QAU กับเส้นทางสู่องค์กรเคออร์ดิค : 2


ดิฉันขออนุญาตคิดเหมาเอาเองว่าการทำงานแบบองค์กรเคออร์ดิค เป็นองค์กรในฝันของหลายๆ หน่วยงาน แต่ที่ QAU ท่านอาจารย์วิบูลย์ได้สร้างองค์กรในฝันแบบนี้ไว้แล้วจริงๆ แบบที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนมาถึงวันนึงท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ก็มาปลุกเราให้เราได้รู้ตัว ... มาสะกิดเราทางอ้อมให้เราทบทวนตัวเอง แล้วเราก็ได้รู้จักตัวเองเพิ่มมากขึ้น

         ก่อนเริ่มต้นจากบันทึกนี้เข้าไปอ่าน <QAU กับเส้นทางสู่องค์กรเคออร์ดิค : 1 > กันก่อนเพื่อความต่อเนื่องดีมั้ยคะ

         ถ้าทุกท่านพร้อมแล้วเราลองมาช่วยกันทบทวนองค์ประกอบที่ 4 - องค์ประกอบที่ 6 ของ QAU กันต่อเลยนะคะ

         องค์ประกอบที่ 4  Organizational Concept  หรือหลักการในการจัดระบบองค์กร  เรา.งง.นิดนึงก่อนจะให้ท่านอาจารย์วิบูลย์อธิบาย  อาจารย์ก็ถามเรากลับมาว่า.เราทำงานหรือบริหารงาน.กันแบบไหนใน QAU เราก็ถึงบางอ้อ  ดิฉันจำได้ว่าดิฉันตอบว่า  เราบริหารงานแบบแนวราบ  อาจารย์วิบูลย์นั่งฟังเงียบจนดิฉันถามท่านว่า “ผิดหรอคะ”  อาจารย์จึงยิ้มแล้วบอกว่าเปล่า แต่ ... อืมม ...  มีคำว่าบริหารงานแนวราบ แล้วก็พูดว่า “แล้วยังงัยต่อ” ...  แล้วเราก็ก็ร่ายยาวกันต่อ ... เช่น ทุกคนรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองเป็นหลัก  และสามารถช่วย หรือแทนงานของคนอื่นๆ ได้ ... เราทำงานกันแบบเพื่อนไม่มีใครถูกที่สุด  ไม่มีใครผิดจนอภัยไม่ได้ ...  แม้แต่ท่านอาจารย์วิบูลย์เองท่านก็ไม่เคยคิดว่าท่านถูกต้องเสมอไป  ความคิดของท่านไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเพราะจะนำมาพูดคุย  พร้อมทั้งให้เราแสดงความเห็นกับเสมอ

         องค์ประกอบที่ 5  Constitution  งง ละซิคราวนี้ ... มันแปลว่าอะไรกันล่ะคำนี้ ... มองหน้ากันตาใส  “ไหนอาจารย์ลองแปลหน่อยซิคะ” อาจารย์เองก็รู้รู้มือลูกน้องอยู่ว่าความถนัดทางด้านภาษาของเราอ่อนแอมากถึงมากที่สุด  เลยบอกกับเราว่า กฎ ระเบียบ  เราก็ยังคง .งง . กันอยู่คล้ายๆกับว่าเราร้างลากับคำๆ นี้มานาน  จนบางคนในวงพูดออกมาว่า “ไม่มี”

         … อาจารย์เลยไม่รู้จะว่ายังงัยกับเราเลยหยิบบทความแผ่นนั้นขึ้นมาอ่านให้เราฟังซึ่งเป็นคำแรกของทั้ง 5 องค์ประกอบที่เรานึกกันไม่ออกจริงๆ อาจารย์อ่านให้เราฟังว่า  ... สคส. โชคดีที่ได้อาศัยอยู่กับ สกว. และได้ใช้กฎระเบียบของ สกว.     ทำให้มีความน่าเชื่อถือ  และอยู่ภายใต้กลไกตรวจสอบของ สกว. อยู่ตลอดเวลา      ในอีกส่วนหนึ่งเราก็ไปอิง สสส. ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ทุนสนับสนุน สคส. .... 

         แล้วคราวนี้เราก็ถึงบางอ้อ  เรายึดระเบียบราชการอิงกับของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นระเบียบการเงิน  ระเบียบด้านการบริหารงานบุคคล ระเบียบธุรการ ฯลฯ  นอกจากนี้ที่สำคัญ QAU ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542 เป็นหลัก  โดยดำเนินการด้านการประกันคุณภาพตามกรอบแนวทางในระดับประเทศ และต้นสังกัด  ที่เราคิดกันไม่ค่อยจะออกในตอนแรกอาจเป็นเพราะ QAU เป็นหน่วยงานย่อยอยู่ในสำนักงานอธิการบดี  การทำงานของเราขึ้นตรงกับท่านอธิการบดี  โดยมีท่านอาจารย์วิบูลย์ดูแล  แต่ที่ตั้งของเราไมได้อยู่ในสำนักงานอธิการบดี  เราแยกตัวออกมาอาศัยตึก CITCOMS ซึ่งกว้างขวางกว่าตึกสำนักงานอธิการบดีอยู่มาก  ทำให้ การทำงานค่อนข้างมีความเป็นอิสระมากพอสมควร  ด้านการเงินเราใช้เงินรายได้มหาวิทยาลัยในการดำเนินงานด้าน  QA และ KM ซึ่งในปีงบประมาณนี้เราได้งบประมาณในการดำเนินงานด้าน QA เป็นเงิน 215,000 บาท และด้าน KM 485,000 บาท  (รวมค่าเดินทางของตัวแทน มน. ทุกท่านที่เข้าร่วม ลปรร. ใน UKM ทุกครั้ง  และการเป็นเจ้าภาพจัด UKM ในปีนั้นๆ ด้วย)

         มาถึงองค์ประกอบสุดท้ายนะคะ  องค์ประกอบที่ 6 Practice หรือปฏิบัติการ ดิฉันไม่แน่ใจว่าเราอ่อนเฉพาะภาษาอังกฤษหรือว่าตกภาษาไทยด้วย  เราเลยนั่งจ้องหน้าอาจารย์วิบูลย์เหมือนต้องการให้อาจารย์พูดต่อ  แต่ถ้าจะแปลตามคำแปลเราก็คงจะสรุปได้ว่า เราปฏิบัติการตามหลักการขององค์ประกอบที่ 2 และองค์ประกอบที่ 3  เราเรียนรู้ QA จากการปฏิบัติร่วมกับเพื่อนๆ จากคณะอื่นใน มน. และหน่วยงานอื่นๆ นอก ม.ส่วนเรื่อง KM เราเริ่มต้นเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ ในเครือข่าย UKM  ไปพร้อมๆ กับเรียนรู้ร่วมกันกับบุคลากรภายใน ม. ทั้งในกลุ่มอาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนิสิต โดยในด้าน KM เรามียุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ
         1.  สร้างบุคลากร  ที่มีความรู้  ความเข้าใจ  และศรัทธาในกระบวนการของการจัดการความรู้  เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดบุคลากรที่มีลักษณะของบุคคลเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
         2.  สร้างนวัตกรรม  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสามารถนำการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานและองค์กรของตนเองได้อย่างสะดวก  และมีประสิทธิภาพ  เพื่อพัฒนาหน่วยงานย่อยต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
         3.  ติดตาม / ประเมินผล  เพื่อมอบรางวัลและสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น  และนำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continuous Quality Improvement, CQI)

         เราพูดคุยกันจบด้วยลงพร้อมๆ กับความปลื้มใจและอิ่มพุง  "เรา" ยกเว้นอาจารย์วิบูลย์เคยแต่ได้ยินแต่ไม่เคยรู้ว่าองค์กรเคออร์ดิคเป็นอย่างไร  ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง  แต่ถึงตอนนี้เราเข้าใจองค์กรเคออร์ดิคได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าที่ผ่านมา  หรือจากการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว  เพราะครั้งนี้เราได้ผ่านการคิด  วิเคราะห์  เทียบเคียงผ่านบทเรียนโดยมีท่านอาจารย์หมอวิจารณ์และอาจารย์วิบูลย์เป็นครู  และมีพี่เมตตาเป็นผู้เข้าร่วมทบทวนบทเรียนไปพร้อมๆ ไปกับเราด้วย

         ถึงแม้ว่าการสละเวลาเดินทางมาบรรยายของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ใน UKM 8 ในครั้งนี้ดิฉันจะเป็นผู้ฟังที่ไม่ค่อยดีนักในการฟังบรรยายในวันนั้นเพราะเดินไปมาไม่ได้หยุด  แต่วันนี้ดิฉันขอถือโอกาสทำการบ้าน (ที่ท่านไม่ได้สั่ง) ในการทบทวนหน่วยงานของตนเองส่งให้กับท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ และเพื่อนๆ พี่ๆ ใน Gotoknow ทุกท่านที่กำลังสนใจในองค์กรเคออร์ดิคได้ช่วยกันพิจารณาค่ะ 

        
ดิฉันขออนุญาตคิดเหมาเอาเองว่าการทำงานแบบองค์กรเคออร์ดิค  เป็นองค์กรในฝันของหลายๆ หน่วยงาน  แต่ที่ QAU ท่านอาจารย์วิบูลย์ได้สร้างองค์กรในฝันแบบนี้ไว้แล้วจริงๆ แบบที่เราทุกคนไม่รู้เนื้อรู้ตัว  จนมาถึงวันนึงท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ก็มาปลุกเราให้เราได้รู้ตัว ... มาสะกิดเราทางอ้อมให้เราได้ทบทวนตัวเอง  แล้วเราก็ได้รู้จักตัวเองเพิ่มมากขึ้น

         ดิฉันขอเพิ่มเติมอีกนิดค่ะว่าใน มน.ไม่ใช่เฉพาะที่ QAU เท่านั้นนะคะที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรเคออร์ดิค  แต่เมื่อหลายวันก่อนดิฉันได้เดินผ่านห้องประชุม IRDA เห็นกระดาน white board ที่เป็นลายมือของท่าน ดร.เสมอ ถาน้อย  ที่เขียนแผนผังเกี่ยวกับการก้าวสู่การเป็นองค์กรเคออร์ดิคของ IRDA ไว้อย่างเป็นขั้นตอน  พร้อมทั้งได้ยินท่านอาจารย์พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ ดิฉันเห็นแล้วอดไม่ได้ที่จะรีบไปนำกล้องมาถ่ายรูปเก็บไว้เพื่อจะนำมาเล่าอย่างคร่าวๆ ตามความเข้าใจในภาพ  พร้อมทั้งวางแผนว่าจะชวนท่านอาจารย์เสมอมาช่วยกันเล่าอย่างละเอียดในโอกาสต่อไปค่ะ

         ด้วยความเคารพค่ะ

หมายเลขบันทึก: 60110เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 01:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณมากครับ
  • เป็นความรู้ใหม่ดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท