจไม่ได้สนใจว่าวัดระฆังมีสิ่งใด งดงาม    น่าชม”

 5.  โครงสร้างของประโยค     แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด    คือ

      ประโยคความเดียว      ประโยคความรวม    และ    ประโยคความซ้อน

        5.1  ประโยคความเดียว  คือ ประโยคที่บอกให้ทราบเรื่องราวเดียว มีใจความสำคัญเพียงใจความเดียว   หรือแสดงกริยาอาการอย่างเดียว       มีประธาน  กริยา และกรรมอย่างละตัวเดียว  เช่น  ฉันกินข้าว  เธอไปตลาดเด็กอ่านหนังสือ    ฝนตก    นกร้อง    ฟ้าแลบ    เขาขายผลไม้

งานวันปลาร้าหอมของแม่บ้านเกษตรกรชาวอยุธยา/สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

หมายเหตุ    ประโยคความเดียวมีส่วนประกอบสำคัญ  2  ส่วน   คือ

                  ภาคประธาน   และภาคแสดง

 ( ประธาน + ขยายประธาน + กริยา + กรรม + ขยายกรรม + ขยายกริยา )

         5.2  ประโยคความรวม  คือ ประโยคที่เกิดจากการนำประโยคความเดียวตั้งแต่ 2 ประโยค ขึ้นไปมารวมกัน โดยใช้ความเชื่อมให้เหมาะสมแก่ลักษณะเนื้อความของประโยคความเดียวที่นำมารวมกันดังนี้

                (1)  เนื้อความคล้อยตามกัน  แบ่งออกเป็น  3  ลักษณะ ดังนี้

                      -  คล้อยตามกันที่เวลา   ใช้สันธาน   เมื่อ......…ก็       ครั้น.........ก็    พอ.........ก็      แล้ว...... จึง    

                         เช่น    เมื่อเขาอาบน้ำเสร็จเขาก็รีบเข้านอน      

                                  พอเขาเรียนสำเร็จเขาก็ได้ทำงาน

                      -  คล้อยตามเงื่อนไข   ใช้สันธาน    ถ้า.........ก็

                         เช่น     ถ้าคุณแม่อนุญาตฉันก็จะไปค้างบ้านเธอนะ       

                                   ฉันจะรักเขาถ้าเขาเป็นคนดี

                      -  คล้อยตามการกระทำ   ใช้สันธาน    ทั้ง......และ

                         เช่น     ทั้งฉันและเธอรักความยุติธรรม             

                                   ฉันและน้องไปโรงเรียน

                 (2)  เนื้อความขัดแย้งกัน  แบ่งออกเป็น  3  ลักษณะ ดังนี้

                      -  ขัดแย้งกันที่เวลา   ใช้สันธาน    กว่า........ก็

                        เช่น   กว่าเขาจะมารถไฟก็เคลื่อนออกจากสถานีไปแล้ว  

                                กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้

                     -  ขัดแย้งที่เงื่อนไข  ใช้สันธาน  ถึง.........ก็   แม้...........ก็

                        เช่น     ถึงเขาจะแก่แล้วแต่เขาก็ยังแข็งแรงดี              

                                  ถึงตัวไกลใจอยู่เป็นคู่คิด

                      - ขัดแย้งกันที่การกระทำ  ใช้สันธาน  แต่   แต่ทว่า   ส่วน

                        เช่น     เขาพูดดีกับฉันเสมอแต่ฉันไม่เคยพูดดีกับเขาเลย

                 (3)  เนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน   ใช้สันธาน  จึง   เพราะว่า  เพราะฉะนั้น.......จึง    เพราะ

                        เช่น    เขาขยันมากเขาจึงประสบความสำเร็จในชีวิต 

                                 เพราะปากของมันไม่ดีปลาหมอจึงตาย

คำว่า “ถึง”  ถ้าให้อยู่หลังประธาน จะแสดงเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกันด้วยเช่น    เธอรู้อยู่แล้วฉันถึงไม่เล่า

                  (4)  เนื้อความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง   ใช้สันธาน หรือ    มิฉะนั้น     ไม่เช่นนั้น

                       เช่น  เธอจะต้องสอบข้อเขียน มิฉะนั้นเธอจะต้องเขียนรายงาน  50  หน้า

        5.3  ประโยคความซ้อน  คือ ประโยคที่มีประโยคย่อย (อนุประโยค) ทำหน้าที่เป็นบทต่างๆ ของประโยคหลัก (มุขยประโยค) คือทำหน้าที่เป็น บทประธาน บทขยายประธาน บทกรรม บทขยายกรรม และมีส่วนขยายอยู่ที่ประโยคย่อย(อนุประโยค)ประโยคความซ้อนส่วนใหญ่จะมีประพันธสรรพนาม คำว่า  ที่  ซึ่ง  อัน  ผู้  ชี้บ่งลักษณะของความซ้อน   ดังนี้

  -  เธอทำอย่างนี้ดีแล้วหรือ       ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นประธาน

  -  ฉันดูเขาเล่นละคร               ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นกรรม

  -  ดอกไม้ที่ฉันชอบที่สุดคือกุหลาบ     ประโยคย่อยทำหน้าที่ขยายประธาน

-  เขาชอบผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว              ประโยคย่อยทำหน้าที่ขยายกรรม

-  ฝนตกหนักมากจนน้ำท่วมถนน      ประโยคย่อยขยายวิเศษณ์คำว่า “มาก”

-  นวนิยายซึ่งเขาแต่งมีแนวคิดแปลกมาก    ประโยคย่อยทำหน้าที่ขยายประธาน

-  เขาบอกฉันว่าเขาจะไปต่างประเทศ         ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นกรรม

-  คุณแม่สั่งให้ฉันรดน้ำต้นไม้                   ประโยคย่อยทำหน้าที่เป็นกรรม

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ประโยค
หมายเลขบันทึก: 314521เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2009 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ขอบคุณมากนะคะ  สำหรับความรู้เรื่อง ประโยค ครูอ้อยจะเข้ามาอ่านอีกนะคะ

ครูประเทืองสอนดีมากค่ะ รู้เรื่องมากขึ้น

เข้าใจง่ายดีค่ะ

จะนำไปสอนเด็กๆด้วยอ่ะค่ะ

ข้อมูลดีแต่อยากให้ลึกกว่านี้เพราะไม่ค่อยตรงกับเนื้อหา ม.1 ที่เรียน แต่ถึงอย่างไรก็ตามขอขอบคุณสำหรับข้อมูลนี้ด้วยค่ะ

ขอบคุณมากครับ อ่านแล้วได้ความรู้และเข้าใจง่าย

ขอบคุณค่ะกำลังจะสอบเรื่องนี้เลยขอบคุณมากๆนะคะ

น.ส. ทิพย์วิมล น้ำหอม

อ. ประเทือง ค่ะ เนื้อหาเรื่องประโยคความซ้อนซับซ้อนไม่มีค่ะ

เป็นความรู้ที่ให้รายละเอียดดีค่ะ ขอยืมไปใช้สอนนะคะ

ขอนำไปใช้บ้างนะ

ีีำี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท