ขอขอบพระคุณนายบอนสำหรับคำว่า "ครู" และความภูมิใจเล็ก ๆ เมื่อครั้งอดีต


อาจารย์ คือ ผู้ให้ความรู้" ซึ่งแปลว่า "ทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้นักศึกษาได้ความรู้"

สำหรับบันทึกนี้ เกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ผมได้เข้าไปอ่านบันทึกของนายบอน (คุณอาษา อาษาไชย) ที่ได้เขียนถึงผมและครูอ้อยไว้ในบันทึก มองบันทึกของครูอ้อย VS นายรักษ์สุข ใน gotoknow กับการติดตามหาความรู้จากความไม่รู้ ครับ โดยสิ่งที่ทำให้ผมอ่านแล้วสะดุดใจมาก ๆ ก็คือ คุณบอนและเพื่อนเรียกผมว่าเป็น "คุณครู"


สำหรับคำว่า "ครู" นั้นเป็นคำที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมมาก ๆ ครับ ซึ่งสำหรับผมนั้นมิอาจเอื้อมที่จะใช้คำนี้สำหรับตัวเองได้ครับ เพราะโดยนิตินัยและพฤตินัย ก็คือผมลาออกจากการเป็นอาจารย์ได้มากกว่า 1 ปีแล้วครับ รวมถึงผมเองก็มิได้เคยเรียนวิชาชีพครูมาก่อนครับ


แต่ด้วยโชคชะตาชีวิตที่ไม่เคยคาดคิดเลยว่าจะเดินมาบนเส้นทางสายนี้ ทำให้ผมเมื่อมีโอกาสเดินเข้ามาทำงานที่ "ราชภัฏ" ผมจึงพยายามทำสิ่งที่ฟ้าประทานโอกาสนี้มาให้ดีที่สุด


ย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้นผมมีโอกาสเป็นอาจารย์ ด้วยความที่ผมเองไม่เคยได้เรียนวิชาชีพครูมาผมจึงพยายามตีคำที่ยิ่งใหญ่นี้ออกมาตามความเข้าใจจากการที่ได้เคยสัมผัสกับครูที่มีพระคุณมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโต


โดยคำนิยามคำว่า "อาจารย์" ของผมเองนั้นมีอยู่สั้น ๆ ว่า "อาจารย์ คือ ผู้ให้ความรู้" ซึ่งแปลว่า "ทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้นักศึกษาได้ความรู้" ที่ผมเข้าใจและแปลได้มีแค่นี้ครับ


จากคำนิยามที่ผมเข้าใจและแปลเองนั้นบางครั้งก็ขัดต่อนโยบายของสถาบันและบางครั้งก็ต้องทำผิดกฎระเบียบอย่างมากครับ


มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเองจำได้ไม่เคยลืม


ตอนนั้นผมมีโอกาสได้สอนนักศึกษาโปรแกรมนิเทศศาสตร์ เป็นเด็กนักศึกษาในคณะผมเองครับ คือคณะวิทยาการจัดการ ที่คณะผมเราไม่ค่อยขีดเส้นแบ่งกั้นโปรแกรมกันเท่าไหร่ครับ อาจารย์โปรแกรมต่าง ๆ ก็นั่งรวมกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นบริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือบัญชี ก็คือมีการบริหารแบบโปรแกรมแต่ตีเส้นโปรแกรมเป็นแบบเบลอ ๆ ทำงานร่วมกันได้หมด


ภาคเรียนนั้นเองได้สอนนักศึกษากลุ่มนี้ถึง 2 รายวิชา ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นวิชาการจัดการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และรายวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS) กลุ่มเดียวสองรายวิชา นั่นหมายถึง 6 หน่วยกิต (วิชาละ 3 หน่วยกิต)


เหตุการณ์ที่ผมจำได้ไม่เคยลืมเกี่ยวกับการทำหน้าที่อาจารย์นั้นเกิดขึ้นตอนปลายเทอม มีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งขาดเรียนเป็นประจำ และขาดส่งงานค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ผมต้องย้อนกลับไปดูใบประวัติที่เคยให้นักศึกษาเขียนไว้ในคาบแรกที่เจอกัน แล้วก็พบว่า "แย่แล้ว นักศึกษาเกรดไม่ถึง 1.80"


ตอนนั้นเองผมก็ได้พยายามติดต่อกับนักศึกษาโดยฝากผ่านเพื่อนของเขาไปว่า ให้รีบติดต่อเพื่อนมาพบผมด่วน เพราะถ้าไม่รีบติดต่อก่อนสอบ Final อาจจะติด E ซึ่งถ้าติด E สองวิชาหรือ 6 หน่วยกิต โดน Retry แน่ ๆ เลย


สิ่งที่ผมทำนี้ แน่นอนครับ ผิดต่อกฎและนโยบายของสถาบัน เพราะนโยบายรักษาคุณภาพที่ผ่านคือผ่านตกคือตก Retry คือ Retry ซึ่งนโยบายนี้จะขัดต่อนิยามที่ผมคิดไว้ในใจครับ


สิ่งที่ผมคิดตอนนั้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผม “กล้าทำผิด” ก็คือ ผมเป็นอาจารย์ไม่ใช่วิทยากร คำว่าอาจารย์ที่ผมเข้าใจคือ "ผู้ให้ความรู้" และเป็นผู้ที่จะทำทุกวิถีทางให้เด็กนักศึกษาได้ความรู้ ผมทำไม่ได้ที่จะมาสอน มาพูด แล้วก็นำเอากระดาษชุดหนึ่งที่เรียกว่าข้อสอบมาวัดความรู้เด็ก ถ้าเด็กทำไม่ได้ถึงเกณฑ์ก็ให้ตก แล้วไปเรียนใหม่


อันนี้ทำไม่ได้ครับ

ผมอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพวกคิดต่างและหัวรั้นเอามาก ๆ ครับ เพราะผมคิดว่าเด็กมาเรียนก็เพื่อหวังที่จะได้ความรู้ ดังนั้นอาจารย์มีหน้าที่ที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กได้ความรู้ โดยเฉพาะได้ความรู้ในระดับ "พอใช้" จนมีคำพูดที่เคยถูกว่าว่าเป็นอาจารย์ปล่อยเกรด เพราะผมไม่เคยตัดเกรดเด็กต่ำกว่า C

ก็เนื่องจากคำนิยามคำว่าอาจารย์ของผมล่ะครับ เพราะผมจะทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เด็กได้ความรู้ในระดับ "พอใช้" นั่นก็คือ C ผมจะไม่ยอมให้เด็กได้ D หรือ D+ ซึ่งแปลว่า อ่อน อ่อนมาก หรือว่าต้องปรับปรุง "ไปตลอดชีวิต"


อ่อน อ่อนมาก ติดตัวไปตลอดชีวิต

ดังนั้นผมจะดื้อดึงและหาวิธีการทำทุกอย่างที่ให้ได้มีความรู้ "พอใช้" ติดตัวไปตลอดชีวิตให้ได้

แต่ผมไม่ได้ให้ฟรี ๆ นะครับ สมมติฐานของผมผมคิดว่า เด็กมีความรู้ แต่ข้อสอบของเราอาจจะวัดหรือถามในเรื่องที่เด็กไม่รู้ การที่เด็กทำสอบไม่ได้ไม่ใช่เขาไม่มีความรู้อะไรเลย หรือบางคนชอบเขียน ถนัดบรรยาย ถนัดวิเคระห์ เราไปใช้ข้อสอบปรนัยก็วัดไม่ได้เที่ยง ก็คือ ข้อสอบของเรามิใช่เครื่องมือที่สมบูรณ์แบบที่สุดในการวัดความรู้เด็ก
ดังนั้นผมก็จะหาวิถีทดสอบความรู้หลาย ๆ แบบ ทั้งปฏิบัติ ทั้งบรรยาย ทั้งปากเปล่ามาวัดให้รอบด้านมากที่สุด


และถ้าเด็กไม่ได้จริง ๆ มีความรู้ไม่ถึงจริง ๆ สิ่งที่ผมปฏิบัติเสมอก็คือ ให้ I ไว้ก่อน ดั่งเช่นกับนักศึกษาหญิงคนนี้ครับ


ก่อนที่จะสอบ Final ผมได้พยายามติดตามนักศึกษาหญิงคนนี้โดยตลอดโดยฝากผ่านเพื่อนเขา แต่คำตอบที่ได้กลับมาเป็น "การโดนด่า"ครับ ว่าผมจะไปยุ่งอะไรกับชีวิตเขานักหนา เขาไม่อยากเรียน จะให้ตกหรือ Retry ไปก็เป็นเรื่องของเขา



แต่ในความคิดที่แปลกประหลาดของผมเองอีกนั่นแหละครับ ผมคิดว่าในช่วงชีวิตเด็กหรือคนสักคนนึง โดยเฉพาะชีวิตในสังคมแบบนี้ บางครั้งอาจจะมีช่วงนึงที่เขาเดินทางผิดไปนิดพลาดไปหน่อย ซึ่งอาจจะเป็นช่วงนี้พอดีที่เขามีปัญหาหรือเป็นช่วงวิกฤตของชีวิต ถึงแม้ว่าจะโดนด่าก็ไม่เป็นไร "เราต้องให้โอกาสเขา" ให้เวลาเขาอีก 4 เดือน ให้ I ไปก่อน เผื่อเขาคิดได้เขาจะได้กลับมาขอทำงานเพิ่ม มาขอเรียนนอกเวลา และทำงานส่ง เขาจะได้มีอนาคตที่ดี ดีกว่าที่จะปล่อยเขาไปตามยถากรรม


และสิ่งที่ผมคิดก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ครับ อีกสัก 2 เดือนถัดมาในเทอมใหม่ เขาก็เดินเข้ามาขอพบผมที่ห้องทำงานและของานรวมถึงเล่าถึงสาเหตุของการที่ขาดเรียนเมื่อเทอมก่อน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชีวิตเขาแย่สุด ๆ ตอนนี้เริ่มดีและสบายใจขึ้นแล้ว จึงขอกลับมาเรียนใหม่อีกครั้ง

"ถ้าวันนั้นผมให้ E เขาไปสองตัว เขาจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่ผมสบายทุกครั้งที่ผมคิดว่าผมจะโดนไล่ออกไหมกับการที่ไม่ค่อยปฏิบัติตามนโยบายของสถาบัน ใจดีช่วยเด็กแบบนี้"

เทอมนั้น ผมก็พยายามทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ คือทำให้เด็กมีความรู้ในระดับ "พอใช้" ไปตลอดชีวิต


แต่เวลาที่ผมชื่นใจที่สุดนั้น เกิดขึ้นในในงานวันซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตร ผมได้พบกับบัณฑิตหญิงคนหนึ่งที่ไม่เจอหน้ากันมาเกือบสองปี เธอเดินมาในชุด "บัณฑิต" ใบหน้าที่เปลี่ยนจากความเศร้าหมอง กลับกลายเต็มไปด้วยรอยยิ้ม

รอยยิ้มแห่งอนาคตที่สดใส รวมถึงรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความชื่นใจของครอบครัว เป็นสิ่งที่ผมจำได้ไม่มีวันลืม


สุดท้ายนี้ต้องขอขอบพระคุณนายบอน (คุณอาษา อาษาไชย) อีกครั้งหนึ่งครับที่กรุณาเรียกผมว่า "ครู" ซึ่งตัวผมเองมิอาจเอื้อมใช้คำที่ยิ่งใหญ่คำนี้ รวมถึงเพื่อน ๆ พี่ ๆ หลาย ๆ ท่านที่กรุณาให้เกียรติเรียกผมว่า "อาจารย์" ซึ่งผมนั้นไม่ใช่อาจารย์อีกแล้ว

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

หมายเลขบันทึก: 58577เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2006 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • เป็นบันทึกที่เล่าสิ่งดีๆ มาเผยแพร่ซึ่งเป็นอีกแง่คิดหนึ่งของการ "ไร้กรอบ"
  • ผมขอเรียกว่าอาจารย์ปภังกรนะครับ เพราะทีมงานเวลาเราพบกันเราจะเรียกเพื่อนร่วมงานว่า "อาจารย์" ทุกคน
  • ไม่ได้ยึดติดว่าจะเป็น "ตำแหน่ง" ทางวิชาการเสมอไป แต่เรายกย่อง นับถือในคุณค่า ความสามารถของเพื่อน/ทีม/คนคอเดียวกัน ฯลฯ แม้แต่เกษตรกรผมก็เรียกเขาว่า "ครูหรืออาจารย์" บางครั้งยังเรียกว่า "ครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่" ด้วยซ้ำไป(แต่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง.... 555...)
  • ในช่วงชีวิตหนึ่งผมเคยทำหน้าที่ "ครู" แต่เป็นครูอาสาสมัคร ทำให้ผมเข้าใจดีครับว่า "บทบาทที่เป็นจริงกับบทบาทที่คาดหวังนั้นมีความแตกต่างกัน"
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมาแบ่งปัน (พักผ่อนบ้างนะครับ)
  • สวัสดีครับพี่วีรยุทธที่เคารพครับ
  • ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับที่ให้เกียรติเข้ามาเติมเต็มและให้ข้อแลกเปลี่ยนที่ดียิ่งครับ
  • ผมก็เช่นเดียวกันกับพี่วีรยุทธครับ ไม่ค่อยยึดติดตำแหน่งเท่าไหร่ครับ จะยึดติดที่ความดีและสิ่งที่ดี ๆ ที่เขาได้ทำครับ
  • พี่วีรยุทธก็เป็นอาจารย์ของผมคนหนึ่งครับ และขอมอบตำแหน่งให้เป็นอาจารย์ใหญ่ด้วยอีกคนครับ
  • ครูอาสาสมัคร เป็นอาชีพในฝันของผมเลยครับ โดยเฉพาะไปทำงานบนดอยไกล ๆ ตอนนี้ก็พยายามจะเดินตามความฝันนั้นครับ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับที่เข้ามาเยี่ยมเยียนและมีสิ่งดี ๆ มาให้ผมเสมอครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์ปภังกรเป็นอย่างสูง ที่ได้ช่วยสะท้อนภาพแง่งามของความเป็นครู ทุกวันนี้ดูเหมือนสถานภาพของครูโดยรวมนั้นตกต่ำลงไปบ้าง เหตุที่เกิดนั้นก็มาจากความประพฤติของผู้เป็นครูนั่นเอง
  • ครูที่ดี น่าศรัทธา น่านับถือ ก็ยังมีอีกเยอะในแผ่นดินนี้ แต่มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อ ดังนั้นเมื่อมีครูที่ปฏิบัติตนบิดเบือนจากครรลองที่ครูควรจะเป็น จึงถูกสื่อประโคมข่าวได้ครึกโครมเสมอ
  • หากเป็นครูที่ขาดจิตวิญญาณความเป็นครูแล้ว เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น....ถูกลูกศิษย์ด่าว่าทั้งที่ครูอยากช่วยเหลือ เขาก็คงจะไม่สนใจลูกศิษย์คนนี้แล้ว....แต่อาจารย์ไม่เป็นเช่นนั้น....อาจารย์เป็นครูที่มีจิตวิญญาณของครูโดยแท้ นั่นคือ "รักและเมตตาต่อศิษย์" ซึ่งไปพ้องเข้ากับจรรยาบรรณครูข้อที่ 1 "ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า" อีกด้วยค่ะ
  • จรรยาบรรณของครูมีอยู่ 9 ข้อ หากเรายึดถือเป็นแนวทาง ปฏิบัติด้วยจิตวิญญาณ "ความเป็นครู" จะฉายชัดทุกขณะจิต โดยไม่จำเป็นต้องมี "ตำแหน่ง" ติดตัว เพราะ "หัวใจ" ของบุคคลนั้นเป็น "ครู" อยู่เสมอแล้ว
  • ขอบพระคุณค่ะ

เห็นด้วยกับคุณสิงห์ป่าสัก เช่นกันนะคะ 

1. ช่อดอกไม้ และใบประกาศนียบัตร ไม่เคยมีใครมอบให้ตัวเอง นอกจากบุคคลอื่นที่มองเห็นคุณค่าของคุณ จึงจะมอบให้คุณนั่นเอง
2. ใครคนหนึ่งจะถูกเรียกว่า เป็นครูได้หรือไม่ คนที่เรียกขานคำนี้ ย่อมต้องยอมรับโดยดุษฏี
3. บุคคลที่สามารถมอบความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในระดับปริญญา หรือความรู้ข้างถนนเช่น การทำอาหารในตลาดโต้รุ่ง คำชื่นชมและรอยยิ้มที่ปรากฏของคนทำอาหารต่อ ผู้ที่แนะนำเคล็ดลับทำอาหาร ก็ยังเรียกขานว่า ครู
4. ผู้ที่ถูกเรียกขานว่า ครู ถือว่า สามารถให้ความรู้ได้ (ความหมายของคนดาดๆพื้นๆ)
5. มีครูหลายท่านที่ลาออกจากการเป็นครู แต่ผู้ที่เคยเรียนด้วย ยังให้ความเคารพเรียกขานว่า คุณครูด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดำรงอยู่
6. มีปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน ไม่เคยจบวิชาชีพครู แต่เป็นครูของอีกหลายคน สอนการสืบทอดภูมิปัญญา
7.เห็นครู อาจารย์ หลายท่านมักจะทำหลายสิ่งที่ผิดกฏระเบียบ หรือขัดกับความรู้สึกของคนในสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละคนจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  ถ้าเหมือนกันนี่สิ แปลก
8.เรื่องของนักศึกษาหญิงที่เกรดไม่ถึง 1.80 นั้น และการตัดสินใจของนายรักษ์สุข อาจจะดูผิดระเบียบ แต่สิ่งที่นายรักษ์สุขคิดออกมานั้น นายบอนก็มีโอกาสได้สัมผัสครูท่านหนึ่งที่คิดแบบเดียวกัน
9. ครูท่านนั้น มองลึกถึงจิตใจ ความจำเป็นของนักศึกษาคนนั้น การที่นักศึกษาคนนั้น คะแนนไม่ดี เพราะไม่อ่านหนังสือ เหตุที่ไม่อ่าน เพราะมีปัญหาชีวิต ที่จะต้องขบคิดมากมาย
10. การวัดผลของครูท่านนั้น วิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากการทดสอบด้วยข้อสอบทั่วไป เป็นการสอบถามปากเปล่า พูดคุยในเรื่องเนื้อหาที่เรียนเหมือนพูดคุยกันธรรมดา เพื่อต้องการทราบว่า นักศึกษาคนนั้น เข้าใจเนื้อหาในรายวิชานั้นมากน้อยแค่ไหน เข้าใจประเด็นไหนบ้าง เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมได้หรือไม่ เมื่อกล่าวถึงประเด็นใหม่ เขาสามารถวิเคราะห์ต่อไปได้หรือไม่ว่า เรื่องราวจะเป็นอย่างไร
11.  การวัดผลนั้น ครูให้นักศึกษาผ่าน เพราะนักศึกษาคนนั้น ไม่เก่งท่องจำตามตำรา แต่เข้าใจในภาพรวมของเนื้อหา วิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้
12. นายรักษ์สุข หาวิธีการทำทุกอย่างที่ให้ได้มีความรู้ "พอใช้"  แต่คุณครูท่านนั้น ให้นักศึกษาพยายามวิเคราะห์เพื่อให้ "ใช้ได้"
13. นักศึกษาอีกคนหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของครูท่านนั้น คล้ายๆกับที่นายรักษ์สุขเล่า แต่เป็นนักศึกษาชาย คือ เขาไม่อยากเรียน ครูไปตามถึงหอพัก ให้เพื่อนไปบอกมาพบ แต่นักศึกษาคนนี้ จะพยายามหลบหน้าครูท่านนี้ทุกครั้ง ครูท่านพยายามให้โอกาส เช่นเดียวกับนายรักษ์สุข แต่นักศึกษาคนนี้ ยากเกินจะเยียวยา เขาไม่จบครับ และหายจากสถาบันไปอย่างเงียบๆ
14. ครูท่านนี้ ยังคงสอบถาม ติดตามข่าวนักศึกษาคนนี้ ด้วยความห่วงใย และปรารถนาดีในอนาคตของเขาเช่นเดิม และยังให้กำลังใจ ให้คำแนะนำที่ดีผ่านเพื่อนของอดีตนักศึกษาคนนี้อยู่เสมอ
15. คำแนะนำของครูท่านนี้ เป็นการกระตุ้นให้อดีตนักศึกษาคนนี้ ค้นพบตัวเอง เดินในแนวทางของตัวเอง เมื่อเรียนไม่จบปริญญาตรี แต่มีความสามารถพิเศษเรื่องเครื่องยนต์กลไก ก็สามารถที่จะมีกิจการส่วนตัวของตัวเองได้
16. แม้อดีตนักศึกษาท่านนี้ จะไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าครูท่านนี้ เพราะเขินอายกับความล้มเหลวของเขาในอดีต แต่เขายังคงคิดถึงครูท่านนี้ทุกครั้ง และพยายามช่วยเหลือครูท่านนี้ผ่านทางเพื่อนๆที่มีโอกาสพบปะกับครูท่านนี้อยู่เสมอ
17. เหมือนกับเรื่องราวที่นายรักษ์สุขถ่ายทอดออกมา นั่นแหละครับ สิ่งที่ดูไร้กรอบ ยังมีสิ่งดีๆซ่อนอยู่
18. ผลลัพธ์สุดท้ายที่ครูต้องการเห็น ไม่ใช่แค่รอยยิ้มในวันรับพระราชทานปริญญาบัตร เท่านั้นนะครับ แม้แต่คนที่ไม่ได้รับรับพระราชทานปริญญาบัตร ก็ยังมีคุณค่าเช่นกัน

19. ความจริงนายบอนมาเยียมบ่อยๆ แต่นานๆจะเขียนข้อคิดเห็นสักทีหนึ่ง เลยเต็มที่นะครับ

อ่านแล้วภูมิใจมีพลังขึ้นมาเพื่ออ่านหนังสือและมีพลังทำความดีขึ้นอีกมากเลยค่ะ  ขอบคุณทุกท่าน  ที่บูชาคุณของครูค่ะ
  • อยากให้คนที่มีตำแหน่งอาจารย์...หรือครู...ได้อ่าน Blog นี้จริงๆ
  • มันเป็นอะไรที่ถ้าช่วยกันทำได้ตั้งแต่เขาเป็นผ้าขาว...ประเทศชาติของเราคงไม่มีวันล่มสลาย
  • เห็นด้วยกับคุณบอนและคุณสิงห์ป่าสัก
  • ขอให้อาจารย์ปภังกรดูแลสุขภาพตัวเองด้วย...ดุจากบันทึกแล้ว..นอนดึกทุกวัน 

 

 

  • ขอกราบขอบพระคุณทุก ๆ ท่านอย่างสูงครับที่เข้ามาเติมเต็มและมีสิ่งดี ๆ เกี่ยวกับพระคุณของคุณครูมาเล่าสู่กันฟังครับ
  • สำหรับผมเองนั้นคงมิอาจใช้คำนี้กับตัวเองได้ครับ คงจะต้องเรียนรู้จากหลาย ๆ ท่านอีกมากครับ
  • แต่ผมอยากบอกกับทุก ๆ ท่านในที่นี่ว่า "ทุก ๆ ท่านใน Gotoknow แห่งนี้เป็นครูของผมครับ"
  • ผมได้มาเรียนและรู้หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างจากทุกท่านอย่างมากมาย
  • ต้องกราบขอขอบพระคุณครูทุกท่านที่ให้ความรู้กับผมตลอดมา
  • ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ "คุณครู"
  • แวะมาทักทาย
  • บางทีระบบการศึกษาในระบบอาจไม่สามารถวัดผลเด็กโดยเป็นเกรดได้
  • เด็กแต่ละคนมีความสามารถคนละอย่าง ทำอย่างไรที่จะทำให้เขามีศักยภาพในการเรียนสูงสุด มีความสุขกับการเรียน การศึกษาค้นคว้า
  • ไม่ใช่ใช้กรอบที่วัดประเมินผลเหมือนกันหมด
  • ขอบคุณมากครับ คุณครู ที่รัก

ผมเป็นครูใหม่ครับที่คาดว่าตัวเองก็มีความเป้นครูในตัวเหมือนกัน แต่บางครั้งการกระทำบางอย่างของเด็กนั้นก็ทำให้เราท้อ เหมือนว่าเราพยายามทุ่มเทให้เขาแต่เขากลับมองเพียงว่าอยากสนใจก็ฟังเพียงเพื่อจะได้เกรดและจบๆไป พอดีเห็นข้อความเกี่ยวกับ จรรยาบรรครู 9 ข้อ จะพอเป็นไปได้ไหมครับที่เอาลงมาบน blog นี้หรือส่งทาง E-mail ให้ทีน่ะครับ ผมลืมบอกไปว่า ผมไม่ได้จบวิชาชีพครูหรอกครับ เลยอยากจะขอเป็นข้อเตือนใจและกำลังใจที่จะทำให้เด็กมีความรู้ต่อไปครับ

บางคน..แม้จบวิชาชีพครูก็ใช่ว่าจะเป็นครูที่ดีได้..ขอเพียงคุณมีศรัทธา..ความมุ่งมั่นและความเมตตาต่อลูกศิษย์..สิ่งนี้ล่ะค่ะ สำคัญกว่า...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท